เชื่อว่าทุกคนคงเคยเจอเหล่ามิจฉาชีพในรูปแบบต่างๆ กันมาแล้ว ทั้งโทรเข้ามาที่เบอร์โทรศัพท์โดยตรง มาในรูปแบบข้อความพร้อมแนบลิงก์แปลกๆ ซึ่งจากข่าวที่มีมากมายทำให้เราเกิดความระวังมากขึ้น แต่บางครั้งที่เราตั้งตารอการติดต่อจากบุคคลอื่น เช่น ช่วงของการหางาน สมัครงาน ทำให้ต้องคอยรับและติดต่อกับโทรศัพท์หรืออีเมลที่ไม่คุ้นเคย จนอาจเป็นช่องว่างให้มิจฉาชีพออนไลน์เหล่านี้เข้ามาใช้ประโยชน์ได้ง่ายขึ้น JobsDB มี 4 Steps ง่ายๆ ในการรู้เท่าทันมิจฉาชีพเหล่านี้มาฝากกัน
ตามปกติแล้วในแวดวงการสมัครงาน การสอบถามข้อมูลพื้นฐานต่างๆ ของ Candidate หรือผู้สมัครงาน เกี่ยวกับการทำงานที่ผ่านมา ประสบการณ์ ทักษะ การศึกษา ข้อมูลส่วนตัวถือเป็นเรื่องปกติอยู่แล้วในการคัดกรองคนเข้าทำงาน อย่างไรก็ตามส่วนใหญ่แล้วองค์กรที่หาคนทำงาน จะไม่ถามหรือให้กรอกข้อมูลที่ลึกเกินไปหรือกรอกในลิงก์ที่ไม่น่าเชื่อถือ เว้นแต่ว่ากลุ่มบุคคลนั้นจะแฝงตัวเป็นมิจฉาชีพออนไลน์ ซึ่งใช้กลโกลต่างๆ เช่น
ถึงแม้การใช้อีเมลติดต่อเรื่องงานจะดูน่าเชื่อถือและเป็นทางการ แต่สิ่งแรกที่อยาก ให้ผู้สมัครงานสังเกตคือ เช็กว่าเป็นองค์กรที่เราได้ยื่นสมัครงานไปหรือไม่ หรือมีการระบุว่าได้ข้อมูลการติดต่อมาของเรามาจากไหน
นอกจากนี้แนะนำว่าให้สังเกตภาษาที่ใช้ในอีเมลว่าดูทางการไหม น่าเชื่อถือหรือไม่ มีลิงก์แปลกๆ หรือเปล่า ถ้าไม่มั่นใจให้โทรกลับไปสอบถามโดยตรง หรือลองค้นหาชื่อองค์กรนั้นในอินเทอร์เน็ต ว่ามีอยู่จริงหรือไม่
การสัมภาษณ์งานในรูปแบบนี้ จำเป็นต้องมีสติตลอดการสนทนา สามารถถามตอบคำถามที่เกี่ยวข้องกับเนื้องานได้ แต่ถ้าเป็นคำถามที่ไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องงาน ฟังแล้วกระตุกต่อมเอ๊ะเมื่อไร ให้ถามกลับหรือเลี่ยงไม่ตอบไปเลย หรือมีการชักชวนให้เราหารายได้ในทางอื่น ชวนไปขายตรง หรือทำในสิ่งที่ไม่ตรงกับ Job Description ที่คุณมองหาก็ให้ปฏิเสธในทันที
ส่วนมากแล้วการส่งข้อความเพื่อขอข้อมูลในการสัมภาษณ์งาน เป็นช่องทางที่ไม่ค่อยพบจากองค์กรมืออาชีพ หากมีการคุยกันผ่านโทรศัพท์ไปแล้ว และส่งข้อความทางโทรศัพท์เพื่อขอข้อมูลเพิ่มเติม และเป็นข้อมูลที่ไม่เกี่ยวกับการสมัครงาน อยากให้เริ่มเอะใจไว้ก่อนเลยว่า อาจเป็นมิจฉาชีพออนไลน์
โดยปกติแล้วการสมัครงาน ผู้สมัครไม่จำเป็นต้องจ่ายเงินในการดำเนินการแต่อย่างใด ยกเว้นการชำระเงินค่าสอบคัดเลือกหรืออื่นๆ ที่ตกลงกันไว้แต่แรก เช่น หน่วยงานราชการหรือรัฐวิสาหกิจบางแห่ง หรือการใช้บริการนายหน้าหางาน แต่จะไม่มีในกรณีที่ต้องจ่ายเงินให้บริษัทที่เราสมัครงานโดยตรง
เข้าใจดีว่า ช่วงหางานเป็นช่วงที่เราต่างว้าวุ่นใจ เจอประกาศหางานอันไหนก็ลองส่งเรซูเม่ไปก่อนแบบเผื่อเลือก เผื่อได้ เพื่อรับโอกาสจากหลากหลายด้านให้มากที่สุด แต่ก่อนจะส่งข้อมูลส่วนตัวของเราไปให้ใคร ควรพิจารณาอย่างรอบคอบและมีสติ จะกลายเป็นป้อนกล้วยเข้าปากช้าง ป้อนข้อมูลเราไปให้มิจฉาชีพแบบไม่รู้ตัว มาดูวิธีสังเกตมิจฉาชีพกันว่ามีอะไรบ้าง
อย่างหนึ่งที่ใช้สังเกตได้ว่าเป็นมิจฉาฉีพออนไลน์แฝงตัวมาในรูปแบบของบริษัท คือ มีบริษัทที่ไม่ได้สมัครงานไปแต่ติดต่อมาเพื่อขอข้อมูล แต่ในขณะเดียวกันก็อาจจะเป็นบริษัทที่สนใจในโปรไฟล์ของเราจริงๆ ได้เช่นกัน ดังนั้นให้ตั้งสติ และสอบถามกลับไปว่าเป็นตำแหน่งงานอะไร ใช่ตำแหน่งงานหรือสายงานที่เรามองหาหรือไม่
เข้าใจว่าเรื่องเงินเป็นปัจจัยสำคัญอันดับต้นๆ ที่ทำให้คนเราทำงาน ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องอยู่บนพื้นฐานของความจริง ลองดูว่าภาระงาน ตำแหน่งงานรวมถึงประสบการณ์การทำงานของเรานั้นควรมีเงินเดือนอยู่ในระดับไหน หรือหากไม่แน่ใจสามารถคำนวนฐานเงินเดือนได้ด้วย Salary Guide ของ JobsDB หากเงินเดือนที่เสนอมาสูงเกินไป และเนื้องานง่ายเกินจริง ให้สันนิษฐานก่อนว่าอาจเป็นมิจฉาชีพได้ แต่หากตัวเรามีสกิลด้านอื่นหรือเฉพาะทาง ก็อาจทำให้ได้ข้อเสนอเงินเดือนสูงกว่าตลาดแรงงานได้เช่นกัน
แอปพลิเคชันและอินเทอร์เน็ตต่างๆ ช่วยให้เราตรวจสอบมิจฉาชีพได้ง่ายขึ้น หากพบเบอร์หรืออีเมลแปลก เพียงแค่นำไปค้นหาดูในอินเตอร์เน็ต ก็อาจจะช่วยตอบคำถามในสิ่งที่น่าสงสัยได้ นอกจากนี้หากไม่สมัครงานกับองค์กรในต่างประเทศ แต่มีเบอร์โทรรหัสต่างประเทศโทรเข้ามา อย่าเพิ่งไว้ใจให้นำเบอร์ไปตรวจสอบก่อน เช่นกัน
วิธีเช็กเบอร์โทรศัพท์
ช่องทางการติดต่อก็แสดงถึงความเป็นมืออาชีพขององค์กรนั้นๆ ได้ โดยปกติฝ่ายบุคคลจะไม่ติดต่อผู้สมัครในครั้งแรกด้วย LINE, Messenger หรือช่องทางโซเชียลมีเดีย หากมีการติดต่อมาให้นำชื่อบริษัทนั้นไปค้นหาใน Google ก่อนเบื้องต้น นอกจากนี้ควรสังเกตลักษณะการสอบถามข้อมูล รวมถึงภาษาที่ใช้สนทนาว่ามีความผิดปกและไม่เป็นทางการ การสะกดคำ หรือการเรียงประโยคไม่เหมาะสม
อะไรง่ายที่ดูง่ายเกินไปจำเป็นต้องไตร่ตรองให้ดี การสมัครงานก็เช่นเดียวกัน บริษัทไหนที่ติดต่อมาแบบให้เข้าทำงานได้เลย ไม่ผ่านการสัมภาษณ์ แถมให้เข้าเริ่มงานได้ทันที ควรตั้งข้อสังเกตว่าไม่ใช่บริษัทจริงและอาจเป็นมิจฉาชีพได้ นอกจากนี้ควรสอบถามเหตุผลและรายละเอียดของงานก่อนที่จะตัดสินใจให้ข้อมูลต่างๆ และหากมีการระบุชื่อบริษัท เบื้องต้นให้นำไปค้นหาข้อมูลการจดทะเบียน
วิธีตรวจสอบบริษัทปลอม
การขายฝันคนทำงานด้วยการไปทำงานต่างประเทศ มักเป็นกลยุทธ์ที่มิจฉาชีพใช้หลอกเหยื่ออยู่บ่อยๆ อย่างแรกต้องทำความเข้าใจก่อนว่า การไปทำงานต่างประเทศอาจจะได้ค่าแรงที่สูงก็จริง แต่จะต้องดำเนินการอย่างถูกต้องตามระเบียบกรมแรงงานและขั้นตอนของบริษัท หากมีการขอข้อมูลที่ผิดปกติหรือรหัสผ่านอื่นๆ รวมถึงการเรียกเก็บเงินเบื้องต้น ให้สันนิษฐานว่าเป็นมิจฉาชีพ
เข้าใจกลโกลและแนะนำวิธีสังเกตกันไปแล้ว ทีนี้มาดูวิธีรับมือมิจฉาชีพในวงการหางานกันบ้าง ว่ามีวิธีใดไหนที่ไม่ทำให้เราตกเป็นเหยื่อ
คำว่าข้อมูลส่วนตัวในที่นี้หมายถึงชื่อ นามสกุล เบอร์โทรศัพท์ เลขบัตรประชาชน เลขบัญชีธนาคาร จริงอยู่ที่หลักฐานการสมัครงานส่วนใหญ่ต้องเอกสารเหล่านี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ส่วนใหญ่จะเป็นการส่งเอกสารหลังผ่านการสัมภาษณ์และมีการเซ็นสัญญาเข้าทำงานนอกจากนี้พวกลิงก์ต่างๆ ที่ส่งมา โดยที่บริษัทไม่แจ้งมาก่อนล่วงหน้า ไม่แนะนำให้เปิดหรือคลิกเข้าไป หากไม่มั่นใจให้สอบถามผ่านทางบริษัทนั้นๆ ก่อน
ย้ำกันอีกทีว่าผู้สมัครทุกคนที่สมัครงานไม่จำเป็นต้องจ่ายค่าสมัคร เพราะไม่มีองค์กรไหนที่มีนโยบายให้ผู้สมัครจ่ายค่าสัมภาษณ์ ถ้ามีสามารถตั้งข้อสงสัยได้เลยว่าเป็นมิจฉาชีพ
ทั้งนี้การสมัครงาน JobsDB ไม่มีการเรียกเก็บเงินกับผู้สมัครทุกคนในทุกกรณี ขอให้มั่นใจและใช้งานแอปฯ ของเราเพื่อเจอกับโอกาสดีๆ ได้อย่างสบายใจ
เมื่อแน่ใจแล้วว่า เบอร์โทรหรือ Email เป็นของมิจฉาชีพ สามารถนำข้อมูลเหล่านั้นแจ้งไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเป็นประโยชน์ต่อคนอื่นๆ จะได้ไม่ตกเป็นเหยื่อจากมิจฉาชีพ แจ้งไปที่
มาที่สเต็ปสุดท้าย ในเมื่อมันเกิดขึ้นแล้ว นอกจากทำใจแล้วลำดับถัดไปต้องแก้ไขด้วย ตั้งสติแล้วค่อยๆ จัดการไปด้วยกัน
หากคุณโอนเงินหรือให้ข้อมูลที่เป็นส่วนตัวมากเกินไปให้กับเหล่ามิจฉาชีพออนไลน์ หากมีเรื่องของการธุรกรรมเข้ามาเกี่ยวข้อง สิ่งแรกที่ต้องทำคือเปลี่ยนรหัสผ่านแอคเคาต์นั้นๆ ทันที หรือโทรไปอายัดบัตรกับธนาคาร แล้วค่อยเก็บรวบรวมหลักฐานที่มี เช่น หน้าจอการสนทนา ลิงก์ต่างๆ รวมถึงข้อมูลที่คุณมีเข้าแจ้งความที่สถานีตำรวจในท้องที่เกิดเหตุให้เร็วที่สุดหรือภายใน 3 เดือนตั้งแต่วันที่รู้ว่าถูกโกง
เข้าแจ้งความที่ กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี - บก.ปอท. ที่ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ ถนนแจ้งวัฒนะ หรือเข้าไปกรอกข้อมูลได้ที่ www.thaipoliceonline.com หลังจากนั้นไม่เกิน 3 ชั่วโมงจะมีเจ้าหน้าที่ติดต่อกลับมา จะติดต่อสายด่วนที่ให้การช่วยเหลือเกี่ยวกับเรื่องนี้โดยตรง
JobsDB ขอยืนยันกับผู้สมัครงานทุกท่านว่าเราไม่มีนโยบายเก็บเงิน หรือติดต่อผู้หางานทางช่องทาง LINE หรือโซเชียลมีเดียใดๆ ทั้งนี้หากพบว่ามีกลุ่มมิจฉาชีพติดต่อไปโดยอ้างว่าตัวแทนหรือเป็นเจ้าหน้าที่ของ JobsDB โดยหลอกลวงว่า จะจัดหางานนอกเวลาให้ และเรียกชำระเงินค่าดำเนินการล่วงหน้านั้นไม่เป็นความจริง หากสงสัยสามารถส่งอีเมลมาสอบถามข้อมูลได้ที่ [email protected]
เข้าใจว่าช่วงที่หางานเป็นช่วงที่มีการรับโทรศัพท์ เช็กอีเมล และติดต่อกับคนอื่นมากมาย พร้อมทั้งเป็นช่วงเปิดใจที่จะแชร์ข้อมูลส่วนตัวให้กับฝ่ายบุคคลที่เข้ามาติดต่อ ทั้งในรูปแบบเรซูเม่และการแจ้งข้อมูลอื่นๆ แต่อยากให้ทุกคนลองสังเกตเพิ่มขึ้นก่อนจะให้ข้อมูลส่วนตัวอะไรไป ว่าพฤติกรรมตรงตามที่บทความนี้บอกหรือไม่ เข้าข่ายการเป็นมิจฉาชีพหรือเปล่า เพื่อเป็นการระวังภัยที่จะเข้ามา