ผ่านปีใหม่กันมาแล้ว นอกจากการตั้งเป้าหมายใหม่ให้กับการทำงานและชีวิตส่วนตัวแล้ว ก็ยังมีเทศกาลยื่น “ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา” ประจำปีที่กำลังจะหมดเขตภายในวันที่ 31 มีนาคม 2566 ซึ่งการยื่นภาษีของผู้มีรายได้ถือเป็นหน้าที่ของประชาชนทุกคน โดยกรมสรรพากรก็มีกฎเกณฑ์การเรียกเก็บภาษีที่ทุกคนควรต้องรู้ ในบทความนี้เรามาดูไปพร้อมกัน เพราะตอนไปยื่นภาษีจริง ๆ จะได้ทำอย่างถูกต้อง ไม่เสียโอกาสในการลดหย่อนภาษี และสามารถจ่ายภาษีได้ครบถ้วน ตามกฎเกณฑ์ที่สรรพากรกำหนดไว้นั่นเอง
คำนวณฐานภาษี
ใครต้องเสียภาษีบ้าง ?
คำว่า “บุคคลธรรมดาที่มีเงินได้” คือ ใครก็ตามที่ทำงานและมีรายได้ กรมสรรพากรกำหนดไว้ว่า หากมีรายได้ถึงเกณฑ์ที่จะต้องเสียภาษี จะต้องทำการ “ยื่นแบบแสดงรายการภาษี” ไม่ว่ารายได้นั้นจะมาจากเงินเดือน รายได้จากการให้เช่าทรัพย์สิน รายได้ที่เป็นปันผลจากการลงทุน ดอกเบี้ยเงินฝากธนาคาร รายได้จากการรับจ๊อบเสริม หรือรายได้จากการทำธุรกิจต่าง ๆ โดยกำหนดการยื่นภาษีจะถูกแบ่งออกเป็น 2 แบบ ดังนี้
- มนุษย์เงินเดือน (ภ.ง.ด.90, ภ.ง.ด.91) ที่มีรายได้จากเงินเดือนเป็นหลัก จะยื่นแบบปีละ 1 ครั้ง ภายในวันที่ 31 มีนาคม ของปีถัดไป
- เจ้าของกิจการหรือใครก็ตามที่มีรายได้หลักเป็นการให้เช่าทรัพย์สิน เงินได้จากวิชาชีพอิสระ เงินได้จากการรับเหมา เงินได้จากธุรกิจ การพาณิชย์ (ภ.ง.ด.94) แบบนี้จะต้องยื่นภาษี 2 ครั้ง คือ ยื่นตอนกลางปีภายในเดือนกันยายนของทุกปี และช่วงท้ายปีก่อน 31 มีนาคม ของปีถัดไป เพื่อเป็นการสำรุปรายได้ทั้งหมดที่เกิดขึ้นในช่วงปีที่ผ่านมา
มีรายได้เท่าไหร่ถึงต้องจ่ายภาษี
หากเป็นบุคคลธรรมดาที่มีรายได้ตั้งแต่ 10,000 บาทขึ้นไป จะต้องทำการ “ยื่นแบบแสดงรายการภาษี” ตามกฎหมาย โดยวิธีการคำนวณภาษีจะใช้สูตร
เงินได้สุทธิ x อัตราภาษี = ภาษีที่ต้องจ่าย
ซึ่งเงินได้สุทธิ คิดจากรายได้ที่คุณหาได้ทั้งหมดนำมารวมกัน และหักเอาค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนต่าง ๆ ออก ส่วนอัตราภาษีที่ประเทศไทยเรียกเก็บจะมีอยู่ด้วยกัน 2 แบบ คือ
- คิดอัตราภาษีแบบขั้นบันได (ภ.ง.ด.90, ภ.ง.ด.91) ซึ่งพนักงานออฟฟิศและผู้มีรายได้ประจำส่วนใหญ่ใช้วิธีคำนวณนี้
- คิดอัตราภาษีแบบเหมา (ภ.ง.ด.94) สำหรับผู้ที่มีรายได้นอกเหนือจากเงินเดือน หรือเงินได้ประเภทที่ 1
วิธีคิดอัตราภาษีแบบขั้นบันได
เงินได้สุทธิ | อัตราภาษี |
0 – 150,000 บาท | ได้รับการยกเว้นภาษี |
150,000 – 300,000 บาท | 5% |
300,001 – 500,000 บาท | 10% |
500,001 – 750,000 บาท | 15% |
750,001 – 1,000,000 บาท | 20% |
1,000,001 – 2,000,000 บาท | 25% |
2,000,001 – 5,000,000 บาท | 30% |
มากกว่า 5 ล้านบาท | 35% |
โดยที่การจ่ายภาษี จะต้องจ่ายแบบขั้นบันได กล่าวคือ นำภาษีที่ต้องเสียในแต่ละขั้นรายได้มารวมกันเพื่อคำนวณเป็นภาษีที่ต้องจ่ายทั้งหมด ยกตัวอย่างเช่น คุณมีเงินได้สุทธิ 750,000 บาท คุณต้องคำนวณภาษี คือ
(เงินได้สุทธิ – เพดานเงินได้สุทธิในขั้นก่อนหน้า) x อัตราภาษี = เงินภาษีที่ต้องจ่าย
เงินได้สุทธิ | อัตราภาษี | สูตรคำนวณ | จำนวนเงินภาษีที่ต้องจ่าย |
0 – 150,000 บาท | ได้รับการยกเว้นภาษี | - | 0 บาท |
150,000 – 300,000 บาท | 5% | (300,000 - 150,000) x 5% | 7,500 บาท |
300,001 – 500,000 บาท | 10% | (500,000 – 300,000) x 10% | 27,500 บาท |
500,001 – 750,000 บาท | 15% | (750,000 – 500,000) x 15% | 65,000 บาท |
| | รวมภาษีที่ต้องเสีย | 100,000 บาท |
วิธีคิดอัตราภาษีแบบเหมา
จะใช้วิธีการคิดอัตราภาษีแบบเหมาก็ต่อเมื่อ คุณมีรายได้ทางอื่นที่นอกเหนือจากเงินเดือนรวมกันมีมากกว่า 120,000 บาทขึ้นไป ให้คำนวนในอัตราร้อยละ 0.5 ของยอดเงินได้พึงประเมิน ตามสูตรนี้
(เงินได้ทุกประเภท – เงินเดือน) x 0.005 =ภาษีแบบเหมา
ข้อควรระวังในการคิดวิธีคิดอัตราภาษีแบบเหมา
- จะต้องคำนวณจากรายได้ทางอื่น ๆ ที่ไม่ใช่เงินเดือนเท่านั้น
- หากคำนวณแบบเหมาออกมาแล้ว มีภาษีที่ต้องเสียไม่เกิน 5,000 บาท จะได้รับการยกเว้นภาษีที่เกิดขึ้นจากการคำนวณวิธีนี้
การเลือกจ่ายภาษีจากวิธีการคำนวณ
กรณีที่คุณมีรายได้จากทั้งเงินเดือน และยังมีรายได้ทางอื่นมากกว่า 120,000 บาท คุณจะต้องคำนวณภาษีจากทั้ง 2 วิธี และเมื่อได้ยอดภาษีที่ต้องเสียจากทั้ง 2 วิธีออกมาแล้ว ให้คุณเลือกจ่ายภาษีในยอดที่สูงกว่าตามหลักเกณฑ์ของกรมสรรพากร
รายการลดหย่อนภาษี ปี 2565
ถ้าคำนวณภาษีจากรายได้อย่างเดียว ก็จะทำให้คุณต้องเสียภาษีเป็นเงินก้อนใหญ่ กรมสรรพากรจึงได้มีรายการค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่อนุญาตให้นำมาใช้ลดหย่อนภาษีหักออกจากรายได้ เหลือเป็นเงินได้สุทธิมาคำนวณภาษี ซึ่งรายการลดหย่อนต่าง ๆ สามารถดูได้ตามหัวข้อ ดังนี้
1. ค่าลดหย่อนภาษีส่วนตัวและครอบครัว
- ค่าลดหย่อนส่วนตัว จำนวน 60,000 บาท สามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้โดยไม่มีเงื่อนไขใด ๆ
- ค่าลดหย่อนคู่สมรส จำนวน 60,000 บาท สำหรับคู่สมรสที่จดทะเบียนสมรสถูกต้องตามกฎหมาย และคู่สมรสจะต้องไม่มีรายได้ (ได้สูงสุด 1 คน)
- ค่าลดหย่อนฝากครรภ์และคลอดบุตร ที่จ่ายให้กับสถานพยาบาลของรัฐหรือเอกชน สามารถลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง รวมสูงสุดไม่เกินครรภ์ละ 60,000 บาท (ทั้งนี้การตั้งครรภ์ลูกแฝดจะนับว่าเป็นครรภ์เดียว) โดยสามีสามารถลดหย่อนภาษีในกรณีที่ภรรยาไม่มีเงินได้
- ค่าลดหย่อนภาษีบุตร คนละ 30,000 บาท โดยจะต้องเป็นบุตรโดยกฎหมายหรือบุตรบุญธรรม และบุตรมีอายุไม่เกิน 20 ปี หรืออายุไม่เกิน 25 ปี และกำลังศึกษาอยู่ หรือในกรณีที่บุตรอายุเกิน 25 ปี ขึ้นไป แต่มีสถานะเป็นบุคคลไร้ความสามารถ หรือเสมือนไร้ความสามารถ ก็สามารถลดหย่อนภาษีได้ ในกรณีบุตรคนที่ 2 ขึ้นไปที่เกิดตั้งแต่ปี พ.ศ. 2561 เป็นต้นไป สามารถลดหย่อนได้คนละ 60,000 บาท
oกรณีมีเฉพาะบุตรชอบด้วยกฎหมาย:สามารถใช้สิทธิลดหย่อนบุตรกี่คนก็ได้ตามจำนวนบุตรจริง
oกรณีมีเฉพาะบุตรบุญธรรม:สามารถใช้สิทธิลดหย่อนบุตรได้คนละ 30,000 บาท สูงสุด 3 คน
oกรณีมีทั้งบุตรชอบด้วยกฎหมายและบุตรบุญธรรม:ให้ใช้สิทธิบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายก่อน และหากบุตรบุญธรรมเป็นคนที่ 4 จะไม่สามารถใช้สิทธิได้ แต่ถ้าบุตรบุญธรรมอยู่ในคนที่ 1-3 สามารถใช้สิทธิบุตรบุญธรรมได้
- ค่าลดหย่อนสำหรับเลี้ยงดูบิดามารดาของตนเองและของคู่สมรส จำนวนคนละ 30,000 บาท สูงสุดไม่เกิน 4 คน กล่าวคือ สามารถลดหย่อนได้สูงสุดไม่เกิน 120,000 บาท (และจะต้องไม่ใช่พ่อแม่บุญธรรม) โดยบิดามารดาจะต้องมาอายุมากกว่า 60 ปี และมีรายได้ต่อปีไม่เกิน 30,000 บาท ซึ่งไม่สามารถใช้สิทธิลดหย่อนซ้ำระหว่างพี่น้องได้
- ค่าลดหย่อนภาษีกรณีอุปการะผู้พิการหรือบุคคลทุพลภาพ จำนวนคนละ 60,000 บาท และผู้พิการจะต้องมีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาทต่อปี และมีบัตรประจำตัวผู้พิการ รวมถึงจะต้องมีหนังสือรับรองการเป็นผู้อุปการะ
2. ค่าลดหย่อนภาษีกลุ่มประกัน เงินออม และการลงทุน
- เงินประกันสังคม สามารถลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริง สูงสุดไม่เกิน 6,300 บาท (จากปกติ 9,000 บาท) เนื่องจากปี พ.ศ. 2565 มีการปรับลดอัตราเงินสะสมประกันสังคม
- เบี้ยประกันชีวิตและประกันแบบสะสมทรัพย์ ลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริงสูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท โดยเงื่อนไขของค่าลดหย่อนประกันชีวิตคือ ต้องมีระยะเวลาคุ้มครอง 10 ปีขึ้นไป ต้องทำประกันกับบริษัทประกันชีวิตในประเทศไทย และถ้าหากมีการเวนคืนกรมธรรม์ก่อนครบ 10 ปี จะถือว่าเป็นการผิดเงื่อนไข ไม่สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้
- เบี้ยประกันสุขภาพ และเบี้ยประกันอุบัติเหตุที่คุ้มครองสุขภาพ ลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริงสูงสุดไม่เกิน 25,000 บาท และเมื่อรวมกับประกันชีวิตและประกันแบบสะสมทรัพย์ ต้องไม่เกิน 100,000 บาท
- เบี้ยประกันสุขภาพของบิดามารดา ลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง สูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท (บิดามารดามีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาทต่อปี แต่ไม่จำเป็นต้องมีอายุ 60 ปีขึ้นไป)
- เบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ 15% ของเงินได้ ตามที่จ่ายจริง สูงสุดไม่เกิน 200,000 บาท โดยเงื่อนไขของค่าลดหย่อนประกันชีวิตคือ ต้องมีระยะเวลาคุ้มครอง 10 ปีขึ้นไป ต้องทำประกันกับบริษัทประกันชีวิตในประเทศไทย และมีการจ่ายผลประโยชน์เป็นรายงวดอย่างสม่ำเสมอ
- กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF : Retirement Mutual Fund) สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ 30% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษี ตามที่จ่ายจริง สูงสุดไม่เกิน 500,000 บาท
- กองทุนรวมเพื่อการออม (SSF : Super Saving Funds) เป็นกองทุนเพื่อส่งเสริมการออมระยะยาว สามารถนำมาลดหย่อนได้ 30% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษี ตามที่จ่ายจริงสูงสุดไม่เกิน 200,000 บาท
- กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD) / กองทุนบำเหน็จบำนาญราชการ (กบข.) / กองทุนสงเคราะห์ครูโรงเรียนเอกชน สามารถนำมาลดหย่อนได้ 15% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษี ตามจำนวนที่จ่ายจริง สูงสุดไม่เกิน 500,000 บาท
- กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ตามที่จ่ายจริง สูงสุดไม่เกิน 13,200 บาท
- เงินลงทุนธุรกิจ Social Enterprise (วิสาหกิจเพื่อสังคม) สำหรับผู้ที่ลงทุนในหุ้นหรือธุรกิจ Social Enterprise ตั้งแต่ปี 2564 เป็นต้นไป สามารถนำเงินลงทุนไปเป็นค่าลดหย่อนได้ โดยลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง สูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท
3. ค่าลดหย่อนภาษีกลุ่มเงินบริจาค
- เงินบริจาคทั่วไป ลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง สูงสุดไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังจากหักค่าลดหย่อนภาษี
- เงินบริจาคเพื่อการศึกษา การกีฬา การพัฒนาสังคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ และบริจาคเพื่อสถานพยาบาลของรัฐ สามารถนำมาลดหย่อนได้ 2 เท่าของเงินบริจาคจริง สูงสุดไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังจากหักค่าลดหย่อนภาษี
- เงินบริจาคให้กับพรรคการเมือง นำมาลดหย่อนได้สูงสุดไม่เกิน 10,000 บาท ซึ่งมาจากมาตรา 70 ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 ซึ่งกำหนดไว้ว่า ผู้บริจาคเงินให้แก่พรรคการเมืองสามารถนำจำนวนเงินบริจาคไปหักเป็นค่าลดหย่อนภาษีหรือรายจ่ายเพื่อการบริจาคตามที่กำหนดในประมวลรัษฎากร
4. ค่าลดหย่อนกลุ่มกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐ
- โครงการช้อปดีมีคืน 2565 สามารถลดหย่อนได้ไม่เกิน 30,000 บาท สำหรับค่าซื้อสินค้าและบริการในประเทศ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 15 กุมภาพันธ์ 2565 ตามที่จ่ายจริง โดยสินค้าและบริการที่สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ ได้แก่ สินค้าและบริการที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) สินค้า OTOP และสินค้าหมวดหนังสือ (รวมถึง E-Book)
- ดอกเบี้ยกู้ยืมเพื่อซื้อหรือสร้างที่อยู่อาศัย เช่น บ้านเดี่ยว คอนโด ห้องชุด และอาคาร เป็นต้น สามารถลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง สูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท
ในแต่ละปีค่าลดหย่อนในกลุ่มกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐจะมีไม่เหมือนกัน เนื่องจากจะเปลี่ยนแปลงตามนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจช่วงนั้น ๆ ของรัฐบาล ดังนั้นขอให้หมั่นติดตามข่าวสารเรื่องภาษีและค่าลดหย่อนให้ดี เพื่อที่คุณจะได้ไม่พลาดใช้สิทธิลดหย่อนและมีเงินในกระเป๋าตอนปลายปีมากกว่าเดิม ทั้งนี้เมื่อใช้สิทธิลดหย่อนภาษีไปแล้วอย่าลืม ตรวจสอบคืนภาษี กันด้วยว่าได้เท่าไหร่ ตรงหรือไม่
ที่มา: https://www.rd.go.th/557.html
ดาวน์โหลดได้แล้ววันนี้ทั้ง iOS และ Android
คว้างานที่ใช่ ด้วยการค้นหางานที่ง่ายและรวดเร็ว พร้อมทั้งจัดการเรซูเม่อย่างมีประสิทธิภาพ ให้คุณอัปโหลด ดู และลบได้ทุกเมื่อที่ต้องการ เพลิดเพลินไปกับประสบการณ์การใช้งานแสนง่าย ด้วยระบบ AI ใหม่ ช่วยค้นหางานที่ตรงใจมากขึ้นถึง 6 เท่า
https://th.jobsdb.com/th-th/articles/%e0%b9%80%e0%b8%aa%e0%b8%b5%e0%b8%a2%e0%b8%a0%e0%b8%b2%e0%b8%a9%e0%b8%b5%e0%b8%82%e0%b8%ad%e0%b8%87%e0%b8%a3%e0%b8%b2%e0%b8%87%e0%b8%a7%e0%b8%b1%e0%b8%a5/
https://th.jobsdb.com/th-th/articles/%e0%b8%ad%e0%b8%ad%e0%b8%81%e0%b9%83%e0%b8%9a%e0%b8%81%e0%b8%b3%e0%b8%81%e0%b8%b1%e0%b8%9a%e0%b8%a0%e0%b8%b2%e0%b8%a9%e0%b8%b5%e0%b8%9c%e0%b8%b4%e0%b8%94/