รู้ลึกรู้จริง! เรียนคณะบัญชีจบไปทำงานอะไร สายชอบตัวเลขห้ามพลาด!

รู้ลึกรู้จริง! เรียนคณะบัญชีจบไปทำงานอะไร สายชอบตัวเลขห้ามพลาด!
Jobsdb ทีมเนื้อหาอัปเดตเมื่อ 11 October, 2024
Share

Key Takeaway

  • คณะบัญชี คือคณะที่สอนเกี่ยวกับพื้นฐานความรู้ในการทำบัญชีทั้งหมด และเรียนเจาะลึกแต่ละสาขาเพื่อให้มีความรู้ ความเข้าใจ ที่สามารถนำไปต่อยอดการทำงานได้
  • การเรียนคณะบัญชี เริ่มเรียนจากวิชาที่มหาลัยกำหนด เช่น คณิตศาสตร์ ภาษาอังกฤษ และวิชาพื้นฐานของสาขา หรือคณะ เพื่อปูพื้นฐานสู่ชั้นปีต่อไปที่เรียนวิชาบังคับ เช่น การบัญชี ภาษีอากร การวิเคราะห์การเงิน และกฎหมายธุรกิจ เป็นต้น
  • สาขาในคณะบัญชี มีทั้งหมด 11 สาขา ได้แก่ การบัญชี การเงิน การจัดการทรัพยากรมนุษย์ การตลาด การจัดการ คอมพิวเตอร์ธุรกิจ บริหารธุรกิจ ธุรกิจระหว่างประเทศ โลจิสติกส์ การท่องเที่ยว การโรงแรม และการเป็นเจ้าของธุรกิจ
  • คนที่เรียนจบจากคณะบัญชี สามารถทำงานได้หลากหลายอาชีพที่เกี่ยวกับการเงิน ไม่ว่าจะเป็น นักบัญชี นักบัญชีต้นทุน ผู้ตรวจสอบบัญชี ที่ปรึกษาด้านบัญชี หรือที่ปรึกษาด้านภาษี เป็นต้น

คนชอบการเงินมาทางนี้ เอาใจคนชอบตัวเลข! คณะยอดฮิต คณะบัญชี ที่ปัจจุบันได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ คณะนี้ต้องเรียนอะไร มีสาขาอะไรที่น่าสนใจบ้าง แล้วมีอาชีพแบบไหนที่รองรับคนเรียนคณะนี้ บทความนี้มีคำตอบ!

รู้จัก คณะบัญชี คืออะไร

รู้จัก คณะบัญชี คืออะไร

คณะบัญชี คือคณะที่เน้นการเรียนการสอนทั้งภาคทฤษฎี และปฏิบัติ เกี่ยวกับด้านบัญชีทั้งหมด และมาตรฐานการบัญชี ไม่ว่าจะเป็น การทำบัญชีการเงินในธุรกิจ หรือบริการ กิจการอุตสาหกรรม การทำบัญชีอสังหาริมทรัพย์ หรือรับเหมาก่อสร้าง การทำระบบบัญชี และหน่วยงานภาครัฐ การจัดทำงบประมาณ การวางระบบบัญชี วิเคราะห์งบการเงิน รายงานการเงิน รูปแบบการทำภาษี จนถึงวิธีตรวจสอบบัญชีทั้งหมด เพื่อให้ผู้เรียนมีความรู้ ความเชี่ยวชาญด้านการเงิน และการบัญชีรอบด้าน

เนื่องจากในแต่ละมหาวิทยาลัย ก็มีหลักสูตรการเรียนการสอนแตกต่างกันออกไป จึงทำให้ค่าเทอมในการเรียนหลักสูตรบัญชีจะอยู่ที่ประมาณ 15,000-30,000 บาทต่อเทอม ทั้งนี้ ก็ขึ้นอยู่กับแต่ละมหาวิทยาลัยด้วย

4 ปีในคณะบัญชี ต้องเรียนอะไรบ้าง

4 ปีในคณะบัญชี ต้องเรียนอะไรบ้าง

การเรียนคณะบัญชี จะเรียนทั้งหมด 4 ปี เหมือนคณะอื่นๆ ทั่วไป โดยเริ่มแรกจะเป็นการเรียนเพื่อทำความเข้าใจเนื้อหาพื้นฐานเกี่ยวกับตัวเลข การทำบัญชี ภาษี การวิเคราะห์ และธุรกิจ จากนั้นจึงเรียนเนื้อหาเจาะลึกในสาขาวิชาที่เลือกมากขึ้น ดังนี้

คณะบัญชีปี 1 เริ่มเรียนจากวิชาพื้นฐานทั่วไปที่มหาลัยกำหนด เช่น คณิตศาสตร์ ภาษาอังกฤษ และวิชาพื้นฐานของคณะ หรือสาขาบัญชี เช่น พื้นฐานด้านบัญชี การบัญชีขั้นต้น การบัญชีขั้นกลาง การเงินธุรกิจ เป็นต้น เพื่อปูพื้นฐานสำหรับการเรียนในปีต่อๆ ไป

คณะบัญชีปี 2 จะได้เรียนวิชาหลัก วิชาบังคับของคณะ หรือสาขาบัญชีเพิ่มมากขึ้น เช่น การบริหารต้นทุน การบัญชีภาษีอากร ภาษีอากร การบัญชีขั้นกลาง เป็นต้น นอกจากนี้ บางมหาลัยยังสอนหลักสูตรเกี่ยวกับการบริหารพื้นฐานร่วมด้วย เช่น หลักการบริหาร หลักการตลาด กฎหมายธุรกิจ 

คณะบัญชีปี 3 ในปีนี้จะเรียนเกี่ยวกับบัญชีแบบลงลึกตามแต่ละสาขาที่เลือก เช่น การบัญชีขั้นสูง สถิติธุรกิจ การสอบบัญชี การวางแผนการตลาด การวางแผนกำไร การวางแผนภาษีอากร เป็นต้น

คณะบัญชีปี 4 เป็นปีสุดท้ายที่จะเน้นวิชาเชิงวิชาชีพมากขึ้น เพื่อเตรียมพร้อมในการฝึกงาน และออกไปสู่โลกการทำงานจริง จะเรียนเกี่ยวกับรายงานการวิเคราะห์ และงบการเงิน การวิเคราะห์การตลาด การบัญชีระหว่างประเทศ ความเสี่ยงทางการเงิน เป็นต้น ฝึกงานตามสถานที่ต่างๆ ที่เลือกไว้ รวมถึงการทำรายงานเกี่ยวกับหัวข้อการบัญชีที่ตัวเองสนใจ พร้อมทั้งนำเสนอให้กับอาจารย์ในวิชาสัมมนา

รวมสาขาในคณะบัญชี ที่น่าสนใจ

รวมสาขาในคณะบัญชี ที่น่าสนใจ

คณะบัญชี เป็นหนึ่งในคณะยอดนิยมที่คนส่วนใหญ่เลือกเรียนต่อในมหาวิทยาลัย เพราะมีสาขาวิชาให้เลือกมากมาย และสามารถต่อยอดอาชีพได้หลากหลาย แต่หลายคนมักมีข้อสงสัยว่า คณะบัญชีนั้นมีสาขาอะไรบ้าง แต่ละสาขาเรียนเกี่ยวกับอะไร และโดดเด่นในด้านไหนบ้าง เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับคนที่สนใจอยากเลือกเรียนต่อในมหาลัย ไปดูจุดเด่นของแต่ละสาขากัน

1. สาขาวิชาการบัญชี

สาขาการบัญชี คือ สาขาที่สอนเน้นในเรื่องการจัดการในส่วนของงานตัวเลขทั้งหมด โดยมีเนื้อหาหลักๆ เกี่ยวกับการทำงบประมาณ รูปแบบการทำบัญชี และรูปแบบการทำภาษีต่างๆ รวมถึงหลักการ และวิธีตรวจสอบบัญชี การวิเคราะห์งบการเงิน วิเคราะห์งบบัญชี และรายงานการเงิน เป็นต้น

2. สาขาวิชาการเงิน

สาขาวิชาการเงิน เป็นหนึ่งในสาขาบัญชีที่เน้นวางรากฐานเกี่ยวกับความรู้ความรู้ความสามารถ เพื่อให้มีทักษะการวิเคราะห์ และการจัดการด้านการเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งในสาขานี้จะเรียนเกี่ยวกับหลักการลงทุน การบริหารการเงิน การวิเคราะห์ และบริหารความเสี่ยงของธุรกิจ วิเคราะห์ตลาดหลักทรัพย์ และกฎหมายสำคัญที่เกี่ยวข้องการกับเงินอีกด้วย

3. สาขาวิชาการจัดการทรัพยากรมนุษย์

เนื่องจากสาขาการจัดการทรัพยากรมนุษย์ เป็นสาขาที่มุ่งเน้นการจัดการ การวางแผน และการวางกลยุทธ์ เพื่อพัฒนาคนในองค์กรให้ทำงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงเป็นสาขาที่เหมาะกับคนที่อยากเรียนบัญชี แต่ไม่อยากเจอตัวเลขที่ซับซ้อน 

โดยหลักๆ สาขานี้จะเรียนเกี่ยวกับการจัดการ และบริหารเกี่ยวกับบุคลากรในการทำงาน ทั้งการจัดอบรมเพื่อพัฒนาบุคลากร การคัดเลือกบุคลากรที่มีคุณภาพมาร่วมงาน เรียนรู้เกี่ยวกับสวัสดิการต่างๆ เพื่อจัดสรรสวัสดิการให้เหมาะสม รวมถึงกฎหมายการจ้างงานที่ควรรู้

4. สาขาวิชาการตลาด

สาขาการตลาด คือ การเรียนที่เน้นการคิด และสังเกตพฤติกรรมของผู้บริโภคเป็นหลัก โดยเรียนบัญชี เศรษฐศาสตร์ หลักการตลาด เป็นพื้นฐาน 

จากนั้นจึงต่อยอดไปสู่การศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภค วิจัยทางการตลาด กลยุทธ์การตั้งราคา กลยุทธ์การตลาด การตลาดระหว่างประเทศ และเรียนรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่เป็นเครื่องมือในการทำการตลาด เพื่อนำไปปรับใช้ และพัฒนารูปแบบธุรกิจให้มีกำไร และตอบโจทย์กลุ่มลูกค้าได้มากยิ่งขึ้น

5. สาขาวิชาการจัดการ

อีกหนึ่งสาขาที่เหมาะกับคนที่อยากเรียนต่อในคณะ หรือสาขาบัญชี แต่ก็ไม่อยากเจอกับตัวเลข ก็สามารถเลือกเรียนในสาขานี้ได้ โดยสาขาการจัดการ คือสาขาที่เน้นการบริหารการจัดการ การวางแผน และพัฒนา ตั้งแต่บุคลากร จนถึงธุรกิจ หรือองค์กร เพื่อให้โครงสร้างขององค์กรมีประสิทธิภาพ 

ซึ่งเรียนเกี่ยวกับการวางแผนงาน วางแผนกลยุทธ์การทำงาน การวางแผนพัฒนารูปแบบองค์กร การกำหนดนโยบายธุรกิจ การจัดการโครงการ รวมถึงการวิเคราะห์เพื่อการตัดสินใจ เป็นต้น

6. สาขาวิชาคอมพิวเตอร์ธุรกิจ

คอมพิวเตอร์ธุรกิจ คือ สาขาบัญชีที่นำเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ ไปประยุกต์ใช้ในการบริหารงาน และการจัดการธุรกิจ หรือองค์กร 

ในสาขานี้จะเรียนเกี่ยวกับการใช้โปรแกรมพื้นฐาน โปรแกรมสำเร็จรูปที่ใช้ทำงาน คอมพิวเตอร์กราฟิก การออกแบบ และพัฒนาเว็บไซต์เกี่ยวกับธุรกิจ จนถึงเทคโนโลยี และโปรแกรมอื่นๆ ที่ใช้ในการทำงาน รวมถึงวิชาพื้นฐานอย่างการตลาด การบัญชี เศรษฐศาสตร์ และกฎหมายธุรกิจ ก็จะได้เรียนด้วยเช่นกัน

7. สาขาวิชาบริหารธุรกิจ

สาขาวิชาบริหารธุรกิจ เป็นสาขาวิชาของคณะบัญชีที่มีเนื้อหาใกล้เคียงกับคณะบริหาร ตั้งแต่การบริหาร การจัดการ การตลาด การเงิน ดูแลขั้นตอนการผลิต การบริหารคนให้ทำงานได้มีประสิทธิภาพ การแก้ปัญหาในการทำธุรกิจ จนถึงการศึกษา วิเคราะห์ เกี่ยวกับการทำธุรกิจทั้งใน และนอกประเทศ เพื่อให้ธุรกิจประสบความสำเร็จ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งสาขาที่เรียนเรื่องการบริหารจัดการธุรกิจแบบครอบคลุม

8. สาขาวิชาการจัดการธุรกิจระหว่างประเทศ

หลักสูตรสาขาวิชาธุรกิจระหว่างประเทศ เป็นสาขาบัญชีที่ได้รับความนิยมไม่แพ้สาขาอื่นๆ เพราะมีรูปแบบการสอนที่ครอบคลุม ตั้งแต่วิชาพื้นฐาน จนถึงวิชาหลัก 

ไม่ว่าจะเป็น สังคมวัฒนธรรม เศรษฐศาสตร์ ภาษาอังกฤษ วิเคราะห์รูปแบบธุรกิจ การเงิน และการตลาดระหว่างประเทศ การนำเข้า และการส่งออก กลยุทธ์ธุรกิจระหว่างประเทศ กฎหมายการค้าระหว่างประเทศ เป็นต้น โดยเป็นหลักสูตรเพื่อการพัฒนา และการเติบโตของธุรกิจสู่ตลาดต่างๆ ทั่วโลก

9. สาขาวิชาการจัดการโลจิสติกส์

การจัดการโลจิสติกส์เป็นระบบสำคัญในสายการผลิต สายการค้า และการส่งออก ที่ทำให้การดำเนินงานธุรกิจ และอุตสาหกรรมมีประสิทธิภาพมากขึ้น 

ซึ่งเป็นสาขาบัญชี ที่นอกจากจะต้องเรียนบัญชี การคำนวณ และภาษาแล้ว ก็ยังได้เรียนเกี่ยวกับการวางแผนจัดการ และพัฒนาระบบขนส่งในประเทศ และระหว่างประเทศ ทั้งทางบก ทางน้ำ และทางอากาศให้มีประสิทธิภาพ การนำเข้า-ส่งออกสินค้า การวางแผน จัดเก็บ และควบคุมสินค้าคงคลัง จนถึงกระบวนการโลจิสติกส์อื่นๆ อย่างครอบคลุม

10. สาขาการท่องเที่ยวและการโรงแรม

สาขาการท่องเที่ยว และการโรงแรม คือ การเรียนรู้ที่ประกอบไปด้วยวิชาการ และวิชาชีพ ทั้งภาคทฤษฎี และภาคปฏิบัติ เรียนตั้งแต่พื้นฐานอุตสาหกรรมบริการ เพื่อให้เห็นภาพรวมของการทำงานว่าแต่ละฝ่ายสำคัญอย่างไร 

การเรียนรู้ และทำความเข้าใจธุรกิจบริการว่าต้องมีความรู้ด้านใดบ้าง เช่น เงินลงทุน ราคาห้องพัก ผลกำไร การเรียนทำบัญชีเพื่อจัดสรรงบประมาณให้เป็นไปตามกำหนด การบริหารจัดการส่วนต่างๆ ของโรงแรม รวมถึงศึกษาเกี่ยวกับกฎหมายธุรกิจบริการ เพื่อให้ดำเนินการได้อย่างถูกต้อง และราบรื่น

11. สาขาวิชาการเป็นเจ้าของธุรกิจ

สาขาสุดท้ายของคณะบัญชี สาขาวิชาการเป็นเจ้าของธุรกิจ คือ สาขาที่เหมาะสำหรับคนที่ต้องการประกอบธุรกิจเป็นของตัวเอง หรือสานต่อธุรกิจครอบครัว โดยสาขานี้จะเรียนการจัดการธุรกิจแบบครอบคลุม 

ตั้งแต่พื้นฐานการเป็นเจ้าของธุรกิจ ได้เรียนรู้การวางแผน การวิเคราะห์ และวิธีการทำธุรกิจ พร้อมทั้งการรับมือกับปัญหาทางธุรกิจที่อาจเกิดขึ้น เพื่อพัฒนาทักษะ ความรู้ และแนวคิดต่างๆ ที่จะสามารถต่อยอดการเป็นเจ้าของธุรกิจในอนาคต

เลือกเรียนคณะบัญชีที่ไหนดี?

เมื่อได้รู้ว่าสาขาบัญชีนั้นมีสาขาไหนที่น่าสนใจบ้างไปแล้ว แต่จะเลือกเรียนบัญชีที่ไหนดี เพราะแต่ละมหาลัยก็มีคณะ และสาขาบัญชีให้เลือกมากมายจนเลือกไม่ถูก เพื่อไม่ให้เสียเวลาสำหรับคนที่สนใจ แต่ไม่รู้ว่าจะเลือกเรียนบัญชีที่มหาลัยไหนดี จึงได้รวบรวมมหาลัยที่มีคณะบัญชีที่น่าสนใจมาไว้ให้แล้ว

  • จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  • มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
  • มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
  • มหาวิทยาลัยศิลปากร
  • มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
  • มหาวิทยาลัยมหิดล
  • มหาวิทยาลัยสวนดุสิต
  • มหาวิทยาลัยรังสิต
  • มหาวิทยาลัยกรุงเทพ
  • มหาวิทยาลัยศรีปทุม
  • มหาวิทยาลัยพายัพ
  • มหาวิทยาลัยรามคำแหง
  • มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
  • มหาวิทยาลัยบูรพา
  • มหาวิทยาลัยขอนแก่น
  • มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
  • มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
  • มหาวิทยาลัยนเรศวร
  • มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ
  • มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี

เรียนคณะบัญชี จบไปทำงานอะไร? 

คนที่เรียนจบจากคณะบัญชี ไม่จำเป็นต้องทำงานเกี่ยวกับบัญชีเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังสามารถเลือกทำงานเกี่ยวกับตัวเลขเหล่านี้ได้หลากหลาย ทั้งในภาครัฐ และเอกชน มาดูกันว่าจะมีอาชีพไหนบ้างที่น่าสนใจ

นักบัญชี

นักบัญชี (Accountant) เป็นอาชีพสายตรงของคนที่เรียนจบบัญชี และสามารถทำงานได้กับทุกองค์กร เช่น ธนาคาร งานราชการ บริษัทเอกชน และสถานประกอบการต่างๆ โดยนักบัญชี หรือเจ้าหน้าที่ทางการเงิน จะทำหน้าที่เกี่ยวกับการจัดการ จัดทำ ดูแล และตรวจสอบเอกสารบัญชีทั้งหมดให้กับบุคคล หรือแผนกต่างๆ ภายในองค์กร 

ไม่ว่าจะเป็น บันทึกข้อมูลการเงิน รายรับรายจ่าย การทำธุรกรรมต่างๆ การทำรายงานผลกำไร ขาดทุน ในแต่ละไตรมาส ทำเอกสารเกี่ยวกับภาษี รวมถึงมีส่วนร่วมในวิเคราะห์แผนการเงิน

  • เงินเดือนเริ่มต้น: อาชีพนักบัญชี มีเงินเดือนเริ่มต้นเฉลี่ย 19,000-33,000 บาท ต่อเดือน 

นักบัญชีต้นทุน

นักบัญชีต้นทุน (Cost Accountant) เป็นอาชีพที่หลายคนอาจไม่รู้จักมากเท่าไร แต่อาชีพนักบัญชีต้นทุน ก็เป็นอีกหนึ่งสายงานของคนที่เรียนจบจากบัญชีเช่นกัน โดยนักบัญชีต้นทุนจะต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับกระบวนการผลิตที่ลึกซึ้งกว่านักบัญชีทั่วไป กล่าวคือ งานนักบัญชีต้นทุนต้องมีการรวบรวมข้อมูลของต้นทุนสินค้า และบริการ บันทึกรายได้ บันทึกค่าใช้จ่ายต่างๆ ทั้งทางตรง และทางอ้อม ปัจจัยการผลิต เป็นต้น 

เพื่อให้ทราบว่าสินค้า และบริการมีต้นทุนเท่าไร มีประสิทธิภาพการทำงานมากน้อยอย่างไร เพื่อนำไปวิเคราะห์ วางแผนงบประมาณ และค่าใช้จ่ายอื่นๆ ให้คุ้มค่ากับต้นทุนที่กำหนดไว้

  • เงินเดือนเริ่มต้น: นักบัญชีต้นทุน มีเงินเดือนเริ่มต้นเฉลี่ย 31,000-54,000 บาท ต่อเดือน

ผู้ตรวจสอบบัญชี

ผู้ตรวจสอบบัญชี (Auditor) คือ อาชีพของคนที่เรียนจบจากคณะ หรือสาขาบัญชี ก็สามารถเลือกทำงานในอาชีพนี้ได้ โดยหน้าที่หลักๆ ของผู้ตรวจสอบบัญชี คือ วางแผน การออกแบบ และตรวจสอบความถูกต้องของเอกสารการเงิน หรือบัญชีที่ถูกบันทึกไว้ของแผนกงานต่างๆ ในองค์กร เช่น การเซ็นเอกสารรับรองบัญชี บัญชีรายรับรายจ่าย ธุรกรรมธนาคาร ต้นทุน กำไร และอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง 

เพื่อตรวจสอบว่าข้อมูลบัญชีตรงกันหรือไม่ หรือมีข้อผิดพลาด ที่เป็นการทุจริตหรือไม่ พร้อมกับทำรายงานสรุปผลต่างๆ ให้ทราบ ซึ่งผู้ตรวจสอบบัญชี สามารถทำงานได้หลากหลายหน่วยงาน ทั้งสถานประกอบการ ธุรกิจเอกชน งานราชการ หรือหน่วยงานรัฐบาล ที่สำคัญ หากยื่นสอบเป็นผู้สอบบัญชีรับใบอนุญาต (CPA) ก็มีโอกาสในการก้าวหน้ามากขึ้น

  • เงินเดือนเริ่มต้น: ผู้ตรวจสอบบัญชี มีเงินเดือนเริ่มต้นเฉลี่ย 41,000-60,000 บาท ต่อเดือน

ที่ปรึกษาด้านบัญชี

ที่ปรึกษาด้านบัญชี อีกหนึ่งอาชีพที่รองรับคนที่เรียนจบบัญชี เหมาะกับคนที่ชอบอาชีพอิสระ และมีรายได้สูงทั้งในประเทศ และต่างประเทศ เป็นอาชีพที่สามารถทำงานได้ทั้งในบริษัท และองค์กร หรืออาชีพอิสระได้เช่นกัน 

โดยขอบเขตการทำงานของอาชีพนี้ จะเป็นผู้ให้คำปรึกษา คำแนะนำด้านบัญชีการเงิน บัญชีบริหาร และบัญชีโดยรวมทั้งหมด รวมถึงวางระบบ วางแผนการเงิน เกี่ยวกับบัญชีของบริษัท หรือองค์กรให้เป็นตามมาตรฐานเดียวกัน

  • เงินเดือนเริ่มต้น: ที่ปรึกษาด้านบัญชี มีเงินเดือนเริ่มต้นเฉลี่ย 25,000-50,000 บาท ต่อเดือน

ที่ปรึกษาด้านภาษี

เมื่อจบจากคณะ หรือสาขาบัญชี และมีความสนใจเรื่องภาษีเป็นพิเศษ ก็ขอแนะนำอาชีพที่ปรึกษาด้านภาษี หรือผู้เชี่ยวชาญด้านภาษี (Tax Specialist) ซึ่งเป็นอาชีพที่ให้คำปรึกษาเกี่ยวกับภาษีต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับบริษัท เช่น การคำนวณภาษี การยื่นภาษีเงินได้ทุกประเภท การแก้ปัญหาภาษีต่างๆ ให้ถูกต้อง พร้อมทั้งการวางแผนภาษีให้กับบริษัท หรือหน่วยงานต่างๆ เพื่อให้เสียภาษีได้ถูกต้องตามกฎหมาย

  • เงินเดือนเริ่มต้น: ที่ปรึกษาด้านภาษี มีเงินเดือนเริ่มต้นเฉลี่ย 25,000-50,000 บาท ต่อเดือน

สรุป

ใครที่ชอบตัวเลข ชอบคำนวณ หรือชอบการจัดการบัญชีต่างๆ เพื่อให้ข้อมูลถูกต้อง และครบถ้วน การเลือกเรียนต่อในคณะ หรือสาขาบัญชี ก็เป็นสิ่งที่ตอบโจทย์ความต้องการได้แน่นอน เพราะการเรียนบัญชี ยังมีสาขาแยกย่อยอื่นๆ ให้เลือกตามต้องการ ที่นอกจากจะได้เรียนเกี่ยวกับวิชาคำนวณ การทำบัญชีเป็นพื้นฐานแล้ว ก็ยังได้เรียนรู้เกี่ยวกับวิชาเฉพาะอื่นๆ ที่สำคัญต่ออาชีพในอนาคตอีกด้วย 

นอกจากนี้ เมื่อเรียนจบก็มีงานต่างๆ รองรับมากมาย เพราะยังคงเป็นที่ต้องการในหลายๆ บริษัท และหน่วยงานอื่นๆ หรือจะทำอาชีพอิสระก็ได้เช่นกัน ซึ่งไม่ว่าเลือกทางไหน อาชีพนักบัญชีเหล่านี้ ก็ยังสร้างรายได้ที่มั่นคง และมีโอกาสก้าวหน้าในอาชีพ

ไม่ว่าเด็กจบใหม่ หรือนักบัญชี ที่กำลังมองหางานบัญชีใหม่ๆ อยากให้ลองมาหางานที่ Jobsdb เพราะที่นี่เป็นเว็บไซต์หางาน ที่มีงานจากหน่วยงาน บริษัท หรือองค์กรหลากหลายรูปแบบที่คุณต้องการ สามารถระบุการจ้างงาน เงินเดือน หรือสถานที่ ก็ทำได้ง่ายๆ ไม่กี่ขั้นตอน เพื่อช่วยให้คุณเจองานในฝันอย่างที่คุณต้องการ

More from this category: งานแรก

เรียกดูคำค้นหาที่ได้รับความนิยม

ทราบหรือไม่ว่าผู้สมัครค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับอะไรใน Jobsdb? สำรวจคำค้นหาที่ได้รับความนิยมเพื่ออัพเดทเทรนด์ใหม่เสมอ

สำรวจหัวข้อที่เกี่ยวข้อง

เลือกสิ่งที่สนใจเพื่อเรียกดูอาชีพที่เกี่ยวข้อง

สมัครรับคำแนะนำด้านอาชีพ

รับคำปรึกษาด้านอาชีพจากผู้เชี่ยวชาญส่งตรงถึงอินบ็อกซ์ของคุณ
ท่านได้ยอมรับคำประกาศเกี่ยวกับการเก็บรวบรวมข้อมูลส่วนบุคคล และนโยบายความเป็นส่วนตัวเพื่อให้ข้อมูลส่วนบุคคลของท่าน หากท่านมีอายุต่ำกว่า 20 ปี ท่านได้รับความยินยอมจากผู้ปกครอง เพื่อยินยอมให้ Jobsdb และบริษัทในเครือประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคลของท่าน ท่านสามารถยกเลิกได้ทุกเวลา