Key Takeaway
- เครดิตบูโรคือหน่วยงานที่จัดเก็บข้อมูลประวัติการชำระหนี้ทุกประเภทของธนาคารทั่วประเทศ ที่เป็นสมาชิก โดยในรายงานของเครดิตบูโรจะมีข้อมูลส่วนตัว ข้อมูลสินเชื่อ
- ใครอยากขอสินเชื่อต้องไปเช็กเครดิตบูโรก่อน เพื่อตรวจสอบว่าเรามีหนี้คงค้าง หรือมีประวัติการชำระหนี้อย่างไร เพื่อเตรียมตัวก่อนยื่นสินเชื่อ
- พนักงานที่ทำงานประจำคนไหนอยากขอสินเชื่อต้องไปเช็กเครดิตบูโรก่อน เพื่อเพิ่มโอกาสในการอนุมัติสินเชื่อ โดยสามารถยื่นได้ผ่านศูนย์ตรวจเครดิตบูโร ธนาคาร ไปรษณีย์ ตู้คีออส หรือผ่านแอปพลิเคชันที่เข้าร่วม
- ใครอยากขอสินเชื่อแต่ไม่ได้ทำงานประจำ มาหางานที่ JobsDB ด้วยฟีเจอร์หางานตามทำเลที่ต้องการ ตำแหน่งที่ชอบ เงินเดือนที่ใช่
เคยสงสัยกันไหมว่าธนาคารหรือสถาบันทางการเงิน ใช้เงื่อนไขอะไรในการพิจารณาการอนุมัติสินเชื่อ? แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าเรามีพฤติกรรมทางการเงินแบบไหน ใครอยากขอสินเชื่อหรืออยากรู้ประวัติทางการเงิน การเช็กเครดิตบูโร จะไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป รู้ก่อนมีสิทธิ์กว่า! บทความนี้ได้รวบรวมพิกัดและแอปเช็กเครดิตบูโร เช็กแบล็คลิสออนไลน์ฟรี! ไม่มีค่าใช้จ่ายมาให้ได้เลือกตามความสะดวก
เครดิตบูโร สมุดบันทึกทางการเงิน
เครดิตบูโรหรือบริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด คือหน่วยงานที่เป็นศูนย์กลางในการจัดเก็บข้อมูลประวัติการชำระหนี้ทุกประเภทของธนาคารต่างๆ ทั่วประเทศที่เป็นสมาชิกเครดิตบูโร ในรายงานของเครดิตบูโรจะประกอบไปด้วย ข้อมูลส่วนตัวและข้อมูลสินเชื่อได้รับการอนุมติแล้ว ซึ่งจะเป็นข้อมูลย้อนหลังรายเดือน โดยจะใช้เวลาในการอัปเดตข้อมูลประมาณ 30 วัน เพื่อให้ข้อมูลอัปเดตอยู่เสมอ
การเช็กเครดิตบูโร สำคัญอย่างไร
เหตุผลที่ต้องไปเช็กเครดิตบูโรคือเพื่อตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลส่วนตัวและเตรียมตัวในการขอสินเชื่อ ไม่ว่าจะเป็นการกู้ซื้อบ้าน ซื้อรถ หรือทำบัตรเครดิต การตรวจสอบนี้ช่วยให้รู้ว่าเรามีหนี้คงค้างหรือไม่ มีประวัติการชำระหนี้อย่างไร ทั้งนี้แม้จะมีการชำระหนี้หมดแล้ว แต่ข้อมูลในระบบอาจจะยังไม่อัปเดตสถานะยอดหนี้เป็น 0 จึงตรวจเช็กเครดิตบูโรก่อน
เพื่อที่จะได้เตรียมหลักฐานการชำระหนี้ให้เรียบร้อยก่อนยื่นสินเชื่อ และสามารถโอกาสการผ่านสินเชื่อได้ด้วยตัวเองก่อน เพราะหากยื่นสินเชื่อแล้วไม่ผ่าน ต้องรอสักพักเลยกว่าจะยื่นได้อีกครั้ง เพราะฉะนั้นการเตรียมตัวประเมินสุขภาพทางการเงินของเราเองก่อนจึงเป็นเรื่องที่สำคัญมาก
ไขข้อสงสัย ติดแบล็คลิสต์บูโร คืออะไร?
หลายคนคงเคยได้ยินเรื่องการติดแบล็กลิสต์บูโรกันมาบ้าง แต่ความจริงแล้วการติดแบล็กลิสต์บูโรมีจริงไหม? ทางบริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด ได้กล่าวไว้ว่า แบล็คลิสต์นั้นไม่มีอยู่จริง ทางเครดิตบูโรมีหน้าที่แค่รวบรวมข้อมูลเครดิตของลูกหนี้ และข้อมูลพฤติกรรมการชำระหนี้ของลูกหนี้เท่านั้น
ดังนั้น การกู้สินเชื่อแล้วไม่ผ่านไม่ได้เกี่ยวข้องกับการติดแบล็กลิสต์บูโร แต่อาจเกิดจากปัจจัยอื่นๆ เช่น รายได้ต่ำกว่าที่กำหนด ข้อมูลเครดิตไม่ได้เป็นไปตามเงื่อนไขที่ธนาคารกำหนด หรือพฤติกรรมการชำระหนี้ที่ไม่ดี เป็นต้น การติดแบล็กลิสต์บูโรจึงเสมือนเป็นคำนิยามของผู้ที่มีประวัติการชำระหนี้ที่ไม่ดีมากกว่า
เช็กก่อนได้เปรียบ! วิธีเช็กเครดิตบูโร เช็กแบล็กลิสต์ ที่ควรรู้
ในปัจจุบันเทคโนโลยีพัฒนาไปอย่างก้าวกระโดด ใครที่อยากเช็กเครดิตบูโร เช็กแบล็กลิสต์ก็สามารถทำได้ง่ายๆ หลากหลายวิธี เลือกได้ตามความสะดวกเลย จะมีช่องทางไหนบ้าง ไปดูกัน
เช็กที่ศูนย์ตรวจเครดิตบูโร
ตามพ.ร.บ. การประกอบธุรกิจข้อมูลเครดิต พ.ศ. 2545 มาตรา 25 กำหนดให้ผู้มีสิทธิสามารถตรวจสอบข้อมูลเครดิตของตัวเองได้ที่บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด โดยศูนย์ตรวจเครดิตบูโรมีดังนี้
1. ศูนย์ตรวจเครดิตบูโร อาคารเดอะไนน์ ทาวเวอร์ส แกรนด์ พระราม 9 ชั้น 2 (โซนพลาซ่า)
- บริการ: เช็กผลรายงานข้อมูลเครดิต (บุคคลธรรมดาและมอบอำนาจ) เครดิตสกอริ่ง (บุคคลธรรมดาและมอบอำนาจ) สำหรับนิติบุคคล ทำได้โดยนิติบุคคล และมอบอำนาจ) รวมถึงชาวต่างชาติด้วย
- พิกัด: https://maps.app.goo.gl/ceLKBSJeevJoDnDC8
- เวลาเปิด-ปิด: เปิดเวลา 09.00-16.30 น. (หยุดเสาร์-อาทิตย์)
2. ศูนย์ตรวจเครดิตบูโร สถานีรถไฟฟ้า BTS ศาลาแดง
- บริการ: เช็กผลรายงานข้อมูลเครดิต (บุคคลธรรมดาของตนเองและมอบอำนาจ) เครดิตสกอริ่ง (บุคคลธรรมดา) รวมถึงชาวต่างชาติด้วย
- พิกัด: https://maps.app.goo.gl/nJ4G7Y7QbTk1bygg6
- เวลาเปิด-ปิด: เปิดเวลา 09.00-18.00 น. (หยุดเสาร์-อาทิตย์)
3. ศูนย์ตรวจเครดิตบูโร ห้างเจ เวนิว (นวนคร) ชั้น 1
- บริการ: เช็กผลรายงานข้อมูลเครดิต (บุคคลธรรมดาของตนเองและมอบอำนาจ) เครดิตสกอริ่ง (บุคคลธรรมดา) สำหรับนิติบุคคล รวมถึงชาวต่างชาติด้วย
- พิกัด: https://maps.app.goo.gl/yAH7VE5DxWFYuZk36
- เวลาเปิด-ปิด: เปิดเวลา 08.00-21.00 น.
เช็กเครดิตบูโรที่ธนาคาร
สำหรับการเช็กเครดิตบูโรที่ธนาคาร เจ้าของข้อมูลต้องไปยื่นคำร้องด้วยตัวเอง แล้วทางธนาคารจะเป็นตัวแทนของเครดิตบูโรในการตรวจสอบข้อมูล หลังจากนั้นจะส่งข้อมูลเครดิตให้ผ่านทางไปรษณีย์ภายใน 1 สัปดาห์นับจากวันที่ยื่น สามารถทำได้โดยผ่านเคาน์เตอร์ธนาคารต่างๆ ทั่วประเทศ ดังนี้
- ธนาคารกรุงศรีอยุธยา
- ธนาคารกรุงไทย
- ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.)
- ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)
ขั้นตอนการยื่นคำขอตรวจสอบข้อมูลเครดิตบูโรที่ธนาคารสามารถทำได้ ดังนี้
- กรอกแบบฟอร์มขอตรวจสอบข้อมูลเครดิต ลงลายมือชื่อ พร้อมแนบหลักฐาน
- ยื่นเอกสารให้เรียบร้อย แล้วชำระค่าธรรมเนียมกับเจ้าหน้าที่ธนาคาร
- ทางธนาคารจะออกใบเสร็จการชำระเงิน และค่าจัดส่งเอกสาร ให้ไว้เป็นหลักฐาน
- เครดิตบูโรจะส่งข้อมูลมาให้ภายใน 7 วันทำการ นับจากวันที่ยื่นขอ
เช็กเครดิตบูโรที่ไปรษณีย์
ต่อมาเป็นการเช็กเครดิตบูโรที่ไปรษณีย์ ซึ่งสามารถทำได้ที่เคาน์เตอร์ไปรษณีย์และที่ทำการไปรษณีย์ใกล้บ้านทั่วประเทศ โดยวิธีนี้ทำได้เฉพาะบุคคลธรรมดาเท่านั้น และถือว่าสะดวกสบายมาก มีขั้นตอนการยื่นคำร้องเพียงไม่กี่ขั้นตอน ดังนี้
- ไปที่เคาน์เตอร์ไปรษณีย์ หรือที่ทำการไปรษณีย์ที่สะดวกที่สุด
- ยื่นบัตรประชาชน เพื่อขอตรวจสอบเครดิตบูโร
- ชำระค่าบริการ 150 บาท
- รอรับข้อมูลเครดิตได้ทางไปรษณีย์ภายใน 7 วันทำการ นับจากวันที่ยื่นคำร้อง
เช็กเครดิตบูโรที่ตู้คีออส
สำหรับใครที่ต้องไปทำงานแล้วไม่มีเวลาไปยื่นคำร้องที่เครดิตบูโรด้วยตัวเอง เพื่อความสะดวกสบายมากขึ้น อาจจะยื่นที่ตู้คีออสตามพิกัดต่างๆ ดังนี้
- อาคาร เดอะไนน์ ทาวเวอร์ส แกรนด์ พระราม 9 - บริเวณชั้น 2 โซนพลาซ่า (ใกล้สถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน MRT พระราม 9 และอยู่ด้านหลังห้างเซ็นทรัล พระราม 9)
- อาคารเพิร์ล แบงก์ค็อก - บริเวณชั้น 3 (สถานีรถไฟฟ้า BTS สถานีอารีย์ ทางออก 1)
- ห้างเจ-เวนิว (นวนคร) - บริเวณชั้น 1
- สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ (สถานีกลางบางซื่อ) - บริเวณด้านหลังเคาน์เตอร์ประชาสัมพันธ์ ประตูทางเข้า 1 จุดที่ติดตั้งนาฬิกาประจำสถานี หรือนาฬิกาหน้าปัดหมายเลข ๙
- ธนาคารเกียรตินาคินภัทร (สำนักงานใหญ่) อาคารเคเคพีทาวเวอร์ - บริเวณชั้น 1 ใกล้ประตูทางเข้าอาคาร
- อาคารสาธรนครทาวเวอร์ - บริเวณชั้น 1 โซนตู้ ATM (สถานีรถไฟฟ้า BTS ช่องนนทรี ทางออก 2)
- ศูนย์การเรียนรู้ธนาคารแห่งประเทศไทย (อาคาร A) - บริเวณชั้น 2 โถงต้อนรับ เยื้องกับจุดสอบถาม
เช็กผ่านแอปพลิเคชันของธนาคาร
นอกจากไปเช็กเครดิตบูโรได้ที่ธนาคารแล้ว ยังสามารถเช็กผ่านแอปพลิเคชันของธนาคารต่างๆ โดยจะมีการส่งรายงานมาในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ (NCB e-Credit Report) ที่สะดวกและรวดเร็ว ดังนี้
- Bureau OK: รับผลการตรวจสอบได้ทันที
- Bualuang mBanking (ธนาคารกรุงเทพ): รับผลการตรวจสอบได้ทันที
- KKP Mobile (ธนาคารเกียรตินาคินภัทร): รับผลการตรวจสอบได้ทันที
- MyMo (ธนาคารออมสิน): รับผลการตรวจสอบภายใน 24 ชั่วโมง
- Krungthai NEXT (ธนาคารกรุงไทย): รับผลการตรวจสอบภายใน 24 ชั่วโมง
- แอปเป๋าตัง: รับผลการตรวจสอบภายใน 24 ชั่วโมง
- Flash Express (Flash Money): รับผลการตรวจสอบภายใน 24 ชั่วโมง
- ttb touch (ธนาคารทีทีบี): รอผลการตรวจสอบภายใน 3 วัน
- BAAC Mobile (ธ.ก.ส.): รอผลการตรวจสอบภายใน 3 วัน
- SME D Bank (ธพว.): รอผลการตรวจสอบภายใน 3 วัน
เอกสารสำคัญที่ต้องเตรียม ก่อนเช็กเครดิตบูโร
กรณียื่นด้วยตัวเอง
- บุคคลสัญชาติไทย: ใช้บัตรประจำตัวประชาชน หรือบัตรที่มีเลขบัตรประชาชนที่หน่วยงานราชการออกให้ (ตัวจริง)
- บุคคลต่างด้าว: ใช้หนังสือเดินทาง หรือใบสำคัญถิ่นที่อยู่ (ตัวจริง)
กรณีให้คนอื่นยื่นแทน
- หนังสือมอบอำนาจ
- สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของผู้ที่มอบอำนาจ
- บัตรประจำตัวประชาชนของผู้ที่มอบอำนาจ
- สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของผู้ที่ได้รับมอบอำนาจ
- บัตรประจำตัวประชาชนของผู้ที่ได้รับมอบอำนาจ
สรุป
เครดิตบูโรคือหน่วยงานที่จัดเก็บข้อมูลประวัติการชำระหนี้ของธนาคารต่างๆ ทั่วประเทศที่เป็นสมาชิก โดยรายงานของเครดิตบูโรจะมีข้อมูลส่วนตัวและข้อมูลสินเชื่อ ก่อนขอสินเชื่อควรเช็กเครดิตบูโรเพื่อดูว่ามีหนี้คงค้างหรือประวัติการชำระหนี้อย่างไร เพื่อเตรียมตัวให้เรียบร้อย
พนักงานที่ทำงานประจำคนไหนอยากขอสินเชื่อควรไปเช็กเครดิตบูโรก่อน เพื่อเพิ่มโอกาสในการอนุมัติ สามารถยื่นได้ผ่านศูนย์ตรวจเครดิตบูโร ธนาคารต่างๆ ไปรษณีย์ ตู้คีออส หรือผ่านแอปพลิเคชันต่างๆ ที่เข้าร่วม
ใครอยากขอสินเชื่อแต่ไม่ได้ทำงานประจำ สามารถหางานที่ JobsDB ด้วยฟีเจอร์หางานตามทำเลที่ต้องการ ตำแหน่งที่ชอบ เงินเดือนที่ใช่ ใครอยากได้งานแบบไหน JobsDB คัดเลือกมาให้ได้ทุกรูปแบบ