อัปเดตขั้นตอนการยื่นภาษีนิติบุคคล ฉบับเข้าใจง่าย ครบ-จบ ในที่เดียว!

อัปเดตขั้นตอนการยื่นภาษีนิติบุคคล ฉบับเข้าใจง่าย ครบ-จบ ในที่เดียว!
Jobsdb ทีมเนื้อหาอัปเดตเมื่อ 29 October, 2024
Share

Key Takeaway

  • ภาษีนิติบุคคลคือภาษีที่เรียกเก็บจากบริษัทหรือองค์กรที่จดทะเบียนเป็นนิติบุคคล คำนวณจากกำไรสุทธิ ซึ่งได้แก่ รายได้หักด้วยค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวกับการประกอบกิจการ ซึ่งการยื่นภาษีนิติบุคคลช่วยให้บริษัทปฏิบัติตามกฎหมายและสร้างความน่าเชื่อถือในธุรกิจ
  • ผู้ที่ต้องเสียภาษีนิติบุคคล เช่น บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่จัดตั้งตามกฎหมายไทยและต่างประเทศ กิจการที่ดำเนินการเพื่อค้าหรือหากำไร นิติบุคคลที่อธิบดีอนุมัติรัฐมนตรีและประกาศในราชกิจจานุเบกษา
  • ผู้ที่ไม่ต้องเสียภาษีนิติบุคคล เช่น  บริษัทที่ได้รับยกเว้นตามสัญญาความร่วมมือระหว่างไทยกับต่างประเทศ บริษัทที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน 
  • ภาษีนิติบุคคลมีแบบยื่นครึ่งปี หรือ ภ.ง.ด. 51 ที่ต้องยื่นภายในเดือนสิงหาคม และการยื่นแบบประจำปี หรือ ภ.ง.ด. 50  ที่ต้องยื่นภายใน 150 วันนับจากวันสิ้นรอบระยะเวลาบัญชี

หลายคนคุ้นเคยกับการยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา แต่สำหรับบางองค์กรหรือกลุ่มบริษัทที่ได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลนั้น มีเกณฑ์การยื่นภาษีที่แตกต่างจากนี้ มาทำความรู้จัก ภาษีนิติบุคคล คืออะไร ฐานภาษีในการคำนวณ พร้อมช่องทางการยื่นทั้งแบบไปยื่นเองและทางออนไลน์ ได้ในบทความนี้!

ภาษีนิติบุคคล คืออะไร

ภาษีนิติบุคคล คืออะไร

ภาษีนิติบุคคลหรือภาษีเงินได้นิติบุคคล คือภาษีที่เรียกเก็บจากบริษัทหรือองค์กรที่จดทะเบียนเป็นนิติบุคคล ได้แก่ กลุ่มบริษัทจำกัด บริษัทมหาชนจำกัด ห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล มูลนิธิ หรือสมาคมที่ประกอบกิจการและมีรายได้ 

ภาษีนิติบุคคลมีลักษณะสำคัญ คือเป็นภาษีที่จัดเก็บจากกำไรสุทธิของบริษัท คำนวณจากรายได้หักด้วยค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการประกอบกิจการ โดยอัตราภาษีปกติอยู่ที่ 20% ของกำไรสุทธิ ทั้งนี้ และมีรายจ่ายบางส่วนที่สามารถนำมาลดหย่อนภาษีนิติบุคคลได้

ภาษีนิติบุคคลมีระยะเวลาการยื่นประกอบด้วยการยื่นแบบครึ่งปี (ภ.ง.ด.51) ภายในเดือนสิงหาคม และการยื่นแบบประจำปี (ภ.ง.ด.50) ภายใน 150 วันนับจากวันสิ้นรอบระยะเวลาบัญชี

กลุ่มนิติบุคคลประเภทไหน ที่ต้องเสียภาษีเงินได้

กลุ่มนิติบุคคลประเภทไหน ที่ต้องเสียภาษีเงินได้

สำหรับผู้ที่มีหน้าที่เสียภาษีนิติบุคคล นอกเหนือจากบริษัทต่างๆ แล้ว ยังรวมถึงกลุ่มนิติบุคคลอื่นๆ ด้วย ดังนี้

  • บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย ได้แก่ บริษัท จำกัด บริษัทมหาชนจำกัด ห้างหุ้นส่วนจำกัด และห้างหุ้นส่วนสามัญจดทะเบียน
  • บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายต่างประเทศ ซึ่งเข้ามาทำธุรกิจเฉพาะในไทย กลุ่มที่ทำธุรกิจทั้งในไทยและต่างประเทศ กลุ่มที่ทำธุรกิจขนส่งระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับไทย กลุ่มที่ได้รับรายได้จากไทยโดยไม่ได้ประกอบกิจการในไทย กลุ่มที่จำหน่ายหรือโอนกำไรออกนอกประเทศ หรือกลุ่มที่มีตัวแทนหรือผู้ติดต่อทำธุรกิจในไทย ทำให้มีรายได้จากไทย
  • กิจการที่ดำเนินการเป็นทางค้าหรือหากำไร โดยรัฐบาลต่างประเทศ องค์การของรัฐบาลต่างประเทศ หรือนิติบุคคลอื่นๆ ที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ
  • กิจการร่วมค้า (Joint Venture) คือกิจการที่ดำเนินการร่วมกันเป็นทางค้าหรือหากำไร ระหว่างบุคคลต่อไปนี้ คือ บริษัทกับบริษัท บริษัทกับห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลกับห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล รวมถึงนิติบุคคลกับบุคคลธรรมดาหรือคณะบุคคล
  • มูลนิธิหรือสมาคมไม่แสวงหากำไรที่ประกอบกิจการแล้วมีรายได้ ประกอบด้วย มูลนิธิที่มีรายได้ (ยกเว้นองค์กรสาธารณกุศล) และสมาคมที่มีรายได้ (ยกเว้นองค์กรสาธารณกุศล)
  • นิติบุคคลที่อธิบดีกำหนดอนุมัติรัฐมนตรีและประกาศในราชกิจจานุเบกษา ให้เป็นบริษัท หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลตามประมวลรัษฎากร

กลุ่มนิติบุคคลประเภทไหน ที่ไม่ต้องเสียภาษีเงินได้

กลุ่มนิติบุคคลประเภทไหน ที่ไม่ต้องเสียภาษีเงินได้

นิติบุคคลที่ได้รับการยกเว้นภาษี แบ่งเป็น 2 กลุ่มหลัก ได้แก่ นิติบุคคลที่ไม่ต้องเสียภาษีโดยสถานะ เช่น หน่วยงานราชการไทย (กระทรวง ทบวง กรม) องค์การของรัฐบาล สหกรณ์ และนิติบุคคลอื่นๆ ที่จัดตั้งตามกฎหมายไทย

อีกกลุ่ม คือนิติบุคคลที่ได้รับการยกเว้นตามกฎหมายพิเศษ ดังนี้

  • บริษัทที่ได้รับยกเว้นตามสัญญาความร่วมมือระหว่างไทยกับต่างประเทศ
  • บริษัทที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน (BOI)
  • บริษัทที่ได้รับยกเว้นตาม พ.ร.บ. ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม
  • บริษัทจากประเทศที่มีอนุสัญญาภาษีซ้อนกับไทย (ตามเงื่อนไขที่ระบุในอนุสัญญา)

ฐานภาษีของภาษีเงินได้นิติบุคคล คิดจากอะไร?

ฐานภาษีของภาษีเงินได้นิติบุคคล คิดจากอะไร?

ตามประมวลรัษฎากร บริษัท และนิติบุคคล ต้องคำนวณภาษีเงินได้จากฐานภาษีที่แตกต่างกัน โดยแบ่งเป็นกรณีต่างๆ ดังนี้

1. คิดจากกำไรสุทธิ

กลุ่มที่ต้องจ่ายภาษีเงินได้จากกำไรสุทธิ คือบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายต่างประเทศ กิจการที่ดำเนินการเป็นทางค้าหรือหากำไร และกิจการร่วมค้า 

ภาษีเงินได้นิติบุคคลครึ่งรอบระยะเวลาบัญชี (ภ.ง.ด. 51)

การคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลครึ่งรอบระยะเวลาบัญชี (ภ.ง.ด. 51) มีหลักเกณฑ์ดังนี้

  • รายได้และรายจ่ายที่นำมาคำนวณต้องเกิดขึ้นในรอบ 6 เดือนแรก โดยนับตั้งแต่วันที่เริ่มต้นของรอบระยะเวลาบัญชี และใช้เกณฑ์สิทธิในการรับรู้รายการ
  • ประมาณการกำไรสุทธิขาดไป หากเกินกว่าร้อยละ 25 ต้องเสียเงินเพิ่มร้อยละ 20 ของภาษีจากกำไรสุทธิที่ประมาณการขาดไป ต้องยื่นแบบถึงแม้มีผลขาดทุนหรือไม่มีรายได้ก็ตาม
  • บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้นใหม่ มีรอบระยะเวลาบัญชีแรกน้อยกว่า 12 เดือน ไม่จำเป็นต้องยื่นแบบ ภ.ง.ด. 51 สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีนั้นๆ ตามหลักมาตรา 67 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร

โดยมีการคำนวณภาษีง่ายๆ ดังนี้

  • กึ่งหนึ่งของประมาณการกำไรสุทธิที่กระทำในรอบระยะเวลาบัญชี x อัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล

ภาษีเงินได้นิติบุคคลสิ้นรอบระยะเวลาบัญชี (ภ.ง.ด. 50) 

การคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลสิ้นรอบระยะเวลาบัญชี (ภ.ง.ด. 50) มีหลักเกณฑ์ดังนี้

  • รายได้และรายจ่ายที่นำมาคำนวณต้องเกิดขึ้นในรอบระยะเวลาบัญชีนั้นๆ และใช้เกณฑ์สิทธิในการรับรู้รายการ
  • การยื่นแบบ ภ.ง.ด. 50 ต้องแนบงบการเงินประกอบ ต้องยื่นแบบถึงแม้มีผลขาดทุนหรือไม่มีรายได้ก็ตาม
  • สามารถนำภาษีต่อไปนี้มาหักจากภาษีที่ต้องชำระได้ ได้แก่ ภาษีที่ชำระไว้ตามแบบ ภ.ง.ด. 51 และภาษีที่ถูกหัก ณ ที่จ่าย

โดยมีการคำนวณภาษีง่ายๆ ดังนี้

  • กำไรสุทธิ x อัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล 

2. คิดจากยอดรายได้ก่อนหักรายจ่าย

ผู้มีหน้าที่เสียภาษีส่วนนี้ ได้แก่ กิจการขนส่งระหว่างประเทศของนิติบุคคลต่างประเทศ และมูลนิธิหรือสมาคมที่มีรายได้ โดยมีฐานภาษี ดังนี้

  • กิจการขนส่ง (อัตราร้อยละ 3)
    • ขนส่งผู้โดยสาร: คิดจากค่าโดยสาร + ค่าธรรมเนียมที่เก็บในไทย
    • ขนส่งสินค้า: คิดจากค่าระวาง + ค่าธรรมเนียมที่เก็บทั้งใน และนอกประเทศ
  • มูลนิธิหรือสมาคม
    • รายได้จากธุรกิจ: เสียภาษี 2% ของรายได้ก่อนหักรายจ่าย
    • รายได้อื่นๆ: เสียภาษี 10% ของรายได้ก่อนหักรายจ่าย
    • รายได้ที่ได้รับยกเว้น: ค่าลงทะเบียนหรือค่าบำรุง เงินบริจาคและเงินให้เปล่า

สำหรับการยื่นแบบ กิจการขนส่งควรยื่น ภ.ง.ด. 52 ภายใน 150 วันหลังสิ้นรอบบัญชี ส่วนมูลนิธิหรือสมาคมควรยื่น ภ.ง.ด. 55 ภายใน 150 วันหลังสิ้นรอบบัญชี พร้อมบัญชีรายได้ที่ผ่านการรับรอง

3. คิดจากเงินได้ที่จ่ายจากหรือในประเทศ

ผู้มีหน้าที่เสียภาษีส่วนนี้ ได้แก่ นิติบุคคลต่างประเทศที่ไม่ได้ประกอบกิจการในไทยแต่ได้รับเงินได้จากไทย ซึ่งจะเสียภาษีโดยวิธีหัก ณ ที่จ่าย ถือเป็นการเสียภาษีเด็ดขาด จะมีเงินได้ที่ต้องหักภาษี คือเงินได้จากการทำงาน (ม.40(2)) ค่าลิขสิทธิ์หรือสิทธิอื่นๆ (ม.40(3)) ดอกเบี้ย เงินปันผล ผลประโยชน์จากการลงทุน (ม.40(4)) ค่าเช่า (ม.40(5)) รวมถึงรายได้จากวิชาชีพอิสระ (ม.40(6))

โดยมีอัตราภาษี และการยื่นแบบ ดังนี้

  • อัตราทั่วไป: 15% 
  • เงินปันผล: 10%
  • การยื่นแบบ: ยื่น ภ.ง.ด. 54 ภายใน 7 วันนับจากสิ้นเดือนที่จ่ายเงินได้

4. คิดจากการจำหน่ายกำไรไปออกประเทศ

ผู้ที่มีหน้าที่เสียภาษีส่วนนี้ ได้แก่ นิติบุคคลที่จำหน่ายกำไรออกนอกประเทศ การจำหน่ายกำไร ที่มีการโอนกำไรไปชำระหนี้ หรือตั้งเป็นเจ้าหนี้ต่างประเทศ การขออนุญาตซื้อและโอนเงินตราต่างประเทศจากกำไร รวมถึงการกระทำอื่นๆ ที่มีผลเช่นเดียวกัน

การคำนวณภาษี จะมีอัตราภาษีอยู่ที่ 10% ของจำนวนเงินที่จำหน่าย ส่วนการยื่นแบบควรยื่น ภ.ง.ด. 54 ภายใน 7 วันนับจากสิ้นเดือนที่จำหน่ายกำไร ยื่นเฉพาะเมื่อมีการจำหน่ายกำไรออกนอกประเทศเท่านั้น

ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้นิติบุคคล ได้ที่ไหน?

ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้นิติบุคคล ได้ที่ไหน?

โดยการยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้นิติบุคคล สามารถยื่นได้ทั้ง 2 ช่องทาง ทั้งการไปยื่นเองที่สรรพากรและการยื่นแบบออนไลน์ ซึ่งเป็นอีกช่องทางที่จะช่วยให้ทุกขั้นตอนสะดวก รวดเร็ว และไม่ยุ่งยากอีกต่อไป

ยื่นที่สรรพากร

  • กรุงเทพมหานคร: ให้ยื่นแบบได้ที่สำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขา ในพื้นที่ที่สำนักงานใหญ่ตั้งอยู่
  • เขตจังหวัดอื่น: ให้ยื่น ณ ที่ว่าการอำเภอ หรือกึ่งอำเภอท้องที่ ที่สำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ ในกรณีสำนักงานสรรพากรอำเภอไม่ได้ตั้งอยู่ ณ ที่ว่าการอำเภอ ให้ยื่น ณ สำนักงานสรรพากรอำเภอได้เลย 

กรณียื่นแบบ ภ.ง.ด. 51 ให้ยื่นแบบภายใน 2 เดือน นับแต่วันสุดท้ายของรอบระยะเวลา 6 เดือน โดยนับตั้งแต่วันแรกของรอบระยะเวลาบัญชี แต่ถ้าจะยื่นแบบ ภ.ง.ด. 50 ให้ยื่นแบบภายใน 150 วัน โดยนับตั้งแต่วันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชี

หมายเหตุ! เพื่อความสะดวกปและรวดเร็ว กรณีการยื่นแบบแสดงรายการภาษี ภ.ง.ด. 50 ภ.ง.ด. 51 ภ.ง.ด. 53 และ ภ.ง.ด. 54 สามารถยื่นแบบผ่านเว็บไซต์ของกรมสรรพากรได้เลย

ยื่นทางออนไลน์

ต่อไปเป็นขั้นตอนการยื่นภาษีนิติบุคคลผ่านเว็บไซต์สรรพากร ที่สามารถทำตามได้ง่ายๆ ดังนี้

  1. เข้าเว็บไซต์และสมัครสมาชิก: เข้าไปที่ https://efiling.rd.go.th/rd-cms/ จากนั้นกดสมัครสมาชิก
  2. กรอกข้อมูลเบื้องต้น: โดยใส่เลขประจำตัวผู้เสียภาษี 13 หลัก แล้วเลือกรูปแบบกิจการ
  3. ยืนยันตัวตน: โดยการกรอกอีเมลที่ใช้งานได้จริง พร้อมขอ OTP ทางอีเมล แล้วกรอกรหัส OTP ที่ได้รับ
  4. ตรวจสอบและยืนยัน: โดยตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูล ทำเครื่องหมายรับรองข้อมูล และกดยืนยันการลงทะเบียน
  5. ส่งเอกสารยืนยัน: โดยระบบจะส่งเอกสาร ภ.อ. 01 (คำขอใช้บริการอิเล็กทรอนิกส์ของกรมสรรพากร) และข้อตกลงมาทางอีเมล เพื่อให้ดาวน์โหลด
  6. เลือกช่องทางส่งเอกสาร: ว่าจะส่งที่สำนักงานสรรพากรพื้นที่ ส่งทางอีเมล หรือจะอัปโหลดออนไลน์พร้อมลายมือชื่อดิจิทัล

กรณียื่นแบบ ภ.ง.ด. 51 ให้ยื่นแบบภายใน 2 เดือน 8 วัน นับแต่วันสุดท้ายของรอบระยะเวลา 6 เดือน โดยนับตั้งแต่วันแรกของรอบระยะเวลาบัญชี แต่ถ้าจะยื่นแบบ ภ.ง.ด. 50 ให้ยื่นแบบภายใน 158 วัน โดยนับตั้งแต่วันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชี

ภาษีนิติบุคคล กับสิทธิประโยชน์ทางภาษี

ภาษีนิติบุคคล กับสิทธิประโยชน์ทางภาษี

ในส่วนของภาษีนิติบุคคลนั้น มีสิทธิประโยชน์ทางภาษีมากมาย ที่จะช่วยให้กลุ่มผู้ประกอบการลดภาระค่าใช้จ่ายส่วนนี้ไปได้มากขึ้น ดังนี้ 

การลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล 

  • กลุ่มนิติบุคคลที่เป็นธุรกิจ SME แล้วมีทุนจดทะเบียนไม่เกิน 5 ล้าน และมีรายได้ที่เกิดจากการขายสินค้า และบริการไม่เกิน 30 ล้านภายในรอบระยะเวลาบัญชี
    • กำไรสุทธิ 0 - 300,000 บาท จะได้รับการยกเว้นอัตราภาษี
    • กำไรสุทธิ 301,000 - 3,000,000 บาท อัตราภาษีร้อยละ 15
    • กำไรสุทธิ มากกว่า 300,000 บาท อัตราภาษีร้อยละ 20
  • กลุ่มนิติบุคคลทั่วไป
    • กำไรสุทธิทั้งจำนวน อัตราภาษีร้อยละ 20

การลงทุนหรือค่าใช้จ่าย

  • หักค่าเสื่อมราคาเร่ง สำหรับเครื่องจักร และอุปกรณ์
  • หักรายจ่ายฝึกอบรมได้ 2 เท่า
  • หักรายจ่าย R&D ได้ 2.5 เท่า
  • ลงทุนในจังหวัดเขตพัฒนาพิเศษ สามารถลดหย่อนภาษี 3 - 8 ปี

สิทธิประโยชน์จาก BOI

  • ยกเว้นภาษีนิติบุคคล 3 - 8 ปี
  • ลดหย่อนภาษี 50% อีก 5 ปี
  • ยกเว้นอากรขาเข้าวัตถุดิบหรือเครื่องจักร

การส่งเสริมการจ้างงาน

  • จ้างผู้สูงอายุ: หักรายจ่ายได้ 2 เท่า
  • จ้างผู้พิการ: หักรายจ่ายเพิ่มได้

บทลงโทษ กรณีไม่จ่ายภาษีนิติบุคคล

บทลงโทษ กรณีไม่จ่ายภาษีนิติบุคคล

หากไม่ได้ยื่นภาษีนิติบุคคล หรือเลยกำหนดการยื่นไปแล้ว อาจมีโทษถึงขั้นปรับเงินเลยทีเดียว ไปดูกันว่า กรณีไหนต้องโดนลงโทษอะไรบ้าง

ภ.ง.ด. 51

ภ.ง.ด. 51 คือการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลในช่วงกลางปี หากไม่ได้ยื่น หรือมีการกระทำผิดอันใด จะมีบทลงโทษ ดังนี้

กรณีไม่ยื่นหรือยื่นช้า: จะต้องเสียเงินเพิ่ม 20% ของภาษีที่ต้องชำระ และปรับไม่เกิน 2,000 บาท (ยกเว้นมีเหตุสุดวิสัย)

กรณีประมาณการกำไรผิดพลาด: ถ้าประมาณการขาดเกิน 25% ของกำไรสุทธิจริง จะต้องเสียเงินเพิ่ม 20% ของภาษีที่ชำระขาด ยกเว้นว่ามีเหตุอันสมควร

กรณียื่น ภ.ง.ด. 50 เมื่อสิ้นรอบบัญชี: ควรยื่นภายใน 150 วัน นับจากวันสิ้นรอบบัญชี ต้องมีผู้สอบบัญชีรับรองงบการเงิน แล้วนำภาษีที่จ่ายตาม ภ.ง.ด. 51 มาหักก่อนชำระส่วนที่เหลือ

ภ.ง.ด. 50

ภ.ง.ด. 50 คือการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลในช่วงปลายปี หากไม่ได้ยื่นหรือมีการกระทำผิดอันใด จะมีบทลงโทษ ดังนี้

กรณีไม่ชำระภาษีภายในกำหนด (150 วัน): จะต้องเสียเงินเพิ่ม 1.5% ต่อเดือน โดยจะนับเป็นรายเดือน (เศษเดือนนับเป็น 1 เดือน) ซึ่งจะคิดจากวันที่พ้นกำหนดถึงวันที่ชำระ และมีเงินเพิ่มสูงสุดไม่เกินจำนวนภาษีที่ต้องชำระเพิ่ม

กรณีไม่ยื่นแบบและไม่ยื่นบัญชี: จะถูกปรับไม่เกิน 4,000 บาท ตามมาตรา 35 โดยอ้างอิงตามมาตรา 17, 68 และ 69 แห่งประมวลรัษฎากร

สรุป

ภาษีนิติบุคคลคือภาษีที่เรียกเก็บจากกำไรสุทธิของบริษัทหรือองค์กรที่จดทะเบียนเป็นนิติบุคคล โดยคำนวณจากรายได้ หักด้วยค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้อง อัตราภาษีปกติจะอยู่ที่ 20% ของกำไรสุทธิ และบางรายจ่ายสามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ด้วย 

ภาษีนิติบุคคลมีการยื่น ทั้งแบบครึ่งปี (ภ.ง.ด. 51) ที่ต้องยื่นภายในเดือนสิงหาคม และแบบประจำปี (ภ.ง.ด. 50) ที่ต้องยื่นภายใน 150 วันหลังสิ้นรอบบัญชี สามารถยื่นได้ที่กรมสรรพากรหรือยื่นแบบออนไลน์ได้แล้ว เรียกได้ว่าสะดวก รวดเร็วมากๆ

มาสร้างรายได้พร้อมการงานที่มั่นคงได้ที่ Jobsdb ด้วยฟีเจอร์การค้นหางานได้ตามทำเลที่ต้องการ อยากจะทำอาชีพอะไร ตำแหน่งอะไร หรือเงินเดือนเท่าไร ที่นี่มีให้เลือกครบครัน อีกทั้งยังใช้งานสะดวกอีกด้วย

More from this category: แหล่งข้อมูลและเทมเพลต

เรียกดูคำค้นหาที่ได้รับความนิยม

ทราบหรือไม่ว่าผู้สมัครค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับอะไรใน Jobsdb? สำรวจคำค้นหาที่ได้รับความนิยมเพื่ออัพเดทเทรนด์ใหม่เสมอ

สมัครรับคำแนะนำด้านอาชีพ

รับคำปรึกษาด้านอาชีพจากผู้เชี่ยวชาญส่งตรงถึงอินบ็อกซ์ของคุณ
ท่านได้ยอมรับคำประกาศเกี่ยวกับการเก็บรวบรวมข้อมูลส่วนบุคคล และนโยบายความเป็นส่วนตัวเพื่อให้ข้อมูลส่วนบุคคลของท่าน หากท่านมีอายุต่ำกว่า 20 ปี ท่านได้รับความยินยอมจากผู้ปกครอง เพื่อยินยอมให้ Jobsdb และบริษัทในเครือประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคลของท่าน ท่านสามารถยกเลิกได้ทุกเวลา