เช็กให้ชัวร์! ติดเครดิตบูโรคืออะไร มีวิธีแก้อย่างไร ขอสินเชื่อได้ไหม

เช็กให้ชัวร์! ติดเครดิตบูโรคืออะไร มีวิธีแก้อย่างไร ขอสินเชื่อได้ไหม
Jobsdb ทีมเนื้อหาอัปเดตเมื่อ 18 November, 2024
Share

Key Takeaway

  • เครดิตบูโร คือบริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด รวบรวมข้อมูลสินเชื่อและประวัติการชำระหนี้ทุกประเภทจากสถาบันการเงิน ต่างจากการติดแบล็คลิสต์ ซึ่งเกิดจากการผิดนัดชำระหนี้ที่และถูกห้ามทำธุรกรรม  
  • เมื่อผิดชำระหนี้เกิน 30 วัน สถาบันการเงินจะรายงานเครดิตบูโร แต่จะติดเครดิตบูโรได้ เมื่อค้างชำระเกิน 90 วัน โดยประวัติสินเชื่อจะแสดงย้อนหลัง 3 ปี ถ้าปิดหนี้หมด ข้อมูลจะหายไปใน 36 เดือน แต่ถ้าค้างชำระเกิน 90 วัน ข้อมูลจะเก็บไว้ 5 ปี และค่อยๆ หายไปใน 3 ปี 
  • หากติดเครดิตบูโรแล้วอยากกู้สินเชื่อใหม่ ให้ชำระหนี้ทั้งหมด จากนั้นให้สร้างเครดิตใหม่ อาจจะทำบัตรเครดิตใหม่และพยายามชำระตรงเวลาเพื่อสร้างเครดิตที่ดี จากนั้นให้รอประวัติเก่าๆ หายไป
  • ถ้าไม่อยากติดเครดิตบูโร ควรวางแผนการเงินให้ดี โดยควรบันทึกรายรับ รายจ่าย แล้วบริหารหนี้สินให้เป็นระเบียบ จากนั้นให้สร้างวินัยทางการเงินให้ดี ให้เป็นนิสัยในระยะยาว เพื่อเตรียมรับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉินในอนาคต

หลายๆ คนก็ต้องมีช่วงที่การเงินติดขัดกันบ้าง แต่ใครหมุนเงินไม่ทันจนถึงขั้นติดเครดิตบูโร อย่างเพิ่งกังวลใจไป บทความนี้จะพามารู้จักว่าการติดเครดิตบูโรคืออะไร ติดเครดิตบูโรแล้วขอสินเชื่อได้ไหม บางคนติดเครดิตบูโร 15 ปี หรือบางคนเคยติดเครดิตบูโรแต่ปิดบัญชีแล้ว จะเป็นอะไรไหม? พร้อมวิธีแก้เครดิตบูโรที่เสียให้กลับมาดี เพื่อให้ทุกคนได้สบายใจหายห่วงได้ทุกการใช้จ่าย

เครดิตบูโร คืออะไร

เครดิตบูโร (Credit Bureau) หรือบริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด คือศูนย์กลางในการรวบรวมข้อมูลสินเชื่อและประวัติการชำระหนี้ทุกประเภท ของบุคคลและนิติบุคคลจากสถาบันการเงินและบริษัทที่เป็นสมาชิก 

โดยประชาชนทั่วไป สามารถตรวจสอบสุขภาพทางการเงินของตัวเองได้ผ่านหลายช่องทาง ทั้งโมบายแอปพลิเคชัน ศูนย์ตรวจเครดิตบูโร เคาน์เตอร์ธนาคาร ธนาคารออนไลน์ ตู้ ATM หรือที่ทำการไปรษณีย์ที่มีบริการ โดยสามารถตรวจสอบได้ทุกปีเหมือนการตรวจสุขภาพประจำปีเลย เพื่อค้นหาและแก้ไขความผิดปกติได้อย่างทันท่วงทีนั่นเอง

ติดเครดิตบูโร เกิดจากกรณีไหน

ติดเครดิตบูโร เกิดจากกรณีไหน

การติดเครดิตบูโร เป็นอุปสรรคสำคัญสำหรับผู้ที่ต้องการขอสินเชื่อ โดยเฉพาะการกู้ซื้อบ้าน การค้างชำระเกิน 30 วันจะถูกรายงานไปยังบริษัทข้อมูลเครดิต แต่จะถือว่าติดเครดิตบูโรเมื่อค้างชำระเกิน 90 วัน ทั้งนี้ระยะเวลาที่ข้อมูลจะปรากฏในรายงานเครดิตบูโรแบ่งเป็นสองกรณี คือ หนี้เสีย (NPL) ที่ชำระแล้วจะคงอยู่ 5 ปีนับจากวันชำระครบถ้วน ส่วนหนี้เสียที่ยังไม่ชำระจะคงอยู่ 7 ปีนับจากวันสิ้นสุดสัญญา

ติดแบล็กลิสต์ VS. ติดเครดิตบูโร

บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด เป็นเพียงศูนย์กลางในการรวบรวมข้อมูลเครดิต ไม่ได้มีหน้าที่ขึ้นบัญชีดำหรือติดเครดิตบูโร ซึ่งคำว่า ‘ติดเครดิตบูโร’ เป็นเพียงคำที่สถาบันการเงินใช้อ้างอิงในการไม่อนุมัติสินเชื่อแก่ผู้ที่มีประวัติการชำระหนี้ไม่ดี 

การติดแบล็คลิสต์คือการถูกสถาบันการเงินต่างๆ ห้ามทำธุรกรรมทางการเงิน เช่น การขอสินเชื่อหรือเปิดบัตรเครดิต ซึ่งมักเกิดจากการผิดนัดชำระหนี้ ในขณะที่การติดเครดิตบูโร คือการมีประวัติการชำระหนี้ที่ไม่ดี ซึ่งถูกบันทึกไว้ที่บริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ ข้อมูลนี้จะถูกใช้ประกอบการพิจารณาสินเชื่อโดยสถาบันการเงินต่างๆ นั่นเอง

สถานะเครดิตบูโร ที่ควรรู้!

สถานะเครดิตบูโร ที่ควรรู้!

เครดิตบูโรที่ดีช่วยเพิ่มโอกาสในการได้รับอนุมัติสินเชื่อและอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำกว่า ส่งผลให้ประหยัดค่าใช้จ่ายในระยะยาว การรักษาเครดิตบูโรให้ดี ทำได้โดยการชำระหนี้ตรงเวลาและไม่ก่อหนี้เกินตัว โดยสถานะเครดิตบูโรแบ่งเป็นหลายระดับ ดังนี้

สถานะปกติ

  • 010/10: สถานะปกติ
  • 011/11: ชำระหนี้ครบตามจำนวน
  • 012/12: พักชำระหนี้ตามนโยบายสมาชิก
  • 013/13: พักชำระหนี้ตามนโยบายรัฐ
  • 014/14: พักชำระหนี้เกษตรกรตามนโยบายรัฐ

สถานะค้างชำระ

  • 020/20: ค้างชำระเกิน 90 วัน
  • 021/21: ค้างชำระเกิน 90 วันจากสถานการณ์ไม่ปกติ

สถานะทางกฎหมาย

  • 030/30: อยู่ในกระบวนการทางกฎหมาย
  • 031/31: ชำระหนี้ตามคำพิพากษา
  • 032/32: ศาลพิพากษายกฟ้อง
  • 033/33: ปิดบัญชีจากการตัดหนี้สูญ

สถานะอื่นๆ

  • 040/40: ระหว่างชำระสินเชื่อเพื่อปิดบัญชี
  • 041/41: เจ้าของข้อมูลขอตรวจสอบ
  • 042/42: โอนหรือขายหนี้ค้างเกิน 90 วัน
  • 043/43: โอนหรือขายหนี้และชำระเสร็จสิ้น
  • 044/44: โอนหรือขายหนี้สถานะปกติ
ติดเครดิตบูโร มีวิธีแก้อย่างไร

ติดเครดิตบูโร มีวิธีแก้อย่างไร

สำหรับผู้ที่ติดเครดิตบูโรและกังวลเรื่องการขอสินเชื่อ อย่าเพิ่งหมดหวัง เพราะสามารถแก้ไขสถานะเครดิตให้กลับมาปกติและยื่นขอสินเชื่อใหม่ได้ โดยมีวิธีจัดการปัญหาอย่างเป็นขั้นตอน ดังนี้

1. ชำระหนี้ให้หมด

ขั้นตอนแรกในการแก้ไขสถานะกรณีติดเครดิตบูโร คือการจัดการหนี้สินที่มีอยู่ให้หมด โดยเริ่มจากการตรวจสอบรายงานเครดิตบูโรเพื่อสำรวจภาระหนี้ทั้งหมด จากนั้นวางแผนบริหารจัดการหนี้อย่างเป็นระบบ ซึ่งอาจเริ่มจากการขอพักชำระหนี้ชั่วคราว แล้วทยอยชำระอย่างน้อยตามจำนวนขั้นต่ำหรือมากกว่าจนครบ พร้อมดำเนินการปิดบัญชีให้เรียบร้อย เพื่อไม่ให้มียอดค้างในระบบ

2. สร้างสถานะเครดิตใหม่ให้ดี

ภายหลังการชำระหนี้เรียบร้อยแล้ว ขั้นตอนสำคัญต่อมาในการแก้ไขกรณีติดเครดิตบูโรคือการสร้างประวัติเครดิตใหม่ให้น่าเชื่อถือ โดยอาจเริ่มจากการขอสินเชื่อบัตรเครดิตที่จำเป็น และสร้างวินัยทางการเงิน ด้วยการชำระเต็มจำนวน หรือตามข้อตกลงอย่างสม่ำเสมอโดยไม่มีการค้างชำระ ซึ่งจะช่วยให้เครดิตทางการเงินค่อยๆ ปรับตัวดีขึ้นตามลำดับ

3. รอให้ประวัติหาย

แม้จะชำระหนี้และปิดบัญชีครบถ้วนแล้ว การยื่นขอสินเชื่อก็ไม่สามารถทำได้ทันที เนื่องจากแต่ละธนาคารมีนโยบายติดตามพฤติกรรมการชำระหนี้ของผู้กู้หลังการฟื้นฟูเครดิต โดยระยะเวลาในการพิจารณาจะแตกต่างกันไปตามเกณฑ์ของแต่ละธนาคาร ตั้งแต่ 6 เดือนไปจนถึง 1-2 ปีเลยทีเดียว

จ่ายหนี้ครบแล้ว ประวัติเครดิตบูโรจะถูกเก็บไว้กี่ปี?

เครดิตบูโรจะแสดงประวัติสินเชื่อย้อนหลัง 3 ปี หากปิดหนี้ทั้งหมดและไม่มีการใช้สินเชื่อ ข้อมูลจะค่อยๆ หายไปจากรายงานเมื่อครบ 36 เดือน สำหรับกรณีผิดนัดชำระหนี้เกิน 90 วัน สถาบันการเงินจะรายงานข้อมูลต่อเนื่องเป็นเวลา 5 ปี และหลังจากนั้นข้อมูลจะค่อยๆ หายไปในอีก 3 ปีถัดมา 

อย่างไรก็ตาม แม้ประวัติในเครดิตบูโรจะหายไป แต่สถาบันการเงินยังคงเก็บข้อมูลการใช้สินเชื่อไว้ตามเกณฑ์ของแต่ละสถาบัน ซึ่งอาจนานถึง 10-20 ปี หรือมากกว่า และข้อมูลยังสามารถมีผลต่อการพิจารณาสินเชื่อในอนาคตได้

ติดเครดิตบูโร กู้สินเชื่อได้ไหม?

ธนาคารจะไม่อนุมัติสินเชื่อให้กับผู้ที่มีประวัติเครดิตบูโรไม่ปกติ การแก้ไขสถานะเครดิตเพื่อเพิ่มโอกาสในการได้รับอนุมัติสินเชื่อ สามารถทำได้ตามขั้นตอน ดังนี้

  1. จัดการหนี้สินเดิมให้หมดและปิดบัญชีให้เรียบร้อย
  2. สร้างประวัติเครดิตใหม่ให้น่าเชื่อถือและชำระตามกำหนดอย่างสม่ำเสมอ
  3. รักษาพฤติกรรมการชำระหนี้ที่ดีต่อเนื่องอย่างน้อย 6 เดือนถึง 1 ปี
  4. เมื่อประวัติเครดิตดีขึ้นแล้ว จึงยื่นขอสินเชื่อกับธนาคารอีกครั้ง โอกาสผ่านการอนุมัติจะมีสูงขึ้น

จะรู้ได้อย่างไรว่ากำลังติดเครดิตบูโร?

การตรวจสอบเครดิตบูโรมี 2 รูปแบบ ทั้งแบบรู้ผลในทันทีในราคา 100 บาท และแบบส่งรายงานทางไปรษณีย์ในราคา 150 บาท โดยมีจุดให้บริการ ดังนี้

แบบรู้ผลทันที (เฉพาะกรุงเทพฯ และปริมณฑล)

  • ศูนย์ตรวจเครดิตบูโร อาคารเดอะไนน์ ทาวเวอร์ส พระราม 9
  • เครดิตบูโรคาเฟ่ อาคารเพิร์ล แบงก์ค็อก
  • ศูนย์ตรวจเครดิตบูโร สถานี BTS ศาลาแดง
  • Bureau Lab ท่าเรือวังหลัง และสถานี BTS หมอชิต
  • ศูนย์ตรวจเครดิตบูโร ห้างเจ-เวนิว นวนคร

แบบส่งรายงานทางไปรษณีย์ (ทั่วประเทศ)

  • เคาน์เตอร์ธนาคารกรุงไทย กรุงศรี ธอส. แลนด์แอนด์เฮ้าส์ และ ธ.ก.ส. ทุกสาขา
  • ตู้ ATM ธนาคารกรุงไทย และธนาคารไทยพาณิชย์
  • แอปพลิเคชันธนาคารกรุงไทย ธนาคารออมสิน และธนาคารทีทีบี
  • ธนาคารออนไลน์ของธนาคารกรุงศรี
  • ที่ทำการไปรษณีย์ และเคาน์เตอร์บริการไปรษณีย์ทั่วประเทศ
ไม่อยากติดเครดิตบูโร ควรวางแผนการเงินอย่างไร

ไม่อยากติดเครดิตบูโร ควรวางแผนการเงินอย่างไร

เพื่อไม่ให้ติดเครดิตบูโรจนถึงขั้นมีหนี้สูญจนทำให้ประวัติเสีย เราสามารถวางแผนการเงินให้ดี เพื่อให้มีสภาพคล่องทางการเงินมากขึ้นได้ ดังนีี้

*รู้หรือไม่? หนี้สูญ เป็นหนี้ที่สถาบันการเงินพิจารณาว่าไม่สามารถเรียกเก็บได้แล้ว และผ่านกระบวนการติดตามทวงถามจนถึงที่สุด ทางสถาบันการเงินจะตัดออกจากบัญชี แต่หนี้ส่วนนี้จะมีผลกระทบต่อเครดิตบูโรรุนแรงกว่าหนี้เสีย และแม้ถูกตัดเป็นหนี้สูญ ลูกหนี้ยังมีภาระต้องชำระ ซึ่งหนี้ส่วนนี้ต้องใช้เวลานานกว่าในการฟื้นฟูประวัติเครดิต

  • จัดการรายรับรายจ่าย: ทำบัญชีรายรับ-รายจ่ายอย่างสม่ำเสมอ แยกค่าใช้จ่ายจำเป็นและไม่จำเป็น พร้อมกำหนดงบประมาณในแต่ละหมวดให้ชัดเจน และเก็บออมเงินอย่างน้อย 20-30% ของรายได้
  • บริหารหนี้สินอย่างมีความรับผิดชอบ: ไม่ก่อหนี้เกินความสามารถในการชำระ รักษาสัดส่วนภาระหนี้ให้ไม่เกิน 35-40% ของรายได้ ชำระหนี้ตรงเวลาทุกงวด และหลีกเลี่ยงการก่อหนี้ซ้ำซ้อน
  • สร้างวินัยทางการเงิน: ตั้งเป้าหมายทางการเงินที่ชัดเจน มีเงินสำรองฉุกเฉิน 3-6 เท่าของรายจ่าย ไม่ใช้บัตรเครดิตเกินความจำเป็น และชำระบัตรเครดิตเต็มจำนวนทุกเดือน
  • เตรียมรับมือเหตุฉุกเฉิน: ทำประกันสุขภาพและประกันชีวิต วางแผนการลงทุนระยะยาว สร้างแหล่งรายได้เสริม พร้อมศึกษา และพัฒนาความรู้ทางการเงินอย่างต่อเนื่อง

สรุป

เครดิตบูโร คือบริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด เป็นแหล่งรวบรวมข้อมูลสินเชื่อและประวัติการชำระหนี้ของทั้งบุคคลและนิติบุคคล ทั้งจากสถาบันการเงินและบริษัทสมาชิก ต่างจากการติดแบล็คลิสต์ ที่เป็นการถูกห้ามทำธุรกรรมทางการเงินจากการผิดนัดชำระหนี้ 

หากติดเครดิตบูโร แล้วอยากกู้สินเชื่อ สามารถแก้ไขเครดิตได้โดยการชำระหนี้ให้หมด แล้วสร้างเครดิตใหม่ ด้วยการทำบัตรเครดิตใหม่และชำระให้ตรงเวลา รอประวัติเก่าๆ หายไป ถ้าไม่อยากติดเครดิตบูโร ควรวางแผนการเงินให้ดี โดยควรบันทึกรายรับ-รายจ่าย แล้วบริหารหนี้สินให้เป็นระเบียบ จากนั้นให้สร้างวินัยทางการเงินเพื่อเตรียมรับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉินในอนาคต

มาสร้างรายได้ เพื่อสร้างสภาพคล่องทางการเงิน สามารถหาหางานกรุงเทพหรือทำเลอื่นๆ ได้ที่ Jobsdb เว็บไซต์หางานที่มีประสิทธิภาพ ช่วยคัดกรองตำแหน่งและเงินเดือนได้ตามที่เราต้องการ ฟีเจอร์ต่างๆ ใช้งานง่าย หางานได้เร็ว แค่ไม่กี่คลิก!

อ่านบทความอื่นๆ เพิ่มเติม

More from this category: ความอยู่ดีมีสุขในที่ทำงาน

เรียกดูคำค้นหาที่ได้รับความนิยม

ทราบหรือไม่ว่าผู้สมัครค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับอะไรใน Jobsdb? สำรวจคำค้นหาที่ได้รับความนิยมเพื่ออัพเดทเทรนด์ใหม่เสมอ

สมัครรับคำแนะนำด้านอาชีพ

รับคำปรึกษาด้านอาชีพจากผู้เชี่ยวชาญส่งตรงถึงอินบ็อกซ์ของคุณ
ท่านได้ยอมรับคำประกาศเกี่ยวกับการเก็บรวบรวมข้อมูลส่วนบุคคล และนโยบายความเป็นส่วนตัวเพื่อให้ข้อมูลส่วนบุคคลของท่าน หากท่านมีอายุต่ำกว่า 20 ปี ท่านได้รับความยินยอมจากผู้ปกครอง เพื่อยินยอมให้ Jobsdb และบริษัทในเครือประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคลของท่าน ท่านสามารถยกเลิกได้ทุกเวลา