โครงการสรรหาและคัดเลือก HR Awards ประจำปี 2553 ซึ่งจัดโดยสมาคมการจัดการงานบุคคลแห่งประเทศไทย (PMAT) ที่เพิ่งมอบรางวัลกันไปหมาด ๆ เมื่อเร็ว ๆ นี้ นอกจาก ดร.อำนวย คงมีสุข อดีตผู้จัดการฝ่ายบุคคล โรงแรมโอเรียนเต็ล กรุงเทพฯ, ดร.ธีระชัย เชมนะสิริ ผู้อำนวยการสถาบันการบริหารการพัฒนาองค์การ (GRID Thailand), ศิริพงษ์ ศรีชัยรมย์รัตน์ ที่ปรึกษาอาวุโสด้าน HR และแรงงานสัมพันธ์ ADITYA BIRLA Group ประเทศไทย, ปรีชา ฒิการณ์ ผู้ช่วยอธิการบดี และผู้อำนวยการศูนย์นำความรู้สู่การปฏิบัติ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ที่รั้งตำแหน่งนักบริหารทรัพยากรบุคคลผู้ทรงคุณค่าแล้ว
ในปีนี้ "ทินกร เรือนทิพย์" รองกรรมการผู้จัดการบริหาร สายงานทรัพยากรบุคคล และกรรมการผู้จัดการ CPF Training Center บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) ยังได้รับรางวัลอันทรงเกียรตินี้ด้วย หลังจากที่เคยคว้ารางวัล Thailand Top 100 HR ซึ่งจัดโดยสถาบันทรัพยากรมนุษย์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มาแล้ว
แน่นอนว่า ความสำเร็จของ "ทินกร" ในวันนี้ คงไม่สามารถเกิดขึ้นได้เพียงชั่วข้ามคืน แต่เขาใช้เวลาในการสั่งสมประสบการณ์ และพัฒนาตัวเองบนถนนสายนี้มากว่า 37 ปี
วิธีคิด แนวทางแก้ปัญหาในแต่ละสถานการณ์ จึงถือเป็นบทเรียนนอกตำราในงานทรัพยากรมนุษย์ที่ทรงคุณค่าอย่างยิ่ง ซึ่งเมื่อถาม "ทินกร" ว่ารู้สึกอย่างไรกับรางวัลที่ได้รับ เขาตอบด้วยความภาคภูมิใจว่า"ผมโชคดี ไม่ว่าจะทำงานบริษัทไหน ทุกองค์กรเปิดโอกาสให้ได้ใช้ศักยภาพและความสามารถอย่างเต็มที่ ผู้บังคับบัญชา นอกจากจะให้โอกาสในการพัฒนาตัวเองแล้ว ยังเป็นโค้ชที่ดีให้อีกด้วย ที่มากกว่านั้น ตลอดระยะเวลา 37 ปี ได้เพื่อนที่ดี ได้ลูกน้องช่วยสนับสนุนลำพังตัวคนเดียว คงไม่สามารถขึ้นมายืน บนสายวิชาชีพนี้ได้"
"ทินกร" เล่าว่า งานบริหารทรัพยากรบุคคล มีความเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา จากยุคแรก ๆ ที่เป็นงานแอดมิน งานธุรการ ดูเรื่องการว่าจ้าง การสรรหา การฝึกอบรมพนักงาน ก็เปลี่ยนมาเป็นเรื่องของการวางแผนกำลังคน การพัฒนาบุคลากร ต่อมาเมื่อธุรกิจเข้าสู่ยุคไร้พรมแดน โลกของ HR ก็เปลี่ยนไปอีก ทุกธุรกิจให้ความสำคัญกับเรื่องของคน ผู้บริหารส่วนใหญ่มองว่า ธุรกิจจะประสบความสำเร็จได้ จะต้องให้ความสำคัญกับเรื่องบุคลากร ที่สำคัญองค์กรต่าง ๆ เชื่อว่า HR จะมีส่วนช่วยในการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขัน สร้างความเป็นต่อให้กับองค์กรธุรกิจ ทำให้พนักงานมีความสุขในการทำงาน นอกจากนั้น ยังมองว่า HR มีส่วนช่วยวางกรอบในการพัฒนาผู้นำ การสร้างคนให้เป็นมืออาชีพ และสุดท้ายองค์กรยังเชื่อว่า HR จะมีส่วนในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับองค์กรธุรกิจ และจาก 4-5 เรื่องที่ผู้บริหารองค์กรคาดหวัง ทำให้ HR ต้องทำงานอย่างมืออาชีพ เป็นสตาร์ติจิกพาร์ตเนอร์ในการสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นภายในองค์กร หรือเป็น employee champion ซึ่งหมายถึง จะทำอย่างไรในการเป็นตัวกลางให้พนักงาน และองค์กรก้าวไปในทิศทางเดียวกัน เพื่อนำความสำเร็จมาสู่องค์กร
ดังนั้น การที่ HR จะเป็นโลโมเดลในการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพสูงสุดได้ จึงต้องมีทักษะความรู้ใน 4 เรื่องหลัก
กรณีที่มีพนักงานในเจเนอเร ชั่นวาย เจเนอเรชั่นแซดเข้ามาในองค์กร คนที่จะมาเป็นผู้นำองค์กร ต้องบริหารจัดการคนรุ่นนี้อย่างไร ทำอย่างไรจึงจะรักษาคนเก่ง ๆ ให้อยู่กับองค์กร ทำให้คนที่มี ความแตกต่างหลากหลายอยู่ร่วมกันเป็นทีมเดียวกัน เพื่อก้าวไปสู่จุดมุ่งหมายเดียวกันได้อย่างไร "ทินกร" แชร์ประสบการณ์ในการบริหารจัดการทรัพยากรมนุษย์ในองค์กรซีพีเอฟให้ฟังว่า การเติบโตแบบก้าวกระโดดของซีพีเอฟในวันนี้ ส่วนหนึ่งมาจากวิสัยทัศน์ของท่านประธาน (ธนินท์ เจียรวนนท์) และแนวทางการทำงานที่ชัดเจนของกรรมการผู้จัดการใหญ่ เพราะหนึ่งในกลยุทธ์หลักขององค์กร คือบริษัทมีหน้าที่ในการพัฒนาผู้นำให้มีความพร้อมในการองรับธุรกิจในอนาคต สร้างคนให้มีความเป็นมืออาชีพ ขณะเดียวกัน ก็ต้องเน้นการทำงานเป็นทีม การสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับองค์กรธุรกิจ การมุ่งเน้นสร้างค่านิยมองค์กรให้ทุกคนมีความซื่อสัตย์ มีคุณธรรม และจริยธรรมในการทำงาน และด้วยกลยุทธ์ตรงนี้ ทำให้ HR สามารถจัดระบบงานให้สอดคล้องกับกลยุทธ์ของบริษัทได้มากยิ่งขึ้น การทำงาน HR จึงง่ายมากขึ้น
ต้องยอมรับว่า ความสำเร็จของงาน HR นั้นไม่ได้อยู่ที่ตัว HR แต่อยู่ที่ผู้บริหารระดับสูงที่จะเข้ามาช่วยประคับประคอง ช่วยผลักดันให้บุคลากรเดินไปข้างหน้าอย่างเป็นระบบได้มากน้อยแค่ไหน ยกตัวอย่างในปีหน้า บริษัทมีแนวทางชัดเจนในการขยายการลงทุนในต่างประเทศ HR จึงต้องเตรียมความพร้อมให้กับผู้นำในการทำงานในวัฒนธรรมที่หลากหลาย สรรหาคนเก่งในประเทศนั้น ๆ เข้ามาทำงานแล้วพัฒนาคนเหล่านั้นให้มีความเป็นมืออาชีพรองรับธุรกิจที่ขยาย ตัวอย่างรวดเร็วในขณะเดียวกัน ก็ต้องเตรียมกำลังคนให้พร้อมรองรับการเปลี่ยนแปลงของธุรกิจ จากเดิมที่เคยเน้นโปรดักต์เป็นศูนย์กลาง ต่อไปจะต้องเน้นเรื่องของลูกค้าเป็นศูนย์กลางไปพร้อม ๆ กันด้วย เมื่อถามถึงความท้าทายในงาน HR ทศวรรษหน้า "ทินกร" บอกแบบชัดถ้อยชัดคำว่า โลกในยุคโลกาภิวัตน์ คนเก่ง คนที่มีศักยภาพ สามารถมีโอกาสเคลื่อนย้ายที่ทำงานได้มาก หรือเปลี่ยนที่ทำงานได้ง่ายขึ้น ดังนั้น ภารกิจสำคัญของ HR ในปีหน้า จึงอยู่ที่ว่าจะทำอย่างไร จึงจะสามารถแข่งขันในการรักษาคนเก่งให้อยู่กับองค์กรได้มากที่สุด ตรงนี้ ถือเป็นความท้าทายที่จะเกิดขึ้นกับทุกบริษัท ซึ่งจะมีความสำคัญเท่า ๆ กับการพัฒนาผู้นำ ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญในการนำพาองค์กรไปสู่ความสำเร็จ ดังนั้น ปีหน้า ถ้าใครสามารถพัฒนาผู้นำให้นำทีมไปสู่เป้าหมายเดียวกันได้ ถือว่าประสบความสำเร็จ
"ทินกร" ทิ้งท้ายว่า สถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปนี่เอง ที่ทำให้ HR ต้องมีความเป็นมืออาชีพในการพัฒนาบุคลากร เพราะผู้นำในองค์กรจะต้องเป็นผู้นำที่ได้มาตรฐานโลก พนักงานก็ต้องเป็นมืออาชีพจริง ๆ เมื่อโลกเปลี่ยน ความคิดคนก็ต้องเปลี่ยน วัฒนธรรมองค์กรก็ต้องเปลี่ยน ดังนั้น องค์กรจะทำอย่างไร จึงจะขับเคลื่อนเป้าหมายธุรกิจให้บรรลุผลสำเร็จ ความหลากหลายของคนในองค์กร คงไม่ใช่ประเด็นปัญหา เพียงแต่ HR จะต้องเซ็กเมนต์คนแต่ละกลุ่มในองค์กรออกมาให้ได้ว่า เจเนอเรชั่นเอ็กซ์เป็นอย่างไร เบบี้บูมเป็นอย่างไร เจนวายเป็นอย่างไร แล้วบริหารจัดการให้ทุกคนเกิดความพึงพอใจสูงสุด เพื่อเป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนองค์กรไปสู่ความสำเร็จ
ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ