สรุปมาแล้ว! กฎหมายแรงงาน ที่จำเป็นต้องรู้ ฉบับอัปเดตล่าสุดปี 2567

สรุปมาแล้ว! กฎหมายแรงงาน ที่จำเป็นต้องรู้ ฉบับอัปเดตล่าสุดปี 2567
Jobsdb ทีมเนื้อหาอัปเดตเมื่อ 11 October, 2024
Share

Key Takeaway

  • กฎหมายแรงงาน คือกฎหมายที่มีการบัญญัติสิทธิและหน้าที่ ระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง โดยมีการกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำในการใช้แรงงานและค่าจ้าง เพื่อความปลอดภัยและความเป็นธรรมต่อลูกจ้าง
  • กฎหมายแรงงานคือข้อกำหนดเรื่องการจ่ายค่าจ้างไม่ต่ำกว่าอัตราขั้นต่ำ เงินชดเชยเมื่อถูกเลิกจ้าง สิทธิแรงงานเด็กและแรงงานหญิง รวมถึงสิทธิการลางาน ทั้งลากิจ ลาพักร้อน ลาป่วย ลาคลอด ลาไปทำหมัน หรือลาไปรับราชการทหาร
  • ลูกจ้างทุกคน ควรศึกษากฎหมายแรงงานไว้เพื่อให้ป้องกันการเอารัดเอาเปรียบจากนายจ้าง และสามารถไปแจ้งที่กรมแรงงานแล้วเอาผิดกับนายจ้างได้เมื่อเกิดเหตุการณ์ที่ไม่เป็นธรรม
  • JobsDB ช่วยหางานที่ตอบโจทย์ความต้องการ ทั้งสวัสดิการการลางานและค่าจ้างที่เหมาะสม ด้วยฟีเจอร์ช่วยหางานที่สามารถหางานตามตำแหน่ง ทำเลที่ต้องการ รับรองว่าจะได้งานที่ใช่ พร้อมสวัสดิการตามกฎหมายแรงงานแน่นอน 

หลายคนอาจคิดว่าเรื่องกฎหมายเป็นอะไรที่เข้าใจยาก แต่เรื่องกฎหมายเป็นศาสตร์ที่จำเป็นต้องทำความเข้าใจ เพื่อให้ไม่มีใครมาเอาเปรียบได้ โดยนายจ้างและลูกจ้างทุกคนควรรู้! สำหรับใครที่ทำงานประจำหรืองานพาร์ตไทม์ มาทำความเข้าใจกฎหมายคุ้มครองแรงงาน ฉบับอัปเดตล่าสุดปี 2567 กัน

บทความนี้ได้สรุปกฎหมายแรงงานมาให้อ่านกันแบบเข้าใจง่ายๆ เพื่อป้องกันความไม่เป็นธรรมหรือโดนเอาเปรียบในที่ทำงาน เพื่อยกระดับชีวิตการทำงาน ให้ลูกจ้างทุกคนได้รับผลประโยชน์ในสิ่งที่ควรจะได้รับอย่างเต็มที่มากที่สุด

1. กฎหมายแรงงาน — อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ

กฎหมายแรงงาน — อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ

สำหรับกฎหมายแรงงานในเรื่องอัตราค่าแรงขั้นต่ำฉบับล่าสุด จะแบ่งไปตามพื้นที่แต่ละจังหวัด โดยมีการกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำทั่วประเทศ ดังนี้

  • จังหวัดที่มีอัตราค่าแรงขั้นต่ำ 370 บาท ได้แก่ ภูเก็ต
  • จังหวัดที่มีอัตราค่าแรงขั้นต่ำ 363 บาท ได้แก่ กรุงเทพมหานคร นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ และสมุทรสาคร
  • จังหวัดที่มีอัตราค่าแรงขั้นต่ำ 361 บาท ได้แก่ ชลบุรี และระยอง
  • จังหวัดที่มีอัตราค่าแรงขั้นต่ำ 352 บาท ได้แก่ นครราชสีมา
  • จังหวัดที่มีอัตราค่าแรงขั้นต่ำ 351 บาท ได้แก่ สมุทรสงคราม
  • จังหวัดที่มีอัตราค่าแรงขั้นต่ำ 350 บาท ได้แก่ พระนครศรีอยุธยา สระบุรี ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี ขอนแก่น และเชียงใหม่
  • จังหวัดที่มีอัตราค่าแรงขั้นต่ำ 349 บาท ได้แก่ ลพบุรี
  • จังหวัดที่มีอัตราค่าแรงขั้นต่ำ 348 บาท ได้แก่ สุพรรณบุรี นครนายก และหนองคาย
  • จังหวัดที่มีอัตราค่าแรงขั้นต่ำ 347 บาท ได้แก่ กระบี่ และตราด
  • จังหวัดที่มีอัตราค่าแรงขั้นต่ำ 345 บาท ได้แก่ กาญจนบุรี ประจวบคีรีขันธ์ สุราษฎร์ธานี สงขลา พังงาจันทบุรี สระแก้ว นครพนม มุกดาหาร สกลนคร บุรีรัมย์ อุบลราชธานี เชียงราย ตาก และพิษณุโลก
  • จังหวัดที่มีอัตราค่าแรงขั้นต่ำ 344 บาท ได้แก่ เพชรบุรี ชุมพร และสุรินทร์
  • จังหวัดที่มีอัตราค่าแรงขั้นต่ำ 343 บาท ได้แก่ ยโสธร ลำพูน และนครสวรรค์
  • จังหวัดที่มีอัตราค่าแรงขั้นต่ำ 342 บาท ได้แก่ นครศรีธรรมราช บึงกาฬ กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด และเพชรบูรณ์
  • จังหวัดที่มีอัตราค่าแรงขั้นต่ำ 341 บาท ได้แก่ ชัยนาท สิงห์บุรี พัทลุง ชัยภูมิ และอ่างทอง
  • จังหวัดที่มีอัตราค่าแรงขั้นต่ำ 340 บาท ได้แก่ ระนอง สตูล เลย หนองบัวลำภู อุดรธานี มหาสารคามศรีสะเกษ อำนาจเจริญ แม่ฮ่องสอน ลำปาง สุโขทัย อุตรดิตถ์ กำแพงเพชร พิจิตร อุทัยธานี และราชบุรี
  • จังหวัดที่มีอัตราค่าแรงขั้นต่ำ 338 บาท ได้แก่ ตรัง น่าน พะเยา และแพร่
  • จังหวัดที่มีอัตราค่าแรงขั้นต่ำ 330 บาท ได้แก่ นราธิวาส ปัตตานี และยะลา

เมื่อวันที่ 4 กันยายน ได้มีประกาศปรับค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 400 บาท โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2567 นี้ แต่เป็นการปรับในบางอาชีพ และบางธุรกิจเท่านั้น ดังนี้

  • จังหวัดกรุงเทพฯ เฉพาะเขตปทุมวันและเขตวัฒนา
  • จังหวัดกระบี่ เฉพาะเขตองค์การบริหารส่วนตำบลอ่าวนาง
  • จังหวัดชลบุรี เฉพาะอำเภอเมืองพัทยา 
  • จังหวัดเชียงใหม่ เฉพาะเขตเทศบาลเชียงใหม่ 
  • จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เฉพาะอำเภอหัวหิน 
  • จังหวัดพังงา เฉพาะเขตเทศบาลตำบลคึกคัก 
  • จังหวัดภูเก็ต 
  • จังหวัดระยอง เฉพาะเขตเทศบาลตำบลเพ 
  • จังหวัดสงขลา เฉพาะเขตเทศบาลหาดใหญ่ 
  • จังหวัดสุราษฎร์ธานี เฉพาะเขตเทศบาลเกาะสมุย

อ่านเพิ่มเติม : อัตราค่าแรงขั้นต่ำ ทุกอาชีพ ทุกจังหวัด ฉบับอัปเดต

2. กฎหมายแรงงาน — การจ่ายค่าจ้าง

กฎหมายคุ้มครองแรงงานในเรื่องการจ่ายค่าจ้างกำหนดว่าลูกจ้างทุกคนจะได้รับเป็นเงินเท่านั้น หากเป็นลูกจ้างประจำจะได้รับค่าจ้างในวันหยุดด้วย เช่น วันหยุดตามประเพณี วันหยุดพักร้อน หรือวันหยุดประจำสัปดาห์ หรือถ้าเป็นลูกจ้างรายวันจะไม่ได้รับค่าจ้างในวันหยุดประจำสัปดาห์ แต่จะได้รับค่าจ้างในกรณีที่ลาป่วย ลาไปทำหมัน ลาไปคลอดบุตร หรือลาไปรับราชการทหาร ส่วนค่า OT หรือค่าจ้างทำงานในวันหยุดจะต้องได้ไม่น้อยกว่า 3 เท่าของอัตราจ้างต่อชั่วโมง

3. กฎหมายแรงงาน — การเลิกจ้าง

กฎหมายแรงงานในเรื่องการเลิกจ้างฉบับล่าสุด สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 กรณี ดังนี้

  • การเลิกจ้างโดยไม่มีการจ่ายค่าชดเชย: กรณีที่ลูกจ้างกระทำความผิดตามกฎหมายอาญา หรือมีสัญญาการจ้างงานที่ระบุระยะเวลาเริ่มงานและสิ้นสุดงานที่ชัดเจนแล้ว
  • การเลิกจ้างโดยมีการจ่ายค่าชดเชย: กรณีที่ลูกจ้างมีสัญญาจ้างงานที่ชัดเจนและทำงานครบ 120 วันขึ้นไปแล้ว จะได้รับค่าชดเชยตามอัตราที่ระบุไว้ในกฎหมายแรงงาน

4. กฎหมายแรงงาน — เงินชดเชยกรณีเลิกจ้าง

กฎหมายแรงงาน — เงินชดเชยกรณีเลิกจ้าง

กฎหมายคุ้มครองแรงงานในเรื่องการจ่ายเงินชดเชยกรณีเลิกจ้างมีการระบุว่า หากลูกจ้างไม่ได้กระทำความผิดใดๆ ตามกฎหมายแรงงาน นายจ้างจะต้องแจ้งให้ลูกจ้างรับทราบอย่างน้อย 30 วัน และจ่ายค่าชดเชยให้กับลูกจ้าง ดังนี้ 

  • ทำงานครบ 120 วัน: ต้องได้รับค่าชดเชยจากค่าจ้างสุดท้าย 30 วัน 
  • ทำงานครบ 1 ปี: ต้องได้รับค่าชดเชยจากค่าจ้างสุดท้าย 90 วัน 
  • ทำงานครบ 3 ปี: ต้องได้รับค่าชดเชยจากค่าจ้างสุดท้าย 180 วัน 
  • ทำงานครบ 6 ปี: ต้องได้รับค่าชดเชยจากค่าจ้างสุดท้าย 240 วัน 
  • ทำงานครบ 10 ปี: ต้องได้รับค่าชดเชยจากค่าจ้างสุดท้าย 300 วัน

5. กฎหมายแรงงาน — การจัดทำเอกสาร

สำหรับรูปแบบการจ้างงาน มีทั้งงานประจำและไม่ประจำ ตามกฎหมายแรงงานฉบับล่าสุด ก่อนที่จะเริ่มงานควรมีการจัดทำเอกสารข้อตกลงให้เรียบร้อย โดยมีการระบุรายละเอียดสำคัญต่างๆ ดังนี้

  • ช่วงระยะเวลาที่เริ่มงานและระยะเวลาที่สิ้นสุดงาน 
  • กรณีการทำงานล่วงเวลา 
  • กรณีเรื่องการลา 
  • ขอบเขตในการทำงาน 
  • การจัดหาอุปกรณ์เพื่ออำนวยความสะดวกในการทำงาน 

6. กฎหมายแรงงาน — การทำงานที่บ้าน

ตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน ในกรณีที่บางตำแหน่งงาน ไม่จำเป็นต้องเข้าออฟฟิศทุกวันก็สามารถนำงานกลับไปทำที่บ้านหรือทำนอกสถานที่ได้ เพื่อเพิ่มทางเลือกที่ยืดหยุ่นในการทำงานให้มากขึ้น อย่างไรก็ตามนายจ้างไม่สามารถบังคับให้ลูกจ้างทำงานที่บ้านได้ ต้องเกิดจากความสมัครใจของลูกจ้างด้วย รวมถึงต้องขึ้นอยู่กับการตกลงระหว่างนายจ้างและลูกจ้างด้วย

7. กฎหมายแรงงาน — สิทธิการเลิกงาน

ตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน เมื่อถึงเวลาเลิกงานแล้ว ลูกจ้างมีสิทธิที่จะปฏิเสธการติดต่อในเรื่องงานจากนายจ้าง ไม่ว่าจะกรณีไหนก็ตาม ยกเว้นกรณีที่ลูกจ้างนั้นให้ความยินยอม โดยต้องมีการเขียนสัญญาที่เป็นลายลักษณ์อักษรด้วยความสมัครใจด้วย

8. กฎหมายแรงงาน — สิทธิการลาพักร้อน

กฎหมายแรงงาน — สิทธิการลาพักร้อน

ตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน เมื่อลูกจ้างทำงานครบ 1 ปีแล้ว มีสิทธิได้รับวันลาพักร้อนอย่างน้อย 6 วันต่อปี โดยที่ยังคงได้รับค่าจ้างตามปกติ แต่บางบริษัทก็จะมีสวัสดิการให้วันลาพักร้อนที่มากกว่า 6 วันต่อปี เพื่อเป็นการดึงดูดผู้สมัครงานนั่นเอง

9. กฎหมายแรงงาน — สิทธิการลาป่วย

ตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน ลูกจ้างจะได้สิทธิในการลาป่วยไม่เกิน 30 วันการทำงานต่อปี โดยที่ยังคงได้รับค่าจ้างตามปกติ แต่ถ้าหากลาป่วยเกิน 30 วัน ในวันที่ 31 จะไม่ได้รับค่าจ้าง หรือในกรณีที่ลาป่วยในวันทำงานติดๆ กันตั้งแต่ 3 วันขึ้นไป จะต้องมีใบรับรองแพทย์ หากไม่มีใบรับรองแพทย์จำเป็นต้องชี้แจงให้ทางนายจ้างรับรู้ด้วย แต่ถ้ากรณีที่ลูกจ้างเกิดป่วยและประสบอุบัติเหตุจากการทำงานจะไม่ถือเป็นการลาป่วย

10. กฎหมายแรงงาน — สิทธิการลาคลอด

ตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน ลูกจ้างจะได้สิทธิในการลาคลอดบุตรไม่เกิน 98 วัน โดยจะรวมวันลาในการไปตรวจครรภ์ก่อนคลอด วันคลอด และระหว่างพักฟื้นหลังคลอดด้วย โดยระหว่างลาคลอดบุตร ลูกจ้างจะยังได้รับค่าจ้างจากประกันสังคม 45 วัน และจากนายจ้างอีก 45 วันด้วย

11. กฎหมายแรงงาน — สิทธิการลากิจ

กฎหมายแรงงาน — สิทธิการลากิจ

การลากิจ คือการลาไปทำธุระที่จำเป็นและตัวลูกจ้างจำเป็นต้องไปดำเนินด้วยตัวเอง คนอื่นไม่สามารถไปทำแทนได้ เช่น ไปทำบัตรประชาชน ใบขับขี่ ไปศาล ไปงานศพ (พ่อ แม่ พี่ น้อง สามี ภรรยา หรือลูก) ตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานฉบับล่าสุด นายจ้างจะกำหนดวันลากิจกี่วันก็ได้ แต่ต้องไม่น้อยกว่า 3 วันต่อปี หากลูกจ้างต้องการลามากกว่า 3 วันต่อปี สามารถลาแบบไม่รับค่าจ้างได้หรืออาจจะใช้ลาพักร้อนแทนก็ได้ 

12. กฎหมายแรงงาน — สิทธิการลาไปทำหมัน

ตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน ลูกจ้างสามารถลาหยุดเพื่อไปทำหมันได้ตามระยะเวลาที่แพทย์แผนปัจจุบันชั้นหนึ่งกำหนด และออกใบรับรองแพทย์เพื่อให้ลูกจ้างยังมีสิทธิที่จะได้รับค่าจ้างในวันลานั้นด้วย

13. กฎหมายแรงงาน — สิทธิการลาไปรับราชการทหาร

เพื่อฝึกวิชาทหารและทดลองความพร้อมของร่างกาย ตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน ลูกจ้างสามารถลาเพื่อไปรับราชการทหารได้  โดยจะได้รับค่าจ้างตลอดเวลาที่ลา สูงสุดไม่เกิน 60 วันต่อปี

14. กฎหมายแรงงาน — การใช้แรงงาน

กฎหมายแรงงาน — การใช้แรงงาน

ตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานในเรื่องการใช้แรงงาน จะมีหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้

  • ควรทำงานไม่เกิน 8 ชั่วโมงต่อวัน  
  • ภายใน 5 ชั่วโมงแรกของการทำงาน ต้องมีเวลาพักไม่น้อยกว่า 1 ชั่วโมง อาจจะแบ่งเวลาพักเป็นครั้งละไม่น้อยกว่า 20 นาที แต่เวลาพักโดยรวมต้องไม่น้อยกว่า 1 ชั่วโมง

ตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานในเรื่องการใช้แรงงานหญิง จะมีหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้

  • ห้ามลูกจ้างหญิงที่มีครรภ์ทำงานในช่วงเวลา 22:00 - 06:00 น. ทำงานล่วงเวลา หรือทำงานในวันหยุด
  • ห้ามแรงงานหญิงทำงานที่เสี่ยงอันตราย เช่น งานในเหมืองแร่ งานก่อสร้างที่ต้องทำใต้ดิน ใต้น้ำ ในถ้ำ ในอุโมงค์ ในปล่องภูเขา หรืองานที่ต้องทำบนนั่งร้านสูงกว่าพื้น 10 เมตรขึ้นไป รวมถึงงานขนส่งวัตถุระเบิด วัตถุไวไฟ

ตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานในเรื่องการใช้แรงงานเด็ก จะมีหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้

  • ห้ามจ้างเด็กอายุที่ต่ำกว่า 15 ปี มาเป็นลูกจ้าง
  • ลูกจ้างเด็กมีสิทธิฝึกอบรม โดยจะได้รับค่าจ้าง 30 วันด้วย
  • กรณีจ้างเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี มาเป็นลูกจ้าง นายจ้างต้องแจ้งต่อพนักงานตรวจแรงงานด้วย
  • ห้ามไม่ให้นายจ้างใช้ลูกจ้างเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี ทำงานในช่วงเวลา 22:00 - 06:00 น. 
  • ห้ามไม่ให้นายจ้างใช้ลูกจ้างเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี ทำงานล่วงเวลา
  • ห้ามไม่ให้นายจ้างให้ลูกจ้างเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี ทำงานที่เสี่ยงอันตราย เช่น งานหลอม หล่อ เป่า  หรือรีดโลหะ ทำงานในสถานที่เล่นการพนัน สถานที่เต้นรำ สถานที่ที่มีสุรา หรือเครื่องดื่มอื่นๆ จำหน่าย โดยที่มีลูกจ้างเป็นผู้บำเรอปรนนิบัติลูกค้า

สรุป

สำหรับลูกจ้างทุกคนควรศึกษากฎหมายแรงงานเอาไว้ เพื่อป้องกันการโดนเอารัดเอาเปรียบจากนายจ้าง จะได้สามารถไปแจ้งที่กรมแรงงานเพื่อเอาผิดได้  ซึ่งกฎหมายแรงงานประกอบไปด้วย การจ่ายค่าจ้างที่ไม่ต่ำกว่าอัตราขั้นต่ำ เงินชดเชยกรณีถูกเลิกจ้าง สิทธิการใช้แรงงาน ทั้งแรงงานเด็กและหญิง สิทธิการลางาน เช่น ลากิจ ลาพักร้อน ลาป่วย ลาคลอด ลาไปทำหมัน หรือลาไปรับราชการทหาร เป็นต้น

เมื่อศึกษากฎหมายแรงงานกันแล้ว ให้ JobsDB ช่วยหางานที่ตอบโจทย์ทุกความต้องการ ไม่ว่าจะเป็นสวัสดิการการลางานที่เป็นธรรม การได้รับค่าจ้างที่เหมาะสม ด้วยฟีเจอร์ช่วยหางาน ที่สามารถหางานได้ตามตำแหน่งทำเลที่ต้องการ รับรองว่าคุณจะได้งานที่ใช่ สวัสดิการตามกฎหมายแรงงานแน่นอน  

More from this category: แหล่งข้อมูลและเทมเพลต

เรียกดูคำค้นหาที่ได้รับความนิยม

ทราบหรือไม่ว่าผู้สมัครค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับอะไรใน Jobsdb? สำรวจคำค้นหาที่ได้รับความนิยมเพื่ออัพเดทเทรนด์ใหม่เสมอ

สมัครรับคำแนะนำด้านอาชีพ

รับคำปรึกษาด้านอาชีพจากผู้เชี่ยวชาญส่งตรงถึงอินบ็อกซ์ของคุณ
ท่านได้ยอมรับคำประกาศเกี่ยวกับการเก็บรวบรวมข้อมูลส่วนบุคคล และนโยบายความเป็นส่วนตัวเพื่อให้ข้อมูลส่วนบุคคลของท่าน หากท่านมีอายุต่ำกว่า 20 ปี ท่านได้รับความยินยอมจากผู้ปกครอง เพื่อยินยอมให้ Jobsdb และบริษัทในเครือประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคลของท่าน ท่านสามารถยกเลิกได้ทุกเวลา