ต้อนรับกระแสแห่งเดือน Pride Month กับเรื่องราวของกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ หรือ LGBTQ+ ซึ่งจากที่ผ่านมารวมไปถึง ณ ปัจจุบันนี้ ยังมีไม่น้อยที่กลุ่ม LGBTQ+ ต้องเจอปัญหาต่างๆ มากมาย ทั้งในชีวิตประจำวันและโลกของการทำงาน แต่เรื่องราวของการปลุกกระแสความเท่าเทียมในยุคนี้ก็ยังมาแรงไม่แพ้กัน โดยกลุ่ม LGBTQ+ ก็ได้รับการยอมรับมากขึ้นจากเทรนด์โลกที่เปลี่ยนไป รวมไปถึงออฟฟิศและบริษัทหลายๆ ที่ ก็ต่างออกนโยบายใหม่ๆ มาเพื่อรองรับชาว LGBTQ+ มากขึ้น
Lgbtq
เริ่มต้นด้วยเรื่องราวสุดคลาสสิกที่มนูษย์ทำงานทุกคนต้องเจอ คือรายละเอียดการเปิดรับสมัครงาน ที่มักมีการระบุเพศว่าตำแหน่งดังกล่าวต้องการรับพนักงานเพศไหน ซึ่งที่เราพบกับเจอมานาน ก็จะระบุแบบชัดเจนไปเลย ว่ารับเพศชายหรือเพศหญิง ซึ่งกลุ่ม LGBTQ+ ก็จะต้องเลือกสมัครงานตามเพศสภาพของตัวเองให้ตรงกับที่ Job Description ระบุไว้
แน่นอนว่าการส่งใบสมัครงานไปยังบริษัทต่างๆ หรือการพูดคุยนัดหมายผ่านทางโทรศัพท์ ฝ่ายบุคคลไม่อาจรับรู้ได้ว่าผู้สมัครเป็นกลุ่ม LGBTQ+ แต่เมื่อวันสัมภาษณ์มาถึงและได้พบเจอตัวจริงเป็นครั้งแรกของทั้ง 2 ฝ่าย เมื่อบริษัทนั้นรับรู้ว่าผู้สมัครเป็นชาว LGBTQ+ บางคนก็กลับถูกปฏิเสธการเข้าทำงาน หรือถูกปัดใบสมัครให้ตกรอบโดยทันที โดยไม่คำนึงถึงความสามารถหรือประสบการณ์ที่ผู้สมัครมี
แต่ในปัจจุบันนี้ ก็มีหลายบริษัทที่เริ่มระบุรายละเอียดใน Job Description อย่างละเอียดไว้เลยว่า เปิดรับผู้สมัครทุกเพศ หรือบางที่ก็ระบุแบบชัดเจนไปอีกขั้นเลยว่า ยินดีต้อนรับผู้สมัครชาว LGBTQ+ ซึ่งนี่ก็ถือเป็นนิมิตรหมายอันดี ที่เราเริ่มได้การเปลี่ยนแปลงดีๆ เกิดขึ้นแล้ว
มีชาว LGBTQ+ หลายคน ที่ไม่ได้แสดงออกทางภายนอกมากนัก ว่าพวกเขาเป็นกลุ่มหลากหลายทางเพศ หลายคนก็มีเหตุผลที่ต่างกันออกไป ซึ่งบางคนที่ไม่กล้าแสดงออกและปิดบังตัวตนที่แท้จริง ก็อาจเป็นเพราะพวกเขารู้สึกไม่สบายใจ ที่อาจถูกตัดสินจากคนรอบข้าง ซึ่งบางครั้งการปิดบังตัวตน อาจมีส่วนทำให้เกิดผลกระทบต่องานหรือทำให้ประสิทธิภาพในการทำงานลดลงได้เช่นกัน เผลอๆ อาจส่งผลต่อสภาพร่างกาย ทำให้เกิดความเครียดสะสม เป็นต้นเหตุของโรคอื่นๆ ตามมาก็ได้
การทำงานในออฟฟิศมักมีหลายปัจจัยที่ช่วยทำให้เราสบายใจและอยากตื่นมาทำงานทุกเช้า เหตุผลหลักๆ ที่หลายคนคำนึง คงหนีไม่พ้นหัวหน้างานและเพื่อนร่วมงาน ยิ่งเฉพาะชาว LGBTQ+ ที่มักจะถูกสังคมตัดสินอยู่แล้ว ต่างก็ยิ่งอยากได้รับความเข้าใจจากคนรอบข้างมากขึ้น หากโชคดีได้เจอหัวหน้าหรือเพื่อนร่วมงานที่เข้าใจและยอมรับในสิ่งที่เขาเป็น สิ่งนี้ก็จะช่วยปลดล็อคให้การทำงานเป็นไปอย่างราบรื่น และทำให้พวกเขามีความสุขในการทำงานมากขึ้น
แต่หากโชคร้ายเจอหัวหน้าหรือเพื่อนร่วมงานที่ไลฟ์สไตล์ไม่ตรงกัน หรือเจอคนที่ไม่ยอมรับและไม่เข้าใจกลุ่มชาว LGBTQ+ อาจทำให้พวกเขารู้สึกโดดเดี่ยว ไม่เข้าพวก และไม่มีคนที่เข้าใจพวกเขาได้ ซึ่งในชีวิตของมนุษย์ออฟฟิศก็มักจะมีการจับกลุ่มคล้ายๆ กับสมัยเรียนเช่นเดียวกัน ซึ่งถ้าบางคนโชคดีเจอกลุ่มเพื่อนที่เข้าใจ ก็จะสามารถทำงานร่วมกันหรือใช้ชีวิตในออฟฟิศด้วยกันได้อย่างราบรื่น
และดังที่กล่าวไปแล้ว หากโชคร้ายเจอคนที่แอนตี้พวกเขา ควมรู้สึกโดดเดี่ยวต้องมีการเกิดขึ้นแน่นอน ซึ่งก็อาจะส่งผลต่อประสิทธิภาพในการทำงาน ไปจนถึงแรงจูงใจในการมาทำงาน และเกิดการเปลี่ยนที่ทำงานในที่สุด แล้วยิ่งถ้าพวกเขาเหล่านั้นมีทักษะหรือความสามารถที่เต็มเปี่ยม แต่กลับต้องลาออกจากงาน เพียงเพราะปัญหาเหล่านี้ บริษัทนั้นๆ ก็อาจจะต้องเสียบุคลากรชั้นแนวหน้าไปอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ นี่จึงเป็นอีกหนึ่งปัญหาที่ควรรีบแก้ไขโดยเร็วที่สุด
ทุกคนก็อยากเติบโตก้าวหน้าในสายอาชีพของตัวเอง ซึ่งหลายครั้งการตัดสินให้ถูกเลื่อนตำแหน่ง ก็ไม่ได้ถูกพิจารณาจากความสามารถและผลงานอย่างเดียว แต่มักมีเรื่องของอคติต่อบุคคลเข้ามาปนอยู่ด้วยเสมอไม่มากก็น้อย ซึ่งเรื่องเหล่านี้เป็นปัญหามาช้านาน และเกิดได้กับทุกกลุ่มคน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเหยียดเชื้อชาติหรือสีผิวในองค์กรระดับ International หรือการกำจัดเรื่องของเพศในบางบริษัท ที่มักนิยมให้ผู้ชายได้รับตำแหน่งใหญ่ๆ มากกว่าผู้หญิง
แน่นอนว่าชาว LGBTQ+ ก็ต้องเผชิญกับปัญหาเหล่านี้ไม่แพ้กลุ่มคนทั่วไป แม้ว่าพวกเขาจะมีความสามารถมากแค่ไหน แต่ถ้ามีหัวหน้าหรือผู้ประเมินที่ไม่เข้าใจ ก็อาจถูกสกัดไม่เติบโตในหน้าที่การงานได้ เพียงเพราะคนบางกลุ่มไม่เชื่อมั่นว่า กลุ่ม LGBTQ+ จะสามารถก้าวขึ้นมารับหน้าที่ในตำแหน่งสำคัญของบริษัทได้
แน่นอนว่าทุกธุรกิจมักมีเรื่องของลูกค้าเข้ามาเกี่ยวข้อง นี่จึงเป็นอีกหนึ่งปัญหาที่ชาว LGBTQ+ ต้องรับมือ แค่เจอหัวหน้าหรือเพื่อนร่วมงานที่ไม่เข้าใจก็แย่พออยู่แล้ว หากต้องเจอลูกค้าที่เป็นแบบนี้อีกล่ะก็ ยิ่งเครียดเป็น 2 เท่าแน่ๆ
หากว่าด้วยเรื่องของมนุษย์ออฟฟิศ ชาว LGBTQ+ หลายคนที่ต้องมีการดีลงานกับลูกค้าภายนอก หรือได้รับมอบหมายให้ทำโปรเจคต์ใหม่สักหนึ่งงานที่มีลูกค้ามาเกี่ยวข้อง มักต้องเจอการเลือกปฏิบัติจากลูกค้า โดยลูกค้าบางคนเมื่อทราบว่าคนดูแลโปรเจคต์เป็นชาว LGBTQ+ ก็ตรงดิ่งไปแจ้งกับบริษัทว่าขอเปลี่ยนคนดูแลโปรเจคต์แทนซะอย่างนั้น
กลับมาต่อกันที่เรื่องในบริษัท การเป็นชาว LGBTQ+ มักต้องเจอคำนินทาจากคนรอบข้าง ไม่เฉพาะแม้แต่เรื่องงาน แต่เรื่องส่วนตัวก็เม้าท์หนักไม่แพ้กัน หรือบางคนอาจเจอการถูกเรียกสรรพนามที่ไม่สอดคล้องกับอัตลักษณ์ทางเพศของตนเอง และบางครั้งก็อาจถูกเรียกเพศแบบผิดๆ ไปจนถึงการดูถูกหรือเหยียดหยาม
หรือแม้กระทั่งการถูกแซวเล่นจากคนที่ไม่สนิท ซึ่งบางครั้งคนเหล่านั้นอาจไม่ได้คิดมากอะไร แต่กลับไม่รู้ว่าการกระทำเหล่านี้เป็นการทำร้ายจิตใจชาว LGBTQ+ เข้าอย่างจัง เผลอๆ อาจลามไปจนกลายเป็นเรื่องใหญ่โต ก้าวไปสู่เรื่องราวของการบุลลี่ได้เช่นกัน
แน่นอนว่าอีกหนึ่งปัจจัยที่หลายคนเลือกจะทำงานกับบริษัทใดบริษัทหนึ่ง เรื่องของสวัสดิการก็เป็นสิ่งที่สำคัญ แต่บางครั้งสวัสดิการที่เกิดขึ้นกลับรองรับแค่ผู้ชายหรือผู้หญิงเท่านั้น แต่ไม่ได้ครอบคลุมไปถึงชาว LGBTQ+ ซึ่งหากบริษัทต่างๆ พร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงและให้ความสำคัญกับเรื่องของความหลากหลายมากขึ้น จนรวมสิ่งเหล่านี้เข้าเป็นวาระสำคัญในการจัดการองค์กร นี่ก็อาจเป็นสิ่งหนึ่งที่ทำให้มนุษย์เงินเดือนชาว LGBTQ+ รู้สึกคอมฟอร์ตในการอยู่ในบริษัทนั้นๆ ได้มากขึ้น และพร้อมที่จะส่งมอบผลงานดีๆ ให้แก่บริษัทต่อไป
จากการวิจัยของต่างประเทศระบุว่า ในยุคนี้ปัญหาเกี่ยวกับชาว LGBTQ+ ควรเป็นอีกหนึ่งที่ต้องได้รับการแก้ไข และควรเป็นหน้าที่ของผู้บริหารที่ต้องลงมาดูแลอย่างใกล้ชิด เพื่อให้พนักงานทุกคน ทุกเพศได้รู้สึกว่าตัวเองเป็นส่วนหนึ่งขององค์กรอย่างเท่าเทียม เราจึงได้ลิสต์แนวคิดต่างๆ ต่อชาว LGBTQ+ ที่สามารถนำไปปรับใช้ในองค์กรได้มาฝากกัน
- ไม่ก้าวก่ายและให้ความเคารพความเป็นส่วนตัวของผู้อื่น
- รณรงค์ให้เกิดการปฏิบัติต่อพนักงานทุกคนอย่างเท่าเทียม
- ไม่ควรคุยเล่นให้เรื่องที่ไม่ควรคุย จนก่อให้เกิดการบุลลี่
- กล่าวถึงพนักงาน LGBTQ+ ให้เป็นเหมือนพนักงานคนอื่นๆ
- จัดอบรมและทำความเข้าใจกับพนักงานคนอื่นๆ เพื่อส่งเสริมพนักงาน LGBTQ+
- จัดตั้งชมรมหรือเครือข่าย เพื่อสนับสนุนพนักงาน LGBTQ+
- จ้างพนักงานที่มีความหลากหลายมากขึ้น เช่น กลุ่ม LGBTQ+, พนักงานที่มีความทุพพลภาพ หรือพนักงานผิวสี เป็นต้น
- มีสวัสดิการที่ครอบคลุมถึงพนักงาน LGBTQ+
แม้ช่วงนี้หลายๆ ฝ่ายจะยังอยู่ในขั้นตอนการรณรงค์เรื่องความเท่าเทียมและความหลากหลายทางเพศ แต่ในประเทศไทยตอนนี้ก็มีอยู่หลายบริษัทที่เริ่มคำนึงถึงชาว LGBTQ+ มากขึ้นแล้ว เช่น
- การประกาศรับสมัครงานที่ไม่ระบุเพศ หรือระบุว่าต้อนรับพนักงานชาว LGBTQ+
- สวัสดิการที่รองรับชาว LGBTQ+ มากขึ้น
- การลาแต่งงานได้เหมือนคู่ชาย-หญิง
- มอบเงินสนับสนุนคู่แต่งงานเพศเดียวกัน
- การลาเพื่อดูแลคู่สมรสหรือบุตร
- บริษัทอสังหาฯ ที่ให้พนักงานชาว LGBTQ+ กู้ร่วมซื้อบ้านกับคนรักได้
- การลาเพื่อผ่าตัดแปลงเพศ
มนุษย์ควรได้รับการปฏิบัติต่อกันอย่างเท่าเทียม ไม่ว่าจะเป็นเพศไหน สัญชาติอะไร เชื้อชาติใด สีผิวแบบไหน ทุกคนล้วนมีค่าในตัวเองทั้งนั้น อีกทั้งทุกคนล้วนมีทักษะและศักยภาพในตัวเอง ที่จะสามารถทำงานและช่วยพัฒนาองค์กรต่างๆ ให้เจริญเติบโตได้ไม่แพ้คนทั่วไป แม้ตอนนี้เรื่องของชาว LGBTQ+ ในบ้านเราจะเปิดกว้างมากขึ้น แต่ก็ยังรายละเอียดปลีกย่อยอีกมากมายที่ต้องพัฒนาและปรับปรุง จากการปรับตัวของหลายหน่วยงานในตอนนี้ก็ถือเป็นสัญญาณที่ดีสำหรับชาว LGBTQ+ ว่าในอนาคตพวกเขาจะได้รับการยอมรับจากสังคมแบบ 100% โดยไม่มีข้อกังขา
ในส่วนของทาง JobsDB เอง ก็ขอเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนความหลากหลายทางเพศ ซึ่งเรามีงานต่างๆ มากมายที่พร้อมรองรับสำหรับทุกเพศอย่างเท่าเทียม
ดาวน์โหลดได้แล้ววันนี้ทั้ง iOS และ Android
https://th.jobsdb.com/th-th/articles/lgbtq-dtac/
https://th.jobsdb.com/th-th/articles/diversity-management/