เมื่อเราอยู่ในยุคที่โลกแห่งเทคโนโลยีพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้ง เรื่องราวของอินเทอร์เน็ตก็ถือเป็นอีกหนึ่งสิ่งสำคัญของคนในยุคนี้ ก็ต้องมีการพัฒนาไปด้วยเช่นเดียวกัน เพราะว่าใครๆ ก็ต้องใช้อินเทอร์เน็ตกันแทบทั้งนั้น ทั้งในเรื่องของการติดต่อสื่อสารแบบไร้พรมแดน การค้นคว้าหาข้อมูล การเข้าถึงความบันเทิง หรืออื่นๆ อีกมากมาย โดยปัจจุบันนี้อินเทอร์เน็ตที่พวกเราทุกคนใช้กันนั้นจะเป็น Web 2.0 ซึ่งอีกไม่ช้าไม่นานนี้ เรากำลังจะเข้าสู่ยุคของ Web 3.0 ที่แท้ทรู ดังนั้นบทความนี้จะพาทุกคนไปเรียนรู้เรื่องราวเหล่านี้ไปด้วยกัน
ก่อนที่จะพาไปเจาะลึกเทคโนโลยีใหม่อย่าง Web 3.0 เราจะขอพาทุกคนนั่งไทม์แมชชีนย้อนกลับไปหาต้นตอของ World Wide Web กันก่อนตั้งแต่ยุคแรกเริ่ม
Web 1.0 เป็นเว็บไซต์ที่อยู่ในรูปแบบของการสื่อสารทางเดียว (One Way Communication) ซึ่งผู้ที่มีสิทธิ์ในการเผยแพร่เนื้อหาหรือจัดทำข้อมูลต่างๆ ลงบนหน้าเว็บไซต์ ก็คือนักพัฒนาหรือผู้สร้างเว็บไซต์เท่านั้น ส่วนผู้ที่เข้ามาเยี่ยมชมเว็บไซต์นั้นๆ จะไม่สามารถมีส่วนร่วม คอมเมนต์ สร้างเนื้อหา หรือแก้ไขรูปแบบของเว็บไซต์ได้ พูดง่ายๆ ก็คือพวกเขาจะมีสิทธิ์ในการดูและอ่านเว็บไซต์เท่านั้น
โดย Web 1.0 ถือเป็นการคิดค้นเรื่องของเว็บไซต์ขึ้นเป็นครั้งแรกของโลก ผ่านไอเดียและความสามารถของ Tim Berners-Lee วิศวกรคอมพิวเตอร์ชาวอังกฤษ ที่บรรเลงไอเดียด้านการสื่อสารข้อความหลายมิติ หรือที่เรียกว่า Hypertext ทั้งนี้ก็เพื่อประโยชน์ของมนุษย์เรา ในการสื่อสารที่ง่ายขึ้นผ่านโลกของอินเทอร์เน็ต ซึ่งจุดนี้จะมีการใช้องค์ประกอบพื้นฐานต่างๆ ของเว็บไซต์อย่าง HTTP, HTML และ URL มาเป็นเครื่องมือด้วย ก่อนจะได้รับความนิยมและแพร่หลายกันในวงกว้างในนาม World Wide Web ตั้งแต่ตอนนั้น
สำหรับ Web 2.0 คือ Social Web ที่เกิดเป็นที่มาของ Social Network นั่นเอง ผ่านเทคโนโลยีใหม่ต่างๆ ที่เกิดขึ้นมา เช่น Javascript, HTML5 และ CSS3 โดยจุดที่แตกต่างอย่างเห็นได้ชัดจาก Web 1.0 ก็คือ มีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบของการสื่อสารทางเว็บไซต์เป็น Two Way Communication หรือการสื่อสารสองทางนั่นเอง จุดเด่นก็คือผู้ใช้สามารถสร้างสรรค์เนื้อหาต่างๆ ได้ด้วยตนเอง พร้อมสามารถส่งขึ้นไปแสดงผลบนแพลตฟอร์มต่างๆ ได้เอง รวมไปถึงการแสดงความคิดเห็นและการโต้ตอบกับเนื้อหาบนเว็บไซต์
หากจะพูดให้เห็นภาพของ Web 2.0 ง่ายขึ้น ก็คือเรื่องราวเว็บบอร์ดที่เราๆ ใช้งานกันอยู่ทุกวันนี่แหละ ที่ผู้ใช้บริการเว็บไซต์สามารถตั้งกระทู้พร้อมโต้ตอบผ่านการแสดงความคิดเห็นในช่องคอมเมนต์ได้ จนกลายเป็นสื่อสังคมออนไลน์อย่างทุกวันนี้ นอกจากนี้ยังรวมไปถึงการถือกำเนิดแพลตฟอร์มใหม่ๆ ด้วย เช่น Facebook, Instagram, Twitter หรือ YouTube ก็ถือเป็นส่วนหนึ่งของ Web 2.0 เช่นกัน
แต่แน่นอนผู้ใช้บริการอย่างเราๆ ในทุกวันนี้ คงจะเคยเห็นปัญหาจากการใช้แพลตฟอร์มเหล่านี้กันมาถ้วนหน้า เนื่องด้วยการติดต่อสื่อสารที่เราต้องดำเนินการผ่านคนกลางที่เป็นเจ้าของแพลตฟอร์มนั้นๆ และคนกลางนี่แหละที่สามารถเข้าถึงข้อมูลต่างๆ ของผู้ใช้งานได้ทั้งหมด จนกลายเป็นที่มาของการเห็นโฆษณาต่างๆ ใน Social Media ที่รู้ใจเราซะเหมือนกับมานั่งอยู่ที่บ้านด้วยกัน เพราะข้อมูลต่างๆ เหล่านั้นสามารถนำไปวิเคราะห์เพื่อต่อยอดในเรื่องของการตลาดและโฆษณาได้มากมาย รวมไปถึงปัญหาอื่นๆ ยิบย่อย เช่นการนำข้อมูลของผู้ใช้ไปขายต่อเป็นต้น
แต่การจะมาถึงของ Web 3.0 นี่แหละ ที่อาจจะเป็นตัวช่วยในการลดปัญหาเหล่านี้ลง
Web 3.0 ที่กำลังจะมาถึง จะเป็นการบริการอินเทอร์เน็ตยุคที่ 3 ที่พร้อมให้บริการทั้งในส่วนของเว็บไซต์และแอปพลิเคชัน ผ่านเทคโนโลยีในการทำงานที่มีหัวใจหลักคือ AI และแอปพลิเคชันแบบ P2P (Peer to Peer) เช่น Blockchain โดยปัจจุบัน Web 3.0 นั้นยังไม่ได้กำเนิดขึ้นอย่างเป็นทางการ แต่เป็นการคาดการของ Tim Berners-Lee ผู้คิดค้น Web 1.0 นั่นเอง โดยเขากล่าวไว้ว่า Web 3.0 จะเป็น Semantic Web หรือเว็บเชิงความหมาย ที่มีคุณสมบัติในการถ่ายโอนข้อมูลมนุษย์และระบบได้อย่างอัตโนมัติ ซึ่งถือเป็นกระบวนการที่เชื่อมต่อมนุษย์กับเทคโนโลยีโดยตรง มีส่วนช่วยทำให้เนื้อหาที่จัดทำขึ้น ตรงกับสิ่งที่ผู้ใช้ต้องการอย่างแท้จริง
และอย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่า Web 3.0 จะถูกพัฒนาขึ้นเพื่อลดบทบาทของคนกลางที่เป็นเจ้าของแพลตฟอร์ม และก่อกำเนิดรูปแบบการสื่อสารแบบกระจายศูนย์ รวมถึงยังมีการคาดว่า Web 3.0 จะมีการนำเทคโนโลยีอื่นๆ เข้ามาร่วมด้วย เช่น Machine Learning, Big Data หรือ Artificial Intelligence เป็นต้น ซึ่งเหล่านี้นี่แหละที่จะมาช่วยทำให้อินเทอร์เน็ตสามารถวิเคราะห์ข้อมูลได้ดีขึ้น และมีประสิทธิภาพในการประมวลภาพที่สุดยอดขึ้น
นอกจากนี้ Web 3.0 ยังอาจก่อเกิด การเชื่อมต่ออัตโนมัติ ระหว่างมนุษย์ ระบบ และอุปกรณ์ iot (Internet of Things) ได้โดยตรงแบบที่ไม่ต้องผ่านตัวกลาง จะเป็นการช่วยสื่อสารสิ่งที่มนุษย์คิดอยู่ในหัวได้ออกมาตรงจุดมากขึ้นนั่นเอง
ใจความสำคัญของ Web 3.0 จริงๆ นั้น ที่โดดเด่นสุดๆ คงหนีไม่พ้นเรื่องของกรรมสิทธิ์ต่างๆ บนเว็บไซต์ที่แตกต่างจาก Web ในสองเวอร์ชันแรก โดยตัวอย่างที่ชี้ให้เห็นง่ายๆ ก็คือ หากเป็น Web 2.0 เมื่อผู้ใช้บริการได้เปิดบัญชีใดๆ กับเว็บไซต์ใดเว็บไซต์หนึ่ง แล้วมีการทำธุรกรรมด้านการเงินเกิดขึ้น แม้ระบบจะดำเนินการให้ผู้ใช้บริการอย่างโปร่งใส แต่บัญชีของผู้ใช้งานก็สามารถถูกยกเลิกได้ทุกเมื่อเช่นกัน เพราะการทำกิจกรรมต่างๆ ไม่ได้ตกเป็นสิทธิของผู้ใช้งานอย่างเด็ดขาด
แต่หากเป็น Web 3.0 ผู้ใช้งานจะไม่ต้องพบเจอกับเรื่องราวเหล่านี้ เพราะระบบจะใช้เทคโนโลยีที่ทำให้ผู้ใช้งานได้มีสิทธิในสินทรัพย์ดิจิทัลของตนเองได้แบบเต็มที่ โดยเป็นการถือกรรมสิทธิ์ผ่านรูปแบบ NFT ช่วยให้ผู้ใช้งานมั่นใจได้อีกระดับหนึ่งว่า จะไม่มีใครมาแอบอ้างและถือสิทธิในความเป็นเจ้าของสินทรัพย์ดิจิทัลที่มีการทำธุรกรรม
- ผู้ใช้งานไม่จำเป็นต้องขออนุญาตในการเข้าถึงบริการในเครือข่ายต่างๆ รวมไปถึงผู้อื่นก็ไม่สามารถปิดกั้นหรือปฏิเสธให้ผู้ใช้งานเข้าถึงบริการต่างๆ เช่นกัน
- มีความปลอดภัยในเรื่องของข้อมูลส่วนบุคคลมากขึ้น ไม่ถูกนำไปใช้ในเรื่องผลประโยชน์ทางการตลาด
- ช่วยลดปัญหาเรื่องของเซิร์ฟเวอร์ล่ม เพราะใช้การทำงานบนเครือข่ายแบบ Decentralized
- ผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องกับผู้รังสรรค์ผลงาน จะเข้ามาแก้ไขหรือเซนเซอร์เนื้อหาบนอินเทอร์เน็ตได้ยากขึ้น
- มีข้อจำกัดด้านความสามารถเกี่ยวกับ Scalability (การขยาย) อยู่ เพราะเป็นการทำงานแบบ Decentralized จึงทำให้การธุรกรรมต่างๆ ช้ากว่าแบบ Centralized ดังนั้นการทำธุรกรรมต่างๆ จะต้องรอการดำเนินการของ Validator หรือ Node จากทั่วทั้งเครือข่ายด้วย
- เนื่องจากผู้ใช้บริการปัจจุบันเคยชินกับ Web 2.0 มาอย่างยาวนาน จึงอาจทำให้เข้าถึงการใช้งานของ Web 3.0 นั้นยากกว่า
- ยังมีเทคโนโลยีที่ทำงานร่วมกับ Web 3.0 ไม่มากเท่าไร
แม้จะมีข้อดีและข้อเสียที่ปะปนกันไป แต่อย่างไรเสียการกำลังจะมาถึงของ Web 3.0 นั้น ย่อมเต็มไปด้วยประโยชน์แก่ผู้ใช้งานอย่างแน่นอน โดยประโยชน์หลักๆ ที่น่าสนใจมีดังนี้
ดังที่กล่าวไปว่า Web 3.0 จะช่วยพัฒนาให้ผู้ใช้งานใช้บริการได้อย่างเต็มที่แบบไม่ต้องผ่านตัวกลางหรือผู้ให้บริการแพลตฟอร์มต่างๆ ผู้ใช้งานจึงมั่นใจได้ว่าจะสามารถเข้าถึงข้อมูลต่างๆ ได้อย่างเต็มที่ ไม่ต้องกังวลว่าจะถูกควบคุม หรือปรับแต่งข้อมูลใดๆ หรือถูกเซนเซอร์จากผู้ให้บริการอย่างแน่นอน เพราะ Web 3.0 ถือเป็นตัวช่วยที่ทำให้ผู้ใช้งานเข้าถึงและตอบโต้กับเนื้อหาต่างๆ บนอินเทอร์เน็ตได้อย่างอิสระ
เนื่องจากจะไม่มีการเซนเซอร์ข้อมูลจากผู้ให้บริการ ดังนั้นผู้ใช้งานจึงสามารถเป็นเจ้าของข้อมูลส่วนตัวของตนเองบนอินเทอร์เน็ตได้อย่างสมบูรณ์แบบ รวมไปถึงผู้ให้บริการก็ไม่สามารถที่จะนำข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้บริการไปต่อยอดหรือสร้างประโยชน์ในด้านการโฆษณาหรือทำการตลาดได้ด้วย รวมไปถึงการทำธุรกรรมต่างๆ ของ Web 3.0 ก็จะมีการนำระบบ Blockchain มาใช้ ที่ช่วยในเรื่องของความปลอดภัย ดำเนินการอย่างโปร่งใส่ สามารถตรวจสอบได้
ใน Web 3.0 นั้น จะมีการสร้างฟีเจอร์ใหม่ๆ ขึ้นมาเพื่อช่วยอำนวยความสะดวกให้ผู้ใช้งานมากขึ้นด้วย ผ่านเทคโนโลยีหลากหลายรูปแบบ ทั้งนี้ก็เพื่อเป็นการปรับปรุงประสบการณ์การใช้งานบนเว็บไซต์ให้ดีและสมจริงมากขึ้น เช่น การนำกราฟิกแบบ 3D เข้ามาเสริมทัพ ซึ่งจะช่วยเรื่องการสื่อสาร แถมมอบความบันเทิงได้แบบเต็มเปี่ยม
รวมไปถึงการนำ AI เข้ามาใช้ เพื่อช่วยในการถอดความหมายและทำความเข้าใจกับความต้องการของมนุษย์ให้ดียิ่งขึ้น ผสานกับการนำศาสตร์การอ่านความหมายแบบ Semantic ในแง่ภาษาศาสตร์เข้ามาผสมโรงด้วย ก็จะช่วยให้การใช้งานด้านภาพและเนื้อหาบน Web 3.0 ล้ำหน้าและตอบโจทย์ผู้ใช้งานได้แบบตรงจุด
แน่นอนว่าเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น ย่อมสร้างประโยชน์ให้แก่มนุษย์เราเสมอ แต่ทุกอย่างย่อมมี 2 ด้านเสมอ ดังนั้นผู้ใช้บริการอย่างเราๆ ควรต้องศึกษาถึงเรื่องราวที่กำลังจะเกิดขึ้นใหม่ให้ถี่ถ้วน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้งาน Web 3.0 ให้ดีและตอบโจทย์ความต้องการของเรามากขึ้นนั่นเอง
ดาวน์โหลดได้แล้ววันนี้ทั้ง iOS และ Android
คว้างานที่ใช่ ด้วยการค้นหางานที่ง่ายและรวดเร็ว พร้อมทั้งจัดการเรซูเม่อย่างมีประสิทธิภาพ ให้คุณอัปโหลด ดู และลบได้ทุกเมื่อที่ต้องการ เพลิดเพลินไปกับประสบการณ์การใช้งานแสนง่าย ด้วยระบบ AI ใหม่ ช่วยค้นหางานที่ตรงใจมากขึ้นถึง 6 เท่า
https://th.jobsdb.com/th-th/articles/top-10-programming-languages-2022/
https://th.jobsdb.com/th-th/articles/python-%e0%b8%a0%e0%b8%b2%e0%b8%a9%e0%b8%b2%e0%b9%80%e0%b8%9b%e0%b8%a5%e0%b8%b5%e0%b9%88%e0%b8%a2%e0%b8%99%e0%b9%82%e0%b8%a5%e0%b8%81/