วัยทำงาน คือช่วงเวลาที่ผลักดันให้ทุกคนต้องรับผิดชอบกับชีวิตของตัวเอง เป็นบทบาทใหม่ที่ไม่เหมือนกับตอนเรียนที่เรามีหน้าที่หลักคือการเรียนให้ดี สอบให้ผ่านเพียงเท่านั้น จึงไม่น่าแปลกใจเลยที่ระดับ ความเครียด ความกดดัน และภาระหน้าที่ของวัยทำงานจะมีมากกว่าวัยเรียนมาก และนั้นเป็นหนึ่งในสาเหตุของความรู้สึกกังวลใจต่าง ๆ ที่ประดังประเดเข้ามา จนทำให้หลายคนเกิดอาการ “วิตกกังวลมากเกินไป” จนวันหนึ่งที่จิตใจเริ่มรับไม่ไหว กลายเป็น“โรควิตกกังวล” (Anxiety Disorder)ตามมา
15% ของประชากรจะเป็นโรควิตกกังวลในช่วงใดช่วงหนึ่งของชีวิต นี่คือข้อมูลจากศูนย์ป้องกันและควบคุมโรค และยังพบว่าผู้หญิงมีแนวโน้มที่จะเป็นโรคนี้มากกว่าผู้ชายถึง 60% ซึ่งสาเหตุของโรควิตกกังวล นอกจากจะมาจากพันธุกรรม หรือ พื้นฐานการเลี้ยงดูแล้ว อีกหนึ่งสาเหตุหลักของโรคเกิดจากสภาพแวดล้อม ประสบการณ์ส่วนตัว เหตุการณ์ที่กระทบกระเทือนจิตใจอย่างรุนแรง หรือเหตุการณ์ความเครียดที่สะสมเป็นระยะเวลานาน และด้วยสภาพสังคมในโลกยุคดิจิทัลที่มีการแข่งขันสูง ความเครียด ความกดดันที่เกิดขึ้นทำให้คนในวัยทำงานมีแนวโน้มที่จะเป็นโรควิตกกังวลเพิ่มมากขึ้นอย่างไม่มีท่าทางว่าจะลดลงเลย ซึ่งโรควิตกกังวลเองก็สามารถแบ่งย่อยได้อีก ตามอาการที่แตกต่างกันออกไป
ประเภทของโรควิตกกังวลในวัยทำงาน
- โรควิตกกังวลทั่วไป (Generalized Anxiety Disorder)คือ อาการกังวลในเรื่องประจำวันทั่ว ๆ ไปที่มีมาก และกินระยะเวลานานเกินไป เช่น กลัวทำงานไม่ทันเดดไลน์ กลัวทำงานออกมาได้ไม่ดี กังวลเรื่องความสามารถของตัวเอง กังวลเรื่องแผนการทำงานที่มีความไม่แน่นอน มีหัวหน้าเจ้าระเบียบทำให้ต้องพยายามทำงานให้เป๊ะตลอดเวลา
- โรคแพนิก (Panic Disorder)คือ อาการกลัวและวิตกกังวลที่เกิดขึ้นเป็นพัก ๆ โดยไม่ทราบสาเหตุ อาจจะเกิดอาการกังวลกับทุกเรื่องมากเกินความพอดี ทำให้คนที่เป็นโรคนี้มักจะมีอาการมือสั่น หายใจเร็ว หัวใจเต้นแรง เหนื่อย หอบ เหงื่อออก เจ็บหน้าอก เวียนหัว รู้สึกสำลัก หรือคลื่นไส้ ท้องไส้ปั่นป่วน เมื่อเจอเรื่องที่ทำให้รู้สึกท้าทาย เช่น ต้องพูดในห้องประชุม ต้องออกไปพรีเซนต์ผลงาน ต้องไปทำงานในที่ใหม่ ๆ หรือแม้แต่ความกังวลที่เกิดจากการรู้สึกว่าไม่สามารถควบคุมปัจจัยภายนอกที่จะมีผลต่องานได้ เป็นต้น
- โรคกลัวสังคม (Social Phobia)คือ อาการวิตกกังวลเมื่อต้องอยู่ในความสนใจของคนอื่น หรือต้องมีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นก็ได้ อาจจะเกิดขึ้นตอนที่ต้องออกไปพรีเซนต์ในห้องประชุม หรือแม้แต่การต้องเข้าไปรวมกลุ่มคุยกับเพื่อนร่วมงาน ซึ่งบางคนอาจจะเคยเจอการถูกบูลลี่ในที่ทำงาน หรือไม่แน่ใจว่าจะบริหารความสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงาน และ เจ้านายอย่างไรดี โดยคนที่เป็นโรคนี้มักจะรู้สึกประหม่า กดดัน และคิดในแง่ลบกับคนอื่น เมื่อต้องเข้าสังคมแทบทุกครั้ง จนทำให้รู้สึกไม่อยากเข้าสังคมตามมา
- โรคย้ำคิดย้ำทำ (Obsessive Compulsive Disorder)คือ อาการกังวลจากความคิดซ้ำไปซ้ำมา และทำพฤติกรรมซ้ำ ๆ เพื่อตอบสนองความวิตกกังวลนั้น เช่น รู้สึกว่ามือไม่สะอาดแม้จะล้างมือแล้วหลายครั้ง เช็กอีเมลตลอดเวลา เพราะกลัวจะพลาดข้อมูลสำคัญอะไรไป กลัวว่าลืมปิดคอม ก็จะคอยเช็กว่าตัวเองได้ปิดคอมแล้วรึยัง และถึงจะออกจากออฟฟิศแล้ว ถ้ายังกังวลอยู่ก็จะกลับเข้าไปออฟฟิศอีกครั้งเพื่อตรวจสอบดูว่าได้ปิดคอมแล้วจริงไหม
Checklist อาการของโรควิตกกังวล
หากเครียดเรื่องงาน มีเรื่องที่ต้องตัดสินใจ หรือต้องอยู่ในสถานการณ์ที่ยากลำบาก เช่น พรีเซนต์งาน อยู่ในห้องประชุม คุยกับหัวหน้า ต้องวางแผนงาน เจอปัญหาระหว่างการทำงาน ต้องเข้าไปคุยกับเพื่อนร่วมงาน หรือคุยกับหัวหน้า แล้วมีอาการตามรายการด้านล่าง ก็สามารถวิเคราะห์เบื้องต้นได้ ว่าคุณอาจเข้าข่ายเป็นโรควิตกกังวลเข้าให้แล้ว
- รู้สึกกระวนกระวาย ไม่มีสมาธิ หงุดหงิดเกินเหตุ
- หัวใจเต้นเร็วหรือแรง ไปจนถึงคิดว่าตัวเองกำลังจะหัวใจวาย
- หายใจลำบาก
- เหงื่อออกมาก
- มีอาการตัวสั่น หนาวสั่น หรือร้อนวูบวาบ
- มือเท้าชา
- ปวดหัว เวียนหัว
- ล้า อ่อนเพลีย ไม่มีแรง
- คลื่นไส้ หรือท้องไส้ปั่นป่วน ท้องเสียบ่อย
- มีปัญหาการนอนหลับ เช่น นอนไม่หลับ หรือนอนมากเกินไป
ถึงโรควิตกกังวล (Anxiety Disorder) จะถูกจัดอยู่ในหมวดหมู่ของโรคทางจิต แต่ก็สามารถส่งผลออกมาทางกายได้เหมือนกัน ซึ่งอาการทางกายเหล่านี้จะเป็นตัวชี้วัดอย่างง่ายว่าคุณกำลังเข้าข่าย หรือกำลังเป็นโรควิตกกังวลอยู่หรือป่าว หากมีอาการรุนแรงจนกระทบกับการใช้ชีวิตประจำวัน แนะนำให้ปรึกษาจิตแพทย์หรือนักจิตบำบัดเพื่อรักษาจิตใจให้ดีขึ้น และกลับมามีชีวิตการทำงานที่บาลานซ์อีกครั้ง
ดาวน์โหลดได้แล้ววันนี้ทั้ง iOS และ Android
เลือกงานที่ใช่ ใช้ชีวิตที่ชอบ ด้วยการค้นหางานที่ง่ายและรวดเร็ว พร้อมทั้งจัดการเรซูเม่อย่างมีประสิทธิภาพ ให้คุณอัปโหลด ดู และลบได้ทุกเมื่อที่ต้องการ เพลิดเพลินไปกับประสบการณ์การใช้งานแสนง่าย ด้วยระบบ AI ใหม่ ช่วยค้นหางานที่ตรงใจมากขึ้นถึง 6 เท่า
https://th.jobsdb.com/th-th/articles/ergophobia-%e0%b9%82%e0%b8%a3%e0%b8%84%e0%b8%81%e0%b8%a5%e0%b8%b1%e0%b8%a7%e0%b8%81%e0%b8%b2%e0%b8%a3%e0%b8%97%e0%b8%b3%e0%b8%87%e0%b8%b2%e0%b8%99/
https://th.jobsdb.com/th-th/articles/%e0%b8%81%e0%b9%89%e0%b8%b2%e0%b8%a7%e0%b8%82%e0%b9%89%e0%b8%b2%e0%b8%a1%e0%b8%84%e0%b8%a7%e0%b8%b2%e0%b8%a1%e0%b8%81%e0%b8%a5%e0%b8%b1%e0%b8%a7/