สิ่งที่ควรรู้! ก่อนไปเปลี่ยนนามสกุล ต้องเตรียมตัวและใช้เอกสารอะไรบ้าง

สิ่งที่ควรรู้! ก่อนไปเปลี่ยนนามสกุล ต้องเตรียมตัวและใช้เอกสารอะไรบ้าง
Jobsdb ทีมเนื้อหาอัปเดตเมื่อ 17 January, 2025
Share

Key Takeaway

  • กฎหมายการเปลี่ยนนามสกุล คือต้องไม่คล้องจองกับพระนามของพระมหากษัตริย์ หรือพระราชินี ไม่ซ้ำกับสกุลพระราชทานหรือที่จดทะเบียน ไม่ใช้ชื่อพระนคร ห้ามใช้คำว่า “ณ” และต้องไม่มีคำหยาบคาย
  • เอกสารการเปลี่ยนนามสกุล ประกอบไปด้วย ทะเบียนบ้านพร้อมสำเนาของผู้ขอเปลี่ยนชื่อ บัตรประชาชนของผู้ขอเปลี่ยนชื่อ และเอกสารเปลี่ยนชื่อฉบับจริง (ถ้ามี) 
  • ขั้นตอนการเปลี่ยนนามสกุล ทำได้โดย ยื่นคำขอ ช.1กับนายทะเบียนที่เขตหรืออำเภอตามที่อยู่ในทะเบียนบ้านเพื่อตรวจสอบนามสกุล และส่งคำขอไปนายทะเบียนกลางเพื่อพิจารณาและอนุมัติ จากนั้นจึงเปลี่ยนนามสกุลในทะเบียนบ้าน และบัตรประชาชนให้เป็นนามสกุลใหม่ได้
  • เมื่อเปลี่ยนนามสกุลแล้วต้องไปแจ้งที่สำนักงานที่ดิน สำนักงานขนส่ง ประกันสังคม ธนาคารหรือสถาบันการเงิน บริษัทประกัน และสำนักงานที่จดทะเบียนรถ

สมัยนี้ใครๆ ต่างก็นิยมเปลี่ยนชื่อนามสกุลโดยอาจเปลี่ยนตามความเชื่อ ความต้องการ หรือเพื่อกลับมาใช้นามสกุลเดิมของพ่อกับแม่ แต่หากเปลี่ยนชื่อ-นามสกุลใหม่ แล้วต้องเข้าสัมภาษณ์งาน ควรเตรียมและตรวจเช็กเอกสารให้เรียบร้อย ไม่ว่าจะเป็นหลักฐานการเปลี่ยนนามสกุล และบัตรประชาชน เพื่อป้องกันการผิดพลาดของข้อมูล 

เตรียมความพร้อมเรื่องเอกสารสัมภาษณ์งานเป็นเรื่องสำคัญ และเมื่อต้องเริ่มงานในตำแหน่งใหม่ อย่าลืมอ่านเอกสารเซ็นสัญญาจ้างงานให้ถี่ถ้วน เพื่อป้องกันการเสียสิทธิ์หรือสวัสดิการต่างๆ ที่ควรได้รับ แน่นอนว่าเหตุผลในการเปลี่ยนนามสกุลก็แตกต่างกันไปแต่ละคน แล้วก่อนเปลี่ยนนามสกุลต้องใช้เอกสารอะไรบ้าง หลังจากเปลี่ยนแล้วต้องไปแจ้งกับหน่วยงานไหน บทความนี้มีคำตอบ!

กฎหมายที่ควรรู้! ก่อนเปลี่ยนนามสกุล

การเปลี่ยนนามสกุลหรือการตั้งนามสกุลใหม่ มีข้อกำหนดและข้อห้ามในการเปลี่ยน ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ดังนี้

  • ไม่ซ้ำหรือคล้ายกับพระปรมาภิไธยของพระมหากษัตริย์ พระนามของพระราชินี 
  • ไม่ซ้ำหรือคล้ายกับราชทินนามของพระมหากษัตริย์และพระราชินี ยกเว้นเป็นราชทินนามของตนของผู้บุพการี หรือของผู้สืบสันดาน
  • ไม่ซ้ำกับชื่อสกุลที่ได้รับพระราชทานจากพระมหากษัตริย์ หรือชื่อสกุลอื่นๆ ที่ได้จดทะเบียนไว้แล้ว
  • ไม่ใช่คำหยาบคายหรือคำที่มีความหมายหยาบคาย รวมถึงต้องมีพยัญชนะไม่เกิน 10 พยัญชนะ โดยยกเว้นกรณีใช้ราชทินนามเป็นชื่อสกุล
  • บุคคลทั่วไปที่ไม่ได้รับพระราชทานชื่อสกุล ไม่สามารถใช้คำว่า “ณ” นำหน้าชื่อสกุลได้
  • ห้ามเอาชื่อพระมหานคร ศัพท์ที่ใช้เป็นพระบรมนามาภิไธยมาใช้เป็นชื่อนามสกุล
การเปลี่ยนนามสกุลต้องใช้เอกสารอะไรบ้าง?

การเปลี่ยนนามสกุลต้องใช้เอกสารอะไรบ้าง?

เอกสารสำคัญที่ต้องใช้ในการเปลี่ยนชื่อนามสกุล ประกอบไปด้วย 3 เอกสารสำคัญ ดังนี้

  • ทะเบียนบ้านพร้อมสำเนาของผู้ขอเปลี่ยนชื่อ
  • บัตรประจำตัวประชาชนของผู้ขอเปลี่ยนชื่อ
  • เอกสารเปลี่ยนชื่อฉบับจริง (ถ้ามี) 
ขั้นตอนการเปลี่ยนนามสกุลง่ายๆ ไม่กี่ขั้นตอน

ขั้นตอนการเปลี่ยนนามสกุลง่ายๆ ไม่กี่ขั้นตอน

หลังจากที่รู้ว่าการเปลี่ยนนามสกุลต้องใช้เอกสารอะไรบ้าง ขั้นตอนต่อมาเป็นวิธีเปลี่ยนนามสกุล ที่สามารถทำตามได้ง่ายๆ ดังต่อไปนี้

  1. ผู้ขอเปลี่ยนชื่อนามสกุล ต้องยื่นคำขอตามแบบ ช.1 ต่อนายทะเบียนท้องที่ ที่สำนักงานเขต หรือที่ว่าการอำเภอที่มีชื่อตนอยู่ในทะเบียนบ้าน
  2. นายทะเบียนท้องที่ตรวจสอบคำขอและชื่อสกุลที่เปลี่ยน เพื่อให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด
  3. นายทะเบียนท้องที่ส่งคำขอการจดทะเบียนชื่อสกุล ไปตามลำดับชั้นจนถึงนายทะเบียนกลางเพื่อพิจารณา
  4. เมื่อนายทะเบียนกลางพิจารณาแล้ว จะแจ้งผลกลับไปยังนายทะเบียนท้องที่ เพื่อให้นายทะเบียนแจ้งให้ผู้ยื่นขอเปลี่ยนชื่อสกุลทราบ
  5. เมื่อนายทะเบียนกลางอนุมัติ นายทะเบียนท้องที่จะออกหนังสือการจดทะเบียนชื่อสกุล (แบบ ช.2) และเก็บค่าธรรมเนียม
  6. ผู้ยื่นขอเปลี่ยนได้รับเอกสารแล้ว สามารถนำเอกสารนี้ ไปขอแก้ไขชื่อสกุลในทะเบียนบ้าน พร้อมกับเปลี่ยนบัตรประชาชนใบใหม่ได้ทันที
เปลี่ยนนามสกุลแล้วต้องไปแจ้งที่หน่วยงานไหน

เปลี่ยนนามสกุลแล้วต้องไปแจ้งที่หน่วยงานไหน

ชื่อสกุลใหม่ในทะเบียนบ้านและบัตรประชาชน จะถูกเปลี่ยนตั้งแต่วันที่ยื่นคำขอและทำเอกสาร แต่ทั้งนี้ก็อย่าลืมที่จะนำใบเปลี่ยนนามสกุลไปแจ้งกับหน่วยงานอื่นๆ ที่มีชื่อสกุลเดิม เพื่อไม่ให้พลาดการติดต่อสื่อสารหรือทำเอกสารสำคัญในภายหลัง

1. สำนักงานที่ดิน

กรณีเป็นเจ้าของโฉนดที่ดินหรือเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ ควรแจ้งเปลี่ยนข้อมูลส่วนตัว ด้วยการนำใบเปลี่ยนนามสกุลมาแจ้งกับสำนักงานที่ดิน เพื่อให้นามสกุลตรงกับสินทรัพย์ที่มีอยู่ เพราะหากมีการซื้อขายที่ดินหรืออสังหาที่มีอยู่ รวมถึงการเปลี่ยนผู้รับผลประโยชน์ จะช่วยลดขั้นตอนการดำเนินเรื่อง โดยไม่ต้องยุ่งยากในการพกเอกสารตัวจริง 

2. สำนักงานขนส่ง

ไม่ว่าจะเป็นใบขับขี่รถจักรยานยนต์หรือรถยนต์ เล่มทะเบียนรถยนต์ ประกันภัยรถยนต์ สามารถแจ้งเปลี่ยนข้อมูลส่วนตัวได้ที่สำนักงานขนส่งในพื้นที่ที่ตนเองสะดวกได้เลย ด้วยการใช้ใบขับขี่ บัตรประชาชน ทะเบียนบ้าน ใบเปลี่ยนนามสกุล พร้อมสำเนา และค่าธรรมเนียมในการเปลี่ยน มาแจ้งกับเจ้าหน้าที่ขนส่งเพื่อเปลี่ยนใบขับขี่ใบใหม่ ซึ่งเวลาเกิดอุบัติเหตุจะช่วยลดความยุ่งยากเวลาเคลมค่าเสียหายได้

3. ประกันสังคม

ผู้ประกันตนควรแจ้งเปลี่ยนชื่อ-นามสกุลที่ประกันสังคมด้วย โดยการติดต่อฝ่ายบุคคลเพื่อจัดการเปลี่ยนข้อมูลให้ หรือติดต่อด้วยตนเอง ด้วยการกรอกเอกสาร สปส.6-10 ทะเบียนบ้าน สำเนาบัตรประชาชน ใบเปลี่ยนนามสกุล มายื่นให้กับสำนักงานประกันสังคมในเขตพื้นที่ เพื่อไม่ให้พลาดสิทธิประโยชน์ที่ควรได้รับในฐานะผู้ประกันตน

4. ธนาคารหรือสถาบันการเงิน

กรณีที่มีบัตรเครดิต บัญชีธนาคาร หรือกองทุน อย่าลืมแจ้งเปลี่ยนข้อมูลส่วนตัวในระบบให้เรียบร้อย เพื่อความสะดวกในการทำธุรกรรมทางการเงินต่างๆ ด้วยการใช้บัตรประชาชนใบใหม่ ใบเปลี่ยนชื่อ-นามสกุล นำมาติดต่อกับเจ้าที่ธนาคารหรือสถาบันการเงิน ซึ่งช่วยให้การทำธุรกรรมครั้งหน้าง่ายขึ้น ไม่ต้องพกเอกสารตัวจริงให้ยุ่งยาก และช่วยป้องกันเอกสารสำคัญสูญหายอีกด้วย

5. บริษัทประกัน

สำหรับคนที่ทำประกันภัย ทั้งประกันชีวิต ประกันอุบัติเหตุ ประกันสุขภาพ หรือประกันภัยทรัพย์สินอื่นๆ ควรแจ้งเปลี่ยนชื่อหรือนามสกุล พร้อมทั้งอัปเดตข้อมูลสำคัญที่จำเป็นต่อการติดต่อ ให้นายหน้าประกันภัยหรือบริษัททราบ เพราะหากเกิดเหตุฉุกเฉินจะช่วยลดขั้นตอนการทำธุรกรรมที่ยุ่งยาก ทั้งการคืนเบี้ยประกัน แจ้งครบกำหนดชำระ หรือการรับเงินชดเชย

6. สำนักงานที่จดทะเบียนรถ

ผู้ที่เป็นเจ้าของรถจักรยานยนต์หรือรถยนต์ จำเป็นต้องเปลี่ยนนามสกุลของเล่มทะเบียนรถให้ตรงกับนามสกุลตามบัตรประชาชนด้วย โดยการยื่นคำร้องกับสำนักงานที่จดทะเบียนรถ พร้อมด้วยเล่มทะเบียนรถยนต์ (เล่มน้ำเงิน) หรือเล่มทะเบียนรถจักรยานยนต์ (เล่มเขียว) บัตรประชาชน ใบเปลี่ยนชื่อ-นามสกุล เผื่อในอนาคตหากมีการโอนซื้อ–ขายรถ ก็จะทำให้โอนเปลี่ยนชื่อเจ้าของรถได้สะดวกรวดเร็ว

เราสามารถเปลี่ยนนามสกุลเองได้ไหม?

เราสามารถตั้งนามสกุลใหม่ขึ้นมาได้ แต่ไม่สามารถเปลี่ยนนามสกุลได้ด้วยตนเอง หากต้องการเปลี่ยนนามสกุลเดิมที่มีอยู่ ต้องไปยื่นคำร้องกับนายทะเบียน ที่สำนักงานเขตหรืออำเภอตามทะเบียนบ้านที่อาศัยอยู่ เพื่อตรวจสอบชื่อสกุลให้ตรงตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดไว้ 

วิธีเช็กนามสกุลว่าซ้ำกับคนอื่นไหม?

วิธีเช็กนามสกุลว่าซ้ำกับคนอื่นไหม?

โดยวิธีเช็กนามสกุลว่าซ้ำกับคนอื่นไหม สามารถเช็กได้ด้วยตนเองผ่านเว็บไซต์กรมการปกครอง www.dopa.go.th และเว็บไซต์คนไทย www.khonthai.com

ถ้าจะเปลี่ยนนามสกุล ต้องอายุเท่าไร?

สำนักบริหารงานทะเบียน กรมการปกครองไม่ได้กำหนดอายุขั้นต่ำในการเปลี่ยนชื่อ-นามสกุล (ช.5) ถึงเป็นเด็กที่มีอายุไม่ถึง 20 ปี หรือยังไม่บรรลุนิติภาวะ ผู้ปกครองก็สามารถยื่นคำร้องในการขอเปลี่ยนชื่อและนามสกุลให้ลูกได้

นามสกุลซ้ำกับคนอื่นได้ไหม?

ไม่สามารถใช้นามสกุลหรือตั้งนามสกุลใหม่ให้ซ้ำกับคนอื่นได้ เพื่อป้องกันการเปิดปัญหาทางกฎหมาย ทั้งนี้หากต้องการใช้นามสกุลซ้ำ ก็ต้องได้รับความยินยอมจากผู้ตั้งนามสกุลหรือบุคคลที่ใช้นามสกุลที่มีอยู่ 

เปลี่ยนนามสกุลแล้วกลับมาใช้นามสกุลเดิมได้ไหม?

เมื่อเปลี่ยนเป็นนามสกุลใหม่ และต้องการกลับมาใช้นามสกุลเดิม สามารถทำได้โดยการยื่นคำร้องต่อสำนักทะเบียน สำนักงานเขต หรืออำเภอที่มีชื่อตนเองอยู่ในทะเบียนบ้าน

เราสามารถเปลี่ยนนามสกุลได้กี่ครั้ง?

ในการเปลี่ยนนามสกุล เราสามารถเปลี่ยนได้ไม่จำกัดจำนวนครั้ง แต่ไม่ควรเปลี่ยนบ่อยหรือถี่เกินไป เพื่อป้องกันความยุ่งยากในการจัดการเอกสารและข้อมูลส่วนตัว รวมถึงการทำธุรกรรมในอนาคต เช่น การขออนุมัติสินเชื่อ การสมัครงาน หรือการอัปเดตข้อมูลในเอกสารสำคัญต่างๆ

สรุป

เหตุผลของการเปลี่ยนนามสกุลใหม่ขึ้นอยู่กับความต้องการและความเชื่อส่วนบุคคล โดยการตั้งนามสกุลใหม่ต้องไม่มีคำหยาบคาย ดูหมิ่น หรือชื่อที่คล้องจองกับพระนามของพระมหากษัตริย์หรือพระราชินี สามารถยื่นคำร้องได้ที่สำนักงานเขตหรืออำเภอตามที่อยู่ทะเบียนบ้านของตัวเอง หลังจากเปลี่ยนนามสกุลใหม่แล้ว อย่าลืมนำใบเปลี่ยนนามสกุลแจ้งกับธนาคาร สำนักงานขนส่ง บริษัทประกัน ประกันสังคม หรือหน่วยงานอื่นๆ ที่มีนามสกุลเก่า เพื่อป้องกันการผิดพลาดในการทำเอกสาร

สำหรับคนที่เปลี่ยนนามสกุลหรือตั้งนามสกุลใหม่ เพื่อความก้าวหน้าในชีวิตและการทำงาน อย่าพลาดสมัครงานที่ Jobsdb เว็บไซต์ที่รวบรวมงานจากบริษัทชั้นนำ พร้อมเครื่องมือหางานที่ทันสมัย ช่วยให้คุณค้นหางานที่ตรงกับความสนใจได้ง่ายๆ

More from this category: แหล่งข้อมูลและเทมเพลต

เรียกดูคำค้นหาที่ได้รับความนิยม

ทราบหรือไม่ว่าผู้สมัครค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับอะไรใน Jobsdb? สำรวจคำค้นหาที่ได้รับความนิยมเพื่ออัพเดทเทรนด์ใหม่เสมอ

สมัครรับคำแนะนำด้านอาชีพ

รับคำปรึกษาด้านอาชีพจากผู้เชี่ยวชาญส่งตรงถึงอินบ็อกซ์ของคุณ
ท่านได้ยอมรับคำประกาศเกี่ยวกับการเก็บรวบรวมข้อมูลส่วนบุคคล และนโยบายความเป็นส่วนตัวเพื่อให้ข้อมูลส่วนบุคคลของท่าน หากท่านมีอายุต่ำกว่า 20 ปี ท่านได้รับความยินยอมจากผู้ปกครอง เพื่อยินยอมให้ Jobsdb และบริษัทในเครือประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคลของท่าน ท่านสามารถยกเลิกได้ทุกเวลา