Digital Footprint กับการคัดเลือกพนักงานเข้าทำงาน

Digital Footprint กับการคัดเลือกพนักงานเข้าทำงาน
Jobsdb ทีมเนื้อหาอัปเดตเมื่อ 07 July, 2023
Share

ในยุคที่เทคโนโลยีและสื่อดิจิทัลเข้ามามีบทบาทในการทำงานมากยิ่งขึ้น Digital Footprint จึงกลายมาเป็นอีกหนึ่งปัจจัยในการเลือกพิจารณาพนักงานเข้าทำงาน เพราะสิ่งเหล่านี้สามารถบ่งบอกข้อมูลอื่น ๆ ของผู้สมัครได้ว่ามีความเหมาะสมและมีคุณสมบัติตรงตามที่องค์กรต้องการหรือไม่

Digital Footprint

ก่อนจะไปทำความเข้าใจความสำคัญที่มีต่อการทำงาน เราควรรู้จักก่อนว่าแท้จริงแล้วคืออะไร มีทั้งหมดกี่ประเภท และทำอย่างไรเราจึงจะปั้นให้ Footprint เหล่านี้ส่งผลดีต่อการทำงานของเรา

Digital Footprint คืออะไร

แปลแบบตรงตัวคือ รอยเท้าหรือร่องรอยที่อยู่ในโลกดิจิทัล หมายถึง ข้อมูลและการกระทำต่าง ๆ ของเราที่ปรากฎอยู่บนโลกออนไลน์ เช่น ข้อความที่โพสต์ รูปภาพที่แชร์ เว็บไซต์ที่เข้าใช้บ่อย เพจที่กดไลก์ โพสต์ที่กดเซฟ กระทู้ที่กดเข้าไปอ่าน เกมที่ชอบเล่น ฯลฯ ไม่ว่าจะด้วยความตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ ไม่ว่าจะใช้งานบนแพลทฟอร์มไหน บนเครื่องมืออะไร ข้อมูลเหล่านี้จะได้รับการบันทึก และสามารถสืบค้นได้ภายหลังไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานเท่าไหร่ก็ตาม ซึ่ง HR หัวหน้า และผู้ประกอบการสามารถใช้ข้อมูลเหล่านี้ไปประกอบการประเมินเพื่อคัดเลือกบุคลากรเข้าสู่องค์กรได้

ร่องรอยที่อยู่ในโลกดิจิทัล มีกี่ประเภท

แบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ ดังนี้

  1. Active Digital Footprint คือ ข้อมูลหรือประวัติที่เราตั้งใจเปิดเผย หรือเป็นข้อมูลที่เราตั้งใจพิมพ์ลงไปบนโลกอินเทอร์เน็ต เช่น ข้อความต่าง ๆ บนโซเชียลมีเดีย การอัพโหลดรูปภาพ การเขียน blog การส่งอีเมล การแชทกับเพื่อน การ search หาข้อมูล ธุรกรรมออนไลน์ต่าง ๆ เป็นต้น
  2. Passive Digital Footprint คือ ข้อมูลหรือประวัติที่เราไม่ได้ตั้งใจจะเปิดเผย เป็นข้อมูลที่ไม่มีเจตนาจะบันทึก หรือเกิดจากความไม่ตั้งใจต่าง ๆ แต่ข้อมูลส่วนนี้ได้รับการบันทึกและจัดเก็บแบบออนไลน์ไว้ เช่น IP address ประวัติการเข้าชมเว็บไซต์ ประวัติการใช้งาน สถิติการใช้เว็บ การเปิดระบบ GPS เป็นต้น

ทั้งนี้ ร่องรอยที่อยู่ในโลกดิจิทัลของเราจะมากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับพฤติกรรมการใช้งานบนโลกอินเทอร์เน็ตนั่นเอง หากมีการเล่นโซเชียลบ่อย ใช้งานเว็บไซต์หลากหลาย มีการค้นหา Google รวมไปถึงเช็คอินตามสถานที่ต่าง ๆ ร่องรอยที่อยู่ในโลกดิจิทัลของเราก็จะยิ่งเยอะตามไปด้วยนั่นเอง

การรับสมัครพนักงาน ต้องตรวจสอบร่องรอยที่อยู่ในโลกดิจิทัลหรือไม่

อย่างที่กล่าวไปว่า ร่องรอยที่อยู่ในโลกดิจิทัล คือรอยเท้าที่ปรากฎบนโลกอินเทอร์เน็ต ดังนั้น การคัดเลือกคนเข้าทำงาน HR และเจ้าของกิจการจึงควรตรวจสอบร่องรอยเหล่านี้เสียก่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ร่องรอยที่อยู่ในสื่อโซเชียล เพราะข้อมูลที่ได้เหล่านี้จะเป็นส่วนช่วยในการพิจารณาว่าผู้สมัครงานเหมาะสมกับตำแหน่ง และเข้ากับองค์กรได้มากน้อยเพียงใด

จากข้อมูลของ สมาคมการจัดการงานบุคคลแห่งประเทศไทย ในบทความ รอยเท้าดิจิทัล : ฝ่ายบุคคลเตือน ตัวตนและความคิดเห็นในโลกออนไลน์มีผลต่อการสมัครงาน กล่าวว่า กว่า 41.19% ขององค์กรที่สำรวจ เริ่มมีการใช้ข้อมูลจากสื่อโซเชียลมีเดียในการประกอบการพิจารณารับบุคคลเข้าทำงานมากขึ้น โดยเน้นตรวจสอบไปที่สื่อโซเชียลหลักอย่าง Facebook Instagram และ Twitter เนื่องจากสื่อเหล่านี้สามารถเก็บข้อมูลบุคคลได้ทั้งหมด อาทิ ผู้สมัครมีทัศนคติและความคิดเห็นต่อเรื่องราวหรือข่าวสารต่าง ๆ อย่างไร มีความเป็นมืออาชีพหรือไม่ มีทักษะการสื่อสารดีระดับไหน มีประวัติเชื่อมโยงกับคดีอาชญากรรมหรือไม่ มีบุคลิกอย่างไร มีการเหยียดเพศ เชื้อชาติ ศาสนา โพสต์ภาพดื่มสุรา หรือมีพฤติกรรมรุนแรงใด ๆ หรือไม่ มีการนินทาบริษัทหรือเปิดเผยความลับบริษัทเดิมไหม เป็นต้น ทำให้ฝ่ายบุคคลวิเคราะห์ผู้สมัครงานง่ายขึ้น และได้ผลมากกว่าการนั่งสัมภาษณ์และการทดสอบความสามารถแบบเดิม ๆ

การตรวจสอบร่องรอยที่อยู่ในโลกดิจิทัล เป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลหรือไม่

การตรวจสอบร่องรอยในโลกออนไลน์ ไม่ได้เป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล นายกสมาคมการจัดการงานบุคคลฯ อธิบายไว้ในบทความ รอยเท้าดิจิทัล : ฝ่ายบุคคลเตือน ตัวตนและความคิดเห็นในโลกออนไลน์มีผลต่อการสมัครงาน ว่า เหตุที่ไม่ได้เป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล เพราะเป็นการดูข้อมูลเฉพาะที่มีการตั้งค่าเป็นสาธารณะเท่านั้น ส่วนข้อมูลที่มีการตั้งค่าความเป็นส่วนตัวไว้ บุคคลอื่นนอกเหนือจากที่กำหนดไม่สามารถเข้าไปดูได้ เนื่องจากจะเป็นการละเมิดกฎหมายว่าด้วยสิทธิส่วนบุคคลนั่นเอง

เทคนิคการปั้น Digital Footprint

ร่องรอยที่เราทิ้งไว้บนโลกออนไลน์เหล่านี้ เราก็สามารถปั้นให้เป็นร่องรอยที่เราต้องการได้ด้วยเทคนิคเหล่านี้

  1. รู้จักตนเอง

ก่อนจะปั้นร่องรอยของเราให้เป็นไปดั่งใจ เราต้องรู้ก่อนว่าเราได้ทิ้งร่องรอยอะไรไว้ในโลกอินเทอร์เน็ตบ้าง ซึ่งเราสามารถสืบค้นได้ด้วยตัวเองจาก Active Digital Footprint ที่เราอัพข้อมูลไป ไม่ว่าจะเป็นรูปโปรไฟล์ทั้งหมดในทุกสื่อโซเชียลของเรา ความคิดเห็นต่าง ๆ ที่เคยโพสต์ไว้ ข่าวที่เคยแชร์ กลุ่มเปิดที่เคยสมัครไว้ วิดีโอต่าง ๆ ที่เคยอัพ เป็นต้น ทั้งหมดนี้เพื่อให้เราเข้าใจตัวเองเบื้องต้นก่อนว่าเคยคิด เคยพูด และเคยแสดงพฤติกรรมใดไว้บ้าง และส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับอะไร

  1. ลองค้นชื่อของตัวเองใน Search Engine ต่าง ๆ

การใส่ชื่อตัวเอง รวมไปถึง เบอร์โทรศัพท์ อีเมล และนามแฝงที่สามารถระบุมาถึงตัวเราได้ใน Search Engine ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น Google หรือ Facebook เองก็เป็นอีกสิ่งที่จำเป็น เพราะเราสามารถเข้าถึงทุกข้อมูลที่เกี่ยวกับเราได้ง่ายและไวที่สุด (บางครั้งเราอาจเจอข้อมูลที่เราเองก็ลืมไปแล้วด้วยซ้ำ) เมื่อค้นเจอข้อมูลของเราแล้ว หากเป็นข้อมูลที่เราไม่ต้องการ ไม่เหมาะสม และคิดว่าอาจส่งผลเสียในอนาคตให้ทำการลบออกทันที หรือหากไม่อยากลบควรตั้งค่าความเป็นส่วนตัวไว้ เพราะหากเราหาเจอได้ง่าย ๆ จากการค้นใน Search Engine ฝ่าย HR ก็สามารถค้นเจอข้อมูลนี้ได้เช่นกัน

  1. ตั้งค่าความเป็นส่วนตัวเสมอ

ไม่ว่าจะเป็นเว็บไซต์ต่าง ๆ สื่อโซเชียล รวมไปถึงแอปพลิเคชั่นบนสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ต เราควรตั้งค่าไว้เลยว่าจะแชร์ข้อมูลส่วนนี้ให้ใครเข้าถึงได้บ้าง โดยข้อมูลที่มีความเป็นส่วนตัวมากควรตั้งให้เฉพาะคนใกล้ชิดเท่านั้นที่จะทราบ ในกรณีที่เป็นแอปพลิเคชั่น ให้เลือก “Ask App Not to Track” ทุกครั้งจะเป็นการดี เพื่อป้องกันไม่ให้แอปเข้าถึงข้อมูลของเรามากเกินไป การตั้งค่าความเป็นส่วนตัวนี้นอกจากจะส่งผลดีต่อการสมัครงานแล้ว ยังส่งผลดีต่อความปลอดภัยในชีวิตของเราในด้านอื่น ๆ อีกด้วย

  1. ปิดบัญชีต่าง ๆ ที่ไม่ใช้แล้ว

การปิดบัญชีหรือ account ที่เราไม่ใช้แล้วตามเว็บไซต์ต่าง ๆ รวมไปถึงอีเมลที่เราเลิกใช้ เป็นอีกวิธีหนึ่งที่นอกจากจะช่วยลบข้อมูลที่ไม่จำเป็นออกไปได้แล้ว ยังป้องกันไม่ให้เกิดกรณีบัญชีถูกแฮกแล้วนำไปใช้ในทางที่ไม่ดีหรือผิดกฎหมายได้อีกด้วย

  1. เตือนตัวเองเสมอว่าควรอัปอะไรบ้าง

อย่าลืมว่าทุกสิ่งที่อัปสู่โลกออนไลน์จะมีการบันทึกไว้เสมอ ดังนั้น ก่อนการกดอัปข้อมูลหรือเรื่องราวใด ๆ ต้องคิดให้ดีว่าควรอัปหรือไม่ ไม่ควรใช้สื่อโซเชียลมีเดียเป็นที่ระบายอารมณ์ เพราะข้อความเหล่านั้นอาจย้อนกลับมาทำร้ายตัวเราเองในภายหลังได้ หรือหากต้องการพื้นที่ระบายจริง ๆ จะตั้งค่าความเป็นส่วนตัวไว้อ่านคนเดียว เมื่ออารมณ์เย็นลงค่อยกลับมาลบออกภายหลังก็สามารถทำได้

  1. สร้างตัวตนที่ดูน่าเชื่อถือ

เมื่อเราสะสางข้อมูลที่ไม่ต้องการออกไปหมดแล้ว ขั้นตอนต่อไปคือการสร้างตัวตนที่น่าเชื่อถือ หรือเหมาะสมกับตำแหน่งงานที่อยากสมัคร ข้อพึงระวังคือในขั้นตอนนี้ไม่ใช่การพยายามเป็นสิ่งที่ไม่ใช่ตัวเราหรือทำสิ่งที่ไม่ชอบ แต่เป็นการแสดงตัวตนที่ดูเป็นมืออาชีพ มีทักษะ มีความรู้ มีความสนใจ และเหมาะสมกับตำแหน่งงานที่เราต้องการ เพื่อให้ฝ่าย HR เห็นว่าเราเป็นหนึ่งในผู้สมัครที่เหมาะสมนั่นเอง เช่น แชร์บทความความรู้ต่าง ๆ แชร์ข่าวที่เราสนใจ อัพภาพหนังสือที่ชอบอ่าน เป็นต้น

  1. สร้างแพลทฟอร์มอื่นที่ดูเป็นมืออาชีพ

หากเราไม่ต้องการให้ Facebook หรือสื่อโซเชียลของเราดูจริงจังมากเกินไป และต้องคอยระวังทุกอย่างที่ต้องโพสต์ เราสามารถสร้างแพลทฟอร์มที่ดูเป็นมืออาชีพเพื่อให้ฝ่าย HR เข้าไปพิจารณาข้อมูลและคุณสมบัติการทำงานของเราได้ เช่น LinkedIn หรือเว็บหางานอื่น ๆ เมื่อเราสร้างแพลทฟอร์มแยกกัน HR ที่เข้ามาเก็บข้อมูล Digital Footprint ก็จะพิจารณาคุณสมบัติและตัวตนของเราได้ง่ายและชัดเจนขึ้น

  1. เปลี่ยนจากชื่อเล่นเป็นชื่อจริง

สำหรับข้อมูลที่เราต้องการนำเสนอเพื่อเสริมภาพลักษณ์ของเราให้ดูดีและน่าเชื่อถือขึ้น ควรใช้ชื่อ-นามสกุลจริง ไม่ว่าจะเป็นภาษาไทยหรือภาษาอังกฤษในการตั้งโปรไฟล์ เพื่อเวลาที่มีคนมาค้นหาจากชื่อ-นามสกุลของเรา ข้อมูลเหล่านั้นจะได้ปรากฎขึ้นมาทันที

  1. ไม่ใส่ข้อมูลส่วนตัวเยอะเกินความจำเป็น

ไม่ว่าจะเป็นบนเว็บไซต์ สื่อโซเชียลมีเดีย หรือแอปพลิเคชันใด ๆ การใส่ข้อมูลส่วนตัวเยอะเกินไปจะทำให้แพลตฟอร์มนั้น ๆ มีข้อมูลของเราเยอะเกินความจำเป็น ดังนั้น แนะนำให้ใส่เฉพาะข้อมูลจำเป็น หรือในช่องที่กำหนดไว้ว่าควรใส่ก็เพียงพอ

จะเห็นได้ว่า ร่องรอยเหล่านี้ส่งผลต่อการรับสมัครงานไม่มากก็น้อย หากเราใช้ความระมัดระวังในการใช้สื่อออนไลน์ จัดการร่องรอยทางดิจิทัลของเราอย่างชาญฉลาด ให้เป็นไปในทางบวก ใช้เป็นพื้นที่ในการแสดงศักยภาพ สร้างความเป็นมืออาชีพ และสร้างความประทับใจ โอกาสได้งานที่เราต้องการก็จะยิ่งสูงตามไปด้วย

ดาวน์โหลดได้แล้ววันนี้ทั้ง iOS และ Android

JobsDB Mobile App

เลือกงานที่ใช่ ใช้ชีวิตที่ชอบ ด้วยการค้นหางานที่ง่ายและรวดเร็ว พร้อมทั้งจัดการเรซูเม่อย่างมีประสิทธิภาพ ให้คุณอัปโหลด ดู และลบได้ทุกเมื่อที่ต้องการ เพลิดเพลินไปกับประสบการณ์การใช้งานแสนง่าย ด้วยระบบ AI ใหม่ ช่วยค้นหางานที่ตรงใจมากขึ้นถึง 6 เท่า​

https://th.jobsdb.com/th-th/articles/ab-testing/

https://th.jobsdb.com/th-th/articles/digital-skills/

https://th.jobsdb.com/th-th/articles/digital-disruption-%e0%b8%84%e0%b8%b7%e0%b8%ad/

https://th.jobsdb.com/th-th/articles/digital-detox/

More from this category: สมัครงาน

เรียกดูคำค้นหาที่ได้รับความนิยม

ทราบหรือไม่ว่าผู้สมัครค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับอะไรใน Jobsdb? สำรวจคำค้นหาที่ได้รับความนิยมเพื่ออัพเดทเทรนด์ใหม่เสมอ

สำรวจหัวข้อที่เกี่ยวข้อง

เลือกสิ่งที่สนใจเพื่อเรียกดูอาชีพที่เกี่ยวข้อง

สมัครรับคำแนะนำด้านอาชีพ

รับคำปรึกษาด้านอาชีพจากผู้เชี่ยวชาญส่งตรงถึงอินบ็อกซ์ของคุณ
ท่านได้ยอมรับคำประกาศเกี่ยวกับการเก็บรวบรวมข้อมูลส่วนบุคคล และนโยบายความเป็นส่วนตัวเพื่อให้ข้อมูลส่วนบุคคลของท่าน หากท่านมีอายุต่ำกว่า 20 ปี ท่านได้รับความยินยอมจากผู้ปกครอง เพื่อยินยอมให้ Jobsdb และบริษัทในเครือประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคลของท่าน ท่านสามารถยกเลิกได้ทุกเวลา