Key Takeaway
- ESTP มีจิตวิญญาณผู้ประกอบการ เป็นคนช่างคิด กล้าแสดงออก และชอบลงมือทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ อีกทั้งยังมักจะประสบความสำเร็จ ในบทบาทที่ต้องใช้ความคิดอย่างรวดเร็ว และต้องแก้ปัญหา
- ESTP ขึ้นชื่อในเรื่องความสามารถในการปรับตัว ความกระตือรือร้น และความสามารถในการเชื่อมต่อกับผู้อื่น บางครั้ง ESTP อาจประสบปัญหาในการวางแผนระยะยาว และอาจกลายเป็นคนใจร้อน หรือหุนหันพลันแล่น
- ESTP เหมาะกับอาชีพในด้านการตลาด การขาย การจัดการ และไอที มักจะประสบความสำเร็จในบทบาทที่ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์ การแก้ปัญหา และทักษะในการเข้ากับผู้อื่น
เคยสงสัยไหมว่าตัวเองเป็น ESTP หรือเปล่า? บทความนี้จะพาไปทำความรู้จักกับบุคลิกภาพ ESTP อย่างละเอียด เพื่อช่วยให้เข้าใจตัวเอง หรือคนรอบข้างที่มีบุคลิกภาพนี้ได้ดียิ่งขึ้น และที่สำคัญ เราจะมาดูกันว่าจะพัฒนาศักยภาพของ ESTP ให้เต็มที่ได้อย่างไร มาปลดล็อกพลังแห่งผู้ประกอบการภายในตัวคุณกันเลย!
ESTP ผู้ประกอบการตัวจริง
ESTP ย่อมาจาก Extraverted, Sensing, Thinking, Perceiving แต่ละตัวอักษรมีความหมาย ดังนี้
- E (Extraverted) - ชอบเข้าสังคม พลังงานมาจากการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น
- S (Sensing) - รับรู้ข้อมูลผ่านประสาทสัมผัสทั้ง 5 ชอบข้อมูลที่เป็นรูปธรรม
- T (Thinking) - ตัดสินใจโดยใช้เหตุผล และตรรกะเป็นหลัก
- P (Perceiving) - ยืดหยุ่น ชอบความเป็นอิสระ ไม่ชอบกฎระเบียบที่ตายตัว
ซึ่ง ESTP Personality คือหนึ่งในบุคลิกภาพ 16 แบบของทฤษฎี MBTI (Myers-Briggs Type Indicator) ที่พัฒนาขึ้นโดย Katharine Cook Briggs และ Isabel Briggs Myers ซึ่ง MBTI เป็นเครื่องมือที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในการทำความเข้าใจบุคลิกภาพของคน
ทั้งในด้านการพัฒนาตัวเอง การทำงานร่วมกับผู้อื่น และการเลือกอาชีพที่เหมาะสม แม้จะมีข้อถกเถียงในวงการจิตวิทยาเกี่ยวกับความแม่นยำทางวิทยาศาสตร์ แต่ MBTI ก็ยังเป็นเครื่องมือที่มีประโยชน์ในการทำความเข้าใจตัวเอง และผู้อื่นได้ดี
ESTP กับบุคลิกภาพเฉพาะตัว ที่ไม่เหมือนใคร
ก่อนที่จะลงลึกถึงจุดเด่น และจุดด้อยของ ESTP มาทำความเข้าใจกันก่อนว่า ไม่มีบุคลิกภาพไหนที่ดีที่สุด หรือแย่ที่สุด แต่ละแบบมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว มีทั้งข้อดี และข้อเสียในตัวเอง สิ่งสำคัญคือการเข้าใจตัวเอง และรู้จักใช้จุดแข็งให้เป็นประโยชน์ พร้อมกับพัฒนาจุดอ่อนให้ดีขึ้น
จุดแข็งของ ESTP
- มีความกล้าที่จะเสี่ยง: ESTP ไม่กลัวที่จะเผชิญหน้ากับความท้าทายใหม่ๆ และมักจะเป็นคนแรกๆ ที่อาสาลองทำอะไรที่แปลกใหม่ ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่ดีมากสำหรับการเป็นผู้ประกอบการ
- ความยืดหยุ่นสูง: ESTP สามารถปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ต่างๆ ได้อย่างรวดเร็ว ทำให้สามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงได้ดี
- ทักษะการเจรจาต่อรอง: ด้วยความเป็นคนช่างสังเกต และเข้าใจคนอื่นได้ดี ESTP มักจะเป็นนักเจรจาต่อรองที่เก่งมาก
- มีเสน่ห์: ESTP มีเสน่ห์ และสามารถดึงดูดผู้คนได้ง่าย ทำให้สร้างเครือข่าย และความสัมพันธ์ได้ดี
- การแก้ปัญหาเฉพาะหน้า: ESTP มีความสามารถในการคิด และตัดสินใจอย่างรวดเร็วในสถานการณ์ฉุกเฉิน
จุดอ่อนของ ESTP
- ขาดความอดทนในระยะยาว: ESTP อาจรู้สึกเบื่อหน่ายกับงานที่ต้องใช้เวลานาน หรือมีรายละเอียดมากเกินไป
- ชอบเสี่ยงมากเกินไป: บางครั้ง ESTP อาจตัดสินใจเสี่ยงโดยไม่คิดถึงผลกระทบระยะยาว
- ละเลยกฎระเบียบ: ESTP มักไม่ชอบทำตามกฎที่คิดว่าไม่มีเหตุผล ซึ่งอาจนำไปสู่ปัญหาได้
- ขาดการวางแผนระยะยาว: ESTP มักจะโฟกัสกับปัจจุบันมากกว่าอนาคต ทำให้บางครั้งขาดการวางแผนที่ดี
- อาจดูเป็นคนใจร้อน: ด้วยความที่ชอบลงมือทำมากกว่าการคิด บางครั้ง ESTP อาจถูกมองว่าเป็นคนใจร้อน หรือไม่รอบคอบ
สานสัมพันธ์กับคนกลุ่ม ESTP อย่างไรให้ราบรื่น
การทำความเข้าใจ และสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับคน ESTP อาจท้าทายสำหรับบางคน แต่ก็สนุก และน่าตื่นเต้นไม่น้อย
- เปิดใจให้กว้าง: ESTP มักจะมีไอเดียแปลกใหม่ และชอบทำอะไรที่ท้าทาย อย่าเพิ่งปฏิเสธความคิด แต่ลองรับฟัง และพิจารณาดูก่อน
- พูดตรงๆ ไม่ต้องอ้อมค้อม: ESTP ชอบความชัดเจน ตรงไปตรงมา ไม่ชอบการพูดเลี่ยง หรือซ่อนความรู้สึก
- เตรียมพร้อมสำหรับการผจญภัย: ชวน ESTP ไปทำกิจกรรมที่ตื่นเต้น ท้าทาย หรือแปลกใหม่
- ให้อิสระ: ESTP ไม่ชอบถูกควบคุม หรือถูกบังคับ ต้องให้พื้นที่ และความเป็นอิสระ
- ชื่นชมความสามารถ: ESTP มักจะมีทักษะที่หลากหลาย ควรชื่นชมอย่างจริงใจ เมื่อ ESTP ทำอะไรได้ดี
- เรียนรู้ที่จะสนุกไปด้วยกัน: ESTP มักจะมีอารมณ์ขัน และชอบสนุกสนาน อย่าลืมหัวเราะ และสนุกไปกับชาว ESTP ด้วย
ESTP กับ Cognitive Function ที่น่าสนใจ
ESTP มีการใช้งานฟังก์ชันต่างๆ สำหรับการใช้ชีวิตที่น่าสนใจมาก เรามาดูกันว่าแต่ละฟังก์ชันทำงานอย่างไรกันบ้าง ดังนี้
ฟังก์ชันหลัก - Extraverted Sensing
- ทำให้ ESTP มีความสามารถในการสังเกต และรับรู้สิ่งรอบตัวได้อย่างรวดเร็ว แม่นยำ
- ช่วยให้ ESTP ปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ใหม่ๆ ได้ดี
- ทำให้ ESTP ชอบประสบการณ์ที่ตื่นเต้น และท้าทาย
ฟังก์ชันผู้ช่วย - Introverted Thinking
- ช่วยให้ ESTP วิเคราะห์ข้อมูล และตัดสินใจอย่างมีเหตุผล
- ทำให้ ESTP สามารถแก้ปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ
- ช่วยให้ ESTP มองเห็นความเชื่อมโยงระหว่างข้อมูลต่างๆ
- ทำให้ ESTP มีความเป็นตรรกะในการตัดสินใจ
ฟังก์ชันลำดับสาม - Extraverted Feeling
- ช่วยให้ ESTP เข้าใจ และจัดการกับอารมณ์ของผู้อื่นได้ดี
- ทำให้ ESTP มีเสน่ห์ และเข้ากับคนง่าย
- ช่วยให้ ESTP สามารถโน้มน้าว และจูงใจผู้อื่นได้ดี
- ทำให้ ESTP มีความสามารถในการทำงานเป็นทีม
ฟังก์ชันด้อย - Introverted Intuition
- อาจทำให้ ESTP มีปัญหาในการวางแผนระยะยาว
- บางครั้งอาจทำให้ ESTP มองข้ามผลกระทบในอนาคตของการกระทำในปัจจุบัน
- การพัฒนาฟังก์ชันนี้จะช่วยให้ ESTP มีวิสัยทัศน์ที่ดีขึ้น และสามารถวางแผนอนาคตได้ดีขึ้น
บุคลิกภาพของคนกลุ่ม ESTP กับนิสัยการทำงาน
ESTP มีนิสัยการทำงานที่โดดเด่น และน่าสนใจ ซึ่งสามารถเป็นได้ทั้งจุดแข็ง และความท้าทายในที่ทำงาน ดังนี้
- ชอบความท้าทาย: ESTP มักจะรู้สึกตื่นเต้นกับงานที่มีความท้าทาย และไม่จำเจ ชอบแก้ปัญหา และรับมือกับสถานการณ์ที่ไม่คาดคิด
- ยืดหยุ่นและปรับตัวเก่ง: ด้วยความสามารถในการรับรู้ และตอบสนองต่อสิ่งแวดล้อมอย่างรวดเร็ว ESTP สามารถปรับตัวเข้ากับการเปลี่ยนแปลงในที่ทำงานได้ดี
- ชอบลงมือทำมากกว่าวางแผน: ESTP มักจะชอบเริ่มลงมือทำงานทันที มากกว่าใช้เวลาวางแผนนานๆ เรียนรู้ได้ดีจากการลองผิดลองถูก
- มีทักษะการสื่อสารที่ดี: ESTP มักจะเป็นนักสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ สามารถนำเสนอไอเดีย และโน้มน้าวผู้อื่นได้ดี
- ชอบทำงานเป็นทีม: แม้จะชอบอิสระ แต่ ESTP ก็สามารถทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ดี โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่ต้องการการแก้ปัญหาร่วมกัน
คนกลุ่ม ESTP เหมาะกับอาชีพอะไรบ้าง
ด้วยจุดเด่นของ ESTP ที่เป็นคนกล้าเสี่ยง ปรับตัวเก่ง และมีทักษะการสื่อสารที่ดี จึงเหมาะกับหลากหลายอาชีพที่ต้องใช้ทักษะเหล่านี้ มาดูกันว่ามีอาชีพไหนบ้างที่น่าสนใจสำหรับ ESTP
1. นักการตลาด
นักการตลาดเป็นผู้ที่วางแผน และดำเนินการกลยุทธ์ทางการตลาด เพื่อส่งเสริมผลิตภัณฑ์ หรือบริการ ซึ่ง ESTP เหมาะกับอาชีพนี้ เพราะมีความคิดสร้างสรรค์ และสามารถคิดนอกกรอบ เข้าใจจิตวิทยาผู้บริโภคได้ดี อีกทั้งยังสามารถปรับตัวเข้ากับเทรนด์ตลาดที่เปลี่ยนแปลงได้เร็ว
2. ผู้บริหาร
ผู้บริหารมีหน้าที่ในการนำทีม ตัดสินใจ และกำหนดทิศทางขององค์กร ซึ่ง ESTP มีคุณสมบัติที่เหมาะสมกับบทบาทนี้ เพราะมีความเป็นผู้นำโดยธรรมชาติ ซึ่งสามารถตัดสินใจได้รวดเร็ว และแม่นยำ เนื่องจากมีทักษะในการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้ดี รวมถึงสามารถสร้างแรงบันดาลใจ และจูงใจทีมได้
3. ผู้จัดการโครงการ
ผู้จัดการโครงการต้องบริหารจัดการทรัพยากร เวลา และทีมงาน เพื่อให้โครงการสำเร็จลุล่วง ซึ่ง ESTP เหมาะกับงานนี้ เพราะสามารถจัดการกับความไม่แน่นอน และการเปลี่ยนแปลงได้ดี เพราะมีทักษะการสื่อสาร และประสานงานที่ยอดเยี่ยม รวมถึงสามารถแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ
4. พนักงานขาย
พนักงานขายต้องมีทักษะในการโน้มน้าวใจ และสร้างความสัมพันธ์กับลูกค้า ซึ่ง ESTP มีคุณสมบัติที่เหมาะสมกับอาชีพนี้ เพราะพื้นฐานเป็นคนมีเสน่ห์ และสามารถสร้างความประทับใจแรกพบได้ดี เข้าใจความต้องการของลูกค้าได้อย่างรวดเร็ว เนื่องจากมีทักษะการเจรจาต่อรองที่ดี อีกทั้ง ESTP ยังชอบความท้าทาย และการแข่งขัน จึงเหมาะกับอาชีพนี้เป็นอย่างมาก
5. นักพัฒนาเว็บไซต์
แม้จะเป็นงานที่ต้องใช้ทักษะทางเทคนิค แต่การเป็นนักพัฒนาเว็บก็เหมาะกับ ESTP เพราะสามารถแก้ปัญหาได้อย่างสร้างสรรค์ ชอบเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ๆ อีกทั้งยังสามารถทำงานภายใต้ความกดดันได้ดี รวมถึงมีความยืดหยุ่นในการปรับเปลี่ยนโปรเจกต์ตามความต้องการของลูกค้าได้
6. IT Support
งานไอทีเหมาะกับ ESTP เพราะสามารถแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้ดี มีทักษะการสื่อสารที่ดีเยี่ยม ที่จะสามารถอธิบายเรื่องทางเทคนิคให้เข้าใจง่าย อีกทั้ง ESTP ยังชอบความหลากหลายของงาน และรับมือกับปัญหาที่ต้องแก้ไขได้ สามารถทำงานภายใต้ความกดดันได้ดีด้วย
สรุป
ESTP เป็นบุคลิกภาพที่มีลักษณะโดดเด่นอย่างการที่กล้าเสี่ยง ชอบความท้าทาย ปรับตัวเก่ง แก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้ดี มีเสน่ห์ เข้ากับคนง่าย มีความเป็นผู้นำ ซึ่งจุดเด่นเหล่านี้ สามารถนำมาใช้ในการทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะในอาชีพอย่างนักการตลาด ผู้บริหาร พนักงาน
นอกจากงานที่แนะนำในบทความแล้ว ยังสามารถหางานอื่นๆ ที่สนใจได้ใน JobsDB เช่นกัน ที่นี่มีตำแหน่งงานที่หลากหลาย มีการอัปเดตตำแหน่งงานใหม่ๆ อยู่เสมอ สามารถค้นหางานตามหมวดหมู่ที่ตรงกับความสนใจ และทักษะของตัวเองได้ง่าย มีรายละเอียดที่ครบถ้วน ทั้งลักษณะงาน คุณสมบัติที่ต้องการ และผลตอบแทน
อ่านบุคลิกภาพอื่น ๆ เพิ่มเติม