“โอกาส” มาพร้อมกับความท้าทาย ยิ่งเมื่อประเทศกำลังจะเปิดรับตลาดเสรีอาเซียนในปี 2558 การเคลื่อนย้ายแรงงานไปมาระหว่างกันย่อมทำได้ง่ายขึ้น มองมุมหนึ่งเป็นเรื่องของการได้แสดงความสามารถของคน ในประเทศซึ่งเทียบกับต่างประเทศแล้ว จุดแข็งและจุดอ่อนของคนไทยมีมากน้อยแค่ไหน
ทุกๆ ปีจะได้เห็นการโยกย้ายงานของคนในประเทศทั้งกลุ่ม White Collar และ Blue Collar ความคึกคักสะท้อนให้เห็นได้จากทุกๆ ไตรมาสจะมีการโยกย้ายเปลี่ยนงาน การเข้าสู่ตลาดแรงงานอย่างเต็มตัวของนัก ศึกษาจบใหม่อีกทั้งความเติบโตทางเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นสิ่งที่สัมพันธ์กันมาโดยตลอด
แน่นอนว่าไม่ว่าจะอยู่ในภาคอุตสาหกรรมไหนย่อมต้องปรับตัวรองรับกับความเปลี่ยนแปลงเมื่อ AEC เปิดอย่างเต็มตัว ทั้งในแง่ของทรัพยากรบุคคลที่ต้องเตรียมพร้อมและศึกษาข้อมูลในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง หรือแม้กระทั่งฝ่ายสรรหาทรัพยากรบุคคลหรือฝ่าย HR (Human Resource) ก็ยิ่งต้องปรับตัวล้อไปตามสภาพบริบทและสรรหาบุคลากรที่มีความสามารถเข้าสู่องค์กร
งานหินของฝ่าย HR ยุคนี้จึงเป็นการทำงานในลักษณะที่ว่าเป็นการวางยุทธศาสตร์หรือการขับเคลื่อนองค์กรสมัยใหม่ เพราะฝ่าย HR มีส่วนสำคัญอย่างมาก มองแล้วเป็นเหมือนกระดูกสันหลังที่จะเป็นส่วนหนึ่งของ การกำหนดกลยุทธ์ให้กับองค์กรเช่นเดียวกับระดับบริหาร เพราะนับแต่องค์กรเริ่มเบนเข็มมาให้ความสำคัญกับ“คน” มากขึ้น ไล่ไปตั้งแต่แรกเข้าจนถึงการรักษาและพัฒนาคุณภาพ โดยมีเป้าหมายที่ว่าคนจะเป็นเครื่องมืออันทรงพลังที่จะขับเคลื่อน องค์กรไปสู่ความสำเร็จ
นพวรรณ จุลกนิษฐ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท จัดหางาน จ๊อบส์ ดีบี (ประเทศไทย) จำกัดในฐานะที่คลุกคลีอยู่ในแวดวงการสมัครงานและเห็นความเคลื่อนย้ายตลาดแรงงานทั้งในประเทศและ ต่างประเทศมาโดยตลอด กล่าวถึงความสามารถของบุคลากรไทยที่ต้องเรียนรู้และปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมใหม่ที่จะเกิดขึ้น ขณะที่ฝ่ายทรัพยากรบุคคลจะเห็นความตื่นตัวในการทำงาน วางกลยุทธ์ควบคู่ไปกับฝ่ายบริหารเพื่อการพัฒนา ศักยภาพของบุคลากรให้มี Core competency
“HR ก็ต้องเรียนรู้ธุรกิจ คือจะบอกว่ารู้แค่เรื่องคน รับคน สัมภาษณ์ ให้ทำงาน กฎหมายแรงงาน การรักษาพนักงาน รู้แค่นี้ไม่พอแต่จะต้องรู้ว่าทิศทางการทำธุรกิจเป็นอย่างไร อะไรเป็นเทรนด์ และต้องรู้เรื่อง งานฟังก์ชันอื่นๆ ในองค์กรด้วยเช่นกัน”
เมื่อ AEC เปิดอย่างเต็มตัว ความเข้มข้นในการโยกย้ายงานไปทำงานต่างประเทศยิ่งซับซ้อนขึ้น คนที่มีความสามารถหลากหลายจะเป็นที่ต้องการขององค์กรและถูกดึงตัวให้เข้าร่วมงาน ซึ่งไม่เพียงทักษะด้านการ ทำงานแล้ว การสื่อสารมีความสำคัญไม่แพ้กัน เพราะภาษาจะเป็นเครื่องมือสื่อสาร หากใครดึงจุดแข็งและคงความได้เปรียบเช่นนี้ได้ยิ่งได้เปรียบ
“เรื่องทัศนคติที่ดีต่อการทำงาน เป็นเรื่องที่ HR หามากที่สุดในคนทำงาน เพราะคนที่มีทัศนคติที่ดีหายาก ยิ่งการทำงานที่ท้าท้ายและมีอุปสรรค บางคนเจอแล้วท้อ เจอเพื่อนร่วมงานแล้วเบื่อ ซึ่งเป็นปัจจัยที่ส่ง ผลต่อการทำงาน แต่หากมองเป็นเรื่องดี ก็จะเห็นว่าทุกอย่างเป็นความท้าทาย สุดท้ายแล้วอยู่ที่ความคิดซึ่งถ้าบวกเรื่องทัศนคติที่ดีกับความดีด้วย ยิ่งดีมากขึ้น”
การดึงความสามารถของพนักงาน ทำงานได้อย่างยืดหยุ่น มีทักษะทางการสื่อสารที่ดี ตลอดจนการเรียนรู้ที่จะปรับตัวไปตามบริบท เหล่านี้คือหัวใจของการทำงานในโลกยุคใหม่ที่ไม่ได้เฉพาะอยู่ในสภาพแวดล้อม ของประเทศแต่เพียงเท่านั้น ยิ่งแรงงานเกิดการโยกย้ายมากขึ้นเท่าใด โอกาสของการที่จะได้แสดงความสามารถยิ่งมีมากขึ้นเท่านั้น เพราะนั่นหมายความถึงความสามารถทางการได้เปรียบทางการแข่งขันและค่าตัวที่จะสูงขึ้นตามไปด้วย
“เราต้องมองว่าปัญหาและอุปสรรคเป็นความท้าทาย ซึ่งเป็นสิ่งดีที่จะทำให้เราได้เรียนรู้ ได้เจอคนยากๆ เพราะโลกนี้ไม่มีคนง่ายอยู่แล้ว คนแต่ละคนมีความเฉพาะตัว การทำงานเป็นทีมเวิร์คได้ย่อมดีกว่าทำงาน คนเดียวแน่นอน เพราะบางครั้งเราต้องการความช่วยเหลือจากแผนกของเขา”
“ความสามารถ” ของบุคลากรในองค์กรถือเป็นหัวใจสำคัญของการขับเคลื่อนองค์กร ซึ่งองค์กรจำเป็นที่จะต้องพัฒนา ส่งเสริมความรู้ให้บุคลากรมีความสามารถและมีความเชี่ยวชาญมากขึ้น และพร้อมที่จะเรียนรู้ และทำงานได้อย่างหลากหลาย (Multi tasks) ซึ่งจะเป็นข้อได้เปรียบที่องค์กรไหนๆ ต่างก็ต้องการบุคลากรประเภทนี้ด้วยกันทั้งนั้น
ที่มา :นิตยสาร MBA ฉบับที่ 158 คอลัมน์ HR Management หน้า 146-147
เรื่องอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
EVERYDAY IS THE BEST DAY