ชนชาติจีนขึ้นชื่อเรื่องความขยันขันแข็งมาตั้งแต่ไหนแต่ไร อาจเพราะด้วยสภาพสังคมของประเทศจีนที่มีประชากรจำนวนมาก ทำให้แรงงานก็มากตามไปด้วย พร้อมกับความเชื่อที่ว่าใครขยันมากกว่าก็จะสามารถประสบความสำเร็จได้เร็วกว่าดีกว่า ทำให้การแข่งขันและความกดดันในสังคมจีนมีสูงมากตามไปด้วย คนจีนจะต้องแข่งกันเรียนให้ดีเพื่อให้สามารถเข้าทำงานในบริษัทได้ และพอเข้าไปทำงานแล้วก็ต้องพร้อมทำงานหนักเพราะถ้าไม่แสดงถึงความทุ่มเทก็อาจจะโดนบริษัท “เท” แล้วไปรับพนักงานใหม่ที่พร้อมทุ่มเทให้บริษัทได้มากกว่า จนทำให้คนวัยหนุ่มสาวในจีนรู้สึกต่อต้านภาวะการแข่งขันสูงในสังคมจีน ด้วยการไม่สนความสำเร็จ และหันมา “ปล่อยชีวิตให้เน่า” ตามเทรนด์ “ป่ายล่าน”
ป่ายล่าน
ป่ายล่าน (bai lan 摆烂) เป็นภาษาจีนกลางมีความหมายว่า “ปล่อยให้เน่าไป” ซึ่งถูกใช้โดยคนรุ่นใหม่ชาวจีนที่อยู่ในกลุ่มเจน Z และเจนมิลเลนเนียน ที่เหนื่อยหน่ายต่อแรงกดดันทางสังคม ความคาดหวังกับชีวิตที่ต้องแข่งขันกันทำงานอย่างหนักเพื่อให้ประสบความสำเร็จ มีรายได้สูง เพราะรู้สึกว่าพยายามมากแค่ไหนก็ไร้ความหมาย จึงหันมาปล่อยวางชีวิต หาอะไรทำเล็ก ๆ น้อย ๆ เพื่อหาเลี้ยงตัวเองให้ได้ และใช้ชีวิตไปวัน ๆ แทน
Jia Miao ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านสังคมวิทยาจากมหาวิทยาลัยนิวยอร์ก เซี่ยงไฮ้ (NYU Shanghai) กล่าวว่า “ป่ายล่านคือการที่คนหนุ่มสาวปฏิเสธที่จะพยายามต่อไป (ในการใช้ชีวิต) เพราะพวกเขาไม่เห็นความหวังในการทำเช่นนั้น”
โดยที่เทรนด์ “ป่ายล่าน” แพร่หลายอย่างมากในหมู่คนหนุ่มสาวชาวจีน ดูได้จากการแชร์รูปภาพบน “Xiaohongshu” แอปพลิเคชันที่เป็นเหมือนอินสตาแกรมแห่งประเทศจีน คนหนุ่มสาวชาวจีนได้มีโพสต์รูปที่สื่อถึงท่าทางอันเหนื่อยล้า ความเศร้าที่ต้องใช้ชีวิต พร้อมกับติดแฮชแท็ก เช่น #เหนื่อย #ช่างแ** ซึ่งมีแฮชแท็กยอดนิยมสำหรับเทรนด์นี้คือ #ความเน่าเปื่อยในทุกวัน และ #เน่าไปด้วยกัน ที่เป็นแฮชแท็กที่ถูกพูดถึงในแพลตฟอร์ม Xiaohongshu มากกว่า 2 ล้านครั้ง เป็นเหมือนกันชวนให้เพื่อนร่วมชาติมาร่วมกันประท้วงวัฒนธรรมแห่งการทำงานหนักและความคาดหวังจากสังคมไปด้วยกัน
9-9-6 คือ วัฒนธรรมการทำงานของจีนที่นิยมใช้กันอย่างแพร่หลายในบริษัท Tech ยักษ์ใหญ่ของจีนอย่าง Alibaba หรือ Huawei โดยเลขต่าง ๆ เป็นตัวแทนแสดงถึงชั่วโมงและวันในการทำงาน นั่นคือ ทำงาน 9 โมงเช้า ถึง 3 ทุ่ม (9.00 am. – 9.00 pm.) เป็นจำนวน 6 วันต่อสัปดาห์ แค่ดูจากเลขตรงนี้แล้ว เรียกได้ว่าหาเวลาพักผ่อนแทบไม่เจอ ไม่ต้องไปพูดถึงเรื่อง Work-Life Balance กันเลย และวัฒนธรรมนี่ยังสะท้อนภาพการทำงานหนักของชาวจีนได้เป็นอย่างดี
นอกจากเรื่องชั่วโมงทำงานอันยาวนานแล้ว ประเทศจีนยังประสบปัญหาอัตราการว่างงานสูงด้วย จากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติ อัตราการว่างงานของผู้ที่มีอายุระหว่าง 16-24 ปี อยู่ที่เกือบ 20% ในเดือนกรกฎาคม ซึ่งสูงกว่าอัตราการว่างงานในเขตเมืองที่ 5.6% มาก ในขณะที่ราคาบ้านคิดเป็น 14 เท่าของเงินเดือนเฉลี่ย
พร้อมกับผลพวงจากการลดจำนวนประชากรประเทศก่อนหน้านี้ ทำให้หนุ่มสาวชาวจีนให้คนเป็นลูกคนเดียว และต้องแบกรับภาระดูแลพ่อแม่หรืออาจจะเลยไปถึงปู่ย่าตายาย ซึ่งเรียกได้ว่าเงินเดือนไม่พอใช้อาจกลายเป็นเรื่องปกติของคนจีนไปแล้ว
ประกอบกับสภาวะเศรษฐกิจที่เกิดการชะลอตัวครั้งใหญ่ การควบคุมโควิดที่เข้มงวดของรัฐบาลจีน ทำให้หลายบริษัทต้องปลอดคนงานออก ส่วนคนที่ทำงานอยู่ก็ต้องขยันและทำงานหนักขึ้นเรื่อย ๆ เพราะบริษัทพร้อมที่จะไล่คนออกแล้วหาคนใหม่มาแทนที่ได้เสมอ
ก่อนหน้าที่จะมีเทรนด์ “ป่ายล่าน” หนุ่มสาวชาวจีนได้พูดถึงเทรนด์ “ถ่างผิง” (tang ping 躺平) หรือ Lying flat แปลเป็นไทยว่า “นอนราบ” ใช้สื่อถึงการปฏิเสธการทำงานที่มากเกินไป ด้วยการปล่อยให้ทุกอย่างเป็นไปและทำอะไรให้น้อยที่สุด โดย “ถ่างผิง” แตกต่างจาก “ป่ายล่าน” ตรงที่ ยังมีการตั้งเป้าหมายให้ชีวิตอยู่ แต่ว่าเป็นการตั้งเป้าหมายแบบเสมอตัว
ไม่ต้องขยันหรือทำอะไรเกินหน้าที่ คล้าย ๆ กับเทรนด์ Quiet Quitting หรือ ลาออกเงียบ ที่เป็นกระแสในโลกอยู่ตอนนี้ ซึ่งคนที่ร่วมกระแส “ป่ายล่าน” จะใช้ชีวิตแบบไม่อยากดิ้นรนอะไรเลย ไม่ทำอะไรแม้จะเป็นหน้าที่ความรับผิดชอบของตัวเอง เพราะไม่เห็นว่าทำไปแล้วจะมีประโยชน์อะไร หมดหวังกับชีวิตไปแล้ว
นักเศรษฐศาสตร์หลายคนลงความเห็นตรงกันว่า เทรนด์ “ป่ายล่าน” ของกลุ่มคนรุ่นใหม่ในจีนอาจสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจจีนได้ เพราะตอนนี้เศรษฐกิจของจีนเองก็อยู่ในช่วงชะลอตัวอยู่แล้ว “ป่ายล่าน” อาจทำให้เศรษฐกิจจีนยิ่งแย่ลงไปอีก และยังส่งผลกระทบถึงอัตราการเกิดที่ตอนนี้อยู่ในจุดต่ำที่สุดเป็นประวัติศาสตร์ของจีนไปแล้ว ศาสตราจารย์ ซื่อ เหล่ย จากมหาวิทยาลัยฟูตันในนครเซี่ยงไฮ้ กล่าวว่า “อาจมีเพียงคนกลุ่มเล็ก ๆ ที่ปล่อยชีวิตให้เน่าไปจริง ๆ แต่เมื่อคำที่เป็นกระแสคำหนึ่งถูกขยายความเกินจริงบนสังคมออนไลน์ ย่อมทำให้เกิดบรรยากาศทางสังคมขึ้น และอาจมากพอที่จะสร้างผลกระทบได้”
อย่างไรก็ดี ทั้ง “ป่ายล่าน” และ “ถ่างผิง” นอกจากจะเป็นเสียงสะท้อนจากคนรุ่นใหม่ชาวจีนถึงวัฒนธรรมการทำงานหนักเกินไปแล้ว ยังเป็นเหมือนกลไกที่คนรุ่นใหม่ชาวจีนใช้รับมือกับความกดดันและการแข่งขันทางสังคมที่ดุเดือดที่นับวันจะมีแต่เพิ่มสูงขึ้น เหมือนที่ศาสตราจารย์ หยู ไห่ จากคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยฟูตัน ได้บอกไว้ว่า “ไม่มีใครชอบถูกคนอื่นเรียกว่าทำตัวเน่า แต่เมื่อพวกเขาจัดวางตัวเองให้อยู่ในจุดที่ต่ำมากและเรียกตัวเองแบบนั้นเสียเอง หมายความว่าพวกเขากำลังปกป้องตัวเองจากคำวิจารณ์ของคนอื่นนั่นเอง”
ดาวน์โหลดได้แล้ววันนี้ทั้ง iOS และ Android
คว้างานที่ใช่ ด้วยการค้นหางานที่ง่ายและรวดเร็ว พร้อมทั้งจัดการเรซูเม่อย่างมีประสิทธิภาพ ให้คุณอัปโหลด ดู และลบได้ทุกเมื่อที่ต้องการ เพลิดเพลินไปกับประสบการณ์การใช้งานแสนง่าย ด้วยระบบ AI ใหม่ ช่วยค้นหางานที่ตรงใจมากขึ้นถึง 6 เท่า
https://th.jobsdb.com/th-th/articles/%e0%b8%ab%e0%b8%a1%e0%b8%94%e0%b9%84%e0%b8%9f%e0%b9%83%e0%b8%99%e0%b8%81%e0%b8%b2%e0%b8%a3%e0%b8%97%e0%b8%b3%e0%b8%87%e0%b8%b2%e0%b8%99burnout/
https://th.jobsdb.com/th-th/articles/5%e0%b8%aa%e0%b8%b2%e0%b9%80%e0%b8%ab%e0%b8%95%e0%b8%b8burnout%e0%b8%82%e0%b8%ad%e0%b8%87%e0%b8%9e%e0%b8%99%e0%b8%b1%e0%b8%81%e0%b8%87%e0%b8%b2%e0%b8%99/