ปัจจุบันนี้ผู้บริหารระดับสูงได้ให้ความสำคัญกับงานด้านกลยุทธ์มากขึ้น จึงทำให้เกิดตำแหน่ง Strategic Management ขึ้นมา หรือเราจะเรียกตำแหน่งนี้อย่างหนึ่งว่า Strategic Alignment Executive หรือ Strategic Transformation Manager อย่างไรก็ตาม เรามาดูบทบาทหน้าที่ของตำแหน่งนี้กันดีกว่าค่ะ
1. การกำหนดและวางแผนกลยุทธ์
กลยุทธ์ที่มีการกำหนดไว้อย่างดีถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี แต่กลยุทธ์ที่ดีเพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอ เพราะการนำกลยุทธ์ไปใช้ให้เกิดผล ในทางปฏิบัติก็เป็นสิ่งสำคัญ และจะต้องมีความเชื่อมโยงกันอย่างใกล้ชิดระหว่างกระบวนการในการกำหนดแผนและการนำแผนไปปฏิบัติด้วย
2. การทำให้องค์กรมีการดำเนินงานไปภายใต้ทิศทางเดียวกัน (Alignment)
ความเชื่อมโยงและสอดคล้องกันระหว่างกลยุทธ์ ผู้บริหารในหน่วยงานต่าง ๆ และบุคลากรต่าง ๆ เป็นปัจจัยสำคัญที่ก่อให้เกิดคุณค่าให้กับลูกค้า นอกจากนี้ ยังจะต้องมีการกำหนดและจัดลำดับความสำคัญของประเด็นทางด้านกลยุทธ์ที่องค์กรจะต้องมุ่งมั่นและให้ความสำคัญด้วย
3. การนำกลยุทธ์ที่ไดมีการกำหนดไปสื่อสารให้กับบุคลการในองค์กรได้ทราบ
เราจะพบว่าความสัมพันธ์ระหว่างระดับความเข้าใจของบุคลากรต่อกลยุทธ์ กับความสามารถของบุคลากรในการนำกลยุทธ์ไปสู่การปฏิบัติ ดังนั้น หน้าที่ของผู้บริหารงานกลยุทธ์ประการหนึ่งจึงไม่พ้นการสื่อสารและถ่ายทอดกลยุทธ์ให้เป็นที่รับรู้และเข้าใจของบุคลกรภายในองค์กร
4. การพัฒนาระบบในการติดตามการดำเนินงานตามกลยุทธ์
หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ การสร้างตัวชี้วัด เพื่อสะท้อนภาพของกลยุทธ์ในบางองค์กรได้มีการนำระบบ Balanced Scorecard มาใช้ ก็จะเป็นหน้าที่ของบุคคลผู้นี้ในการรับผิดชอบต่อการนำ Balanced Scorecard มาใช้ภายในองค์กร
5. การเป็นผู้รับผิดชอบต่อการพัฒนาและกำกับกระบวนการ
ในการพัฒนาแผนปฏิบัติการที่มีความเชื่อมโยงกับกลยุทธ์ขององค์กร รวมทั้งความเชื่อมโยงต่อไปยังระบบงบประมาณขององค์กรด้วย แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า บุคคลผู้นี้จะเป็นผู้เขียนกลยุทธ์และกำหนดงบประมาณ เพียงแค่เขาจะต้องเป็นผู้ดูแลความเชื่อมโยง ระหว่างกลยุทธ์แผนปฏิบัติ และงบประมาณ
6. การเป็นผู้รับผิดชอบ ดูแลการทบทวนผลการดำเนินงานขององค์กร
เนื่องจากองค์กรควรจะต้องมีกระบวนการในการทบทวนกลยุทธ์ขององค์กรอย่างสม่ำเสมอ การประชุมเพื่อทบทวนกลยุทธ์ขององค์กรนี้ จะเป็นเครื่องมือในการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของสภาวะแวดล้อมที่เกิดขึ้น
7. การเป็นผู้นำในการเปลี่ยนแปลง
โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเปลี่ยนแปลงในเชิงกลยุทธ์ ทั้งนี้ เนื่องจากการนำกลยุทธ์มาใช้ในองค์กรย่อมจะหนีไม่พ้นที่จะมีการเปลี่ยนแปลง ในด้านต่างๆ ที่เกิดขึ้น ดังนั้น ผู้ที่ทำหน้าที่เป็นผู้บริหารงานกลยุทธ์ จึงจะต้องทำหน้าที่ในการเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเปลี่ยนแปลงเชิงกลยุทธ์ (Strategic Change)
ท้ายที่สุดนี้ ท่านผู้อ่านทุกท่านลองกลับไปพิจารณาดูนะคะว่า ในองค์กรของท่านควรจะมีผู้บริหารที่ทำหน้าที่ในการบริหารงานกลยุทธ์หรือยัง? อย่างไรก็ตาม ถ้าองค์กรของท่านยังไม่มี ถ้าเป็นไปได้นะคะต้องเริ่มคิดตั้งแต่วันนี้เลยเพราะอาจจะทำให้การพัฒนาและนำกลยุทธ์ไปสู่การปฏิบัติไม่ประสบผลเท่าที่ควร
ที่มา : www.siamhrm.com