แก้ปัญหาธุรกิจ สร้างนวัตกรรมที่แตกต่างด้วย Design Thinking

แก้ปัญหาธุรกิจ สร้างนวัตกรรมที่แตกต่างด้วย Design Thinking
Jobsdb ทีมเนื้อหาอัปเดตเมื่อ 29 October, 2024
Share

Key Takeaway

  • Design Thinking คือกระบวนการคิดที่ทำความเข้าใจสมมติฐาน ซึ่งเป็นสาเหตุของปัญหา เพื่อหาวิธีแก้ไขปัญหาอย่างถูกจุด และสามารถพัฒนาไปสู่แนวคิดใหม่ 
  • กระบวนการคิดแบบ Design Thinking ประกอบไปด้วยการเข้าใจปัญหา (Empathize) การกำหนดปัญหา (Define) การระดมความคิด (Ideate) การสร้างต้นแบบจำลอง (Prototype) และการทดสอบปัญหา (Test) 
  • Design Thinking ช่วยพัฒนาทักษะการแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบและมีขั้นตอน ทำให้เห็นปัญหาในหลายมิติ เพื่อให้พบทางเลือกในการแก้ไขที่หลากหลายและมีประสิทธิภาพ ยิ่งมีการระดมความคิด ยิ่งช่วยให้เลือกวิธีการแก้ปัญหาได้ดี
  • Design Thinking ช่วยฝึกความคิดสร้างสรรค์และการทำงานเป็นทีม พัฒนาบุคลากรและองค์กรให้ปรับตัวในโลกธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

สภาพสังคมในยุคปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วจนไม่ทันตั้งตัว ส่งผลให้หลายคนมีอาการ Burn Out จนส่งผลต่อการทำงาน มาสร้างการคิดบวก ให้เราสามารถก้าวไปข้างหน้าแล้วตามให้ทันโลก! ด้วยการทำความรู้จัก Design Thinking หรือการคิดเชิงออกแบบว่าคืออะไร พร้อมศึกษาตัวอย่างธุรกิจ ที่นำแนวคิดนี้มาพัฒนาองค์กรให้ก้าวสู่โลกสมัยใหม่

Design Thinking คืออะไร

Design Thinking คืออะไร

Design Thinking หรือการคิดเชิงออกแบบ คือกระบวนการคิดรูปแบบหนึ่ง เป็นการพยายามทำความเข้าใจสมมติฐานที่เป็นสาเหตุของปัญหา เพื่อที่ต่อมาจะได้หาวิธีแก้ไขปัญหาได้ถูกจุด จนทำให้สามารถพัฒนาไปสู่แนวคิดใหม่ๆ ได้ โดยวิธีการคิดแบบนี้ต้องอาศัยการทำงานร่วมกับคนอื่นๆ ด้วย ทำให้สามารถพัฒนาการทำงานเป็นทีมได้อย่างมีประสิทธิภาพนั่นเอง

กระบวนการคิดแบบ Design Thinking มีอะไรบ้าง

กระบวนการคิดแบบ Design Thinking มีอะไรบ้าง

Design Thinking เป็นกระบวนการคิดเชิงออกแบบที่มุ่งเน้นการแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์ กระบวนการคิดนี้ประกอบไปด้วย 5 ขั้นตอนหลัก ดังนี้

1. Empathize — การเข้าใจปัญหา

ขั้นตอนแรก ให้เริ่มจากการทำความเข้าใจปัญหาอย่างลึกซึ้งก่อน โดยเน้นการเข้าใจผู้ใช้หรือกลุ่มเป้าหมาย วิเคราะห์ความต้องการและสภาพแวดล้อม เพื่อหาแนวทางแก้ไขที่เหมาะสมที่สุด กระบวนการนี้ยังรวมถึงการตั้งคำถาม สร้างสมมติฐาน เพื่อกระตุ้นความคิดในเชิงสร้างสรรค์ จนสามารถวิเคราะห์ปัญหาได้ จนทำให้ได้แนวทางการแก้ปัญหาที่ถูกต้องและตรงประเด็น

2. Define — การกำหนดปัญหา

ต่อมาเป็นการกำหนดปัญหาให้ชัดเจน ขั้นตอนนี้เป็นการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกเพื่อระบุปัญหาที่แท้จริง กำหนดขอบเขตและทิศทางการแก้ไขปัญหาอย่างชัดเจน เพื่อสร้างแนวทางปฏิบัติที่มีประสิทธิภาพ

3. Ideate — การระดมความคิด

จากนั้นเริ่มระดมความคิด นำเสนอ และรวบรวมแนวคิดที่หลากหลายในการแก้ไขปัญหา โดยไม่จำกัดกรอบความคิด เพื่อสร้างฐานข้อมูลที่กว้างสำหรับการวิเคราะห์ และสรุปผลต่อไป นอกจากนี้การระดมความคิดยังช่วยให้มองเห็นมุมมองและปัญหาที่หลากหลายมากขึ้นอีกด้วย

4. Prototype — การสร้างต้นแบบจำลอง

มาถึงขั้นตอนการสร้างต้นแบบจำลอง ซึ่งเป็นการออกแบบและสร้างต้นแบบผลิตภัณฑ์ หรือนวัตกรรม ตามแนวทางการแก้ไขปัญหาที่ได้วางแผนไว้ เพื่อนำไปใช้ในการทดสอบและใช้ต่อในชีวิตจริง ซึ่งเป็นการลงมือปฏิบัติตามแนวคิดที่ได้กำหนดไว้นั่นเอง

5. Test — การทดสอบปัญหา

ต่อไปเป็นการทดสอบปัญหา โดยเป็นการนำต้นแบบหรือแนวทางการแก้ไขปัญหามาทดลองใช้จริง เพื่อประเมินประสิทธิภาพ รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับข้อดี-ข้อเสีย รวมถึงปัญหาที่เกิดขึ้น เพื่อนำไปปรับปรุงและพัฒนาต่อไปในอนาคต

Design Thinking สำคัญอย่างไรต่อการพัฒนาองค์กร

Design Thinking สำคัญอย่างไรต่อการพัฒนาองค์กร

กระบวนการคิดแบบ Design Thinking มีความสำคัญต่อการแก้ปัญหา และการพัฒนาองค์กร ดังนี้

แก้ไขปัญหาเป็นลำดับขั้นตอนมากขึ้น

โดยปกติเราจะมีแนวทางการแก้ปัญหาที่ไม่เป็นระบบและไม่ผ่านการคิดให้รอบด้านเท่าที่ควร แต่กระบวนการคิดแบบ Design Thinking จะมาช่วยทำให้เกิดการวิเคราะห์ปัญหาอย่างรอบคอบ และเป็นลำดับขั้นตอนมากขึ้น ทำให้สามารถเข้าใจปัญหาได้อย่างลึกซึ้ง และสามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างตรงจุด 

มีตัวเลือกของไอเดียที่หลากหลาย

กระบวนการคิดแบบ Design Thinking อยู่บนพื้นฐานของการคิดที่หลากหลาย จึงมีการระดมความคิดและแชร์ไอเดียต่างๆ อยู่เสมอ ทำให้เกิดมุมมองที่หลากหลายมุมมอง นำไปสู่ทางเลือกที่มีประสิทธิภาพในการแก้ปัญหาที่สามารถนำไปใช้ได้จริง

มีทางเลือกที่หลากหลายในการแก้ปัญหา

กระบวนการคิดแบบ Design Thinking สร้างทางเลือกมากมาย หลากหลายมุมมอง ทำให้เกิดการวิเคราะห์ตัวเลือกเหล่านี้ จึงช่วยให้สามารถเลือกวิธีการแก้ปัญหาที่ดีที่สุด และเหมาะสมที่สุดได้นั่นเอง

ส่งเสริมให้มีแนวคิดแบบสร้างสรรค์

กระบวนการคิดแบบ Design Thinking ช่วยสร้างแนวคิดแบบ Creative Thinking ได้ เพราะการฝึกคิดหลากหลายรูปแบบ หลายวิธีการ หลายมุมมอง จะช่วยพัฒนาทักษะการคิดสร้างสรรค์ได้ดี แม้จะเป็นความคิดแปลกๆ แต่ก็เป็นเรื่องราวใหม่ๆ ที่เป็นพื้นฐานสำคัญในการแก้ปัญหาและการบริหารจัดการต่อไปในอนาคต 

ส่งเสริมการทำงานอย่างเป็นระบบขององค์กร

กระบวนการคิดแบบ Design Thinking ช่วยเสริมสร้างการคิดอย่างเป็นระบบขององค์กรได้ เพราะเมื่อบุคลากรได้รับการฝึกให้คิดอย่างเป็นระบบ จะส่งผลให้องค์กรมีการทำงานที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น สามารถเพิ่มศักยภาพทั้งในระดับบุคคลและระดับองค์กรได้มากขึ้น

ตัวอย่างธุรกิจที่นำหลัก Design Thinking มาใช้ให้เกิดประโยชน์

ตัวอย่างธุรกิจที่นำหลัก Design Thinking มาใช้ให้เกิดประโยชน์

เราอาจยังไม่เห็นภาพว่าจะนำกระบวนการคิดแบบ Design Thinking มาใช้ในชีวิตจริงได้อย่างไร ต่อไปมาดูตัวอย่างธุรกิจแบรนด์ดัง ที่นำหลัก Design Thinking มาใช้ให้เกิดประโยชน์

Netflix

Netflix เป็นตัวอย่างที่โดดเด่นของการใช้ Design Thinking ในการพัฒนาธุรกิจ โดยเน้นเข้าใจในความต้องการ ปัญหา และความคาดหวังของลูกค้าได้อย่างลึกซึ้ง ซึ่งนำไปสู่การสร้าง Business Model ที่ประสบความสำเร็จมาจนถึงปัจจุบัน

Reed Hastings ผู้ก่อตั้ง Netflix เริ่มต้นด้วยการวิเคราะห์ปัญหาในการเช่าวิดีโอแบบเดิม เช่น ข้อจำกัดด้านระยะเวลาการเช่า ราคา และค่าปรับ ซึ่งเป็นปัญหาร่วมกันของผู้บริโภคหลายคน การเข้าใจปัญหาเหล่านี้จึงทำให้ธุรกิจเติบโตได้อย่างรวดเร็วนั่นเอง

นอกจากนี้ Netflix ยังใช้กลยุทธ์การทดสอบตลาดอย่างต่อเนื่อง โดยเริ่มให้บริการสตรีมวิดีโอแก่ผู้ใช้ เพื่อทดลองและสร้างความคุ้นเคย มีการปรับปรุงและพัฒนาบริการอย่างต่อเนื่องเป็นเวลากว่า 10 ปี การทดสอบและการพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้งนี้ ส่งผลให้บริการของ Netflix เติบโตอย่างก้าวกระโดด และกลายเป็นที่นิยมอย่างแพร่หลายในโลกออนไลน์

Airbnb

Airbnb เป็นตัวอย่างที่น่าสนใจของการใช้ Design Thinking ในการแก้ปัญหาธุรกิจ โดยเมื่อเริ่มต้นกิจการ บริษัทประสบปัญหายอดจองที่พักต่ำกว่าเป้าหมาย ทำให้ธุรกิจเสี่ยงไปไม่รอด ทีมผู้ก่อตั้งจึงตัดสินใจใช้หลักการ Design Thinking ด้วยการเข้าไปทำความเข้าใจมุมมองของลูกค้า จึงค้นพบว่าปัญหาไม่ได้อยู่ที่ราคาหรือรูปแบบธุรกิจ แต่เป็นเรื่องของ ‘รูปภาพ’ ที่ไม่น่าดึงดูดใจเท่าที่ควร

จากสมมติฐานว่า ‘รูปไม่สวยทำให้คนไม่จองเข้าพัก’ ทีม Airbnb จึงออกไปถ่ายภาพที่พักใหม่ให้สวยงามและน่าสนใจมากขึ้น จากนั้นนำมาทดลองใช้บนเว็บไซต์ ผลปรากฏว่ายอดจองที่พักเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว

กรณีนี้แสดงให้เห็นถึงพลังของ Design Thinking ที่เน้นการเข้าใจปัญหาที่แท้จริงของผู้ใช้งานและสร้างวิธีแก้ปัญหาใหม่ๆ โดยไม่ได้เป็นอะไรที่ซับซ้อน เป็นเพียงการปรับปรุงคุณภาพของรูปภาพ แต่เพราะเป็นการแก้ไข ‘อย่างถูกจุด’ ผ่านการทำความเข้าใจลูกค้าอย่างแท้จริง จึงสามารถฟื้นธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพนั่นเอง

H&M

H&M เป็นตัวอย่างที่ดีของการใช้ Design Thinking เพื่อตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของตลาดและความต้องการของผู้บริโภค โดยเฉพาะในยุค New Normal ที่การซื้อขายออนไลน์เติบโตอย่างรวดเร็ว บริษัทได้ปรับตัวโดยเพิ่มสินค้าในช่องทางออนไลน์ โดยมีสินค้ามากกว่าครึ่งที่จำหน่ายเฉพาะบนเว็บไซต์

การเติบโตของยอดขายออนไลน์นำมาสู่ความท้าทายด้านการใช้บรรจุภัณฑ์ที่เพิ่มขึ้น H&M จึงใช้กระบวนการ Design Thinking เพื่อแก้ปัญหานี้ โดยคำนึงถึงความยั่งยืนและความต้องการของลูกค้าที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม ผลลัพธ์คือการพัฒนา ‘บรรจุภัณฑ์ไร้พลาสติก’ (Plastic-free Packaging)

นวัตกรรมนี้ช่วยลดการสร้างขยะที่ย่อยสลายยากทั่วโลก สร้างความพึงพอใจให้ลูกค้ารักษ์โลก ลดต้นทุนบรรจุภัณฑ์ และเพิ่มกำไรธุรกิจ โดยใช้ Design Thinking แก้ปัญหาที่ตอบโจทย์ทั้งผู้บริโภคและธุรกิจ คำนึงถึงพฤติกรรมมนุษย์และสิ่งแวดล้อม พร้อมสร้างภาพลักษณ์ที่ดีและสนับสนุนการพัฒนาอย่างยั่งยืน 

สรุป

Design Thinking คือกระบวนการคิดที่เข้าใจสาเหตุของปัญหาเพื่อแก้ไขได้ตรงจุด และพัฒนาแนวคิดใหม่ ๆ ช่วยพัฒนาทักษะการแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ มองปัญหาในหลายมิติ ค้นพบทางเลือกหลากหลายและมีประสิทธิภาพ การระดมความคิดช่วยเลือกวิธีที่ดีที่สุดในแต่ละสถานการณ์ มีประโยชน์ทั้งในระดับบุคคลและองค์กร 

นอกจากนี้ ยังเป็นการฝึกความคิดสร้างสรรค์และส่งเสริมการทำงานเป็นทีม ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญในการสร้างนวัตกรรมและกระบวนการใหม่ๆ ช่วยพัฒนาบุคลากรและองค์กรให้สามารถแข่งขันและปรับตัวในโลกธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

มาหางานออนไลน์ และองค์กรที่ส่งเสริม Design Thinking ได้ที่ Jobsdb เว็บไซต์ที่มีฟีเจอร์หางานได้ตามทำเลที่ต้องการ ตำแหน่งที่อยากทำ และเงินเดือนที่ถูกใจ ช่วยให้การหางานสะดวกและรวดเร็วมากขึ้น

More from this category: การพัฒนาด้านอาชีพ

เรียกดูคำค้นหาที่ได้รับความนิยม

ทราบหรือไม่ว่าผู้สมัครค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับอะไรใน Jobsdb? สำรวจคำค้นหาที่ได้รับความนิยมเพื่ออัพเดทเทรนด์ใหม่เสมอ

สมัครรับคำแนะนำด้านอาชีพ

รับคำปรึกษาด้านอาชีพจากผู้เชี่ยวชาญส่งตรงถึงอินบ็อกซ์ของคุณ
ท่านได้ยอมรับคำประกาศเกี่ยวกับการเก็บรวบรวมข้อมูลส่วนบุคคล และนโยบายความเป็นส่วนตัวเพื่อให้ข้อมูลส่วนบุคคลของท่าน หากท่านมีอายุต่ำกว่า 20 ปี ท่านได้รับความยินยอมจากผู้ปกครอง เพื่อยินยอมให้ Jobsdb และบริษัทในเครือประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคลของท่าน ท่านสามารถยกเลิกได้ทุกเวลา