ในโลกของการทำงาน in the real world ความกดดัน อุปสรรค ความรับผิดชอบ การบริหารความต้องการของคนอื่น ความสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงาม ฯลฯ ล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่ต้องพบเจอแบบหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งการต่อสู้กับความเครียดที่ถาโถมทุกวัน อาจทำให้ร่างกายและจิตใจของเราอ่อนแอลงโดยไม่รู้ตัว แล้วสะสมเป็นออกมาเป็นอาการเหนื่อย เบื่องาน ไม่มีแรงใจจะตื่นขึ้นมาทำงานในทุก ๆ วัน
สุดท้ายแล้วจากความเบื่องาน เหนื่อยใจที่ต้องพบเจอทุกวัน อาจพาคุณเข้าสู่ภาวะ Brownout Syndrome จุดเริ่มต้นของอาการหมดใจในการทำงาน หนึ่งในอาการป่วยทางใจที่ WHO - องค์การอนามัยโลกยืนยันว่าต้องได้รับการรักษาทางการแพทย์ โดยอาการนี้เป็นสาเหตุที่ทำให้พนักงานลาออกมากถึง 40% (ข้อมูลจาก Corporate Balance Concepts)
เมื่อพูดถึงโรคทางจิตใจที่เกี่ยวข้องกับการทำงาน คนส่วนใหญ่มักนึกถึงภาวะซึมเศร้าหรือภาวะ Burnout Syndrome ซึ่งจริง ๆ แล้วยังมีภาวะ Brownout Syndrome ที่หลาย ๆ คนอาจจะเป็นแต่ยังไม่รู้ตัว โดยทั้ง Burnout และ Brownout เป็นเรื่องของภาวะจิตใจที่ต้องเผชิญกับความเครียดและการทำงานหนักเหมือนกัน
ต่างกันตรงที่ Brownout Syndrome มีความรุนแรงน้อยกว่า Burnout Syndrome ผู้ที่อยู่ในภาวะ Brownout จะยังพอรับมือกับความเครียดได้ ทำงานได้ปกติ แต่อาจไม่มีความสนใจหรือความกระตือรือร้นเหมือนเดิม สูญเสียความสนใจในงานหรือกิจกรรมที่เคยสนุกสนานมาก่อน มีความเบื่องาน เหนื่อยหน่าย ฟีลเหมือนทำไปวัน ๆ ให้ผ่านไป ซึ่งอารมณ์และความรู้สึกเหล่านี้หากปล่อยให้สะสมเข้าทุก ๆ วัน ในระยะยาวย่อมไม่ใช่สิ่งดี
ไม่รกระตือรือร้นหรือมีแรงจูงใจในการทำงานเหมือนเดิม
เลือกที่จะละเลยงานหรือหนีการทำงาน / ไม่สนใจกับงานหรือโปรเจ็กต์ที่คุณเคยสนใจก่อน
ไม่อยากทำงานนอกเหนือเวลางาน เช่น ทำงานล่วงเวลา หรือทำงานเสาร์ อาทิตย์ จากที่เมื่อก่อนเคยทำได้
พักผ่อนไม่เพียงพอ ป่วยบ่อย ๆ ซึมลง ใส่ใจตัวเองน้อยลง หรือเหนื่อยทั้งร่างกายและจิตใจโดยไม่มีสาเหตุที่ชัดเจน
ไม่พอใจกับผลงานของคุณหรือสถานการณ์ในที่ทำงาน ความรู้สึกของความสำเร็จหรือความสุขในงานอาจลดลง
ละเลยงานหรือหนีการทำงาน เพื่อหลีกเลี่ยงความเบื่อหน่ายหรือความรู้สึกไม่พอใจ
ไม่ให้ความร่วมมือกับกิจกรรมต่าง ๆ ขององค์กร
ปลีกตัวจากสังคม เพื่อนร่วมงาน
ไม่แน่ใจหรือไม่มั่นใจในการตัดสินใจในการทำงานเหมือนเมื่อก่อน
รู้สึกกดดันจากการทำงาน เหมือนองค์กรคอยเพ่งเล็ง จับผิด
หากเช็กลิสต์แล้ว ติ๊กถูกกันไปมากกว่า 5 ข้อ ขอเชิญมามุง มาหาทำกันอะไรให้รีเฟรชกันแบบด่วน ๆ อย่าปล่อยให้ตัวเองจมอยู่กับความรู้สึกเหนื่อย ความรู้สึกเบื่องานนาน เพราะยิ่งปล่อยไว้นาน ความรู้สึกเหล่านี้ก็จะยิ่งกัดกร่อนความสุขในชีวิตคุณ จนส่งผลกระทบกับเรื่องอื่น รู้ตัวอีกจาก Brownout Syndrome กลายเป็น Burnout Syndrome
ก่อนจะเริ่มรีเฟรชอะไรใด ๆ แนะนำให้เริ่มต้นด้วยการยอมรับว่าคุณกำลังเหนื่อยหรือเบื่องานเป็นอย่างแรก จุดเล็ก ๆ ที่จะช่วยให้คุณเข้าใจว่า ตอนนี้เรากำลังรู้สึกอะไร เพื่อเข้าใจความต้องการของตัวเองมากขึ้น และขอให้มั่นใจได้เลยว่า สภาพเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องที่คุณเองเคยเจอเพียงคนเดียว ไม่จำเป็นต้องกังวลหรือรู้สึกผิดที่มีความรู้สึกแบบนี้
ทริกเล็ก ๆ ที่อาจจะช่วยให้การทำงานในแต่ละวันของคุณมีสีสัน ไม่น่าเบื่อ ด้วยการลองกำหนดเป้าหมายใหม่ ๆ ไม่ต้องใหญ่โต อะไรก็ได้กลับมาสนุกสนานในการทำงานอีกครั้ง โดยการกำหนดเป้าหมายที่มีความท้าทายและทำให้คุณรู้สึกถึงความสำเร็จเมื่อคุณบรรลุเป้าหมายนั้น ๆ อย่างการลองหาโปรเจกต์ใหม่ ๆ ที่สนใจ มีสิ่งไหนอยากเรียนรู้เพิ่มเติม จะเกี่ยวกับงานหรือไม่ก็ได้ หรือจะเป็นอะไรที่ทำแล้ว Self love มากขึ้นก็ได้
การได้ทำสิ่งที่ชอบ นอกเหนือจากงานอาจช่วยให้คุณมีความสุขและความสนุกสนานกับชีวิตอีกครั้ง ไม่ว่าจะเป็นการท่องเที่ยว งานฝีมือ หรือกิจกรรมอื่นๆ ที่ทำให้คุณรู้สึกสดชื่นได้ อย่าลืมว่าบางครั้งการเติมเต็มความสุขทางใจ ก็ช่วยให้มวลความสุขเหล่านั้นเติมเต็มความรู้สึกเฉาในด้านอื่น ๆ ได้ ความเหนื่อยและการเบื่องานอาจจะลดลงได้ หากคุณได้ใช้ชีวิตที่ดี
รีเฟรชจิตใจแล้วจะละเลยการรีเฟรชร่างกายได้อย่างไร ประโยคที่ว่า “สุขภาพดีมีชัยไปกว่าครึ่ง” เป็นเรื่องจริงเสมอ เพราะถ้าร่างกายเราแข็งแรง กินของดีมีประโยชน์ นอนดีมีคุณภาพ และออกกำลังกายเป็นประจำ ความกระตือรือร้นและพลังงานของเราจะเกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ สุขภาพกายเฟรช สุขภาพใจย่อมสดชื่นมีแรงใจตามมา
เรื่องการดูแลสุขภาพ เชื่อว่าเป็นสิ่งพื้นฐานที่ทุกคนรู้กันดีอยู่แล้ว แต่เลือกที่จะมองข้าม ซึ่งจริง ๆ แล้วเป็นสิ่งที่สำคัญที่ควรให้ความสำคัญมาก ๆ โดยเฉพาะคนทำงานที่ชอบอ้างไม่มีเวลา เอาง่าย ๆ คือไม่ควรนั่งทำงานติดต่อกันเกินกว่า 1 ชั่วโมง ลุกขึ้นมายืดแข้งยืดขา ขยับร่างกายอยู่เสมอ ดื่มน้ำเป็นประจำ ผู้หญิง ควรดื่มวันละประมาณ 2.7 ลิตร/วัน ส่วนผู้ชายควรดื่มวันละประมาณ 3.7 ลิตร/วัน หรือลองยืดเส้นตามหลักกายภาพ ลดอาการเจ็บปวดของกล้ามเนื้อส่วนต่าง ๆ ก็ช่วยบรรเทาความเหนื่อยล้าจากการทำงานได้
ลดความน่าเบื่อในการทำงานลง ด้วยการลองปรับบรรยากาศในการทำงาน อาจจะลองจัดโต๊ะทำงานใหม่ หาอะไรกระจุกกระจิกที่เป็นความสุขไปอยู่ในที่ทำงาน หรือจะเพิ่มแสงสว่างหรือการระบายอากาศที่ดีในการทำงาน ก็ช่วยให้คนทำงานรีเฟรชขึ้นมาได้ ไม่ดูน่าเบื่อหรืออุดอู้จนเกินไป ลองขยับปรับมุม เอาที่ชอบหรืออิงตามฮวงจุ้ยก็ได้ หรือจะลองหากิจกรรมใหม่ ๆ สานสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงานมากขึ้น บางครั้งมิตรภาพดี ๆ ก็ช่วยลดการทำงานให้น่าเบื่อน้อยลงได้
อย่างที่บอกไปว่าการรับรู้ถึงสภาพจิตใจ เท่าทันความรู้สึกตัวเองคือสิ่งสำคัญของการแก้ไข อย่าละเลยความรู้สึกตัวเองไม่ว่าเรื่องเล็กหรือเรื่องใหญ่ เพราะการยอมรับว่ามีสิ่งนี้เกิดขึ้นเท่ากับว่าพร้อมที่จะแก้ไขด้วยการหาวิธีที่เหมาะสม ให้กลับมาสดชื่นและกระตือรือร้นในการทำงานและชีวิตประจำวันอีกครั้ง
อย่าทำงานจนลืมใช้ชีวิต ใช้ชีวิตที่เลือกทำในสิ่งที่มีความสุข มีสมดุลในทุก ๆ ด้าน แล้วจิตใจของจะเบาขึ้น ให้งานเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต เติมเต็มความสุขในหัวใจจากสิ่งอื่น ๆ และอย่าลืมดูแลสุขภาพกายให้แข็งแรง หากทำทั้งสองสิ่งนี้ให้ Fullfill ได้ ความเบื่อ ความเหนื่อยจากงานจะเบาบางลงไปได้