“วันอาทิตย์นอนไม่ค่อยหลับ ส่วนวันจันทร์ไม่อยากตื่น” คงเป็นความในใจของพนักงานออฟฟิศหลาย ๆ คนที่รู้สึกว่าวันหยุดสุดสัปดาห์ช่างผ่านไปเร็วเหมือนกระพริบตา รู้ตัวอีกทีก็ต้องตื่นไปทำงานในเช้าวันจันทร์อีกแล้ว กว่าจะผ่านวันทำงานให้ครบ 5 วันก็เหนื่อยแสนเหนื่อยจนแทบจะทนรอให้ถึงเย็นวันศุกร์ไม่ไหว ส่วนถ้าอาทิตย์ไหนมีวันหยุดเพิ่มอีก 1 วัน ก็ทำให้รู้สึกเหมือนชีวิตดีขึ้นมาอีกนิด ได้พักผ่อนอย่างเต็มที่ สิ่งนี้เองที่ทำให้หลายคนเกิดความคิดขึ้นมาว่า ทำไมคนเราต้องทำงาน 5 วัน? และถ้าปรับวันทำงานให้เหลือ 4 วันต่อสัปดาห์ จะช่วยเพิ่มแรงกายแรงใจในการทำงานได้อย่างไรบ้าง
ประเด็นการปรับลดวันทำงาน เป็นประเด็นที่ถูกพูดถึงกันมาหลายปีแล้ว โดยมีการทำวิจัยศึกษาอย่างจริงจัง งานวิจัยจากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดชี้ว่า ประสิทธิภาพในการทำงานลดลงอย่างมากหากทำงานเกิน 50 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ส่วนการศึกษาของ Harvard ก็ระบุเอาไว้ว่าทำงาน 6 ชั่วโมง/วัน ดีที่สุด ซึ่งสะท้อนออกมาให้เห็นว่า ผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการทำงานติดต่อกันเป็นเวลานานเกินไป ไม่ใช่เรื่องดี และส่งผลโดยตรงทำให้ประสิทธิภาพในการทำงานลดลง
อย่างที่รู้ ๆ กันว่า ชั่วโมงการทำงานปกติของออฟฟิศทั่ว ๆ ไป คือ ทำงาน 8 ชั่วโมงต่อวัน และ 5-6 วันต่อสัปดาห์ นั่นหมายความว่าพนักงานออฟฟิศส่วนใหญ่จะมีชั่วโมงการทำงานปกติอยู่ที่ประมาณ 40-48 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ แต่การทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์ คือ การลดชั่วโมงการทำงานปกติลงอีก 1-2 วัน ทำให้เหลือชั่วโมงการทำงานเพียง 32 ชั่วโมง
โดยส่วนใหญ่จะเป็นการเพิ่มวันหยุดเป็นวันศุกร์หรือวันจันทร์ 1 วัน แต่ก็มีไอเดียของการหยุดวันพุธด้วยเช่นกัน ซึ่งแบบหลังนี้เองที่พนักงานออฟฟิศหลายคนคิดว่าดีกว่า เพราะได้มีช่วงให้หยุดพักจากงานระหว่างสัปดาห์ ทำให้ไม่ต้องเหนื่อยล้ามากเกินไป
ซึ่งไอเดียการทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์อาจฟังดูเหมือนเรื่องเพ้อฝันที่นายจ้างหลายคนคงไม่ยอม แต่ความเป็นจริงแล้ว ประวัติศาสตร์เรื่องเวลาการทำงานของมนุษย์มีการเปลี่ยนแปลงเรื่อยมา โดยมีแนวโน้มที่ชั่วโมงการทำงานจะถูกลดลงมาเรื่อย ๆ ตั้งแต่ช่วงศตวรรษที่ 19 ซึ่งมีชั่วโมงการทำงานปกติในอเมริกาคือ 100 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ จนมาถึงช่วงกลางศตวรรษที่ 20 ที่พนักงานโรงงานถูกกำหนดให้ทำงาน 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์เท่านั้น ทำให้ความคิดที่ว่าการทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์ไม่ใช่เรื่องเพ้อฝันอีกต่อไป
ต้องย้อนกลับไปตั้งแต่ช่วงหลังยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม ที่มนุษย์เริ่มปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต จากที่ทำการเกษตรแบบตามใจฉัน มาเป็นการหาเลี้ยงชีพด้วยการเป็นแรงงานในโรงงาน ซึ่งตามข้อมูลในช่วงนั้นแรงงานจะทำงานกันที่ 60 - 100 ชั่วโมงต่อสัปดาห์กันเลยทีเดียว คนส่วนใหญ่ทำงานกันแบบไม่มีวันหยุด หรือไม่ก็ได้หยุดกันเพียง 1 วันต่อสัปดาห์เท่านั้น
จนเมื่อปี 1926 ที่ Henry Ford เจ้าของบริษัทผลิตรถยนต์ยี่ห้อดังอย่าง Ford Motor เกิดไอเดียขึ้นมาว่า จะเป็นอย่างไรหากพนักงานมีเวลาพักผ่อนมากขึ้น สามารถใช้เวลากับครอบครัวได้มากขึ้น และมีเวลาว่างมากพอที่จะหาความรู้ใหม่ ๆ มาเพิ่มเติมได้ มี Work-life balance ที่ดีกว่าเดิม จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของพนักงานในโรงงานได้ดีขึ้นไหม และไม่ใช่เพียงแค่สงสัย แต่ Henry Ford ได้ลองทำจริง โดยประกาศลดวันทำงานของพนักงานลง จาก 6 วัน เหลือ 5 วัน และจำกัดชั่วโมงการทำงานให้เหลือ 8 ชั่วโมงต่อวัน โดยที่การลดวันทำงานจะไม่กระทบต่อค่าจ้างและสวัสดิการที่พนักงานได้รับอยู่แล้ว
ซึ่งนโยบายนี้ของ Henry Ford สร้างความฮือฮาเป็นอย่างมาก และได้รับเสียวิพากษ์วิจารณ์ว่าคงจะไปไม่รอด เพราะมีแต่ขาดทุน แต่ผลลัพธ์ที่ออกมากลับตรงกันข้ามกับการคาดการณ์ของคนส่วนใหญ่ เพราะผลประกอบการของ Ford Motor กลับพุ่งสูงขึ้นหลังจากที่ประกาศใช้นโยบายลดวันทำงานลง บริษัทได้กำไรมากขึ้น ซึ่งสร้างผลกระทบไปในวงกว้าง ทำให้หลายบริษัททั้งในยุโรปและอเมริกาเริ่มหันมาทำตาม ทำให้ชั่วโมงเฉลี่ยในการทำงานเริ่มลดลงจนเป็นเช่นปัจจุบัน
แม้ว่าชั่วโมงการทำงานจะน้อยลง แต่ไม่ได้ทำให้ประสิทธิภาพการทำงานลดลงตาม เพราะมีงานวิจัยจากมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-เมดิสันพบว่า พนักงานออฟฟิศส่วนใหญ่เสียเวลาประมาณ 2.5 ชั่วโมง ไปกับการเล่นอินเตอร์เน็ตระหว่างการทำงาน เพราะคนส่วนใหญ่รู้สึกว่าเวลาการทำงานยาวนานเกินไป
นอกจากเวลาที่ต้องเสียไปกับกิจกรรมที่ไม่เกี่ยวกับงานแล้ว พบว่าชีวิตมนุษย์ออฟฟิศยังหมดเวลาไปกับ การประชุม มากมายในแต่ละวัน ทำให้เหลือเวลาการทำงานจริง ๆ น้อยมาก ทำให้ต้องทำงานล่วงเวลาเพื่อสะสางงานของตัวเอง การลดเวลาการทำงานเหลือ 4 วันจะทำให้พนักงานบริษัทต้องปรับวิธีการทำงานใหม่ เลือก จัดอันดับความสำคัญของงาน ลดการประชุมที่ไม่จำเป็น ลดกิจกรรมที่ไม่สำคัญและไม่เสียเวลาการทำงานไปกับกิจกรรมที่เปล่าประโยชน์ ซึ่งจะช่วยสร้างผลกระทบไปถึง วัฒนธรรมองค์กร เลยทีเดียว
ในขณะเดียวกันตัวพนักงานเองก็จะรู้จักจัดอันดับความสำคัญของงาน และด้วยเวลาการทำงานที่กระชับกว่าเดิมก็จะทำให้พนักงานไม่สามารถเสียเวลาไปกับเรื่องไร้สาระระหว่างเวลางานได้อีกต่อไป เพราะต้องเร่งทำงานให้เสร็จ และที่สำคัญไม่ต้องกังวลว่าจะมีเวลาพักน้อย เพราะการมีวันหยุดเพิ่มอีก 1 วัน ทำให้มีเวลาพักผ่อนที่เพียงพออย่างแน่นอน
ความเครียดในที่ทำงาน ชั่วโมงการทำงานที่ยาวนาน และการทำงานหนักมากเกินไป เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้พนักงานมีสุขภาพแย่ลง และยังส่งผลถึง สุขภาพจิต โดยตรงของพนักงาน และที่สำคัญสิ่งเหล่านี้จะสะท้อนกลับมาที่ประสิทธิภาพการทำงาน ทำให้กลายเป็นวงจรที่ไม่สร้างสรรค์และไม่สร้างประโยชน์ให้กับบริษัท
ซึ่งการลดวันทำงานเหลือ 4 วันต่อสัปดาห์จะส่งผลเชิงบวก ทั้งในแง่ของสุขภาพจิตที่พนักงานมีเวลาผ่อนคลายมากขึ้น และสุขภาพกายที่ทำให้มีเวลาดูแลตัวเอง มีงานวิจัยจำนวนมากที่ชี้ให้เห็นว่าการลดชั่วโมงการทำงานจะช่วยให้พนักงานมีความเครียด ความเหนื่อยล้า และอารมณ์ด้านลบน้อยลง
จากงานวิจัยของ Karolinska Institutet สถาบันด้านการแพทย์ในสวีเดนพบว่าเมื่อลดเวลาทำงานลง 25% จะช่วยเสริมสุขภาวะในการนอนหลับและลดความตึงเครียดลงได้ ในขณะที่อีกงานวิจัยชี้ให้เห็นว่า การทำงานที่ลดลงทำให้ชีวิตครอบครัวของพนักงานดีขึ้น เพราะพนักงานมีเวลาที่จะไปใส่ใจและสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับคนรอบข้างมากขึ้น ซึ่งนี้เป็นปัจจัยสำคัญของการมีชีวิตที่มีความสุข และงานวิจัยของมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ดก็ออกมาตอกย้ำถึงความจริงข้อนี้ เพราะจากการศึกษาพบว่า เมื่อพนักงานมีความสุขจะช่วยให้ผลิตภาพในการทำงานเพิ่มขึ้นถึง 13%
คนที่ทำงานหนักไม่ได้หมายความว่าจะเป็นคนที่ทำงานเก่งเสมอไป สิ่งสำคัญคือต้องมีความสามารถในการเรียงลำดับความสำคัญของงาน ซึ่งจะทำให้งานออกมาได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดในเวลาที่จำกัด และคนเก่งเหล่านี้จะให้ความสำคัญกับเวลามากเป็นอันดับต้น ๆ ของชีวิต นอกจากจะต้องทำงานให้ดีในเวลาที่เหมาะสมแล้ว คนเก่งยังเลือกที่จะให้ความสำคัญกับ Work-life balance เพราะมองเห็นความสำคัญของการพัฒนาตัวเอง และใช้เวลาไปกับเรื่องที่สามารถพัฒนาความคิด จิตใจ และเป็นประโยชน์กับชีวิตของตัวเองได้จริง ๆ
ดังนั้นเวลานอกเหนือจากการทำงานก็สามารถที่จะเอาไปใช้หาความรู้ เรียน คอร์สออนไลน์ พัฒนาตัวเองได้ ไม่ต้องเสียเวลาไปกับเรื่องไม่จำเป็นในชีวิต สิ่งเหล่านี้ส่งผลโดยตรงต่อภาพใหญ่ขององค์กร หากองค์กรรู้จักให้ความสำคัญกับเวลา ก็เหมือนมีเป้าหมายเดียวกันกับ Talent หรือคนเก่ง ๆ เหล่านี้ และจะสามารถดึงดูดคนเก่งให้เข้ามาร่วมงานด้วยได้ไม่ยาก
หลายคนอาจทำหน้าสงสัยว่าทำงาน 4 วันจะเกี่ยวอะไรกับการลดโลกร้อน แต่รู้หรือไม่ว่าการที่พนักงานต้องมาทำงานที่ออฟฟิศสร้าง Carbon footprint อีกทางหนึ่ง เริ่มตั้งแต่การเดินทางจากบ้านมาที่ออฟฟิศ การเปิดแอร์ในออฟฟิศ การใช้ไฟในการทำงาน และอื่น ๆ อีกมากมายที่ทำให้เกิด Carbon footprint ที่มาจากการทำงานในแต่ละวัน มีการทดลองในรัฐ Utah ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยทดลองลดการทำงานเหลือ 4 วันต่อสัปดาห์ และวัดปริมาณ Carbon footprint รวมถึงผลกระทบที่เกิดกับสิ่งแวดล้อม พบว่าในช่วง 10 เดือนแรกของการทดลองสามารถลดปริมาณ Carbon footprint ได้ถึง 6,000 เมตริกตัน และลดค่าใช้จ่ายที่ต้องเสียไปจากการใช้พลังงานได้มากถึง 1.8 ล้านเหรียญสหรัฐ จากการที่พนักงานไม่ต้องเดินทางออกจากบ้านไปทำงานเพียงแค่สัปดาห์ละ 1 วันเท่านั้น เป็นการลดภาวะโลกร้อน และทำให้สภาพสิ่งแวดล้อมดีขึ้น ซึ่งส่งผลต่อการดำเนินชีวิตและสภาพจิตใจของมนุษย์โดยตรง
ไม่ใช่ทุกคนที่จะรู้จักจัดสรรเวลา และใช้เวลาทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพทุกคน ยังมีพนักงานบางคนที่เคยชินกับการทำงาน 5 วันต่อสัปดาห์ และไม่สามารถปรับตัวให้ยืดหยุ่นหรือไม่สามารถบริการเวลาได้ ทำให้การทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์อาจส่งผลในเชิงลบ และลดประสิทธิภาพการทำงานแทนในพนักงานกลุ่มนี้
ในงานบางงาน เช่น งานบริการลูกค้า Call center งานขนส่ง งานที่ต้องเตรียมพร้อมรับเรื่องฉุกเฉิน อาจไม่เหมาะกับการทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์ เพราะงานเหล่านี้มักต้องการคนมาทำงานแทบจะตลอดเวลา จึงทำให้การปรับลดวันทำงานแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย เพราะอาจจะเพิ่มต้นทุนให้กับบริษัทมากเกินไป
ปัจจุบันกฎหมายในไทยกำหนดชั่วโมงการทำงานไม่ให้เกิน 8 ชั่วโมงต่อวัน และไม่เกิน 48 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ นั่นหมายความว่ายังมีหลายบริษัทให้พนักงานทำงาน 6 วันต่อสัปดาห์ โดยที่บริษัทจะต้องให้วันหยุดกับพนักงานดังนี้
นอกจากประเด็นการทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์จะถูกพูดถึงอย่างต่อเนื่องในช่วงระยะเวลา 3 - 4 ปีที่ผ่านมาแล้ว มีหลายประเทศได้ทดลองปรับลดวันทำงานไปใช้จริง ตัวอย่างเช่น
จากการศึกษา วิจัยและการทดลองปรับลดวันทำงานจริงของหลาย ๆ สถาบัน ทำให้เห็นว่าการทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์สามารถกลายมาเป็นมาตรฐานเวลาทำงานใหม่ของโลกได้ และไม่ได้ส่งผลเชิงลบกับประสิทธิภาพการทำงานอย่างที่หลายคนกังวลใจ ในทางตรงกันข้ามกลับส่งผลดีต่อทั้งสภาพจิตใจ คุณภาพชีวิตของพนักงาน กำไรที่เติบโตขึ้นของบริษัท และประสิทธิภาพการทำงานของพนักงานโดยรวม เพียงแต่ต้องรู้จักปรับใช้ให้เหมาะสมและให้เข้ากับรูปแบบการทำงานของแต่ละสายงาน และอาจจะต้องใช้เวลาสักระยะหนึ่งเพื่อให้พนักงานทุกคนสามารถปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงและรูปแบบการทำงานใหม่นี้ได้