ระยะหลังมานี้เรามักจะได้ยินคำว่า AEC กันอยู่บ่อยครั้ง ทั้งภาครัฐและเอกชนต่างก็ให้ความสนใจและมีความกระตือรือร้นในการเตรียมความพร้อมต้อนรับ AEC คุณในฐานะผู้ประกอบการไม่ว่าจะขนาดเล็กหรือใหญ่จึงควรมีความรู้เกี่ยวกับ AEC เอาไว้บ้าง เพื่อจะได้นำมาวิเคราะห์ดูว่าองค์กรของคุณจะต้องเตรียมความพร้อมรับความเปลี่ยนแปลงใดบ้างหรือไม่
คุณรู้จัก AECดีแค่ไหน
ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ ASEAN Economics Community (AEC) คือการรวมตัวของชาติต่าง ๆใน ASEAN 10 ประเทศ ประกอบไปด้วย ไทย กัมพูชา บรูไน พม่า ฟิลิปปินส์ มาเลเซียลาว เวียดนาม สิงคโปร์ อินโดนีเซีย โดยมีเป้าหมายเพื่อให้อาเซียนมีการเคลื่อนย้ายสินค้า บริการ การลงทุน แรงงานฝีมือ และเงินทุนอย่างเสรีขึ้น ยกเว้นเพียงสินค้าบางประเภทหรือที่เรียกว่าสินค้าอ่อนไหว (สินค้า ที่มีความสำคัญ และมีผลกระทบต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ซึ่งไม่ต้องการให้มีคู่แข่งมากหรือต้องการใช้เวลาเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้อุตสาหกรรมประเภทนั้น แต่ละประเทศมีสิทธิระบุบัญชีสินค้าเหล่านี้ โดยมีกรอบระยะเวลาว่าจะให้คงอัตราภาษีไปจนถึงเมื่อใด)
AEC หรือประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนจะมีผลเป็นรูปธรรม ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2558 โดยดำเนินงานตามแผนบูรณาการ AEC Blueprint (แผนงานการจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน) ดังมีรายละเอียดต่อไปนี้
ผลกระทบของ AECต่อ ผู้ประกอบการ
การเคลื่อนย้ายเสรีของแรงงาน
ไม่ว่าจะเป็นการเคลื่อนย้ายเข้ามาในประเทศหรือเคลื่อนย้ายออกไปต่างประเทศ ต่างก็ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการได้ ข้อดีคือผู้ประกอบการจะมีตัวเลือกที่มีความสามารถและประสบการณ์จากนานาชาติเพิ่มมากขึ้นแต่ในขณะเดียวกันก็ต้องคิดถึง แผนการรักษาบุคลากร ที่มีความรู้ ความสามารถของตนเองเอาไว้ไม่ให้ย้ายไปอยู่กับประเทศในกลุ่มสมาชิกอื่นๆเช่นกัน ฝ่ายบริหารทรัพยากรบุคคลจึงควรต้องเข้ามามีบทบาทเป็นผู้นำในการเตรียมความพร้อมด้านนี้ว่าต้องมีการออกนโยบายใหม่ หรือแก้ไขปรับปรุงนโยบาย สวัสดิการและผลตอบแทนเดิมอย่างไรหรือไม่
วัฒนธรรมองค์กรที่เปลี่ยนแปลงไป
แน่นอนว่าเมื่อมีคนจากหลายเชื้อชาติมาอยู่รวมกัน จากเดิมที่เป็นองค์กรไทยๆ พูดภาษาเดียวกัน ก็ย่อมต้องมีการปรับตัว ชัดเจนที่สุดคงหนีไม่พ้นเรื่องการสื่อสารที่จะต้องเน้นการใช้ภาษากลางอย่างภาษาอังกฤษเพิ่มมากขึ้น จะพูดคุยกันอย่างไรให้เกิดความเข้าใจที่ตรงกันเพื่อผลงานที่ดีที่สุด จะช่วยเหลือพนักงานในการปรับตัวและเรียนรู้ความแตกต่างทางวัฒนธรรมอย่างไร หรือองค์กรจะเลือกที่จะยังรับแต่พนักงานคนไทยต่อไป ทั้งหมดนี้ล้วนแล้วแต่เป็นแผนที่ทางผู้บริหารและฝ่าย บริหารทรัพยากรบุคคล ควรร่วมกันคิดหาทางออกและแนวทางปฏิบัติที่เหมาะสมกับองค์กรของตนเองเอาไว้
คู่แข่งทางการค้าที่เพิ่มขึ้น
เมื่อการค้าและการลงทุนเป็นไปอย่างเสรี การแข่งขันทางธุรกิจย่อมเพิ่มมากขึ้น เดิมทีผู้ประกอบการต่างชาติอาจมีข้อจำกัดด้านภาษีหรือกฏหมายที่ไม่เอื้อต่อการลงทุนในไทยจึงทำให้ยังชะลอการเข้ามาลงทุนเอาไว้ก่อน แต่หลังจาก AEC มีผลบังคับใช้ ผู้ประกอบการทั้งรายใหญ่รายย่อย อาจจะมีคู่แข่งทางการค้าเพิ่มขึ้นอีกจำนวนมาก จึงควรที่จะต้องคิดแผนการรองรับความเปลี่ยนแปลงนี้เอาไว้ล่วงหน้า เพื่อเตรียมรับมือกับสภาวะการแข่งขันที่ดุเดือดในตลาดที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต เพื่อให้ธุรกิจของคุณได้รับผลกระทบน้อยที่สุด
โอกาสของคุณก็เปิดมากขึ้นเช่นกัน
ในทางกลับกัน ผู้ประกอบการในไทยเองก็ได้รับโอกาสที่เพิ่มขึ้นในการไปขยายการลงทุนในต่างประเทศเช่นกัน การศึกษาข้อมูลการลงทุนไว้ล่วงหน้าจะช่วยให้คุณพร้อมลงมือได้ทันที เพราะการขยายการลงทุนย่อมหมายถึงการระดมทุน การจ้างบุคลากรที่เหมาะสม การหาสถานที่และศึกษาตลาด ซึ่งทั้งหมดล้วนแล้วแต่เป็นกระบวนการที่อาศัยระยะเวลา การเริ่มเร็วกว่าคู่แข่งแม้เพียงก้าวเดียว อาจสร้างความแตกต่างได้อย่างมหาศาล นอกจากนี้การที่มีชาวต่างชาติมาอาศัยอยู่ในประเทศไทยมากขึ้นก็อาจเปิดโอกาสช่องทางธุรกิจใหม่ๆให้คุณได้เช่นกัน การศึกษาความเป็นไปได้ต่างๆให้เร็วที่สุดย่อมส่งผลดีต่อคุณเพราะโอกาสจะเปิดรับผู้ที่มีความพร้อมเสมอ
การเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องธรรมชาติที่มักจะก่อให้เกิดทั้งผลดีและผลเสียควบคู่กันไป การศึกษาข้อมูลและการเตรียมความพร้อมจึงเป็นเรื่องสำคัญ เพื่อผู้ประกอบการจะได้รู้ว่าตนเองควรยืนที่จุดใดจึงจะได้รับผลประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงนี้มากที่สุด ซึ่งในหลายกรณีอาจหมายถึงการไม่ต้องเปลี่ยนแปลงอะไรมากนักก็เป็นได้ แต่ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม ในฐานะผู้ประกอบการคุณจะต้องมีข้อมูลในมือให้มากที่สุดเพื่อการตัดสินใจที่ถูกทิศทางมากที่สุด ความรู้และข้อมูลคือพลังที่จะช่วยให้เราประสบความสำเร็จได้ เข้าตามตำราพิชัยสงครามของซุนวู “รู้เขา รู้เรา รบร้อยครั้ง ชนะร้อยครั้ง”ค่ะ
เรื่องอื่น ๆ ที่น่าสนใจ