“ภาษี” เป็นหน้าที่พื้นฐานของประชาชนที่จะต้องจ่ายให้รัฐเพื่อนำไปบริหารประเทศ ทำให้ในชีวิตของเราหลีกเลี่ยงที่จะจ่ายภาษีไม่ได้ โดยเฉพาะเจ้าของธุรกิจ มนุษย์ทำงาน ฟรีแลนซ์หรือพนักงานออฟฟิศ ที่เมื่อมีรายได้ ก็จำเป็นจะต้องเสีย ภาษีหัก ณ ที่จ่าย ด้วยกันทั้งนั้น จะเรียกได้ว่าเป็นภาษีพื้นฐานใกล้เคียงกับภาษีมูลค่าเพิ่มเลยก็ได้ และทุก ๆ ต้นปียังเป็นช่วงเวลาแห่งการยื่นภาษีที่บุคคลที่มีรายได้ทุกคนต้องทำ เมื่อเรื่องภาษีเป็นเรื่องใกล้ตัวขนาดนี้ มารู้จัก ภาษีหัก ณ ที่จ่ายเงินเดือน ให้ดีกว่านี้กันดีกว่า
ภาษีหัก ณ ที่จ่ายเงินเดือน
ภาษีหัก ณ ที่จ่าย เกิดจากแนวคิดที่ว่า จะมีการหักภาษีไว้ทุกครั้งเมื่อมีการจ่ายเงิน นั่นหมายความว่า ถ้ามีใครจ่ายเงินเดือน หรือค่าจ้างใด ๆ ให้แก่คุณ คนที่จ่ายเงินหรือเจ้าของธุรกิจจะต้องหักภาษีไว้ส่วนหนึ่งทันทีเพื่อรอส่งให้กรมสรรพากร ที่ต้องเป็นเช่นนี้ก็เพราะว่า ในมุมของภาษีมองว่า พอมีการจ่ายเงินเกิดขึ้นแล้ว ฝั่งคนที่รับเงินถือว่ามีรายได้ ซึ่งคนที่มีรายได้ตามเกณฑ์ที่กรมสรรพากรกำหนดจะต้องส่งภาษีสิ้นปี ตามแบบ ภ.ง.ด. 90, 91 กรณีเป็นบุคคลธรรมดา หรือ ภ.ง.ด. 50 กรณีเป็นนิติบุคคล
ตามมาตรา 50 แห่งกฎหมายประมวลรัษฎากรกำหนดให้บุคคล ห้างหุ้นส่วน บริษัท สมาคม หรือคณะบุคคลซึ่งเป็นผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 ต้องหักภาษีเงินได้ไว้ทุกคราวที่จ่ายเงินได้พึงประเมิน ทำให้แทนที่สรรพากรจะต้องรอให้ทุกคนยื่นส่งภาษีตอนสิ้นปี ก็ปรับเปลี่ยนให้ ผู้จ่ายเงินเป็นเหมือนตัวแทนของรัฐที่ทำหน้าที่เก็บเงินภาษีส่งในทุก ๆ เดือนไปก่อน ในรูปแบบของ ภาษีหัก ณ ที่จ่าย ซึ่งถือว่าได้ประโยชน์กันทั้งผู้จ่ายภาษีและรัฐบาล เพราะรัฐบาลเองก็จะได้มีสภาพคล่องจากเงินภาษีที่เข้ารัฐบาลอย่างต่อเนื่อง ส่วนผู้เสียภาษีเองก็ไม่ต้องรอจ่ายภาษีทีเดียวตอนสิ้นปี ซึ่งอาจจะเป็นเงินก้อนใหญ่ที่ต้องจ่ายในครั้งเดียว แต่ถูกหักเงินจำนวนไม่มากในแต่ละครั้งที่ได้รับเงินเดือน อาจช่วยให้สามารถบริหารเงินได้ดีกว่า และหากมีส่วนที่จ่ายเกินไปก็สามารถมายื่นขอคืนทีหลังได้
สำหรับพนักงานประจำของบริษัทที่จะต้องได้รับเงินเดือนในทุก ๆ เดือน ถือเป็นเงินได้ตามมาตรา 40 (1) และหากเงินเดือนของพนักงานถึงเกณฑ์ที่กำหนด บริษัทผู้เป็นนายจ้างจะต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้ทุกเดือน ก่อนมอบเงินเดือนให้แก่พนักงาน ยิ่งไปกว่านั้น การจ้างและจ่ายเงินต่อเนื่อง เช่น เงินเดือน หรือการจ้างรายวัน จัดเป็นการจ้างและจ่ายเงินในที่จะต้องคิดภาษีในรูปแบบอัตราก้าวหน้าตามที่กฎหมายกำหนด
ก่อนที่จะเข้าสู่การคำนวณภาษีอัตราก้าวหน้า จะต้องรู้ว่ารายได้ทั้งปีมีเท่าไหร่ ซึ่งสำหรับมนุษย์เงินเดือนที่มีรายได้จากเงินเดือนเป็นหลักก็สามารถเอาเงินเดือนแต่ละเดือนมาคูณ 12 ได้เลย หากมีรายได้ทางอื่นเช่น ปันผลจากหุ้น หรือเงินค่าจ้างอื่น ๆ ก็ค่อยนำมาบวกเพิ่ม จากนั้นก็นำมาหักค่าใช้จ่ายตามที่กรมสรรพากรกำหนดและหักค่าลดหย่อนต่อไป
สมการที่จะใช้คิดภาษีก็คือ
รายได้ทั้งปี - ค่าใช้จ่าย - ค่าลดหย่อนส่วนตัว - เงินประกันสังคม = รายได้สุทธิ
นอกจากรายได้ทั้งปีแล้ว ก็ยังมีคำศัพท์อื่น ๆ อย่าง ค่าใช้จ่าย ค่าลดหย่อนส่วนตัว เงินประกันสังคม ที่เอามาใช้คำนวณภาษี มาดูกันว่าคำเหล่านี้หมายถึงอะไรกันบ้าง
ปกติบุคคลธรรมดาถ้ามีรายได้เป็นเงินเดือน สรรพากรกำหนดให้หักค่าใช้จ่ายเป็นจำนวนเงิน 50% ของรายได้ แต่สูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท
ปกติแล้วกรมสรรพากรจะกำหนดให้นำมาหักค่าได้อยู่ที่จำนวน 60,000 บาท แต่ก็ยังมีรายจ่ายอื่น ๆ เช่น รายจ่ายเพิ่มเติมด้านสุขภาพ อย่างการซื้อประกันสุขภาพ รายจ่ายให้ครอบครัว เช่น การเลี้ยงดูพ่อแม่ รายจ่ายที่หมดไปกับที่อยู่อาศัย เช่น เงินกู้ผ่อนบ้าน และรายจ่ายอื่น ๆ ตามนโยบายของรัฐบาลในแต่ละช่วงที่สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้
ถ้าอยู่ในระบบประกันสังคม ก็จะลดหย่อนได้ทั้งจำนวนที่จ่ายสมทบเข้าประกันสังคม แต่ไม่เกิน 9,000 บาท เช่น ถ้าสมทบประกันสังคมอยู่ที่ 5% และฐานค่าจ้างเกิน 15,000 บาท ก็จะหักค่าลดหย่อนประกันสังคมที่จ่ายทั้งปีเท่ากับ 9,000 บาท (750 x 12 เดือน) เป็นต้น
สมมติว่าพนักงาน A ได้รับเงินเดือนต่อเดือนอยู่ที่ 40,000 บาท และพนักงาน A เป็นคนโสด และไม่มีค่าลดหย่อนประเภทอื่น จะสามารถคำนวณภาษีได้ดังนี้
รายการ | จำนวนเงิน |
เงินเดือน | 480,000 บาท/ปี |
หัก ค่าใช้จ่าย | 100,000 บาท |
คงเหลือ | 380,000 บาท |
หัก ค่าลดหย่อนส่วนตัว | 60,000 บาท |
หัก ประกันสังคม | 9,000 บาท |
ยอดสุทธิ | 311,000 บาท |
เมื่อได้ เงินได้สุทธิ มาแล้ว ซึ่งในตัวอย่างคือ 311,000 บาท ก็ให้นำเงินจำนวนนี้มาคำนวณภาษีตามบันไดภาษีอัตราก้าวหน้าดังนี้
เงินได้สุทธิต่อปี | อัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา | ภาษีที่ต้องจ่าย |
0-150,000 บาท | ได้รับการยกเว้น | - |
150,001-300,000 บาท | 5% | 150,000 x 5% = 7,500 |
300,001-500,000 บาท | 10% | 11,000 x 10% = 1,100 |
500,001-750,000 บาท | 15% | - |
750,001-1,000,000 บาท | 20% | - |
1,000,001-2,000,000 บาท | 25% | - |
2,000,001-5,000,000 บาท | 30% | - |
5,000,001 บาทขึ้นไป | 35% | - |
ทำให้พนักงาน A จะต้องเสียภาษีตามรูปแบบภาษีอัตราก้าวหน้าทั้งปีอยู่ที่ 7,500 + 1,100 = 8,600 บาท
เท่ากับว่าพนักงาน A จะต้องจ่ายภาษีหัก ณ ที่จ่ายต่อเดือนอยู่ที่เดือนละ 716.67 บาท
บริษัทต้องออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ให้พนักงานทุกเดือนหรือไม่?
ตามหลักการแล้ว เมื่อบริษัทนิติบุคคลมีการซื้อขาย หรือมีการจ่ายเงินให้ผู้รับ ผู้จ่ายเงินจะต้องทำการหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้ส่วนหนึ่งตามอัตราภาษีแต่ละประเภท และออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย (50 ทวิ) ให้ผู้รับไปพร้อมกับเงินทันที
แต่สำหรับกรณีพนักงานประจำ เจ้าของธุรกิจ "ไม่จำเป็น" ต้องออกหนังสือรับรอง ณ ที่จ่าย ทุกเดือน เพราะพนักงานสามารถดูรายละเอียดการจ่ายเงินเดือน การหักภาษีและประกันสังคมได้ที่ สลิปเงินเดือน ของทุกเดือนอยู่แล้ว ทำให้บริษัทสามารถออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย หรือใบ 50 ทวิ ครั้งเดียว เพื่อเป็นหลักฐานให้พนักงานเงินเดือนใช้ยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตอนสิ้นปี (ภ.ง.ด. 90/91) ซึ่งเกณฑ์การออกใบ 50 ทวิ สามารถทำได้ดังนี้
ส่วนพนักงานฟรีแลนซ์ ที่มีการจ้างเป็นครั้งคราวและจ่ายครั้งเดียว เพื่อให้สามารถนำค่าจ้างมาลงบันทึกบัญชีได้อย่างถูกต้อง บริษัทควรมีหลักฐานการจ่ายเงินที่สามารถพิสูจน์ผู้รับเงินได้ เช่น ใบสำคัญรับโดยให้มีลายเซ็นของผู้รับเงิน และเก็บหลักฐานสำเนาบัตรประชาชนผู้รับเงินไว้ พร้อมออกหนังสือรับรองหัก ณ ที่จ่ายให้ทุกครั้ง วิธีนี้ผู้รับเงินเองก็ได้จะมีหลักฐานไว้ไปใช้ยื่นภาษีตอนปลายปีอีกด้วย
เมื่อสิ้นปีมาถึง อย่าลืมไปยื่นภาษีรายได้กันนะคะ โดยสามารถยื่นภาษีออนไลน์ได้ผ่านทาง เว็บไซต์สรรพากร (https://efiling.rd.go.th/rd-cms/) หรือหากยังอยากทำความเข้าใจการหักภาษี ณ ที่จ่าย จากกรมสรรพากรโดยตรง ก็สามารถดาวน์โหลดคู่มือได้ที่นี่ค่ะ (https://www.rd.go.th/fileadmin/download/insight_pasi/wht_3_53_030260.pdf)
ดาวน์โหลดได้แล้ววันนี้ทั้ง iOS และ Android
เลือกงานที่ใช่ ใช้ชีวิตที่ชอบ ด้วยการค้นหางานที่ง่ายและรวดเร็ว พร้อมทั้งจัดการเรซูเม่อย่างมีประสิทธิภาพ ให้คุณอัปโหลด ดู และลบได้ทุกเมื่อที่ต้องการ เพลิดเพลินไปกับประสบการณ์การใช้งานแสนง่าย ด้วยระบบ AI ใหม่ ช่วยค้นหางานที่ตรงใจมากขึ้นถึง 6 เท่า
https://th.jobsdb.com/th-th/articles/%e0%b8%ad%e0%b8%ad%e0%b8%81%e0%b9%83%e0%b8%9a%e0%b8%81%e0%b8%b3%e0%b8%81%e0%b8%b1%e0%b8%9a%e0%b8%a0%e0%b8%b2%e0%b8%a9%e0%b8%b5%e0%b8%9c%e0%b8%b4%e0%b8%94/
https://th.jobsdb.com/th-th/articles/%e0%b8%97%e0%b8%b3%e0%b9%83%e0%b8%9a%e0%b8%81%e0%b8%b3%e0%b8%81%e0%b8%b1%e0%b8%9a%e0%b8%a0%e0%b8%b2%e0%b8%a9%e0%b8%b5%e0%b8%ab%e0%b8%b2%e0%b8%a2-%e0%b8%95%e0%b9%89%e0%b8%ad%e0%b8%87%e0%b8%97%e0%b8%b3/
https://th.jobsdb.com/th-th/articles/%e0%b9%80%e0%b8%aa%e0%b8%b5%e0%b8%a2%e0%b8%a0%e0%b8%b2%e0%b8%a9%e0%b8%b5%e0%b8%82%e0%b8%ad%e0%b8%87%e0%b8%a3%e0%b8%b2%e0%b8%87%e0%b8%a7%e0%b8%b1%e0%b8%a5/