ใคร ๆ ต่างก็ต้องการสิ่งที่ดีที่สุดและมีคุณภาพที่สุดทั้งนั้น ในโลกของการทำงานเองก็เช่นเดียวกัน บริษัทต้องการพนักงานที่ทำงานดีมีคุณภาพ เพื่อหวังผลต่อความก้าวหน้าของบริษัท แต่การที่จะผลิตพนักงานให้ทำงานมีประสิทธิภาพนั้น จำเป็นต้องมีหลาย ๆ ปัจจัยประกอบกัน ต้องอาศัยความร่วมมือกันทั้งฝ่ายบริษัทและฝ่ายผนักงานเองเพื่อจะไปสู่เป้าหมายที่คาดหวังไว้
1. คัดสรรอย่างมีคุณภาพ
การจะสร้างสิ่งหนึ่งสิ่งใดขึ้นมาจะต้องเริ่มจากจุดแรกเสมอ การพัฒนาศักยภาพของพนักงานเองก็เช่นเดียวกัน จะต้องเริ่มพิจารณากันตั้งแต่ขั้นตอนการสัมภาษณ์งานเพื่อคัดเลือกบุคคลเข้าทำงานเลย เพราะการที่จะได้พนักงานที่ทำงานอย่างมีคุณภาพนั้น ต้องพิจารณาคุณสมบัติอย่างลึกซึ้ง โดยเลือกรับพนักงานที่มีศักยภาพที่เหมาะสมจากภายในมากกว่าที่จะคัดเลือกเพราะมีตำแหน่งว่าง การจ้างงานเพียงเพราะต้องการให้ตำแหน่งงานเต็มนั้น บริษัทอาจจะต้องเสียเวลามาฝึกทักษะให้กับพนักงานใหม่ ซึ่งจะทำให้การดำเนินงานบริษัทล่าช้าไปได้
2. สร้างมิตรภาพเพื่อจูงใจ
สิ่งหนึ่งที่จะทำให้พนักงานต้องการจะทำงานให้บริษัทไปนาน ๆ และต้องการทำงานให้บริษัทด้วยความจริงใจ โดยที่ไม่มีแนวโน้มว่าจะเปลี่ยนงานใหม่แบบปีต่อปี คือ สัมพันธภาพและมิตรภาพที่ดีในที่ทำงาน หากพนักงานต้องทำงานด้วยความรู้สึกที่ไม่เป็นมิตรของคนรอบข้าง จะส่งผลกระทบต่อบริษัท บริษัทต้องรู้สึกว่าพนักงานทุกคนมีคุณค่าเท่ากัน โดยไม่รู้สึกว่าเป็นการลงทุนที่เสียเปล่าที่จะให้สวัสดิการที่คุ้มค่ากับพนักงานที่มีแนวโน้มว่าจะอยู่กับบริษัทไม่นาน เพราะหากสร้างความประทับใจให้กับพนักงานด้วยปัจจัยเหล่านี้แล้ว เป็นไปไม่ได้เลยที่พนักงานจะขอลาออกหรือเปลี่ยนงานใหม่ บางครั้งระหว่างบริษัทกับพนักงานแล้วอาจจะต้องแลกเปลี่ยนกันบ้างเพื่อผลประโยชน์ที่คุ้มค่าต่อบริษัท บริษัทต้องลงทุนบ้าง อย่ามัวแต่คิดว่าจะลงทุนโดยเสียเปล่าเพียงฝ่ายเดียว และบริษัทต้องรู้จักตอบสนองต่อคำขอของพนักงานบ้างในบางครั้ง
3. สร้างระบบงานคุณภาพ
เคยคิดบ้างหรือไม่ว่าการมอบหมายภาระหน้าที่ให้กับพนักงานที่มากเกินไป เพื่อหวังให้เกิดปริมาณของงานนั้น ผลที่ได้รับจะตรงกันข้ามกัน คือ จะได้งานที่ไร้ประสิทธิภาพจำนวนมาก บ่อยครั้งเลยทีเดียวที่พนักงานมักจะได้รับมอบหมายงานเกินกว่าหน้าที่หรือมากเกินกว่าจะสามารถทำงานให้ออกมามีคุณภาพได้ บริษัทต้องรู้ว่าพนักงานคนไหนมีศักยภาพในการทำงานแค่ไหน ไม่ใช่ให้งานเยอะเพื่อหวังจะกระตุ้นความตื่นตัวในการทำงาน ยิ่งหากให้พนักงานทำงานที่เกินขีดกำจัดมากเท่าใด พนักงานก็จะหมดใจที่จะทำงานให้บริษัทมากเท่านั้น
4. ตั้งเป้าหมายในการทำงาน
บริษัทควรทำให้พนักงานรู้สึกถึงการเป็นส่วนหนึ่งของบริษัท โดยให้พนักงานรู้สึกว่าตนเองมีเป้าหมายเดียวกันกับบริษัท คือต้องการที่จะสร้างความสำเร็จให้กับบริษัท ทำให้พนักงานรู้สึกว่าตำแหน่งหน้าที่การงานที่เขาทำอยู่นั้นมีความสำคัญที่นำพาบริษัทไปสู่เป้าหมายที่บริษัทตั้งไว้ ตราบเท่าที่พนักงานรู้สึกถึงความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับกับบริษัท พนักงานก็จะทุ่มเทอย่างเต็มที่ให้กับการพัฒนาบริษัทให้ก้าวหน้า อย่าให้พนักงานต้องรู้สึกท้อแท้ และหมดไฟในการทำงาน เพราะนั่นจะทำให้บริษัทต้องสูญเสียกำลังหลักในการทำงานที่มีคุณภาพไปได้ อีกทั้งยังต้องมาเสียเวลาคัดสรรคนทำงานใหม่ ๆ อยู่ตลอดเวลา