หลายคนคงเคยใช้ได้ยินชื่ออาชีพหรือตำแหน่ง BD กันมาบ้าง ซึ่งในหลายๆ ออฟฟิศก็มักมีตำแหน่งนี้ไว้เป็นอีกหนึ่งกำลังสำคัญขององค์กรด้วยเช่นเดียว แต่เคยสงสัยหรือไม่ว่าแท้จริงแล้วตำแหน่ง BD ทำหน้าที่อะไรกันแน่ บทความนี้เราจะมาไขข้อข้องใจ ทั้งหน้าที่ต่างๆ รวมไปทักษะด้านไหนที่ BD ควรมีติดตัวกันไว้บ้าง
คำว่า BD ย่อมากจาก Business Development แปลเป็นภาษาไทยก็คือ “นักพัฒนาธุรกิจ” นั่นเอง เป็นตำแหน่งที่ช่วยพัฒนาธุรกิจขององค์กรให้ดีขึ้น ทั้งในเรื่องของการเพิ่มยอดขาย ลดต้นทุน รวมไปถึงการแสวงหาโอกาสใหม่ๆ ให้กับธุรกิจหรือบริษัท นอกจากนี้ยังช่วยในการวางแผนและพัฒนา Busniess Model ที่บริษัทเคยตั้งไว้ ให้เกิดประสิทธิภาพมากขึ้นอีกด้วย
คนที่ทำตำแหน่ง BD มีหน้าที่ดังนี้
ตำแหน่ง Business Development Manager คือผู้บริหารหรือผู้จัดการฝ่ายพัฒนาธุรกิจ จะมีหน้าที่ในการดูแลภาพรวมทั้งหมดของแผนก ตั้งแต่แผนการพัฒนาธุรกิจ การวิจัยธุรกิจของลูกค้า พันธมิตร และโอกาสในการเติบโตทางธุรกิจ พร้อมนำแผนพัฒนาดังกล่าวเสนอให้กับลูกค้าหรือผู้บริหาร หากฝ่ายบริหารมีข้อเสนอแนะและสิ่งที่ให้ปรับปรุง ก็จะนำไปแก้ไขหรือนำเสนอเรื่องราวต่างๆ เพิ่มเติมตามความเหมาะสม
ตำแหน่ง Business Development Associate เปรียบเสมือนผู้ช่วยหรือผู้ร่วมวางแผนให้กับตำแหน่ง Manager อีกที ซึ่งหากมีความคิดเห็นหรือแผนพัฒนาที่อยากนำเสนอ ก็สามารถนำมาวิเคราะห์ร่วมกันได้
นอกจากนี้ยังต้องรับผิดชอบในการพัฒนากลยุทธ์เพิ่มยอดขายของบริษัท โดยการรักษาฐานลูกค้าเดิมและเพิ่มฐานลูกค้าใหม่ ทำหน้าที่ในการติดต่อประสานงานกับลูกค้าที่มาใช้บริการให้ได้รับความสะดวกมากยิ่งขึ้น รวมทั้งการทำวิจัยการตลาดหรือ Market Research เพื่อเก็บข้อมูล
ทักษะด้านการวิเคราะห์ ถือเป็นทักษะที่สำคัญที่สุดของตำแหน่ง BD เพราะหน้าที่หลักคือต้องเป็นคนที่วิเคราะห์แผนพัฒนาธุรกิจให้แก่องค์กรอยู่แล้ว จึงเป็นทักษะที่ขาดไม่ได้ ต้องเป็นคนที่สามารถคิดทุกอย่างให้ออกมาเป็นเหตุและผลได้ พร้อมการไตร่ตรองทุกครั้งก่อนลงมือทำ รวมไปถึงการวิเคราะห์ข้อดีและข้อเสีย ก่อนนำสิ่งเหล่านั้นมาปรับปรุงพัฒนา หรือแก้ปัญหาให้ทุกอย่างออกมามีประสิทธิภาพมากที่สุด
ทักษะการวิเคราะห์ข้อมูลหรือ Data Analysis เป็นอีกหนึ่งทักษะที่จำเป็นสำหรับตำแหน่ง BD ช่วยให้สามารถนำข้อมูลมาต่อยอดใช้พัฒนาธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้การมีทักษะวิเคราะห์ข้อมูลยังรวมถึง Database Management และ Data presentation ด้วย เพราะจำเป็นสำหรับการแก้ปัญหาในแผนธุรกิจที่อาจเกิดขึ้นบนพื้นฐานของข้อมูลที่มีหรือทำวิจัยไว้
ทักษะด้านการตลาดถือเป็นทักษะพื้นฐานที่นักพัฒนาธุรกิจทุกคนต้องมี ซึ่งทักษะด้านการตลาดในที่นี้คือพื้นฐานการโฆษณา กลยุทธ์ทางการตลาด การวิจัยกลุ่มลูกค้า รวมถึงการตลาดบน Social Media และพื้นฐานการใช้เครื่องมือต่างๆ
จริงๆ แล้วทักษะด้านนี้ ถือเป็นทักษะที่หลายๆ ตำแหน่งอาชีพต้องมีติดตัวกันอยู่แล้ว แต่สำหรับตัว BD นั้น ทักษะนี้จะเข้ามาช่วยในเรื่องของการคิดค้นหรือมองหาโอกาสใหม่ในการพัฒนาธุรกิจ รวมไปถึงจะทำอย่างไรให้ Business Model ที่องค์กรตั้งไว้อยู่แล้ว พัฒนาให้มีประสิทธิภาพและได้ผลลัพธ์ที่ดียิ่งขึ้น
ตำแหน่งที่ว่าด้วยเรื่องของการวางแผน มักมีการประชุมหรือเบรนสตรอมกันบ่อยๆ เผื่อหาไอเดียหรือแนวคิดใหม่ๆ อยู่เสมอ โดยเฉพาะตำแหน่ง BD ที่นอกจากจะตั้งมีการประชุมภายในทีมอยู่แล้ว อาจจะต้องมีการประชุมระหว่างแผนกด้วย ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายการตลาดหรือฝ่ายขาย เป็นต้น ในการพัฒนาธุรกิจร่วมกัน ดังนั้นทักษะด้านการจดบันทึกจึงเป็นเรื่องที่สำคัญ เพราะการจดสรุปที่ดี มีความใจสำคัญที่ครบถ้วน จะช่วยให้สามารถนำข้อมูลกลับมาวิเคราะห์และพัฒนาชิ้นงานได้อย่างไม่มีข้อผิดพลาด
เมื่อคิดแผนพัฒนาธุรกิจให้กับองค์กรแล้ว ตำแหน่ง BD ต้องมีการนำเสนอแผนดังกล่าวต่อผู้บริหารหรือลูกค้า ดังนั้นต้องมีหน้าที่ทำอย่างไรก็ได้ให้ผู้ฟังเห็นว่าแผนที่เสนอมีประสิทธิภาพ สามารถช่วยพัฒนาองค์กรได้จริง จึงควรมี ทักษะด้านการนำเสนอหรือ Presentation skill เป็นคนที่กล้าพูด สามารถสื่อสารได้อย่างมีประสิทธิภาพ ฟังแล้วเข้าใจง่าย ไม่ประหม่าเวลาที่ต้องพรีเซนต์งาน ตลอดไปจนถึงเรื่องของการเจรจาที่ต้องหาข้อสรุปให้ได้
นอกจากการพูดจาที่ฉะฉาน คล่องแคล่ว และเข้าใจง่ายแล้ว เรื่องของภาพลักษณ์ก็เป็นสิ่งสำคัญและต้องมาคู่กับทักษะด้านบน คนที่ทำตำแหน่ง BD จะต้องมีภาพลักษณ์ที่ดูน่าเชื่อถือ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการแต่งตัว ทรงผม อาจต้องดูเป็นทางการสักเล็กน้อย เพื่อให้ผู้บริหาร ลูกค้า หรือผู้ที่พบเห็นเชื่อมั่นในแผนพัฒนาธุรกิจมากยิ่งขึ้น
ตำแหน่ง BD ถือเป็นอีกตำแหน่งที่ต้องติดต่อกับผู้คนมากหน้าหลายตา เริ่มต้นด้วยแผนกต่างๆ ในองค์กร ที่อาจต้องพึ่งพาอาศัยกัน ไล่ไปจนถึงผู้บริหาร ตลอดไปจนถึงลูกค้านอกองค์กร ทั้งลูกค้าปัจจุบันและลูกค้าใหม่ๆ ดังนั้นจึงเป็นต้องเป็นคนที่มีมนุษยสัมพันธ์ที่ดีในการพูดคุยเจรจา นอกจากนี้ยังรวมไปถึงเรื่องของ Service Mind ที่ต้องมีเช่นกัน เพื่อใช้ในการดูแลลูกค้า
สำหรับคณะที่เรียนแล้วตรงสายที่สุดในการจบมาเพื่อทำงานตำแหน่ง BD หรือ Busniess Development ก็คือ คณะบริหารธุรกิจ ซึ่งถือเป็นคณะที่มีการเรียนการสอนครอบคลุมในหลากหลายสาขาวิชาเกี่ยวกับด้านธุรกิจมากที่สุด ซึ่งจะมีความแตกต่างกันไปในแต่ละสถาบัน แต่ส่วนใหญ่แล้วในทุกๆ มหาวิทยาลัย มักจะมีคณะดังกล่าวเปิดสอนอยู่แล้ว ซึ่งสาขาที่ตรงกับสายงาน BD ได้แก่ สาขาการจัดการ สาขาการตลาด หรือสาขาธุรกิจระหว่างประเทศ ฯลฯ
ตำแหน่ง BD หรือ Business Development ถือเป็นอีกตำแหน่งงานที่น่าสนใจในยุคนี้ มีโอกาสก้าวหน้าขึ้นไปเป็นระดับผู้บริหารได้ หรือจะต่อยอดไปทำสายงานอื่นก็ถือว่าไม่ใช่เรื่องยาก แถมยังค่อนข้างเป็นตำแหน่งที่มีความต้องการในตลาดงานสูงไม่แพ้ตำแหน่งอื่นๆ เลยทีเดียว แต่ไม่ว่าจะทำตำแหน่งไหน ขอแค่มีความตั้งใจและใจรักในอาชีพ พัฒนาตัวเองอยู่เสมอ ผลงานที่ผลิตออกมาก็จะมีคุณภาพ ช่วยให้ได้เติบโตในเส้นทางอาชีพอย่างมั่นคง
ส่วนใครที่กำลังมองหางาน BD หรือ Business Development อยู่ JobsDB มีตำแหน่งงานมากมายจากผู้ประกอบการชั้นนำ สามารถคลิกดูได้เลยทั้งในเว็บไซต์และแอปพลิเคชัน