สอนวิธี ยื่นภาษีออนไลน์ ทุกขั้นตอน ฉบับเข้าใจง่าย อัปเดตปี 2567

สอนวิธี ยื่นภาษีออนไลน์ ทุกขั้นตอน ฉบับเข้าใจง่าย อัปเดตปี 2567
Jobsdb ทีมเนื้อหาอัปเดตเมื่อ 07 July, 2023
Share

Key Takeaway

  • ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา คือภาษีที่เก็บจากบุคคลธรรมดาหรือหน่วยภาษีลักษณะพิเศษ ที่มีรายได้ตามกฎหมาย โดยต้องแสดงรายได้ทั้งหมดภายในปีนั้น เพื่อพิจารณาว่าถึงเกณฑ์ที่ต้องจ่ายภาษีหรือไม่ 
  • ภ.ง.ด. 90 คือภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เฉพาะคนที่มีรายได้จากการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์หรือจากกิจการของตัวเอง และ ภ.ง.ด. 91 คือภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เฉพาะผู้ที่มีรายได้จากการจ้างงาน
  • คนที่ต้องยื่นภาษี คือผู้ที่มีเงินเดือนตั้งแต่ 120,000 บาทต่อปีขึ้นไป และรวมรายได้อื่นตั้งแต่ 60,000 บาทต่อปีขึ้นไป ส่วนคนที่สมรสแล้วต้องมีเงินเดือนตั้งแต่ 220,000 บาทต่อปีขึ้นไป และรวมรายได้อื่นอีก ตั้งแต่ 120,000 บาทต่อปีขึ้นไป
  • โดยจะมีกำหนดการจ่ายภาษีปีละครั้ง เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 เดือนมกราคม จนถึงวันที่ 31 เดือนมีนาคมของปีถัดไป

เรามักเห็นข่าวกรณีที่คนโดนภาษีย้อนหลังกันเป็นหลักล้าน เพราะหลายคนคิดว่าภาษีเป็นเรื่องไกลตัวและไม่จำเป็นต้องยื่น แต่จริงๆ แล้ว ผู้ที่มีรายได้ทุกคนจำเป็นต้องยื่นภาษีทุกปี ซึ่งเงื่อนไขการจ่ายภาษีนั้นขึ้นอยู่กับรายได้ของแต่ละคน แม้จะมีรายได้ไม่ถึงเงื่อนไขแต่ก็ควรยื่นภาษีไว้ก่อนจะเป็นการดีที่สุดเพื่อป้องกันปัญหาในอนาคต

ปี 2567 กำลังจะผ่านไป ถึงเวลายื่นภาษีกันแล้ว! ผู้มีรายได้ทุกคน มาเตรียมตัวก่อนยื่นภาษีออนไลน์ ศึกษาเงื่อนไขให้ดีก่อนยื่น จัดเตรียมเอกสารให้ครบ แล้วศึกษาวิธียื่นภาษีแบบง่ายๆ ได้ผ่านบทความนี้กันเลย

รู้จัก ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา คืออะไร

ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา คืออะไร

ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา คือภาษีที่เก็บจากบุคคลธรรมดาทั่วไปหรือจากหน่วยภาษีที่มีลักษณะพิเศษซึ่งมีรายได้ตามที่กฎหมายกำหนด ผู้เสียภาษีจะต้องแสดงรายได้ภายในปีนั้น จากนั้นจะมีการพิจารณาว่าถึงเกณฑ์ที่ต้องจ่ายภาษีหรือไม่ โดยจะมีกำหนดการจ่ายภาษีปีละครั้ง เริ่มตั้งแต่ต้นเดือนมกราคมจนถึงเดือนมีนาคมของปีถัดไปเลย

ภ.ง.ด. 90 และ ภ.ง.ด. 91 ต่างกันอย่างไร

ต่อไปมาทำความรู้จัก ภ.ง.ด. 90 และ ภ.ง.ด. 91 เพิ่มเติมว่าคืออะไร เพื่อที่ตอนยื่นภาษี จะได้เข้าใจอย่างถูกต้องและไม่สับสน

ภ.ง.ด. 90

ภ.ง.ด. 90 คือภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เฉพาะผู้ที่มีรายได้ในกรณีทั่วไป เช่น รายได้ที่มาจากการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์หรือจากกิจการของตัวเอง โดยผู้ที่ต้องยื่นภาษีแบบ ภ.ง.ด. 90 คือผู้ที่มีรายได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (1) ถึง (8) แห่งประมวลรัษฎากรแบบหลายประเภท หรือประเภทเดียว ดังนี้

  • คนโสดที่มีรายได้พึงประเมินเกิน 60,000 บาท
  • คู่สมรสทั้งสองฝ่ายหรือแค่ฝ่ายเดียว ที่มีรายได้พึงประเมินเกิน 120,000 บาท
  • กองมรดกที่ยังไม่ได้แบ่ง ที่มีรายได้พึงประเมินเกิน 60,000 บาท
  • ห้างหุ้นส่วนสามัญที่ไม่ใช่นิติบุคคล ที่มีรายได้พึงประเมินเกิน 60,000 บาท
  • คณะบุคคลที่ไม่ใช่นิติบุคคล ที่มีรายได้พึงประเมินเกิน 60,000 บาท

วิสาหกิจชุมชน เฉพาะที่เป็นห้างหุ้นส่วนสามัญ หรือคณะบุคคลที่ไม่ใช่นิติบุคคล ที่มีรายได้พึงประเมินเกิน 60,000 บาท แต่ไม่เกิน 1,800,000 บาท จะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้ตามเงื่อนไขที่ประกาศ

ภ.ง.ด. 91

ภ.ง.ด. 91 คือภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เฉพาะผู้ที่มีรายได้จากการจ้างงาน โดยผู้ที่ต้องยื่นภาษีแบบ ภ.ง.ด. 91 คือผู้ที่มีรายได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (1) แห่งประมวลรัษฎากรประเภทเดียว ที่ได้รับจากการจ้างงาน ดังนี้

  • คนโสดที่มีรายได้พึงประเมินเกิน 120,000 บาท
  • คู่สมรสทั้งสองฝ่าย หรือแค่ฝ่ายเดียว ที่มีรายได้พึงประเมินรวมกันเกิน 220,000 บาท

คนกลุ่มไหนที่ควรต้องยื่นภาษีบ้าง?

หากจะถามว่าใครจะต้องยื่นภาษีบ้าง? ตอบได้เลยว่า ‘ทุกคนที่มีรายได้’ ต้องยื่นภาษี แต่ก็มีรายละเอียดหรือเงื่อนไขการจ่ายภาษีเพิ่มเติมอีก ดังนี้

  • คนโสด: ผู้ที่มีเงินเดือนตั้งแต่ 10,000 บาทต่อเดือน หรือ 120,000 บาทต่อปี และรวมรายได้อื่นที่ไม่ใช่เงินเดือนอีก ตั้งแต่ 5,000 บาทต่อเดือน หรือ 60,000 บาทต่อปี
  • คนที่สมรสแล้ว: ผู้ที่มีเงินเดือนตั้งแต่ 18,333 บาทต่อเดือน หรือ 220,000 บาทต่อปี และรวมรายได้อื่นที่ไม่ใช่เงินเดือนอีก ตั้งแต่ 10,000 บาทต่อเดือน หรือ 120,000 บาทต่อปี

ยื่นภาษีออนไลน์ได้ถึงวันไหน?

ปกติแล้วจะสามารถยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาปีละ 1 ครั้ง และยื่นได้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม จนถึง 31 มีนาคมของปีถัดไป เช่น การยื่นภาษีในปี 2568 จะต้องแสดงรายได้ทั้งหมดในปี 2567 แล้วต้องยื่นภาษีภายในวันที่ 1 มกราคม - 31 มีนาคม 2568 เป็นต้น 

เอกสารที่ต้องเตรียมก่อนยื่นภาษีออนไลน์

การเตรียมตัวที่ดีจะทำให้ขั้นตอนการยื่นภาษีราบรื่นมากขึ้น เพราะฉะนั้นจึงจำเป็นต้องเตรียมเอกสารให้พร้อม ให้ครบก่อนยื่น จะได้ไม่ต้องมาเหนื่อยทีหลัง จะมีเอกสารอะไรที่ต้องเตรียมบ้าง ไปดูกัน

  • หนังรับรองภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย (ใบ 50 ทวิ): เป็นเอกสารที่แสดงรายได้รวมทั้งปีหลังจากที่หักค่าชำระกองทุน หรือเงินทุนสำรองต่างๆ แล้ว
  • รายการลดหย่อนภาษีทั้งหมดในปีนั้น: ตั้งแต่ค่าเลี้ยงดูบุตร ค่าเลี้ยงดูบิดา มารดา เป็นต้น
  • เอกสารประกอบการลดหย่อนภาษี: เพื่อใช้ประกอบในการกรอกฟอร์มยื่นภาษี เช่น เงินที่ซื้อกองทุนต่างๆ ประกันสุขภาพ เบี้ยประกันชีวิต หรือค่าใช้จ่ายในการซื้อสินค้า และบริการ เป็นต้น

ขั้นตอนการยื่นภาษีออนไลน์ ฉบับเข้าใจง่าย

มาถึงตรงนี้ หลายคนอาจกังวลว่าจะยื่นภาษีอย่างไรและจะยุ่งยากหรือไม่ แต่ไม่ต้องกังวลเลย เพราะบทความนี้ได้รวบรวมขั้นตอนการยื่นภาษี ฉบับเข้าใจง่าย ใครๆ ก็ทำตามได้ มาให้แล้ว! 

ขั้นตอนการยื่นภาษีออนไลน์ ฉบับเข้าใจง่าย

1. เข้าสู่เว็บไซต์กรมสรรพากร

เริ่มต้นโดยการเข้าสู่เว็บไซต์ของกรมสรรพากร https://efiling.rd.go.th/rd-cms/ แล้วกดเลือก ‘ยื่นแบบออนไลน์’ หากใครยังไม่ได้เป็นสมัครเป็นสมาชิกให้กด ‘สมัครสมาชิก’ แล้วกรอกข้อมูลต่างๆ ตั้งแต่ เลขบัตรประชาชน (ผู้เสียภาษี) และเลขหลังบัตร วันเดือนปีเกิด ที่อยู่ อีเมล พร้อมทั้งสร้างรหัสผ่านเพื่อเข้าสู่ระบบของ E-Filling สำหรับยื่นภาษีออนไลน์

เข้าสู่ระบบ E-FILING

2. เข้าสู่ระบบ E-FILING

ต่อมาให้เข้าสู่ระบบ E-Filling ของกรมสรรพากร โดยจะต้องกรอกเลขบัตรประชาชนในช่องผู้ใช้งานและกรอกรหัสผ่านที่ได้สร้างไว้ จากนั้นกด ‘ตกลง’ แล้วยืนยันตัวตนด้วยรหัส OTP จำนวน 6 หลักที่ถูกส่งมาทางโทรศัพท์มือถือ 

เลือกแบบภาษีเงินได้ ภ.ง.ด. 90/91

3. เลือกแบบภาษีเงินได้ ภ.ง.ด. 90/91

อ่านเงื่อนไขให้ละเอียดและกดยืนยันเงื่อนไขการใช้บริการ E-Filling ของกรมสรรพากร จากนั้นกด ‘เข้าสู่ระบบ’ แล้วเลือก ‘ยื่นแบบ’ ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภ.ง.ด. 90/91 

ยื่น ภาษี ออนไลน์ กรอกข้อมูลผู้เสียภาษี

4. กรอกข้อมูลผู้เสียภาษี

ให้ตรวจสอบข้อมูลของผู้เสียภาษี ตั้งแต่เลขบัตรประชาชน (ผู้เสียภาษี) ชื่อ-นามสกุล วันเดือนปีเกิด สถานที่ติดต่อ และเลือกสถานะ แล้วกด ‘ถัดไป’ เพื่อทำรายการต่อไป

ยื่น ภาษี ออนไลน์ - กรอกข้อมูลรายได้

5. กรอกข้อมูลรายได้

ต่อมาให้กรอกข้อมูลรายได้จากเงินเดือนที่มาจากเอกสารหนังสือรับรองภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย แล้วกรอกผู้จ่ายเงิน หรือเลขประจำตัวผู้เสียภาษีของบริษัทที่ทำงาน หากใครเปลี่ยนงานระหว่างปี ก็ขอหนังสือรับรองภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายกับที่ทำงานเก่ามากรอกด้วย

หากใครมีรายได้จากช่องทางอื่นๆ ที่ไม่ใช่รายได้จากเงินเดือน เช่น รายได้จากการรับจ้างทั่วไป ฟรีแลนซ์ วิชาชีพอิสระ การทำธุรกิจ การลงทุน หรือรายได้ที่มาจากมรดกที่ได้รับมา หลังจากกรอกข้อมูลรายได้ทั้งหมดเรียบร้อยแล้ว ให้กด ‘ถัดไป’ 

ยื่น ภาษี ออนไลน์ - กรอกข้อมูลค่าลดหย่อน

6. กรอกข้อมูลค่าลดหย่อน

ต่อมาให้กรอกข้อมูลค่าลดหย่อนต่างๆ เช่น ค่าเลี้ยงดูบุตร ค่าเลี้ยงดูบิดา มารดา  หรือเงินสะสมกองทุนประกันสังคม กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ประกันสุขภาพ ประกันชีวิต หรือเงินที่ซื้อกองทุนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นกองทุน SSF, RMF, Thai ESG หรือจะเป็นเงินบริจาค เป็นต้น เมื่อกรอกข้อมูลเรียบร้อยแล้ว จากนั้นให้กด ‘ถัดไป’

ยื่น ภาษี ออนไลน์ - ตรวจสอบข้อมูล

7. ตรวจสอบข้อมูล

จากนั้นให้ตรวจสอบข้อมูลเงินได้ และค่าลดหย่อนในส่วนต่างๆ ที่ได้กรอกไปว่าข้อมูลถูกต้องหรือไม่ แล้วระบบจะทำการคำนวณภาษีที่ต้องชำระให้แบบอัตโนมัติ หากมีการชำระภาษีไปแล้ว ระบบจะแจ้งยอดการชำระเกิน ซึ่งสามารถขอคืนภาษีที่ได้ชำระเกินไปได้ หรือจะนำเงินภาษีที่ชำระเกินไปอุดหนุนพรรคการเมืองก็ได้เช่นกัน หลังจากตรวจสอบข้อมูลเรียบร้อยแล้ว ให้กด ‘ถัดไป’

ยื่น ภาษี ออนไลน์ - ยืนยันการยื่นแบบ

8. ยืนยันการยื่นแบบ

มาถึงขั้นตอนสุดท้าย คือการกด ‘ยืนยันการยื่นแบบ’ เมื่อกดเรียบร้อยแล้ว ก็เป็นอันสิ้นสุดขั้นตอนการยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาผ่านช่องทางออนไลน์

ผลการยื่นภาษีแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

หลังจากยื่นภาษีเรียบร้อยแล้ว ระบบจะแสดงผลการยื่นภาษีว่าต้องจ่ายเพิ่มเท่าไร มีชำระไว้เกินไหมหรือกรณีที่ไม่ต้องชำระภาษีเพิ่มเติม แล้วจะต้องทำอย่างไรต่อจากนั้น ไปดูกัน 

กรณีไม่มีภาษีต้องชำระเพิ่ม หรือชำระไว้เกิน

หากไม่มีภาษีที่ต้องจ่ายเพิ่มเติม ระบบจะแจ้งผลการยื่นแบบและหมายเลขอ้างอิง รวมทั้งออกเอกสารแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาพร้อมกับใบเสร็จรับเงิน เพื่อใช้เป็นหลักฐานในการยื่นแบบนั่นเอง 

สำหรับกรณีที่ชำระภาษีไว้เกิน กรมสรรพากรจะอนุมัติคืนภาษีให้ทันที โดยสามารถเลือกรับขอเงินคืนได้ทางพร้อมเพย์ หรือบัญชีธนาคารกรุงไทย พร้อมกับติดตามสถานะการคืนเงินได้ที่ https://refundedcheque.rd.go.th/itp_x_tw/index.html 

กรณีมีภาษีต้องชำระเพิ่ม

ส่วนในกรณีที่มีภาษีที่ต้องชำระเพิ่มเติมก็สามารถเลือกช่องทางชำระภาษีได้หลายช่องทาง เช่น E-Payment, QR Code, Internet Credit Card, ATM on Internet และบัตรภาษี หรือช่องทางอื่นๆ เช่น Pay-In Slip ผ่านช่องทาง Counter Service และ Tele-Banking

ทั้งนี้หากมียอดภาษีที่ต้องชำระตั้งแต่ 30,000 บาทขึ้นไป สามารถเลือกผ่อนชำระได้ถึง 3 งวดเท่าๆ กัน โดยจะไม่คิดดอกเบี้ยหรือค่าใช้จ่ายอื่นๆ เพิ่มเติม หากจ่ายในวันที่กำหนด แต่ถ้าไม่จ่ายภายในวันที่กำหนดจะคิดดอกเบี้ย 1.5% ต่อเดือน หรือเศษของเดือนของเงินภาษีงวดที่เหลือ ซึ่งระบบจะคำนวณยอดที่ต้องชำระ พร้อมกำหนดวันที่ต้องชำระให้ทั้ง 3 งวด และจะมี SMS จากกรมสรรพากร เพื่อแจ้งเตือนเมื่อครบกำหนดวันที่ต้องชำระ

สรุป

การยื่นภาษี เป็นหน้าที่ของผู้ที่มีรายได้ทุกคน แม้จะมีรายได้ไม่ถึงเกณฑ์ก็ควรยื่นไว้ก่อน ในปัจจุบัน การยื่นภาษีทำได้ง่ายแค่ไม่กี่คลิก โดยสามารถทำได้ทางช่องทางออนไลน์ในระบบ E-Filling ของกรมสรรพากร หากมีภาษีที่ต้องจ่ายก็สามารถจ่ายได้หลายช่องทาง หรือถ้ามีภาษีที่ชำระไว้เกินก็สามารถขอเงินคืนได้หลายช่องทางด้วยเช่นกัน ดังนั้นก่อนสิ้นปีนี้ อย่าลืมเตรียมเอกสารการยื่นภาษีให้เรียบร้อย แล้วนำไปยื่นในปีหน้าให้เรียบร้อย จะได้ไม่ต้องมาตามชำระภายหลัง ซึ่งอาจจะต้องจ่ายดอกเบี้ยเพิ่มอีก 

ถ้าอยากมีรายได้ มาหางานได้ที่ JobsDB ด้วยฟีเจอร์การค้นหางานได้ตามตำแหน่งที่ตั้งที่ต้องการ อยากจะทำอาชีพอะไร ตำแหน่งอะไร หรือเงินเดือนเท่าไร ที่นี่มีให้เลือกครบครันแน่นอน 

More from this category: แหล่งข้อมูลและเทมเพลต

เรียกดูคำค้นหาที่ได้รับความนิยม

ทราบหรือไม่ว่าผู้สมัครค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับอะไรใน Jobsdb? สำรวจคำค้นหาที่ได้รับความนิยมเพื่ออัพเดทเทรนด์ใหม่เสมอ

สมัครรับคำแนะนำด้านอาชีพ

รับคำปรึกษาด้านอาชีพจากผู้เชี่ยวชาญส่งตรงถึงอินบ็อกซ์ของคุณ
ท่านได้ยอมรับคำประกาศเกี่ยวกับการเก็บรวบรวมข้อมูลส่วนบุคคล และนโยบายความเป็นส่วนตัวเพื่อให้ข้อมูลส่วนบุคคลของท่าน หากท่านมีอายุต่ำกว่า 20 ปี ท่านได้รับความยินยอมจากผู้ปกครอง เพื่อยินยอมให้ Jobsdb และบริษัทในเครือประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคลของท่าน ท่านสามารถยกเลิกได้ทุกเวลา