งานเขียนไม่ต่างอะไรกับงานฝีมือที่ต้องใช้ทั้งศาสตร์และศิลป์ อาศัยทักษะการใช้ภาษาที่สละสลวย และสามารถโน้มน้าวให้ผู้อ่านรู้สึกคล้อยตามได้ ทำให้แบรนด์สินค้าและองค์กรต่างๆ ให้ความสำคัญกับ Media Content หรือการสร้างเนื้อหาที่เป็นประโยชน์เพื่อดึงดูดความสนใจของผู้บริโภค ผ่านช่องทาง Social Media เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับธุรกิจ ทำให้อาชีพสายงานเขียนอย่าง Content Writer ได้รับความนิยมมากขึ้น โดยหน้าที่หลักคือการสร้างสรรค์เนื้อหาหรือเรียบเรียงข้อมูลแล้วนำมาเขียนใหม่ให้มีความน่าสนใจและตรงตามความต้องการของกลุ่มเป้าหมายที่อยากสื่อสาร ซึ่งทักษะที่ว่ามานี้สามารถฝึกฝนกันได้ แม้ไม่ได้เรียนจบด้านภาษามาโดยตรง หากคุณเป็นคนหนึ่งที่รักงานเขียนแต่ยังไม่รู้ว่าจะก้าวเข้ามาในสายงาน Content Writer ได้อย่างไร บทความนี้มีคำตอบให้ค่ะ
Content Writer ในองค์กรแต่ละประเภท
ก่อนจะเริ่มต้นสายงาน Content ต้องเข้าใจความแตกต่างของ Content เสียก่อน โดยสามารถแบ่งตามประเภทของการจ้างงานได้ 3 ประเภทหลัก คือ เอเจนซี่โฆษณา แบรนด์ และสื่อ
เอเจนซี่
เอเจนซี่คือผู้ที่ได้รับจ้างจากแบรนด์เพื่อผลิต Content ให้แบรนด์ลูกค้าเจ้าต่างๆ ระบบการทำงานในเอเจนซี่ จะแบ่งทีมทำงานออกเป็นฝ่าย Creative, Acount Executive และ Planner เป็นต้น ซึ่งในสายงานเขียนอยู่ในฝ่าย Creative มีหน้าที่สร้างสรรค์งานเขียนเชิงโฆษณาทั้งแบบข้อความสั้น หรือบทความขนาดยาว บางเอเจนซี่อาจเรียกชื่อตำแหน่งนี้ว่า Copy Writer, Content Creator หรือ Social Media Specialist สามารถเติบโตเป็นระดับ Content Editor, Content Manager, Social Media Manager หรือ Online strategist ได้ หากคุณอยากทำงานเขียนในเอเจนซี่ ควรหาความรู้เรื่องการตลาดเพิ่มเติม เช่น SEO, Branding และ Creative Writing
แบรนด์
ความแตกต่างระหว่างงาน Content Writer ของฝั่งแบรนด์กับเอเจนซี่โฆษณา อยู่ที่ฝั่งแบรนด์ไม่ต้องทำงานให้กับลูกค้าหลายเจ้า แต่รับผิดชอบงานเขียนเพื่อประชาสัมพันธ์ผลิตภัณฑ์ หรือส่งเสริมภาพลักษณ์ขององค์กรที่ทำงานอยู่ ปัจจุบันหลายแบรนด์ เลือกที่จะสร้างทีม Digital Content เพื่อทำการตลาดออนไลน์เองโดยไม่ผ่านเอเจนซี่ เนื่องจากประหยัดเวลาและควบคุมงบประมาณได้ รวมทั้งการ สื่อสารกับพนักงาน ในองค์กรกันเองย่อมใช้เวลาน้อยกว่า และเข้าใจความต้องการขององค์กรเป็นอย่างดี Content Writer ฝั่งแบรนด์ สามารถเติบโตไปในสายงาน PR และ Marketing Manager ก็ได้
สื่อสารมวลชน
จุดประสงค์ขององค์กรสื่อจะแตกต่างจากแบรนด์และเอเจนซี่อย่างเห็นได้ชัด เน้นการผลิตคอนเทนต์ให้ความรู้กับสังคม หรือจุดประเด็นให้ผู้อ่านได้คิดวิเคราะห์ ผ่านการนำเสนอในรูปแบบ Editorial Content เช่น บทความ รายงานพิเศษ หรือบทสัมภาษณ์ มากกว่าที่จะเป็น Marketing Content เพื่อโปรโมทสินค้าหรือแบรนด์ สายงานนี้สามารถเติบโตไปจนถึงระดับ Digital Editor หรือ Editor-in-Chief ในเว็บไซต์นิตยสารออนไลน์ หรือเว็บข่าวออนไลน์ต่างๆ
ทักษะสำคัญช่วยเพิ่มเงินเดือน
SEO
ถึงแม้คุณจะเขียน Content ดีขนาดไหน แต่หากไม่มีใครเข้ามาอ่านเลย ก็เป็นเรื่องน่าเสียดายมาก หนึ่งในกลยุทธ์การตลาดออนไลน์ที่มีประสิทธิภาพมากคือการทำ SEO (Search Engine Optimization) เพื่อให้ Content ติดอันดับการค้นหาในอันดับต้นๆ ของ Google เมื่อมีการค้นหาด้วยคำ Keyword ที่กำหนดเอาไว้ โดยไม่ต้องเสียเงินค่าโฆษณาแต่อย่างใด ซึ่งวิธีการก็คือการนำ Keyword ที่คนค้นหาบ่อยในหมวดหมู่ของเรื่องนั้นๆ เอาเขียนในบทความ ชื่อหัวข้อ และ URL เป็นต้น เมื่อ Content มีคนอ่านเยอะ ทำให้มียอดเข้าชมเว็บไซต์มากขึ้นตามไปด้วย ทักษะ SEO จึงเป็นสิ่งที่นายจ้างมองหาในตัวนักเขียน เพราะช่วยเพิ่มโอกาสในการโปรโมทสินค้าหรือบริการของแบรนด์
เขียนบล็อก/สร้างเว็บไซต์
โซเชียลมีเดียเปิดโอกาสให้ทุกคนได้แสดงความสามารถได้เต็มที่ จึงควรใช้สื่อออนไลน์เป็นช่องทางเผยแพร่ผลงานตัวเองและพัฒนาการเขียนไปในตัว สำหรับน้องใหม่ที่ไม่มีประสบการณ์งานมาก่อน ควรใช้เว็บไซต์เป็น พอร์ตฟอลิโ อประกอบการสมัครงาน ซึ่งปัจจุบันก็มีหลายเว็บไซต์ที่ให้บริการแบบไม่เสียค่าใช้จ่าย นอกจากนี้หาก Content บนเว็บไซต์ได้รับความนิยม มีคนเข้ามาอ่านเยอะ ก็อาจเป็นช่องทางสร้างรายได้อีกทางหนึ่ง หรือต่อยอดเป็นอาชีพเสริม เช่น Blogger หรือ Influencer ได้เช่นกัน
Content Writer เป็นงานที่ต้องใช้ภาษาโดยตรง เพราะฉะนั้นย่อมต้องการคนที่ใช้ภาษาไทยอย่างถูกต้อง ไม่ผิดหลักไวยากรณ์ แต่ถ้าคล่องภาษาอังกฤษด้วย ก็ช่วยให้นักเขียนเข้าถึงแหล่งข้อมูลความรู้ที่หลากหลาย เป็นประโยชน์ต่องานเขียน ยิ่งถ้าคุณสามารถเขียนได้ทั้งสองภาษา จะช่วยเพิ่มโอกาสในการทำงานและมีแนวโน้มได้เงินเดือนสูงตามไปด้วย
ความรู้ด้านการออกแบบ
ภาพประกอบที่สอดคล้องกับเนื้อหา Content ช่วยกระตุ้นให้เกิดจินตนาการ และทำให้น่าสนใจยิ่งขึ้น เพราะสมัยนี้คนมักไม่ชอบอ่านบทความยาวๆ สักเท่าไหร่ คุณอาจสรุปเนื้อหาจากบทความยาวให้เป็น Infographic ที่เข้าใจง่าย หรือไม่จำเป็นต้องลงมือทำภาพประกอบเองทั้งหมดก็ได้ แต่หากคุณมีความรู้เรื่องการออกแบบเบื้องต้น จะทำให้การสื่อสารการทำงานงานกับฝ่าย Graphic Designer ได้ชัดเจน และตรงกับสิ่งที่อยากนำเสนอ
ค้นหาสไตล์ที่ใช่
ในยุคที่ใครๆ ก็สามารถผลิต Content เองได้ เพราะมีช่องทางออนไลน์ให้เผยแพร่ผลงานมากมาย อัตราการแข่งขันของอาชีพ Content Writer จึงสูงมาก เพราะฉะนั้นการสร้างเอกลักษณ์ให้งานเขียนจึงเป็นสิ่งสำคัญ ลองสังเกตนักเขียนดังๆ ต่างมีสไตล์การเขียนที่ชัดเจน บางครั้งแค่อ่านสำนวน ก็รู้ว่าเป็นผลงานของใคร หากคุณอยากก้าวไปถึงระดับนั้นก็ควรเริ่มสร้างตัวตนตั้งแต่วันนี้ อย่างแรกต้องรู้ก่อนว่าชอบการเขียนแนวไหน เพราะนักเขียน Content แต่ละคนก็มีความเชี่ยวชาญต่างกัน บางคนถนัดเขียนภาษาโฆษณา บางคนชอบเขียนรีวิวท่องเที่ยว หรือบทความวิเคราะห์ จากนั้นฝึกเขียนบ่อยๆ ในเรื่องที่ถนัด จะช่วยให้เขียนออกมาอย่างลื่นไหล ไม่ฝืนตัวเองจนเกินไป แล้วค่อยๆ พลิกแพลงการเขียน วางโครงเรื่องให้น่าสนใจ เพิ่มลูกเล่นการใช้ภาษา มีการเล่นคำเปรียบเปรย หรือหยิบยกคำพูดที่กำลังอยู่ในกระแสสังคมมาใช้ ก็จะทำให้ Content อ่านสนุก ไม่น่าเบื่อ ยิ่งเขียนเยอะคุณก็จะรู้ว่างานเขียนประเภทไหนที่คุณทำได้ดีที่สุด และสไตล์การเขียนแบบไหนที่คนอ่านชอบ
อย่างที่กล่าวไว้ในเริ่มต้นของบทความว่างานเขียนไม่ต่างอะไรจากงานฝีมือ เพราะฉะนั้นแค่มีใจรักการเขียนอย่างเดียวคงไม่พอ ต้องประกอบไปด้วยทักษะการเขียนและประสบการณ์รอบด้าน เพื่อช่วยหล่อหลอมให้เป็น Content ที่โดดเด่นและมีคุณภาพ สำคัญที่สุดคือต้องฝึกเขียนอย่างสม่ำเสมอ จากมือใหม่หัดเขียน อีกไม่นานจะฉายแววมืออาชีพแน่นอน โอกาสในการสมัครงานและเรียกเงินเดือนสูงๆ ก็จะตามมาด้วย สมัครงาน Content Writer ที่นี่
#ให้ก้าวแรกของการทำงานกำหนดเส้นทางชีวิตคุณ
#jobsDB
หางานได้ง่ายกว่าเดิมผ่าน application บนมือถือจากjobsDBทั้ง iOS และ Android โหลดเลย