เจาะลึกสาขายอดฮิต! วิศวะโยธาต้องเรียนอะไร จบมาทำงานอะไรได้บ้าง

เจาะลึกสาขายอดฮิต! วิศวะโยธาต้องเรียนอะไร จบมาทำงานอะไรได้บ้าง
Jobsdb ทีมเนื้อหาอัปเดตเมื่อ 25 September, 2024
Share

Key Takeaway

  • สาขาวิศวะโยธา ในแต่ละสาขา มีจุดมุ่งหมายเดียวกัน คือ การมุ่งเน้นความรู้ทั้งทฤษฎีและปฏิบัติ ให้มีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับเนื้อหาวิชา เพื่อนำความรู้ที่ได้ไปพัฒนาหรือต่อยอดวิชาชีพได้ในอนาคต
  • หลักสูตรสาขาวิศวกรรมโยธา คือ วิชาพื้นฐานสำคัญ ที่มีเนื้อหาครอบคลุมและสอดคล้องกับวิศวกรรมศาสตร์ จึงทำให้มีขอบข่ายการทำงานหรือการประกอบอาชีพที่หลากหลาย เช่น งานควบคุมการก่อสร้างอาคารหรือที่อยู่อาศัย การบริหารโครงการก่อสร้าง งานสำรวจพ้นที่ รวมถึงงานด้านการจราจร
  • สามารถเลือกศึกษาต่อ เกี่ยวกับสาขาวิศวกรรมโยธาในรั้วมหาวิทยาลัยของเอกชนหรือมหาวิทยาลัยของรัฐได้หลากหลาย
  • สามารถหางานที่เกี่ยวกับวิศวะโยธาได้ที่ JobsDB ค้นหางานได้ง่าย ด้วยเครื่องมือค้นหาตามหมวดหมู่ เพื่อให้ตอบโจทย์ทุกความต้องการ ทั้งตำแหน่งงาน พื้นที่ของที่ทำงาน และเรตเงินเดือน

วิศวะโยธา เรียนจบไปแล้วได้สร้างแค่ตึกจริงไหม? มาทำความรู้จักวิศวะโยธา ต้องเรียนอะไรบ้าง มีกี่สาขาย่อย แล้วจบมาทำงานอาชีพอะไรได้บ้าง บทความนี้มีคำตอบ!

สาขาวิศวะโยธา คืออะไร

วิศวกรรมโยธา (Civil Engineering) คือ หนึ่งในสาขาวิชาของวิศวกรรมศาสตร์ที่มีการศึกษามาอย่างยาวนาน ซึ่งเนื้อหาการเรียนครอบคลุมตั้งแต่ทักษะการออกแบบและการก่อสร้าง การทำรังวัดสำรวจพื้นที่ การวิเคราะห์ทางธรณีและชลศาสตร์ (พื้นดินและน้ำ) การออกแบบและบริหารจัดการวัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ในการก่อสร้าง รวมถึงการบำรุงรักษาสิ่งแวดล้อมหรือสิ่งปลูกสร้างโดยรวม เช่น ตึก อาคารสูง สะพาน ถนน ระบบขนส่ง และระบบสาธารณูปโภคต่างๆ เป็นต้น 

จุดมุ่งหมายของการเรียนการสอนในสาขาวิศวะโยธาคือการปรับปรุงและพัฒนาสภาพแวดล้อมเดิมให้ดีขึ้น เพื่อตอบสนองความต้องการของสังคมและรองรับการความเจริญเติบโตของโครงสร้างพื้นฐานในประเทศ เพื่ออำนวยความสะดวกสบายและยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในสังคม

วิศวะโยธา แต่ละสาขาย่อยต่างกันอย่างไร

วิศวะโยธา แต่ละสาขาย่อยต่างกันอย่างไร

โดยสาขาวิศวะโยธาในปัจจุบัน สามารถแบ่งออกได้เป็น 8 สาขาย่อย ซึ่งในแต่ละสาขาย่อยจะมีพื้นฐานการเรียนและจุดประสงค์ที่ต่างกัน ดังนี้

1. วิศวกรรมโครงสร้าง (Structural Engineering)

สาขาวิศวกรรมโครงสร้างเป็นสาขาย่อยของวิศวะโยธา โดยสาขานี้จะเรียนเกี่ยวกับการวางแผน การออกแบบ และการคำนวณโครงสร้างของสิ่งก่อสร้างและแรงต้านทานของวัสดุ เพื่อเลือกประเภทและขนาดของวัสดุให้เหมาะสมกับการก่อสร้าง เพื่อให้มั่นใจว่าโครงสร้างหรือสิ่งก่อสร้าง เช่น ตึก อาคาร เขื่อน หรือสะพาน มีความมั่นคงและแข็งแรงตามที่กำหนดำไว้ในแบบแปลน

2. วิศวกรรมสิ่งแวดล้อม (Environmental Engineering)

วิศวกรรมสิ่งแวดล้อมเป็นหนึ่งในสาขาของวิศวะโยธาที่ผสมผสานความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์เข้าด้วยกัน โดยในสาขานี้จะเรียนเนื้อหาเกี่ยวกับการจัดการสิ่งแวดล้อมทั้งในน้ำและในอากาศ ครอบคลุมตั้งแต่การแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมที่อาจเกิดจากการก่อสร้าง เช่น การควบคุมฝุ่นละอองและเศษฝุ่น การจัดการกับสารเคมีที่เจือปนอยู่ในแหล่งน้ำ รวมถึงการบำบัดและกำจัดของเสีย ตลอดจนการปรับปรุงคุณภาพและการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม เพื่อให้แน่ใจว่างานก่อสร้างทั้งหมดเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและผู้ที่อาศัยอยู่ในบริเวณใกล้เคียง สอดคล้องกับหลักการความยั่งยืน และส่งเสริมคุณภาพชีวิตของผู้คนและสิ่งแวดล้อมในระยะยาว

3. วิศวกรรมก่อสร้างและการจัดการ (Construction Engineering and Management)

วิศวะโยธาสาขาก่อสร้างและการจัดการคือสาขาที่เน้นการศึกษาเกี่ยวกับระบบการก่อสร้างและการจัดการในทุกขั้นตอน ตั้งแต่การวางแผนทำงาน การเตรียมระบบการสร้างอาคาร ประเมินราคาค่าก่อสร้าง ไปจนถึงการคำนวณและประเมินระยะเวลาการทำงาน เป็นต้น นอกจากนี้ยังต้องเรียนรู้และเชี่ยวชาญในการอ่านแบบแปลนหรือใบพิมพ์เขียว ที่มีระบบไฟฟ้า ระบบสุขาภิบาล และระบบอื่นๆ ภายในอาคาร เพื่อให้สามารถคุมการก่อสร้างตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงขั้นตอนสุดท้ายให้แล้วเสร็จได้ตรงตามแบบแปลนที่วางไว้ทุกด้าน

4. วิศวกรรมทรัพยากรน้ำ (Water Resource engineering)

วิศวกรรมทรัพยากรน้ำ หรือ วิศวกรรมชลศาสตร์ เป็นสาขาย่อยของภาควิชาวิศวะโยธาที่เน้นเรื่องการศึกษาเกี่ยวกับการจัดการและการใช้ประโยชน์จากแหล่งน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ มีการเรียนตั้งแต่เรื่องการศึกษาแหล่งน้ำธรรมชาติ ปริมาณน้ำฝน การควบคุมคุณภาพน้ำ ไปจนถึงการออกแบบระบบการระบายน้ำ  

โดยนำเอาความรู้ด้านกลศาสตร์และการคำนวณมาใช้ในการคำนวณการเคลื่อนที่ต่างๆ ของน้ำ เพื่อใช้ในการออกแบบและวางแผนในโครงการต่างๆ เช่น การสร้างสะพาน การสร้างเขื่อน การระบบท่อระบายน้ำ และการสร้างคลองส่งน้ำชลประทาน

5. วิศวกรรมขนส่ง (Transportation Engineering)

สำหรับวิศวะโยธาสาขาวิศวกรรมขนส่ง หรือ วิศวกรรมการขนส่ง คือ การนำหลักการทางเทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์มาประยุกต์ใช้ในการวางแผน ออกแบบ และดำเนินการก่อสร้างของระบบการเดินทางและการขนส่งต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นถนน อุโมงค์ สะพาน และระบบขนส่งรูปแบบอื่นๆ เพื่อให้ระบบการเดินทางปลอดภัย รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ ยังต้องเรียนรู้เกี่ยวกับวัสดุและเทคนิคในการสร้างและปรับปรุงพื้นถนน เช่น พื้นคอนกรีต พื้นยางมะตอย และวัสดุอื่นๆ รวมถึงต้องเรียนรู้ด้านการจัดการงานจราจรอีกด้วย

6. วิศวกรรมธรณีเทคนิค (Geotechnical engineering)

ดินถือเป็นรากฐานที่สำคัญในการก่อสร้าง จึงทำให้วิศวกรรมธรณีเทคนิคเป็นสาขาที่มีความสำคัญต่อวิศวกรโยธา โดยวิศวะโยธาสาขาวิศวกรรมธรณีเทคนิคคือการศึกษาเกี่ยวกับคุณสมบัติทางฟิสิกส์และวิศวกรรมของดิน โดยนำหลักปฐพีกลศาสตร์และกลศาสตร์ของหินมาใช้ในการสำรวจประเมินความแข็งแรงของดินและวัตถุใต้ดิน พร้อมทั้งออกแบบโครงสร้างฐานรากทั้งบนพื้นผิวดินและใต้ดิน เช่น การทำเหมืองแร่ การผลิตปิโตรเลียม และวิศวกรรมโยธาอื่นๆ 

7. วิศวกรรมธรณี (Geological engineering)

วิชาวิศวกรรมธรณีกับวิศวกรรมเทคนิคธรณีมีเนื้อหาที่คล้ายคลึงและมีความใกล้เคียงกันพอสมควร แต่วิศวะโยธาสาขาธรณีวิทยา คือ การศึกษาด้านธรณีวิทยาเป็นหลัก โดยใช้ความรู้พื้นฐานด้านธรณีวิทยา ธรณีวิทยาประยุกต์ คุณสมบัติทางฟิสิกส์และวิศวกรรมของหิน รวมถึงกลศาสตร์ของหินหรือกลศาสตร์ธรณีมาประยุกต์ใช้ในงานวิศวกรรม เช่น การเลือกวัสดุทางธรณีสำหรับการก่อสร้าง การวิเคราะห์และออกแบบโครงสร้างพื้นฐาน การแก้ปัญหาที่เกี่ยวข้องกับวิศวกรรมโยธาและการทำเหมืองแร่ เพื่อให้มั่นใจว่ามีความมั่นคงและรากฐานแข็งแรง ช่วยป้องกันความเสียหายจากภัยธรรมชาติและเพิ่มความปลอดภัยในการใช้งาน

8. วิศวกรรมสำรวจ (Survey Engineering)

ในส่วนของวิศวกรรมโยธาสาขาสุดท้ายอย่าง วิศวกรรมสำรวจ คือ สาขาที่ศึกษาเกี่ยวกับการสำรวจและการรังวัดค่าพิกัดต่างๆ ในการกำหนดตำแหน่งที่ดิน การรังวัดเพื่อการก่อสร้าง หรือการรังวัดเพื่อการชลประทาน รวมถึงเรียนรู้เทคนิคและเครื่องมือในการทำงาน ไม่ว่าจะเป็นการใช้จีพีเอส (GPS) ภูมิสารสนเทศ (GIS) และดาวเทียมต่างๆ เพื่อทำแผนที่จากภาพถ่ายทางอากาศ รวมถึงการจำลองแผ่นที่อื่นๆ ที่มีความถูกต้อง ชัดเจน และเข้าใจง่าย

วิศวะโยธาเรียนกี่ปี? แต่ละปีเรียนอะไรบ้าง

วิศวะโยธาเรียนกี่ปี? แต่ละปีเรียนอะไรบ้าง

สรุปแล้ว วิศวะโยธาเรียนทั้งหมดกี่ปี? 4 ปี หรือ 5 ปี? แล้วแต่ละปีต้องเรียนอะไรบ้าง? เรียนเหมือนกันหมดทุกสาขาหรือไม่? คำตอบ คือ วิศวกรรมโยธาจะเรียนทั้งหมด 4 ปี โดยปีแรกนั้น นักศึกษาจะได้เรียนวิชาพื้นฐานเหมือนกันทุกสาขา ปีต่อไปถึงจะเริ่มเรียนเนื้อหาเฉพาะเจาะจงกันมากขึ้นตามสาขาที่เลือก

  • วิศวะโยธา ชั้นปีที่ 1 เป็นการเรียนวิชาพื้นฐานทั่วไปเหมือนกันทุกสาขา เพื่อปูพื้นฐานและความเข้าใจในเนื้อหาวิชา เช่น แคลคูลัสในวิชาคณิตศาสตร์ ฟิสิกส์ เคมี ชีวะในวิชาวิทยาศาสตร์ และวิชาภาษาอังกฤษ
  • วิศวะโยธา ชั้นปีที่ 2 เป็นการเรียนที่ต่อยอดจากวิชาพื้นฐาน และเริ่มเจาะลึกในเนื้อหาเฉพาะของสาขามากขึ้น เช่น วิศวกรรมสำรวจ จะได้เรียนการใช้กล้องรังวัด การเรียนพื้นฐานตรีโกณ หรือวิศวกรรมโครงสร้าง เรียนเกี่ยวกับวัสดุวิศวกรรมที่ใช้ในการก่อสร้าง หรือ ฝึกปฏิบัติการทดสอบวัสดุเบื้องต้น
  • วิศวะโยธา ชั้นปีที่ 3 ชั้นปีนี้จะมีเรียนรู้บางวิชาที่ต่อยอดมาจากปี 2 พร้อมกับเรียนรู้วิชาใหม่ๆ ที่สำคัญต่อการประกอบวิชาชีพที่ต้องเรียนรู้เพิ่มเติม เช่น อุทกวิทยา (hydrology) ที่ศึกษาเรื่องน้ำเป็นหลัก ทั้งการกระจายและการเคลื่อนที่ของน้ำ เพื่อป้องกันปัญหาน้ำท่วม ปฐพีกลศาสตร์หรือกลศาสตร์ของดิน (Soil Mechanics) ที่เรียนเกี่ยวกับคุณสมบัติของดินทั้งหมด เพื่อใช้เป็นพื้นฐานในการเรียนปี 4 การวิเคราะห์โครงสร้าง การออกแบบโครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็ก และวิชาสำรวจ 2 (Survey2) ที่จะได้ฝึกการสำรวจงานภาคสนามจริง
  • วิศวะโยธา ชั้นปีที่ 4 คือ ปีสุดท้ายที่เน้นทำโปรเจกต์จบเป็นหลัก แต่ยังคงมีวิชาสำคัญที่ต้องศึกษาเพื่อเตรียมพร้อมก่อนเข้าสู่การทำงานจริง ได้แก่ ปฐพีกลศาสตร์ 2 (Soil mechanic 2) เรียนเกี่ยวกับการวางรากฐานงานต่างๆ ทั้งเสาเข็ม เขื่อนกันดิน และกำแพงดิน วิศวกรรมทางหลวง (Highway engineering) เกี่ยวกับถนนทางหลวงทั้งหมด ตั้งแต่ระบบงานทางหลวง การจราจร การออกแบบผิวถนน และการบำรุงรักษาถนน

วิศวะโยธา มีที่ไหนน่าสนใจบ้าง

โดยในปี 2567 ได้มีการจัดอันดับมหาวิทยาลัย ที่มีความโดดเด่นด้านวิศวะโยธา ไว้ดังนี้

  • มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ
  • มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
  • สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าคุณทหารลาดกระบัง
  • สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย
  • จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  • มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
  • มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
  • มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
  • มหาวิทยาลัยขอนแก่น
  • มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
  • มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน
  • มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี
  • มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์
  • มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
วิศวะโยธา เรียนจบไปทำงานอะไร?

วิศวะโยธา เรียนจบไปทำงานอะไร?

เมื่อเรียนจบแล้ว บทบาทอาชีพของวิศวะโยธาจะสามารถทำงานอะไรได้บ้าง ซึ่งบทบาทและอาชีพวิศวะโยธาสามารถต่อยอดงานได้หลากหลายอาชีพที่เกี่ยวข้องกับการออกแบบ การวางแผนการก่อสร้าง และการควบคุมงาน รวมถึงการประสานงานกับผู้ทำงานด้านอื่นๆ เช่น

  • วิศวกรโครงสร้าง ทำหน้าที่ควบคุมดูแลขั้นตอนการก่อสร้างตั้งแต่เริ่มต้นจนเสร็จสิ้น ส่วนมากจะทำงานในบริษัทเอกชนที่เกี่ยวกับรับเหมาก่อสร้างและวัสดุก่อสร้าง โดยวิศวกรออกแบบโครงสร้าง จะได้รับเงินเดือนเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 31,000 บาท - 43,000 บาท ต่อเดือน
  • วิศวกรสำรวจ โดยวิศวกรสำรวจมีหน้าที่สำคัญในการทำรังวัดและสำรวจพื้นที่ต่างๆ สามารถทำงานได้ในหน่วยงานภาครัฐ เช่น กรมที่ดิน กรมทางหลวง กรมชลประทาน เป็นต้น หรือบริษัทเอกชนอื่นๆ จะได้รับเงินเดือนเฉลี่ยประมาณ 30,000 - 35,000 บาทต่อเดือน หรือ ตามตกลง
  • วิศวกรไซต์งาน มีหน้าที่วางแผนและควบคุมการก่อสร้าง พร้อมทั้งประสานงานกับผู้รับเหมา เจ้าของโครงการ และฝ่ายอื่นๆ เพื่อให้งานดำเนินไปตามแผนที่วางไว้ โดยมักจะทำงานร่วมกับบริษัทผู้รับเหมาและทำงานตามไซต์งานต่างๆ โดยวิศวกรสนาม จะได้รับเงินเดือนเฉลี่ยประมาณ 22,000 บาท - 30,000 บาท ต่อเดือน
  • วิศวกรประมาณราคา ทำงานเกี่ยวกับการประมาณราคา จากแบบสถาปัตยกรรมและแบบโครงสร้างที่ได้รับจากสถาปนิกและวิศวกร โดยทำงานในหน่วยงานเอกชนที่เกี่ยวกับการรับเหมาก่อสร้าง เงินเดือนเฉลี่ยของวิศวกรประมาณราคาจะได้รับประมาณ 20,000 - 45,000 บาทต่อเดือน หรือตามข้อตกลง
  • วิศวกรขนส่ง เป็นผู้ให้คำปรึกษา วางแผน ออกแบบ และจัดการด้านงานจราจร ทั้งการคมนาคมและการขนส่ง สามารถทำงานได้หลากหลายองค์กร ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานรัฐ หน่วยงานรัฐวิสาหกิจ เช่น กรมทางหลวง กรมโยธาธิการและผังเมือง การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ รวมถึงการเป็นวิศวกรที่ปรึกษาในบริษัทขนส่งหรือโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ โดยวิศวกรขนส่ง จะได้รับเงินเดือนเฉลี่ยประมาณ 30,000 - 45,000 บาทต่อเดือน

สรุป

ภาพรวมของการศึกษาในวิศวกรรมโยธาคือ ครอบคลุมการออกแบบ วางแผน คำนวณพื้นที่ และควบคุมการก่อสร้าง รวมถึงการประสานงานกับฝ่ายต่างๆ เพื่อให้โครงการดำเนินไปตามแผน และการบำรุงรักษาสิ่งปลูกสร้างและสิ่งแวดล้อม การเรียนแบ่งออกเป็น 8 สาขาย่อย ใช้เวลาเรียนทั้งหมด 4 ปี โดยแต่ละปีจะมีวิชาพื้นฐานและวิชาเฉพาะต่างกัน สายอาชีพวิศวะโยธามีความต้องการในตลาดอยู่เสมอ สามารถทำงานในบริษัทเอกชน หน่วยงานราชการ หน่วยงานรัฐวิสาหกิจ หรือประกอบอาชีพอิสระได้หลากหลาย 

หากคุณกำลังมอง หางานวิศวะโยธาที่ตรงกับความต้องการและความถนัดของคุณ สามารถฝากโปรไฟล์ใน JobsDB ได้เลย พร้อมบอกคุณสมบัติที่ตรงกับตำแหน่งที่ต้องการ เพื่อให้ผู้ประกอบการมองเห็นโปรไฟล์ของคุณได้ง่ายขึ้น ที่สำคัญยังมีเครื่องมือค้นหางานที่สะดวกและรวดเร็ว ทำให้คุณเจองานที่ตรงใจได้อย่างง่ายดาย

More from this category: งานแรก

เรียกดูคำค้นหาที่ได้รับความนิยม

ทราบหรือไม่ว่าผู้สมัครค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับอะไรใน Jobsdb? สำรวจคำค้นหาที่ได้รับความนิยมเพื่ออัพเดทเทรนด์ใหม่เสมอ

สำรวจหัวข้อที่เกี่ยวข้อง

เลือกสิ่งที่สนใจเพื่อเรียกดูอาชีพที่เกี่ยวข้อง

สมัครรับคำแนะนำด้านอาชีพ

รับคำปรึกษาด้านอาชีพจากผู้เชี่ยวชาญส่งตรงถึงอินบ็อกซ์ของคุณ
ท่านได้ยอมรับคำประกาศเกี่ยวกับการเก็บรวบรวมข้อมูลส่วนบุคคล และนโยบายความเป็นส่วนตัวเพื่อให้ข้อมูลส่วนบุคคลของท่าน หากท่านมีอายุต่ำกว่า 20 ปี ท่านได้รับความยินยอมจากผู้ปกครอง เพื่อยินยอมให้ Jobsdb และบริษัทในเครือประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคลของท่าน ท่านสามารถยกเลิกได้ทุกเวลา