ปัจจุบันรูปแบบ การทำการตลาด มีการพัฒนาไปมาก เนื่องจากผู้บริโภคเริ่มเบื่อรูปแบบเดิม ๆ ที่ขายกันตรง ๆ ผ่านสปอตโฆษณา ทางโทรทัศน์ วิทยุ หรือแม้แต่ทางด้านออนไลน์ นักท่องเว็บก็เริ่มเบื่อกับแบนเนอร์ที่กะพริบเรียกร้องความสนใจ อยู่บนหน้าเว็บไซต์ โดยเฉพาะพวก ป๊อบ-อัพ ที่บังคับ และยัดเยียด ให้ผู้บริโภคจำเป็นต้องดู (เพื่อหาปุ่มที่จะปิดมันลงไปให้เร็วที่สุด) อย่างไม่เต็มใจนัก ด้วยเหตุที่การโฆษณาด้วยวิธีการดังกล่าว เป็นการยัดเยียดข้อมูลข่าวสาร ให้ผู้บริโภคอย่างโจ่งแจ้งเกินไป จึงทำให้ผู้คนไม่สนใจ และส่งผลให้มีการตอบรับกับโฆษณาเหล่านั้นในระดับต่ำ เมื่อเทียบกับค่าโฆษณาราคาแพงที่เสียไป
เมื่อผู้คนเริ่มเคยชินกับการโฆษณาแบบตรง ๆ เช่นนี้กลยุทธ์การโฆษณาแฝงก็ได้รับความนิยมขึ้นมาแทนที่ เป็นการโฆษณาที่แฝงไปกับเนื้อหาของรายการต่าง ๆ ทั้งละคร เกมโชว์ ทอล์คโชว์ ข่าวประจำวัน หรือรายการวาไรตี้อื่น ๆ เพื่อสร้างการรับรู้ Brand สินค้าที่ต้องการโฆษณาให้เข้าถึงผู้บริโภคอย่างแนบเนียน ไม่กระโตกกระตาก ผู้บริโภคยังคงรู้สึกสนุกสนานกับรายการนั้น ๆ ตามปกติ ไม่ได้รู้สึกอึดอัดรำคาญใจ เพราะสินค้าเหล่านั้นถูกจัดให้กลมกลืนไปกับเนื้อเรื่องและพล็อตเรื่องอย่างลงตัวนั่นเอง
รูปแบบในการโฆษณาแฝงที่นิยมกันมากได้แก่
การที่แบรนด์ต่าง ๆ ลงทุนเป็นผู้ผลิตรายการโทรทัศน์เอง ถือเป็นอีกหนึ่งพัฒนาการของการโฆษณาประชาสัมพันธ์ ซึ่งได้ทั้งการรับรู้ในเรื่องของตัวสินค้า และการรับรู้ในเรื่องของแบรนด์ โดยการนำสินค้าหรือแบรนด์เข้าไปผูกไว้กับ "ทุกองค์ประกอบ" ของรายการ หรือที่เรียกว่า Branded Content ทำให้แบรนด์สามารถให้ความรู้ และความบันเทิงแก่ผู้บริโภคได้อย่างเต็มที่ผ่านเนื้อหาของรายการ และเป็นจุดเด่นที่สร้างความแตกต่างให้กับแบรนด์อีกด้วย
ยกตัวอย่างรายการทำอาหาร ที่สอนทำอาหารเมนูต่าง ๆ โดยใช้ซอสปรุงรสยี่ห้อหนึ่ง ซึ่งผู้ชมจะได้ประโยชน์จากเนื้อหาของรายการ คือ รู้จักวิธีการปรุงอาหาร หลากหลายเมนู นอกจากนั้นสินค้าและแบรนด์ดังกล่าวก็จะติดตา ติดหู และเข้าไปนั่งอยู่ในใจผู้ชมโดยไม่รู้ตัว เวลาที่ต้องการซอสปรุงรสก็จะนึกถึงแบรนด์ดังกล่าวก่อนใคร ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อทางรายการจัดให้ผู้ชมทางบ้าน เข้าร่วมการแข่งขันทำอาหารโดยใช้ซอสปรุงรสยี่ห้อนั้น ยังเป็นการสร้างประสบการณ์ร่วมกัน และความสัมพันธ์ที่เข้มแข็ง ระหว่างแบรนด์กับผู้บริโภคอีกทางหนึ่ง
กลยุทธ์การตลาดวิธีนี้จึงไม่ใช่แค่เจ้าของแบรนด์จ่ายเงินซื้อสปอตโฆษณา หรือแบนเนอร์ แต่เป็นการที่เจ้าของแบรนด์ต้องพูดคุยทำความเข้าใจกับผู้ทำคอนเทนต์ ว่าจะทำอย่างไรจึงจะเข้าถึงผู้บริโภคโดยไม่รบกวน และเปลี่ยนเป็นความเต็มใจที่จะรับรู้แทน ซึ่งจากสิ่งเหล่านี้เองที่ทำให้แต่ละแบรนด์มีความน่าเชื่อถือ เป็น Trust Brand และสร้าง Brand Loyalty ทำให้ภาพลักษณ์ของแบรนด์ดูดีขึ้นในสายตาผู้บริโภค
เรื่องอื่น ๆ ที่น่าสนใจ