อยากทำงานให้ดี อยากทำงานให้ทัน อยากมีเวลาพักผ่อนบ้าง แต่นั่งหน้าจอทำงานทั้งวันจนปวดหลัง งานก็ยังไม่เสร็จสักที! แถมพอใกล้ deadline ต้องส่งงานแล้ว ก็ต้องมาเร่งทำงานที่เหลืออยู่มากมายอีก ทำให้ผลงานออกมาไม่ดีเท่าที่คิดไว้ ถ้าคุณเป็นคนหนึ่งที่รู้สึกแบบนี้ เราแนะนำให้ลองสงบสติอารมณ์สักพัก นั่งคิดดี ๆ ว่าเวลาทำงานของคุณหายไปไหนหมด คุณทำอะไรผิดพลาดไปนะ
คนส่วนใหญ่มักใช้เวลาหมดไปกับงานแทรกที่เข้ามาอย่างเร่งด่วน ทำให้หลายครั้งที่กำลังตั้งใจทำงานอยู่ต้องเกิดสะดุด พอจะกลับมาทำงานอีกทีก็ไม่ต่อเนื่องเสียแล้ว หรือเผลอ ๆ อาจจะลืมไปเลยก็ได้ว่าทำงานค้างอยู่ รู้ตัวอีกทีก็หมดเวลาแล้ว ในทางตรงกันข้าม ถ้าคุณเป็นคนที่ focus มาก ๆ เผลอทำงานใดงานหนึ่งนานเกินไป จนไม่เหลือเวลาไปทำงานเล็ก ๆ อื่น ๆ ที่ถึงจะไม่สำคัญเท่า แต่ก็เรียกได้ว่าจำเป็น ทำให้คุณไม่สามารถจัดการกับงานทุกภาระหน้าที่ที่คุณต้องรับผิดชอบได้ดีพอ
ทั้งหมดที่กล่าวไปข้างต้นเป็นผลมาจากการที่คุณไม่สามารถบริหารจัดการเวลาได้ดีพอ ไม่รู้ว่าควรจัดลำดับความสำคัญของงานอย่างไรดี และควรแบ่งเวลาทำงานแต่ละงานอย่างไรให้เหมาะสม จนสุดท้ายงานก็ออกมาไม่ดีเท่าที่ควร เวลาจะพักผ่อนก็แทบไม่มี กลายเป็นเครียดไม่มีความสุขไปอีก ซึ่งทุกอย่างสามารถแก้ไขได้ด้วยเทคนิค การบริหารเวลา แบบมะเขือเทศ หรือ Pomodoro Technique
รู้จัก Pomodoro Technique
Pomodoro Techniqueถูกคิดค้นขึ้นโดยคุณ Francesco Cirillo ที่คิดค้นเทคนิคการบริหารเวลานี้มาตั้งแต่ช่วงปลายทศวรรษที่ 1980 โดยคำว่า Pomodoro เป็นภาษาอิตาเลียน แปลว่า“มะเขือเทศ”ซึ่งตั้งตามนาฬิการูปทรงมะเขือเทศที่คุณ Francesco Cirillo ใช้จับเวลานั่นเอง และสิ่งที่ทำให้เทคนิคนี้ดังและเป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายก็เพราะเป็นวิธีที่ได้รับการการันตีจากหลายคนว่า “ได้ผลจริง!” สามารถทำให้กลับมาโฟกัสกับงานได้ ทำงานเสร็จในเวลาที่น้อยลง แถมยังมีเวลาพักที่พอเหมาะ ทำให้หลายคนรู้สึก Productive จากการแบ่งเวลาด้วยเทคนิคนี้อีกด้วย
วิธีบริหารเวลาแบบมะเขือเทศ
เทคนิคการบริหารเวลาแบบ Timeboxing โดยแบ่งช่วงเวลาแต่ละช่วงออกเป็นครั้งละ 25 นาที ซึ่งใน 25 นาทีนี้คุณจะต้องจดจ่ออยู่กับงานที่ทำเพียงอย่างเดียวเท่านั้น และพอครบ 25 นาทีแล้ว ก็จะสามารถพักได้ 5 นาที วิธีนี้จะทำให้คุณสามารถกำหนดงานที่จะทำได้อย่างชัดเจน และมีเวลาพักเบรกที่ช่วย recharge ให้กลับมามีพลังทำงานในช่วงต่อไปด้วย โดยวิธีการบริหารเวลา มีขั้นตอนดังนี้
เริ่มจากการจดรายการงานที่จะต้องทำออกมาทั้งหมด มีงานอะไรบ้าง ดูว่ามีกี่งานที่ต้องทำในวันนี้ แต่ละงานมี deadline วันไหน มีงานไหนที่ทำแล้วต้องส่งต่อให้คนอื่นทำด้วย แล้วก็เริ่มดูว่างานแต่ละงานมีความสำคัญอย่างไร แล้วก็จัดลำดับความสำคัญของงานต่อ งานไหนที่ต้องเสร็จเร็วก็เอามาทำก่อน งานที่รอได้ก็จัดไว้ทำช่วงเวลาที่เหมาะสมต่อไป
ให้คุณตั้งนาฬิกาปลุกโดยเซตเวลาไว้ที่ 25 นาที แล้วเริ่มทำงานที่คุณลิสต์ไว้ว่าจะทำได้เลย โดยใน 25 นาทีนี้ให้คุณตั้งใจทำงานนี้เพียงงานเดียวเท่านั้น จัดระเบียบโฟกัสคุณให้ได้ อย่าเผลอวอกแวกหยิบมือถือขึ้นมาเช็กไลน์ หรือเผลอเปิดเมลที่เด้งเข้ามาพอดี นอกเหนือจากงานที่คุณทำอยู่ ให้ไปจัดการทีหลัง หลังจากครบ 25 นาทีนี้แล้ว
หลังจากทำงานมาเต็ม 25 นาที ให้คุณพักเบรกได้ 5 นาทีก่อนที่จะไปเริ่มทำงานในช่วงต่อไป ซึ่งการโฟกัสกับงาน 25 นาที และเบรกอีก 5 นาทีจะนับเป็น 1 หน่วย Pomodoro ในเบรก 5 นาทีนี้คุณจะพักดื่มน้ำ เดินเล่น ไปเข้าห้องน้ำ หรือหยิบมือถือขึ้นมาเล่นก็ได้ แต่ต้องจำไว้เสมอว่า พอครบ 5 นาทีคุณจะต้องกลับไปทำงานต่อทันที ต้องมีวินัย ห้ามโกงเวลาเด็ดขาด
พอคุณทำงานและเบรกครบ 4 รอบหรือ 4 หน่วย Pomodoro แล้ว คุณสามารถพักแบบยาว ๆ ได้ โดยใช้เวลา 15 – 30 นาทีในการพักแบบยาว คุณสามารถกำหนดเวลาได้ตามความต้องการของคุณแต่อย่าให้เกิน 30 นาทีก็พอ หลังจากพักแบบยาวเสร็จแล้ว ก็ให้คุณกลับมาทำขั้นตอนที่ 2 – 4 ต่อไปเรื่อย ๆ จนกว่างานเสร็จหรือหมดเวลาทำงานในแต่ละวัน
ตัวช่วยในการจับเวลา
สำหรับคนที่ไม่อยากใช้นาฬิกาปลุก ต้องมาคอยกดตั้งเวลาใหม่ในแต่ละรอบ ลองโหลด Application สำหรับการจับเวลาแบบ Pomodoro มาใช้ด้วย มีหลายแอปให้เลือกโหลดได้ตามใจเลย บางแอปยังมี feature เพิ่มเติมให้สามารถจด to do list และติดตามผลการทำงานและ performance ที่คุณทำได้ในแต่ละวันด้วย เราแนะนำ Focus To-Do, Pomodoro Timer, Flat Tomato, Be Focused - Focus Timer, focus booster
ข้อดีของการบริหารเวลาแบบ Pomodoro
เทคนิคนี้จะช่วยให้คุณเลิกนิสัยผัดวันประกันพรุ่งได้ คุณสามารถจัดการเวลาได้ดีขึ้น มีเวลาพักระหว่างนั่งทำงานที่เหมาะสม ลดอาการ Office syndrome ที่เกิดจากการนั่งทำงานนาน ๆ รู้สึก Productive มาขึ้นเพราะคุณ Francesco Cirillo เชื่อว่าเวลา 25 นาที นั้นเป็นเวลาที่นานพอที่จะทำให้คุณทำ task เล็ก ๆ ได้เสร็จ แต่ไม่นานเกินไปจนทำให้สมองคุณล้า
ส่วนการพักเบรก 5 นาทีก็เป็นการพักสมองในระยะเวลาสั้น ๆ พอที่ทำให้คุณสามารถกลับมาโฟกัสกับงานที่กำลังทำค้างอยู่ได้อย่างต่อเนื่อง แถมยังสายตาไม่เสียหากคุณเลือกที่จะใช้เวลาพักเบรก 5 นาทีละจากจอคอมหรือจอมือถือออกไปมองพื้นที่สีเขียว ออกไปเดินยืดเส้นยืดสายให้ร่างกายได้ขยับและผ่อนคลายบ้าง
ข้อเสียของเทคนิคการบริหารเวลาแบบมะเขือเทศ
เหรียญย่อมมี 2 ด้านเสมอ ด้วยระยะเวลา 25 นาทีอาจทำให้บางคนรู้สึกกดดันกับเวลาการทำงานที่มีอยู่อย่างจำกัด เพราะอยากใช้เวลากับงานแต่ละอย่างมากกว่านี้ ถึงแม้จะพักแค่ 5 นาทีแต่อาจทำให้บางคนรู้สึกขาดตอน ไม่สามารถกลับมาโฟกัสกับงานหลังจากเบรกได้ โดยเฉพาะคนที่เพิ่งเริ่มทำงานใหม่ ๆ อาจจะไม่ชินกับการทำงานที่ต้องถูกบีบด้วยเวลา ต้องการเวลาการทำงานแต่ละช่วงมากกว่านี้ และที่สำคัญการต้องโฟกัสกับงานเพียงอย่างเดียว ไม่ค่อยเหมาะกับงานที่ต้องติดต่อประสานงานกับคนอื่นบ่อย ๆ เพราะจะทำให้หน้าที่หลักที่ต้องคอยสื่อสารและประสานกับคนอื่นทันทีตลอดเวลา ทำงานได้ไม่สมบูรณ์เท่าไรนัก
ถ้าคุณเป็นคนที่ไม่สามารถมีสมาธิจดจ่อกับอะไรนาน ๆ ได้ เบื่อง่าย หรือมีนิสัยชอบเลื่อนเวลาไปเรื่อย ๆ ถ้าไม่มีกำหนดเวลาที่ชัดเจน บอกได้เลยว่าเทคนิคการบริหารเวลาแบบมะเขือเทศเหมาะกับคุณมาก ช่วยให้คุณจำกัดเวลาที่จะต้องทำงานหรือพัก ได้เบรกเล็กน้อยพักสมองเติมแรงใจระหว่างนั่งทำงาน แถมยังเป็นเหมือนการเล่นเกมส์กับตัวเอง ว่าทำอย่างไร เราถึงจะทำงานให้ได้ตามเป้าในเวลา 25 นาที วิธีนี้จึงเป็นการแก้เบื่อที่ดีไม่น้อยเลย
ถ้าคุณรู้ตัวแล้วว่า การจัดการเวลาแบบนี้ไม่ใช่ทางของคุณ ไม่เหมาะกับหน้าที่การงานที่คุณทำอยู่ คุณก็สามารถเลือกใช้วิธีบริหารเวลาแบบอื่นดูก็ได้ ลองหาวิธีที่เหมาะกับคุณและงานของคุณที่สุด เพื่อผลลัพธ์ของงานที่ออกมาดี และคุณก็ยังมีเวลาเหลือให้ได้เพลิดเพลินกับการใช้ชีวิตอย่างมีความสุขไปพร้อม ๆ กัน หากคุณกำลังมองหางานที่ตอบโจทย์ Work-life balance ของคุณ มาค้นหางานที่ใช่ได้ที่แอปพลิเคชัน JobsDB
ดาวน์โหลดได้แล้ววันนี้ทั้ง iOS และ Android
https://th.jobsdb.com/th-th/articles/%e0%b8%9a%e0%b8%a3%e0%b8%b4%e0%b8%ab%e0%b8%b2%e0%b8%a3%e0%b9%80%e0%b8%a7%e0%b8%a5%e0%b8%b2-time-boxing/
https://th.jobsdb.com/th-th/articles/888%e0%b9%80%e0%b8%84%e0%b8%a5%e0%b9%87%e0%b8%94%e0%b8%a5%e0%b8%b1%e0%b8%9a%e0%b8%9a%e0%b8%a3%e0%b8%b4%e0%b8%ab%e0%b8%b2%e0%b8%a3%e0%b9%80%e0%b8%a7%e0%b8%a5%e0%b8%b21%e0%b8%a7%e0%b8%b1%e0%b8%99/
https://th.jobsdb.com/th-th/articles/%e0%b9%80%e0%b8%84%e0%b8%a5%e0%b9%87%e0%b8%94%e0%b8%a5%e0%b8%b1%e0%b8%9a-%e0%b8%9a%e0%b8%a3%e0%b8%b4%e0%b8%ab%e0%b8%b2%e0%b8%a3%e0%b9%80%e0%b8%a7%e0%b8%a5%e0%b8%b2/