10 วิธีแก้อาการเบื่องาน สำหรับคนกำลังหมดไฟ

10 วิธีแก้อาการเบื่องาน สำหรับคนกำลังหมดไฟ
Jobsdb ทีมเนื้อหาอัปเดตเมื่อ 07 July, 2023
Share

เราเชื่อว่ามนุษย์เงินเดือนทุกคนย่อมเคยผ่านอาการนี้มาแล้วทั้งสิ้น กับอาการที่เรียกว่า “เบื่องาน” พอใกล้ถึงวันจันทร์ทีไรกลับรู้สึกหดหู่และเบื่อหน่าย แต่พอถึงวันศุกร์หรือช่วงใกล้วันหยุดนักขัตฤกษ์กลับมีความกระดี๊กระด๊าขึ้นมาอย่างทันตาเห็น จริงๆ แล้วเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคนและไม่ใช่สิ่งผิดปกติแต่อย่างใด

แต่จะดีกว่าไหมถ้าเราสามารถหาวิธีปรับตัวหรือแก้ไข เพื่อให้เราใช้ชีวิตกับงานที่เรารักได้อย่างมีความสุขตลอด 5 วัน/สัปดาห์ ก่อนที่อาการเบื่องานที่ว่านี้จะลุกลามกลายเป็นคำว่า Burn Out ไปในที่สุด เพราะฉะนั้นว่าดูกันดีกว่า ว่าวิธีแก้อาการเบื่องานที่สามารถทำตามได้ง่ายๆ จะมีอะไรบ้าง รีบไปอ่านกันโดยพลัน ก่อนจะสายเกินแก้ไข

เบื่องาน

1. ค้นหาต้นตอที่เป็นสาเหตุของการเบื่องาน

ทุกครั้งที่เราพบเจอกับปัญหาอะไรก็ตาม สิ่งแรกที่ควรทำคือ หาสาเหตุของปัญหานั้นให้เจอก่อนว่า มันคืออะไรกันแน่ เฉกเช่นเดียวกันกับอาการเบื่องาน เมื่อเรารู้สึกเซ็งกับงานทุกวันนี้เต็มแก่ อยากลาออกให้รู้แล้วรู้รอด ก็ต้องสาเหตุของมันเช่นเดียวกัน ว่าเป็นเพราะอะไรกันนะ

สิ่งสำคัญในการหาสาเหตุก็คือ ควรมองให้รอบด้าน ทั้งในแง่บวกและแง่ลบ อย่าใช้ตัวเองเป็นศูนย์กลาง และคิดว่าสิ่งอื่นๆ แย่เสมอไป จนลืมมองกลับมาที่ตัวเอง เพราะบางครั้งสาเหตุในการเบื่องานที่แท้จริงแล้ว อาจมาจากตัวเราเองก็เป็นได้ เมื่อพบเจอต้นตอของปัญหาเป็นที่เรียบร้อย ค่อยดำเนินการหาวิธีแก้ไขเป็นลำดับต่อไป

2. เช็คให้ชัวร์ว่า “เบื่องาน” หรือ “เบื่อคน”

สืบเนื่องจากข้อแรกหากเช็คให้ชัวร์แล้วว่าสาเหตุหลักไม่ได้มาจากตัวเราเองแน่ๆ ก็ต้อง Double Check ซ้ำสองว่า สาเหตุที่เราเบื่องานนั้น แท้จริงแล้วคืออะไร ส่วนที่ใหญ่ที่หลายคนประสบพบเจอ ก็มีแค่อยู่แค่ประเด็นก็คือ ไม่ “เบื่องาน” ก็ “เบื่อคน”

เคยมีผลวิจัยจากหลายๆ ที่เคยกล่าวไว้ว่า มีคนจำนวนไม่น้อยที่ตัดสินใจเลือกออกจากงาน แท้ที่จริงมีสาเหตุมาจากคนที่ในทำงาน บางคนถึงขั้นจำยอมทิ้งงานที่รัก สวัสดิการที่ดีจากบริษัท เพียงเพราะทนพฤติกรรมและนิสัยแย่ๆ ของคนในที่ทำงานไม่ไหว ไม่ว่าจะเป็นทั้งจากหัวหน้าหรือเพื่อนร่วมทีม ซึ่งปัญหาหลักๆ มักจากเกิดเรื่องราวความไม่เท่าเทียมกัน ความไม่ยุติธรรม ปัญหาการสื่อสาร สไตล์การทำงานที่ไม่เข้ากัน ไปจนถึงโชคร้ายเจอเพื่อนร่วมงาน Toxic

เพราะฉะนั้นแล้วให้ลองชั่งใจดูว่า ถ้าเราตัดคนออกไปจากออฟฟิศเรา แล้วเราจะมีความสุขขึ้นหรือไม่ ถ้าสุดท้ายแล้วผลออกมาว่าใช่ ให้ฟันธงไปเลยว่าคุณกำลังเบื่อ “คน” แต่ไม่ได้เบื่อ “งาน” แน่นอน แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าการทำงานทุกที่ย่อมต้องมีเรื่องคนเข้ามาเกี่ยวข้อง เพราะเราไม่สามารถทำงานคนเดียวได้ หากเรารู้แล้วว่า เรามีปัญหากับใคร จึงควรเลือกที่จะปรับความเข้าใจ หรือเคลียร์กันใหม่ให้มาเจอกันตรงกลาง แทนที่เราจะตัดสินใจลาออกจากงานที่สนุกกับมัน เพราะเพียงแค่คนๆ เดียว (หรือคนบางกลุ่ม)

3. มองมุมกลับ ปรับมุมมอง

บางครั้งการวิ่งอยู่ในทุ่งลาเวนเดอร์ก็ไม่ใช่เรื่องเพ้อฝันเสมอไป แต่เราควรนำประเด็นนี้มาใช้แก้ปัญหาในบางเรื่องเช่นเดียวกัน เพราะการสร้างทัศนคติในเชิงบวกหรือการมองโลกในแง่ดี ก็สามารถช่วยได้ เพราะจริงๆ แล้ว การที่คนเราต้องทำอะไรซ้ำๆ เดิมๆ ทุกวันเป็นนาน ย่อมก่อให้เกิดอาการเบื่อแน่นอน แล้วยิ่งถ้าเราไปหมกมุ่นอยู่กับความคิดที่ว่าทำไป ก็จะมีแต่เบื่อขึ้นเรื่อยๆ ความคิดนั้นก็จะบั่นทอนให้เรามีความสุขในการทำงานที่ลดลงไปอีก

เพราะฉะนั้นเราควรมองมุมกลับ ปรับมุมมอง ให้ลองหาข้อดีอื่นๆ ในงานที่ทำอยู่ หรือลองหาสิ่งดีๆ ที่มีอยู่ในออฟฟิศของเรา เช่น การมีเพื่อนร่วมงานที่ดี, การมีหัวหน้าที่เข้าใจและซัพพอร์ตเรา, สวัสดิการออฟฟิศสุดปัง, การเดินทางมาทำงานแสนสบาย ฯลฯ เพียงแค่เราหาจุดบวก ก็สามารถเกิดแรงจูงใจใหม่ๆ ให้เราอยากตื่นขึ้นมาทำงานได้มากขึ้นแล้ว

4. เบื่องาน เพราะงานที่ทำจำเจ

หากคุณรู้สึกว่างานที่อยู่ตลอดเป็นอะไรที่ซำ้ๆ เดิมๆ ทำเหมือนเดิมแทบทุกวัน หรือรู้สึกว่างานที่ทำมันดูจะง่ายเกินไป ทั้งที่จริงๆ คุณก็สามารถทำงานนั้นได้อย่างดีเยี่ยม แต่บางครั้งก็รู้สึกว่านี่คือ Comfort Zone ของตัวเองในการทำงาน เพราะเคยชินกับสิ่งนั้น ผสานกับกลัวการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น นั่นก็อาจเป็นสัญญาณของการเบื่องานได้เช่นเดียวกัน

วิธีแก้คือลองหาโอกาสคุยกับหัวหน้างานเกี่ยวกับการรับงานใหม่ๆ หรือโปรเจคต์พิเศษที่จะช่วยพัฒนาทักษะและท้าทายความสามารถของคุณให้มากขึ้น นอกจากนี้ก็ควรลองที่จะหาข้อมูลถึงตำแหน่งงานสายอื่นๆ ในบริษัทดูด้วย ลองไปพูดคุยกับทีมอื่น ว่าเขาทำงานกันอย่างไร เหนือบ่ากว่าแรงของเราไหม และคุณสมบัติที่เรามี สามารถนำมาปรับมาใช้มากน้อยเพียงใด แล้วค่อยหาทางขยับขยายเพื่อเป็นตำแหน่ง แต่ข้อสำคัญเลยก็คือคุณต้องแน่ใจตัวเองจริงๆ ก่อนนะ ว่าคุณกล้าที่จะก้าวออกจาก Comfort Zone ของงานเดิมจริงๆ มิฉะนั้นอาจกลายเป็นการหนีเสือปะจระเข้ ย้ายไปแล้ว รู้สึกแย่กว่าเก่า ก็อาจจะกลายเป็นผลเสียกว่าเดิมก็ได้

5. เปลี่ยนสไตล์การทำงาน หรือ เปลี่ยนกิจวัตรประจำวัน

วิธีต่อมาคือลองปรับเปลี่ยนสไตล์การทำงานของตัวเองดูบ้าง เช่น ถ้าปกติคุณเป็นคนที่ทำงานแบบมีระเบียบแบบแผน ทุกอย่างต้องเป๊ะตามตาราง ลองปรับด้วยการเพิ่มความยืดหยุ่นลงไปบ้าง เพื่อจะได้ไม่กดดันตัวเองจนเกินไป หรือหากมองกลับกัน หากคุณเป็นคนที่ทำงานแบบชิลจนเกินไป จนขาดการวางแผนที่ดี ก็ลองหันมาจริงจังด้วยการจัดตารางงานใหม่ วางแผนลำดับความสำคัญแบบเป็นขั้นเป็นตอน ก็อาจช่วยให้งานของคุณราบรื่นไปได้เช่นกัน

นอกจากนี้คุณยังควรลองเปลี่ยนกิจวัตรประจำวันของตัวเองดูด้วย เช่น การแบ่งเวลาการทำงานกับชีวิตส่วนตัวให้เหมาะสม แยกเรื่องงานกับเรื่องส่วนตัวออกจากกันให้ชัดเจน ใช้ชีวิตมนุษย์เงินเดือนแบบ Work Life Balance และไม่ควรนำเรื่องงานกลับมาเครียดต่อที่บ้านเป็นอันขาด

6. ศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม

การเรียนรู้ไม่มีวันสิ้นสุด แม้เราจะก้าวเข้าสู่การเป็นมนุษย์เงินเดือนเต็มตัวแล้วก็ตาม แต่เราก็ควรหาความรู้เพิ่มเติม เพื่อพัฒนาทักษะที่ดีอยู่แล้วให้ดียิ่งขึ้นไปอีก เพราะบางครั้งคุณอาจไม่รู้ตัวว่าจริงๆ แล้วสาเหตุที่เบื่องาน อาจเกิดมาจากการติดขัดเรื่องทักษะบางอย่าง จึงอาจทำให้งานที่ทำอยู่ สะดุดไปบ้างในบางครั้ง

หากมีโอกาสจึงควรหาเวลาเทคคอร์สเพิ่มเติมที่เกี่ยวกับงานของตัวเอง หรือหากอยากก้าวไปอีกขั้น ก็ลองเทคคอร์สที่ไม่เกี่ยวข้องกับสายงานตัวเองก็ได้ เพราะเผื่อได้จับผลัดจับผลูได้ย้ายสายงาน จะได้นำทักษะใหม่ๆ ไปปรับเข้ากับงานได้อย่างดีเยี่ยม โดยสมัยนี้มีคอร์สออนไลน์ให้เลือกเรียนมากมาย แถมบางที่ยังฟรีและมีใบประกาศฯ ให้อีกด้วยนะ

7. มองหาความท้าทายในที่ทำงาน

เมื่อคุณกล้าออกจาก Comfort Zone หรือได้ลองเทคคอร์สเพิ่มเติมแล้ว ก็ถึงเวลาเริ่มต้นในการมองหาความท้าทายใหม่ๆ สักที หากยังไม่กล้าพอที่จะย้ายสายงาน ก็ลองปรึกษาหัวหน้าเพื่อขอรับผิดชอบในโปรเจคต์พิเศษหรือชิ้นงานที่ยากขึ้นดูก่อน ไม่อย่างนั้นก็ถามลองเพื่อนร่วมทีมว่าต้องการความช่วยเหลือบ้างไหม เพราะสิ่งเหล่านี้จะช่วยพัฒนาทักษะของคุณได้เป็นอย่างดี

โดยการลองทำงานใหม่ๆ ที่ยากขึ้นนั้น จะเป็นส่วนช่วยในการกระตุ้นสมองและอารมณ์ของคุณให้รู้สึกตื่นตัวมากขึ้น แถมยังมีส่วนช่วยให้คุณได้รับประสบการณ์ใหม่ๆ เพิ่มเติม ได้เติบโตในสายอาชีพ ถือเป็นการเตรียมพร้อมสำหรับอนาคต เมื่อโอกาสในเลื่อนตำแหน่งมาถึง

8. ค้นหางานอดิเรกใหม่ๆ

บางครั้งการที่เราเป็นมนุษย์เงินเดือนแบบ Full Time ทำให้เราลืมที่จะมองหาความสุขรอบตัวไปบ้าง เพราะเรามัวแต่โฟกัสอยู่กับงานมากเกินไป จนก่อให้เกิดความเครียด ดังนั้นจึงควรลองที่หางานอดิเรกทำ อาจจะเริ่มต้นจากงานอดิเรกที่คุณเคยทำอยู่แล้ว แต่ไม่ค่อยได้ทำ หรือจะลองค้นหาอะไรใหม่ๆ ทำในเวลาว่างก็ได้เหมือนกัน

โดยกิจกรรมที่น่าสนใจ ก็อย่างเช่น การลองเทคคอร์สพิเศษ, การเข้าฟิตเนสหรือคลาสออกกำลังกาย, การเล่นหุ้น, การเยี่ยมนิทรรศการ, การออกไปเดินทางท่องเที่ยว และอื่นๆ อีกมากมาย ซึ่งกิจกรรมต่างๆ เหล่านี้ล้วนเป็นตัวช่วยในการบรรเทาความเครียดได้เป็นอย่างดี

9. หากิจกรรมทำแก้เครียดระหว่างวันทำงาน

สำหรับงานอดิเรก อาจจะต้องหาวันหยุดหรือวันว่างๆ ในการไปทำกิจกรรม แต่ถ้าเป็นระหว่างวันเวลาทำงาน เราก็สามารถหากิจกรรมสั้นๆ เพื่อ Take a break จากงานเครียดๆ ได้เหมือนกัน เช่น

- บันทึกเรื่องราวดีๆ ที่เคยทำ ลงในสมุดสักเล่ม

- หาร้านอาหารอร่อยๆ ทานช่วงมื้อกลางวัน

- ออกไปเดินเล่นรับลม หรือหาซื้อของว่างยามบ่าย

- พยายามหาเวลาลุกจากโต๊ะไปที่อื่น สักประมาณ 5-10 นาที

- เปิดเพลงฟัง เพื่อสร้างบรรยากาศผ่อนคลาย

- คุยเล่นเรื่องอื่นที่ไม่ใช่เรื่องงานกับเพื่อนร่วมทีมบ้าง

- จัดโต๊ะทำงานให้ดูเก๋ไก๋สวยงาม เพื่อสร้างมู้ดในการทำงาน

- วางแผนหาข้อมูลท่องเที่ยวหรือหากิจกรรมทำช่วงวันหยุด

10. ตั้งเป้าหมาย ลองมองหาสิ่งใหม่

พยายามตั้งเป้าหมายให้กับตัวเองว่าการที่เราทำงานที่บริษัทนี้ เรามีจุดมุ่งหมายอย่างไร ต้องการให้เส้นทางอาชีพของเราประสบความสำเร็จมากแค่ไหน เพราะทุกๆ เป้าหมายที่เราตั้งไว้ ล้านแล้วแต่เป็นแรงผลักดันให้เราสามารถมีแรงฮึดต่อสู้กับทุกสิ่งอย่างได้เสมอ ซึ่งทุกๆ การตั้งเป้าหมาย อย่าไปคำนึงถึงอุปสรรคที่จะเข้ามา หรือคิดว่าเราไม่สามารถต่อสู้กับปัญหาได้ ขอแค่คุณมีกำลังใจที่ดี และเชื่อว่าความสามารถของคุณไปถึง แค่นี้ก็จะอาจช่วยให้บรรเทาอาการเบื่องานลงได้

แต่สุดท้ายถ้าลองพยายามทุกสิ่งแล้ว ก็ยังเบื่อกับงานปัจจุบันที่ทำอยู่จริงๆ ก็อาจจะต้องถึงเวลามองหางานใหม่ เพราะไม่แน่ใจถ้าได้คุณได้เปลี่ยนสภาพแวดล้อมใหม่ๆ เพื่อนร่วมงานใหม่ๆ อาการเบื่องานอาจจะหายไปก็ได้

สรุปวิธีแก้อาการเบื่องาน สำหรับคนกำลังหมดไฟ

อาการเบื่องานนั้นสามารถเกิดขึ้นได้กับมนุษย์เงินเดือนทุกคน อยู่ที่แต่ละคนจะมีความสามารถในการปรับตัวหรือต่อสู้กับอาการนี้ได้มากแค่ไหน แต่สิ่งสำคัญก็คือ ใครที่ประสบปัญหานี้ ขอให้วิเคราะห์ปัญหานี้ให้ถี่ถ้วน และหาทางออกให้มันอย่างเต็มความสามารถ เพราะอย่างไรเสียถ้าขึ้นว่าเป็นมนุษย์เงินเดือน ยังไงเราก็ไม่มีทางหนีปัญหานี้พ้น แต่เราต้องเรียนรู้ที่อยู่กับมันให้ได้ต่างหากล่ะ

ดาวน์โหลดได้แล้ววันนี้ทั้ง iOS และ Android

JobsDB Mobile App

เลือกงานที่ใช่ ใช้ชีวิตที่ชอบ ด้วยการค้นหางานที่ง่ายและรวดเร็ว พร้อมทั้งจัดการเรซูเม่อย่างมีประสิทธิภาพ ให้คุณอัปโหลด ดู และลบได้ทุกเมื่อที่ต้องการ เพลิดเพลินไปกับประสบการณ์การใช้งานแสนง่าย ด้วยระบบ AI ใหม่ ช่วยค้นหางานที่ตรงใจมากขึ้นถึง 6 เท่า​

https://th.jobsdb.com/th-th/articles/%e0%b8%9e%e0%b8%99%e0%b8%b1%e0%b8%81%e0%b8%87%e0%b8%b2%e0%b8%99%e0%b9%80%e0%b8%a3%e0%b8%b4%e0%b9%88%e0%b8%a1%e0%b9%80%e0%b8%9a%e0%b8%b7%e0%b9%88%e0%b8%ad%e0%b8%87%e0%b8%b2%e0%b8%99/

https://th.jobsdb.com/th-th/articles/%e0%b8%84%e0%b8%b4%e0%b8%94%e0%b8%9a%e0%b8%a7%e0%b8%81%e0%b8%81%e0%b9%88%e0%b8%ad%e0%b8%99%e0%b9%80%e0%b8%9a%e0%b8%b7%e0%b9%88%e0%b8%ad%e0%b8%87%e0%b8%b2%e0%b8%99/

https://th.jobsdb.com/th-th/articles/%e0%b8%a7%e0%b8%b4%e0%b8%98%e0%b8%b5%e0%b9%81%e0%b8%81%e0%b9%89%e0%b8%ad%e0%b8%b2%e0%b8%81%e0%b8%b2%e0%b8%a3%e0%b9%80%e0%b8%9a%e0%b8%b7%e0%b9%88%e0%b8%ad%e0%b8%87%e0%b8%b2%e0%b8%99/

More from this category: ความอยู่ดีมีสุขในที่ทำงาน

เรียกดูคำค้นหาที่ได้รับความนิยม

ทราบหรือไม่ว่าผู้สมัครค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับอะไรใน Jobsdb? สำรวจคำค้นหาที่ได้รับความนิยมเพื่ออัพเดทเทรนด์ใหม่เสมอ

สมัครรับคำแนะนำด้านอาชีพ

รับคำปรึกษาด้านอาชีพจากผู้เชี่ยวชาญส่งตรงถึงอินบ็อกซ์ของคุณ
ท่านได้ยอมรับคำประกาศเกี่ยวกับการเก็บรวบรวมข้อมูลส่วนบุคคล และนโยบายความเป็นส่วนตัวเพื่อให้ข้อมูลส่วนบุคคลของท่าน หากท่านมีอายุต่ำกว่า 20 ปี ท่านได้รับความยินยอมจากผู้ปกครอง เพื่อยินยอมให้ Jobsdb และบริษัทในเครือประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคลของท่าน ท่านสามารถยกเลิกได้ทุกเวลา