สรุปให้แล้ว! สิทธิประกันสังคมมาตรา 39 ที่ควรรู้ อัปเดต 2567

สรุปให้แล้ว! สิทธิประกันสังคมมาตรา 39 ที่ควรรู้ อัปเดต 2567
Jobsdb ทีมเนื้อหาอัปเดตเมื่อ 11 October, 2024
Share

Key Takeaway

  • ประกันตนเองมาตรา 39 เป็นประกันสังคมแบบสมัครใจสำหรับผู้ว่างงาน ที่ยังคงต้องการรักษาสิทธิ์แม้ออกจากงานแล้วก็ตาม 
  • ผู้ประกันตนเองมาตรา 39 จะต้องเป็นผู้ที่เคยมีสิทธิในประกันสังคมมาตรา 33 สำหรับผู้ที่ทำงานประจำในองค์กรต่างๆ มาก่อน 
  • สิทธิประกันสังคมมาตรา 39 จะได้รับสิทธิประโยชน์ต่างๆ เช่น การรักษาพยาบาล ทุพพลภาพ การคลอดบุตร และสงเคราะห์บุตร กรณีชราภาพ ตลอดจนกรณีการเสียชีวิต เป็นต้น 
  • ประกันสังคมมาตรา 39 ต่างจากมาตรา 40 คือ มาตรา 39 มีไว้สำหรับผู้ว่างงานที่เคยทำงานประจำ และอยู่มาตรา 33 มาก่อน แต่มาตรา 40 เป็นประกันสังคมสำหรับผู้ที่ประกอบอาชีพอิสระ หรือฟรีแลนซ์ ที่ต้องการส่งเงินสมทบ เพื่อสิทธิ และสวัสดิการของตัวเอง 

ประกันสังคม คือการสร้างความมั่นคง และหลักประกันให้กับชีวิตของเราได้ในอีกรูปแบบหนึ่ง เนื่องจากการสมาชิกเข้าระบบประกันสังคม จะมีการสะสมรายได้ส่วนหนึ่งเพื่อสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม ไว้ใช้สำหรับกรณีเกิดเหตุต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการว่างงาน การเจ็บป่วย คลอดบุตร ทุพพลภาพ ชราภาพ หรือเสียชีวิต ซึ่งประกันสังคมมีด้วยกัน 3 มาตรา ทั้งมาตรา 33 มาตรา 39 และมาตรา 40 ซึ่งแต่ละมาตราก็จะเหมาะกับสมาชิกที่แตกต่างกันไป 

ใครเพิ่งลาออกจากงานมาแล้วอยากส่งประกันสังคมต่อ ลองสมัครประกันสังคมมาตรา 39 ประกันสังคมสำหรับผู้ประกันตนแบบสมัครใจ ในบทความนี้ จะพามารู้จักประกันสังคมมาตรา 39 หรือผู้ประกันตนมาตรา 39 ว่าคืออะไร ใครเข้าข่ายมาตรา 39 บ้าง มีสิทธิประโยชน์อะไรบ้าง ช่วยคุ้มครองรูปแบบไหนได้บ้าง ต้องสมัคร หรือสมทบกองทุนแบบไหน 

ประกันสังคมมาตรา 39 คืออะไร

ประกันสังคมมาตรา 39 คืออะไร

ประกันสังคมมาตรา 39 คือการประกันตนแบบสมัครใจ โดยจะต้องเคยเป็นผู้ประกันตนในมาตรา 33 ที่ออกจากงานแล้ว แต่ยังคงต้องการรักษาสิทธิประกันสังคม โดยจะต้องส่งเงินสมทบ 432 บาท ต่อเดือน ให้ครบต่อเนื่องกัน และหากไม่ส่งเงินสมทบ 3 เดือน ติดต่อกัน หรือหากผ่านไป 1 ปีแล้ว แต่ส่งเงินสมทบไม่ถึง 9 เดือน จะถูกตัดสิทธิ์ และสิ้นสุดการเป็นผู้ประกันตนในมาตรา 39 ทันที 

คุณสมบัติของผู้ประกันตนมาตรา 39

แล้วผู้ประกันตนมาตรา 39 ต้องมีคุณสมบัติแบบไหน ใครบ้างที่เข้าข่าย และมีคุณสมบัติในการเป็นผู้ประกันตนมาตรา 39 มาเช็กคุณสมบัติได้เลย ดังนี้ 

  • เคยมีสิทธิเป็นผู้ประกันตนในประกันสังคมมาตรา 33 และส่งเงินสมทบไม่น้อยกว่า 12 เดือน
  • ออกจากงานประจำไม่เกิน 6 เดือน นับตั้งแต่วันที่ลาออกจากงาน
  • จะต้องไม่เป็นผู้รับประโยชน์ทดแทนกรณีทุพพลภาพจากกองทุนประกันสังคม
สิทธิประโยชน์ของประกันสังคมมาตรา 39

สิทธิประโยชน์ของประกันสังคมมาตรา 39

สิทธิประกันสังคมมาตรา 39 สามารถแบ่งออกเป็น 7 กรณีด้วยกัน ซึ่งแต่ละกรณี ที่ประกันสังคมช่วยคุ้มครอง จะมีอะไรบ้าง ไปดูกันได้เลย! 

1. กรณีเจ็บป่วย

ในกรณีที่เจ็บป่วย ผู้ประกันตนเองมาตรา 39 มีสิทธิที่จะได้รับค่าส่งเสริมสุขภาพ และป้องกันโรค โดยจะเป็นไปตามอัตราที่กำหนด สามารถรับสิทธิได้ตามสถานพยาบาลที่กำหนดสิทธิเลย แต่กรณีเจ็บป่วย สามารถแบ่งออกเป็นกรณีย่อยได้อีก ดังนี้

  • กรณีเจ็บป่วยปกติ สามารถเข้ารับการรักษาในสถานพยาบาลที่กำหนดสิทธิได้ฟรี โดยไม่ต้องสำรองจ่าย ทั้งผู้ป่วยใน และผู้ป่วยนอก
  • กรณีเจ็บป่วยฉุกเฉิน หากประสบอุบัติเหตุ สำหรับผู้ป่วยนอก สามารถเบิกค่ารักษาได้ตามจริง และผู้ป่วยใน เบิกได้ตามจริงภายในระยะเวลา 72 ชั่วโมง 
  • กรณีทันตกรรม สามารถรับค่าบริการทางการแพทย์ได้ตามจริง ไม่เกิน 900 บาทต่อปี 

2. กรณีคลอดบุตร

ผู้ประกันตนเองตามมาตรา 39 ได้รับสิทธิประโยชน์ในกรณีคลอดบุตร ดังนี้

  • ผู้ประกันตนหญิง จะได้รับเงินค่าคลอดบุตร 15,000 บาท และรับเงินสงเคราะห์การหยุดงาน 50% ของค่าจ้างเป็นเวลา 90 วัน และเบิกค่าตรวจ ค่าฝากครรภ์ได้สูงสุด 1,500 บาท
  • ผู้ประกันตนชาย ที่มีภรรยาจดทะเบียนสมรสถูกต้องตามกฎหมาย รับเงินค่าคลอดบุตร 15,000 บาท ซึ่งสามารถเบิกค่าตรวจ และค่าฝากครรภ์ได้สูงสุด 1,500 บาท 

3. กรณีสงเคราะห์บุตร

ในกรณีที่ผู้ประกันตนเองมาตรา 39 จะได้รับสิทธิประโยชน์เรื่องสงเคราะห์บุตรได้ มีดังนี้

รับเงินค่าสงเคราะห์บุตรคนละ 800 บาท ต่อเดือน ซึ่งจะต้องเป็นบุตรที่ชอบธรรมด้วยกฎหมาย และมีอายุไม่เกิน 6 ปี บริบูรณ์ (จำกัดครั้งละไม่เกิน 3 คน)

4. กรณีทุพพลภาพ

ผู้ประกันตนเองตามมาตรา 39 ที่เข้าข่ายคุณสมบัติตามกรณีทุพพลภาพ สามารถรับเงินชดเชยได้ ดังนี้

ทุพพลภาพเสียหายไม่รุนแรง จะได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้ คิดเป็นร้อยละ 30 หรือในส่วนที่ลดลงไม่เกินร้อยละ 30 ของค่าจ้างรายวัน ตามมาตรา 57 ซึ่งจะไม่เกิน 180 เดือน 

5. กรณีชราภาพ

สิทธิประกันสังคมมาตรา 39 ในกรณีชราภาพ จะได้รับประโยชน์ ทั้งรูปแบบเงินบำนาญ และเงินบำเหน็จ ซึ่งมีสิทธิประโยชน์ดังต่อไปนี้

  • เงินบำนาญชราภาพ เป็นเงินที่จะได้รับเป็นรายเดือนไปตลอดชีวิต โดยต้องมีการชำระเงินสมทบครบ 180 เดือน (15 ปี) ถึงจะได้รับเงินทดแทน 20% ของค่าจ้างเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย 
  • เงินบำนาญชราภาพ แบบสมทบมากกว่า 180 เดือน จะได้รับเงินทดแทนเพิ่ม 1.5% จากอัตรา 20% ในทุก 12 เดือน
  • เงินบำเหน็จจ่ายสมทบต่ำกว่า 12 เดือน จะได้รับเงินทดแทนเท่ากับจำนวนเงินที่สมทบมา
  • บำเหน็จแบบสมทบตั้งแต่ 12 เดือนขึ้นไป จะได้รับเงินทดแทนเท่ากับจำนวนเงินที่สมทบ และได้รับผลตอบแทนตามที่สำนักงานประกันสังคมได้กำหนดไว้
  • กรณีหากผู้รับบำนาญตามมาตรา 39 เสียชีวิตภายใน 60 เดือน นับตั้งแต่ที่มีสิทธิได้รับเงินทดแทนกรณีชราภาพ จะได้รับเงินบำเหน็จทดแทน 10 เท่าของเงินบำนาญชราภาพแบบรายเดือน ที่ได้รับครั้งสุดท้ายก่อนที่จะเสียชีวิต 

6. กรณีเสียชีวิต

สำหรับกรณีการเสียชีวิตของผู้ประกันตนมาตรา 39 จะต้องมีการจ่ายเงินสมทบไม่ต่ำกว่า 1 เดือน ภายใน 6 เดือน ก่อนเสียชีวิต ซึ่งจะได้รับสิทธิประโยชน์ดังต่อไปนี้

  • ผู้ประตนในมาตรา 39 ที่จ่ายเงินสมทบตั้งแต่ 36 เดือนขึ้นไป แต่ไม่ถึง 120 เดือน จะได้รับเงินสงเคราะห์ 50% ของค่าจ้างเฉลี่ย  4 เดือน และค่าทำศพ 50,000 บาท
  • ผู้ที่จ่ายเงินสมทบตั้งแต่ 120 เดือนขึ้นไป รับเงินสงเคราะห์ 50% ของค่าจ้างเฉลี่ย 12 เดือน และค่าทำศพ 50,000 บาท

7. กรณีว่างงาน

ผู้ประกันตนเองมาตรา 39 จะได้รับสิทธิประโยชน์เงินทดแทนในกรณีว่างงาน ดังต่อไปนี้ 

  • ในกรณีที่ถูกเลิกจ้างงาน จะสามารถรับเงินทดแทนในช่วงว่างงาน 70% ของค่าจ้าง ครั้งละไม่เกิน 200 วัน
  • กรณีลาออก และสิ้นสุดสัญญาจ้าง จะได้รับเงินทดแทน 45% ของค่าจ้าง ครั้งละไม่เกิน 90 วัน
  • ว่างงานเนื่องจากเหตุสุดวิสัย รับเงินทดแทนช่วงว่างงาน 50% ของค่าจ้าง ครั้งละไม่เกิน 90 วัน 

วิธีสมัครเป็นผู้ประกันตนมาตรา 39

จะเข้าสู่ระบบของผู้ประกันตนเองมาตรา 39 จะต้องสมัครอย่างไร เรามาดูวิธีการสมัคร เพื่อรับสิทธิประกันสังคมมาตรา 39 กันได้เลย! 

เอกสารที่ต้องเตรียม

เอกสารสำหรับการสมัครประกันสังคมมาตรา 39 มีดังนี้

  • แบบคำขอเป็นผู้ประกันตนเองมาตรา 39 ภายใน 6 เดือน นับจากวันที่ลาออกจากงาน (แบบ สปส.1-20)
  • บัตรประชาชน หรือบัตรอื่นๆ ที่มีรูปถ่าย ซึ่งเป็นบัตร และรูปถ่ายที่ทางราชการออกให้ พร้อมกับสำเนาบัตร 
  • หากต้องการสมทบเงินประกันสังคมมาตรา 39 แบบหักจากบัญชีเงินฝากธนาคาร จะต้องแนบสำเนาสมุดบัญชีเงินฝากที่มีชื่อ และเลขบัญชี พร้อมรับรองสำเนาถูกต้อง 

ช่องทางการสมัคร

เราสามารถสมัครเพื่อเข้าสู่ระบบประกันสังคมมาตรา 39 ได้ 2 ช่องทาง ดังนี้

  • สมัครที่สำนักงานประกันสังคมในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร หรือสาขาในจังหวัดต่างๆ ใกล้บ้าน
  • สมัครแบบออนไลน์ได้ทางเว็บไซต์ประกันสังคม 
วิธีสมัครทางออนไลน์ - ประกัน สังคม มาตรา 39

วิธีสมัครทางออนไลน์

การสมัครประกันสังคมมาตรา 39 แบบออนไลน์ สามารถทำตามขั้นตอนเพื่อสมัครเองได้ง่ายๆ ดังนี้ 

  • เข้าสู่เว็บไซต์ https://www.sso.go.th ซึ่งเป็น e-Service ของสำนักงานประกันสังคม
  • เลือกเมนู ‘สมาชิกผู้ประกันตน’
  • เลือกเมนู ‘สมัครมาตรา 39’ 
  • ตรวจสอบคุณสมบัติ และเงื่อนไขของผู้ที่มีสิทธิสมัครประกันตนเองมาตรา 39 ก็เป็นอันเสร็จสิ้น

วิธีจ่ายเงินสมทบประกันสังคมมาตรา 39

การจ่ายเงินสมทบสำหรับผู้ประกันตนมาตรา 39 สามารถชำระได้หลายช่องทาง ดังนี้ 

  • จ่ายเงินที่สำนักงานประกันสังคมใกล้บ้าน โดยจะต้องมีแบบส่งเงินสมทบฯ (สปส. 1-11) ด้วย
  • หักเงินสมทบผ่านบัญชีธนาคาร เช่น ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ธนาคารกรุงไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารไทย-ธนชาติ และธนาคารกรุงเทพ (ค่าธรรมเนียม 10 บาท)
  • ชำระเป็นเงินสดได้ที่ธนาคารที่ร่วมโครงการ ได้แก่ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ธนาคารกรุงไทย ธนาคารทหารไทยธนชาติ เป็นต้น 
  • ชำระเงินสดผ่านเคาน์เตอร์เซอร์วิส 
  • ชำระเงินที่ธนาณัติ ณ ที่ทำการไปรษณีย์ (ค่าธรรมเนียม 10 บาท)

สาเหตุที่ทำให้สิ้นสภาพการเป็นผู้ประกันตนมาตรา 39 

การที่ผู้ประกันตนเองมาตรา 39 จะต้องถูกตัดสิทธิ์ พ้นสภาพจากสิทธิประกันสังคมมาตรา 39 มีสาเหตุดังนี้

  • ไม่ส่งเงินสมทบติดต่อกัน 3 เดือน หรือภายใน 12 เดือน ส่งเงินสมทบไม่ถึง 9 ครั้ง 
  • เปลี่ยนรูปแบบประกันสังคมไปเป็นมาตรา 33 
  • ลาออก
  • เสียชีวิต
ประกันสังคมมาตรา 39 และมาตรา 40 ต่างกันอย่างไร

ประกันสังคมมาตรา 39 และมาตรา 40 ต่างกันอย่างไร

ประกันสังคมมาตรา 39 และประกันสังคมมาตรา 40 มีความแตกต่างกัน เนื่องจาก ประกันสังคมมาตรา 39 เป็นประกันสังคมสำหรับผู้ประกันตนที่เคยอยู่ในประกันสังคมมาตรา 33 มาก่อน หรือสำหรับพนักงานประจำที่ลาออกจากงาน แต่ยังคงต้องการรักษาสิทธิประกันสังคมของตัวเองเอาไว้ เพื่อการคุ้มครองอย่างต่อเนื่อง 

ในขณะที่ประกันสังคมมาตรา 40 เป็นประกันสังคมในรูปแบบที่เหมาะกับผู้ที่ประกอบอาชีพอิสระ ที่ไม่เคยเข้าสู่ระบบประกันสังคมมาก่อน แต่ต้องการที่จะสมทบเงิน เพื่อสิทธิประโยชน์ต่างๆ ตามที่สำนักงานประกันสังคมจะมอบความคุ้มครองให้ 

วิธีเช็กสถานะประกันสังคมมาตรา 39

เราจะสามารถเช็กได้ไหมว่าสถานะประกันสังคมมาตรา 39 ของเราเป็นแบบไหน? แล้วจะเช็กได้อย่างไร? ไปดูกันได้เลย 

  1. เข้าสู่เว็บไซต์สำนักงานประกันสังคม https://www.sso.go.th
  2. ‘ลงทะเบียน’ เพื่อเข้าสู่ระบบ หากเป็นผู้ใช้งานอยู่แล้ว สามารถกรอกรหัสบัตรประชาชน 13 หลัก และรหัสผ่านได้เลยทันที แต่ในกรณีที่ไม่เคยสมัครมาก่อนให้สมัครสมาชิกก่อน 
  3. กดเลือก ‘ยอมรับข้อตกลง’ ในการบริการ และเลือก ‘ถัดไป’ 
  4. ‘กรอกข้อมูลส่วนตัว’ ได้แก่ หมายเลขบัตรประชาชน 13 หลัก เบอร์โทรศัพท์มือถือ รหัสผ่าน และยืนยันรหัสผ่าน กรอกคำนำหน้า ชื่อ-นามสกุล รวมไปถึงวันเดือนปีเกิด และใส่อีเมลด้วย (ถ้ามี)
  5. เลือก ‘ถัดไป’ และรอรหัส OTP ที่ระบบจะส่งมายืนยันตัวตนผ่านเบอร์โทรศัพท์ที่กรอกไป เมื่อได้รหัส OTP มาแล้ว ให้เรา ‘กรอกหมายเลข OTP’ 
  6. ลงทะเบียนเพื่อเข้าเช็กสิทธิประกันสังคมได้เลยทันที 

นอกจากนี้ ยังสามารถเช็กสิทธิประกันสังคมมาตรา 39 ได้ผ่านแอปพลิเคชัน ‘SSO Connect’ ได้ด้วยเช่นกัน 

สรุป

ประกันสังคมมาตรา 39 เป็นประกันสังคมที่เหมาะกับผู้ที่เคยมีงานประจำ แต่ลาออกจากงาน หรืออยู่ในช่วงว่างงาน และเคยเป็นผู้ประกันตนในมาตรา 33 มาก่อน แต่ยังคงต้องการรักษาสิทธิประกันสังคมเอาไว้ ซึ่งจะได้รับความคุ้มครอง และสิทธิประกันสังคมมาตรา 39 หลากหลายกรณีตามที่สำนักงานประกันสังคมได้กำหนด 

หากใครต้องการรักษาสิทธิประกันสังคม จะต้องส่งเงินสมทบให้ครบ และไม่ควรขาดการส่งเงิน เพื่อป้องกันการถูกตัดสิทธิ์ โดยสามารถสมัครประกันสังคมได้ง่ายๆ ผ่านสำนักงานประกันสังคม หรือผ่านช่องทางออนไลน์ ทั้งนี้ ยังสามารถเช็กสิทธิประกันสังคมมาตรา 39 ได้ง่ายๆ ผ่านช่องทางออนไลน์ได้ด้วยเช่นกัน เรียกได้ว่า เป็นสิทธิดีๆ ที่เหมาะกับคนทำงาน ที่ต้องการสร้างความมั่นคง และหลักประกันชีวิตในอีกรูปแบบหนึ่งเลย

หากใครที่กำลังมองหางานดีๆ งานที่จะได้รับทั้งสวัสดิการดีๆ และสิทธิประกันสังคม Jobsdb จะช่วยให้การหางานง่ายยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะช่วยในการดูงานที่เหมาะสมกับความต้องการ สถานที่ และสภาพแวดล้อม ที่เหมาะกับเรา ที่นี่ก็สามารถจัดให้เราได้ครบ จบในที่เดียว! 

FAQ คำถามที่พบบ่อย - สิทธิประกันสังคมมาตรา 39

1.พนักงานกัมพูชา มีสิทธิทำประกันสังคมได้ไหมคะ

ตอบ : มีสิทธิทำประกันสังคมได้ค่ะ โดยลูกจ้างแรงงานต่างด้าวสัญชาติ ลาว กัมพูชา และพม่า ที่ผ่านการพิสูจน์สัญชาติ เข้ามาทำงานถูกกฎหมาย ต้องขึ้นทะเบียนผู้ประกันตน และจ่ายเงินสมทบ จะได้รับสิทธิประโยชน์ 7 กรณี

2. ส่งประกันสังคมมาตรา 33 มาปีกว่าแล้ว แล้วหนูท้องก็เลยลาออกจากงาน ลาออกได้ 4 เดือนแล้วหนูไปสมัครมาตรา 39 แล้วส่งต่อประมาณ 2 เดือน ถ้าหนูคลอดลูกหนูจะได้เงินไหมคะ

ตอบ:มีสิทธิได้รับค่ะ ผู้ประกันตนมาตรา 39 มีสิทธิได้รับเงินกรณีคลอดบุตรเช่นเดียวกับมาตรา 33 ค่ะหากส่งเงินสมทบครบตามเงื่อนไขที่ประกันสังคมระบุ กรณีคลอดบุตรต้องจ่ายเงินสมทบครบ 7 เดือน ภายใน 15 เดือนก่อนเดือนคลอดบุตร จึงจะเบิกค่าคลอดบุตรได้

บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

More from this category: แหล่งข้อมูลและเทมเพลต

เรียกดูคำค้นหาที่ได้รับความนิยม

ทราบหรือไม่ว่าผู้สมัครค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับอะไรใน Jobsdb? สำรวจคำค้นหาที่ได้รับความนิยมเพื่ออัพเดทเทรนด์ใหม่เสมอ

สมัครรับคำแนะนำด้านอาชีพ

รับคำปรึกษาด้านอาชีพจากผู้เชี่ยวชาญส่งตรงถึงอินบ็อกซ์ของคุณ
ท่านได้ยอมรับคำประกาศเกี่ยวกับการเก็บรวบรวมข้อมูลส่วนบุคคล และนโยบายความเป็นส่วนตัวเพื่อให้ข้อมูลส่วนบุคคลของท่าน หากท่านมีอายุต่ำกว่า 20 ปี ท่านได้รับความยินยอมจากผู้ปกครอง เพื่อยินยอมให้ Jobsdb และบริษัทในเครือประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคลของท่าน ท่านสามารถยกเลิกได้ทุกเวลา