สิ้นปีเป็นช่วงเวลาแห่งความสุข หลาย ๆ บริษัทจ่ายเงินโบนัสให้แก่พนักงานเพื่อเป็นกำลังใจให้แก่พนักงานที่ทุ่มเททำงานมาตลอดทั้งปี เมื่อเราได้เงินโบนัสมาแล้ว เราควรบริหารเงินก้อนนี้อย่างไรให้ดี ธนาคารกรุงเทพมีคำแนะนำเกี่ยวกับการบริหารเงินมาฝากคนทำงาน ดังต่อไปนี้
1. จัดทำแผนรายได้ ค่าใช้จ่าย ประจำปี 2556จุดเริ่มต้นดีที่สุดคือให้เริ่มจากการทำบัญชี รับจ่าย โดยแยกเป็นรายเดือน เพราะเมื่อรู้ที่มาของเงินได้ กับรู้ว่าเงินเราจะออกไปจ่ายทางไหนได้บ้างแล้ว เราจะเริ่มพิจารณาวางแผนทางเลือกอย่างน้อยก็ด้านรายจ่ายได้ว่าควรจะจ่ายอะไร เมื่อไหร่ ทั้งนี้ อย่าลืมใส่รายการผ่อนชำระหนี้ และดอกเบี้ยเงินกู้ด้วย (ถ้ามี) นอกจากนี้ก็ใส่รายจ่ายขาจรที่ไม่ได้เกิดประจำเป็นรายเดือน เช่น ค่าส่วนกลางคอนโดมิเนียม ค่าเล่าเรียนบุตร เบี้ยประกันชีวิตและประกันภัย ค่าธรรมเนียมบัตรเครดิต ค่าบำรุงรักษาที่อยู่อาศัยและยานพาหนะ ค่าทำฟัน ฯลฯ
2. กันเงินสำรองฉุกเฉินเงินสำรองฉุกเฉินนี้เป็นส่วนที่เราจะไม่ไปใช้เลยยกเว้นมีเหตุการณ์ฉุกเฉิน เช่น การเจ็บป่วย การ ตกงาน ฯลฯ เงินส่วนนี้สำคัญมากเพราะมันจะทำให้เราดำเนินชีวิตตามปกติ ทำให้เรามีเงินจ่ายตามภาระที่มีอยู่ไปได้ช่วงหนึ่งโดยไม่ต้องทุรนทุราย ส่วนจำนวนที่ควรกันเอาไว้นั้น แนะนำให้คำนวณว่าหากตกงานแล้วเราคาดว่าจะ หางาน ทำ ได้ภายในกี่เดือน เอาจำนวนเดือนนี้ไปคูณกับรายจ่ายที่จะเกิดขึ้นในระยะเดียวกัน เช่นหากเราคาดว่าอย่างเลวร้ายที่สุดเราจะหางานทำได้ใน 6 เดือน เราก็ใช้ 6 เดือนไปคูณกับรายจ่ายใน 6 เดือนข้างหน้าเมื่อได้เงินจำนวนนี้แล้วว่าเป็นเท่าไร ก็อย่าลืมเอาไปไว้ในที่ที่ปลอดภัยและสามารถถอนออกมาใช้ได้ทันทีในยามฉุกเฉิน เมื่อมีเหตุจำเป็น เช่น ฝากออมทรัพย์ หรือเอาไปลงทุนใน กองทุนตราสารหนี้ ประเภท ที่ให้เราถอนได้เป็นรายวันเช่นกัน การตัดสินใจเลือกของเราจะไม่ใช่อยู่ที่กองทุนไหนให้ผลตอบแทนคาดหวังที่สูง ที่สุดเพราะมันไม่ต่างกันเท่าไร ไม่ได้ทำให้รวยขึ้นเท่าไร แต่จะเป็น 2 เรื่อง คือ 1. กองทุนไหนปลอดภัยที่สุด และ 2. กองทุนไหนที่ถอนได้สะดวกที่สุด
3. ทบทวนและวางแผนการคุ้มครองตนเองและครอบครัวก่อนที่จะลงทุน ขอให้กันเงินส่วนหนึ่งไว้เป็นการคุ้มครองตนก่อน เพราะหากเกิดเหตุใด ๆ ขึ้นเราจะไม่เดือดร้อน และอย่าลืมว่าเหตุมักเกิดเมื่อเราเลิกทำประกัน
การทำประกันที่จำเป็น หลักในการเลือกบริษัทประกันภัย นอกจากจะเหมือนข้อต้น ๆ แล้ว จากประสบการณ์ส่วนตัว ขอแนะนำให้เลือกที่ที่เรามีคนรู้จักสนิทสนมทำงานในบริษัทนั้น ๆ ด้วย เพราะมันจะทำให้อะไร ๆ ง่ายขึ้นเมื่อเกิดเหตุ
นี่คือประกัน 5 ชนิดที่เห็นว่าจำเป็น ซึ่งแต่ละคนสามารถพิจารณาเลือกทำทั้งหมด หรือบางส่วนให้เหมาะกับความคุ้มครองอันจำเป็นตามที่เราต้องการ และเมื่อเราจัดเรื่องความคุ้มครองปกป้องไปจนครบแล้ว ก็ถึงเวลาที่จะพิจารณาเรื่องวางแผนการลงทุนกันต่อไป
ส่วนผู้ลงทุนผ่านกองทุนรวมนั้นให้ไปพิจารณาที่ แนวคิด Investment Theme สไตล์การลงทุนของ บลจ.ที่สนใจ หากพบว่าใช่ก็ใส่เงินเข้าไปในกองทุนที่มีนโยบายเหมาะสมกับเงินลงทุนแต่ละ ก้อนที่มีเป้าหมายลงทุนต่างกันได้เลย และจะให้ดีก็ต้องลงทุนเพิ่มเติมทุกเดือนโดยสม่ำเสมอ
4. ทบทวนและวางแผนลงทุนเมื่อเราจัด 3 เรื่องแรกไปแล้ว ก็ถึงเวลาที่จะพิจารณาเรื่องวางแผน การลงทุน กัน โดยก่อนจะลงทุนด้วยเงินก้อนใหญ่ เราต้องเริ่มจากทำแบบทดสอบความเสี่ยงที่เรารับได้เสียก่อน เราจะได้รู้จักตนเองให้ถ่องแท้ว่าเรารับได้แค่ไหนถึงจะไม่ทุรนทุรายกับความ ผันผวนในตลาดที่เกิดได้เสมอ ๆ ซึ่งแบบทดสอบความเสี่ยงนี้ ทุก บลจ.ก็ใช้คำถาม 10 คำถามเหมือน ๆ กัน ผลที่ได้จะพอเป็นแนวทางให้เรากำหนดแนวทางลงทุนและสัดส่วนลงทุนในสินทรัพย์ ประเภทต่าง ๆ และสำหรับคนที่มีแผนลงทุนอยู่แล้ว ก็ควรจะทบทวนทำแบบสอบถามนี้ปีละครั้ง หรือ 2 ปีครั้ง เพื่อจะได้รู้ว่าเมื่อเวลาผ่านไป 1-2 ปี การยอมรับความเสี่ยงของเราเปลี่ยนไปบ้างหรือเปล่า เราควรจะมีแนวทางจัดพอร์ตลงทุนอย่างไรในสินทรัพย์ประเภทต่าง ๆ อย่างละเท่าไร หากผลที่ได้เมื่อนำไปเทียบกับสัดส่วนพอร์ตในปัจจุบันมีความต่าง เราจะได้ตัดสินใจปรับสมดุลได้ (Rebalance) โดยสอดคล้องกับเป้าหมายการลงทุนของเรา
5. พิจารณาว่าเราจะบริหารพอร์ตลงทุนเอง หรือให้มืออาชีพบริหารข้อคิดก็คือ มีเวลาเพียงพอไหม มีแรงเหลือไปทำเองไหม มีช่องทางเข้าถึงข่าวสารข้อมูลที่เพียงพอไหม และทำเองเป็นหรือไม่
6. เลิกใฝ่ฝันลมๆ แล้งๆ ว่าจะซื้อในราคาถูกที่สุดแล้วจะขายในราคาแพงที่สุดไปได้แล้วแม้ใคร ๆ ก็บอกให้ซื้อถูกขายแพง แต่ไม่ได้บอกให้หาจุดถูกที่สุดหรือแพงที่สุด เพราะไม่ว่าใครก็หาไม่เจอ และหากทำได้ก็เพราะบังเอิญเท่านั้น สิ่งที่ควรทำสำหรับผู้ลงทุนเองไม่ผ่านกองทุนก็คือ แสวงหาการลงทุนที่ตนถนัด เช่น ถ้าจะหาหุ้นมาลงทุน ก็เลิกไปวิ่งตามใคร แต่ให้ดูว่าที่เศรษฐกิจจะเติบโตไปในทิศทางไหนนั้น หุ้นตัวไหนจะได้ประโยชน์ แล้วก็กำหนดราคาที่ซื้อได้ กับราคาขายที่พอใจไว้เลย
7. คำนวณเงินที่ต้องมีใช้ในวัยเกษียณน่าแปลกที่หลายคนกลัวว่าจะไม่มีเงินพอใช้ในวัยเกษียณ แต่หากถามกลับไปว่า ณ วันนี้มีเงินสะสมไว้เท่าไร หลายคนตอบไม่ได้ และที่แย่กว่านั้นคือไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเท่าไหร่ถึงจะพอ ที่แย่ที่สุดคือส่วนใหญ่หรือเกือบทั้งหมดบอกว่าไม่เคยวางแผนการเงินเลย มันสำคัญมากที่เราจะต้องรู้ และมีแผนที่จะทำให้ถึงเป้าหมายนั้นมารองรับ
8. สำรวจบัญชีทรัพย์สินนี่ก็เป็นเรื่องสำคัญที่เราจะต้องทำบัญชีทรัพย์สินไว้ว่ามีอะไรบ้าง ทั้งบ้าน ที่ดิน เครื่องเพชรพลอย รูปภาพ การลงทุนต่าง ๆ เงินฝาก หนี้สิน เงินฝาก กรมธรรม์ประกันต่าง ๆ ฯลฯสิ่งสำคัญที่ทุกคนมักละเลยคือ มีทุกอย่างที่กล่าวถึง แต่ไม่ได้จดไว้ว่าหมายเลขบัญชีเป็นเท่าไร อยู่ที่ไหนบ้าง หากเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันจะต้องติดต่อใคร เบอร์โทรศัพท์อะไร เรื่องพวกนี้เราต้องทำไว้ และสำเนาให้คนที่ไว้ใจได้สักชุดสองชุด
9. พินัยกรรมหากรักและห่วงใยคนข้างหลังจงทำพินัยกรรมให้เรียบร้อย และคอยอัพเดทปีละครั้ง อย่าปล่อยให้การจากไปของเราก่อให้เกิดเหตุน่าเศร้าเสียใจที่คนที่เรารักไม่ ได้รับการส่งผ่านความมั่งคั่งจากเราไปอย่างที่เราอยากจะให้เป็น
10. แบ่งปันความมั่งคั่งให้ผู้ด้อยกว่าเมื่อเราพอไหว ให้รู้จักการแบ่งปันส่วนน้อยของเราให้ผู้ด้อยโอกาสที่เราไม่จำเป็นต้อง รู้จักบ้าง สังคมจะน่าอยู่ขึ้น หากเรารู้จักการเสียสละ เงินไม่กี่ร้อยที่เราให้เขา มีค่าต่อเขายิ่งกว่าเงินหลายพันที่เราใส่ซองให้คู่สมรสในงานแต่งงานที่หรูหราที่มา : บลจ.บัวหลวง
งานที่เกี่ยวข้อง : งานธนาคาร | หุ้น ตลาดทุน | สินเชื่อ | หลักทรัพย์
เรื่องอื่น ๆ ที่น่าสนใจ