Key Takeaway
เพราะการเรียนรู้ ไม่ได้อยู่แค่ในหนังสือ บทความนี้จะพาไปทำความรู้จักการเรียนการสอนแบบ Active Learning โดยแผนการสอน Active Learning คือ การเรียนรู้ที่ผู้เรียนมีส่วนร่วมในการคิด วิเคราะห์ และประยุกต์ใช้ความรู้ผ่านกิจกรรมต่างๆ แล้ว Active Learning สำคัญต่อการเรียนรู้อย่างไร มาหาคำตอบกันได้ในบทความนี้!
Active Learning เป็นกระบวนการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นหลัก โดยการเปลี่ยนจากเป็นผู้เรียน ที่เป็นผู้รับสารด้วยการฟังเพียงอย่างเดียว กลายมาเป็นผู้ที่มีส่วนร่วมในกระบวนการเรียนรู้ทั้งหมด ตั้งแต่การพูด อ่าน เขียน รวมถึงการคิดวิเคราะห์ ตั้งคำถาม พร้อมทั้งลงมือปฏิบัติจริง
ซึ่งแนวคิดของ Active Learning คือ การมุ่งเน้นการสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้สอนกับผู้เรียน โดยมีครูผู้สอนเป็นผู้ให้คำปรึกษา แนะนำดูแล และอำนวยความสะดวกให้กับผู้เรียน ส่วนผู้เรียนจะนำเอาความรู้ ประสบการณ์ และแนวคิดเดิมที่มีอยู่นำมาปรับใช้ ทำให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ได้ด้วยตัวเอง
การเรียนการสอนแบบ Active Learning มีหลักแนวคิดพื้นฐานเดียวกัน คือมุ่งเน้นการมีส่วนร่วมของผู้เรียนเป็นหลัก ดังนั้น การจะมีการเรียนการสอนแบบ Active Learning ได้ ต้องมีลักษณะต่างๆ ดังนี้
แผนการสอน Active Learning ที่มีครูผู้สอนเป็นผู้แนะนำ ช่วยอำนวยความสะดวกให้กับนักเรียน เพื่อให้เกิดการเรียนรู้สูงสุด และนำความรู้ที่ได้รับไปใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยแผนการสอน Active Learning ทำให้เกิดประโยชน์ในด้านการเรียนรู้ต่างๆ ของผู้เรียน ดังนี้
การเรียนรูปแบบเดิม คือ การเรียนรู้ที่ผู้เรียนอยู่แต่ในกรอบ ทำให้ขาดอิสระทางความคิด จนขาดความคิดสร้างสรรค์ และจินตนาการ ทำให้ไม่กล้าลงมือทำสิ่งใหม่ๆ แต่แผนการเรียนการสอน Active Learning คือ การกระตุ้นให้ผู้เรียนได้มีอิสระทางความคิด สามารถลงมือทำสิ่งต่างๆ ได้หลากหลาย ได้ลองคิดแบบนอกกรอบจากบทเรียนเดิมที่มีอยู่ จึงช่วยกระตุ้น พัฒนาความคิดสร้างสรรค์ และจินตนาการให้กว้างไกลกว่าเดิม
การเรียนการสอนแบบแอคทีฟเลินนิ่ง เป็นการเรียนรู้ที่ผู้เรียนมีส่วนร่วมทุกขั้นตอน ทั้งการคิด และการลงมือทำ ซึ่งเป็นขั้นตอนที่ช่วยสนับสนุนให้ผู้เรียนเกิดความร่วมมือระหว่างกัน เช่น การทำงานกลุ่ม ที่ทุกคนต้องมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น และรับฟังความคิดเห็นของคนอื่นควบคู่กันไปด้วย สิ่งต่างๆ เหล่านี้ ช่วยให้ผู้เรียนรู้จักการเป็นผู้นำ และผู้ตามที่ดี รวมถึงช่วยให้เรียนรู้ทักษะในการสื่อสารได้เป็นอย่างดี
เนื่องจาก แอคทีฟเลินนิ่ง คือ การเรียนรู้ที่มีความหลากหลาย ทั้งเนื้อหาเชิงวิชาการ และการลงมือทำด้วยตัวเอง จึงทำให้ผู้เรียนเกิดความตื่นตัว มีความกระตือรือร้นในการอยากเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ที่ทำให้ผู้เรียนสนุกกับการเรียนมากขึ้น
ประโยชน์ข้อสุดท้ายของแผนการสอน Active Learning คือช่วยให้เกิดการพัฒนาทั้งผู้สอน และผู้เรียน ทำให้ผู้สอนมีความกระตือรือร้น ในการสร้างสรรค์เนื้อหา หรือพัฒนาแนวทางการสอนใหม่ๆ ที่ตอบโจทย์องค์ความรู้ของผู้เรียน ช่วยให้ผู้เรียนได้พัฒนาแนวคิด สร้างองค์ความรู้ และพัฒนาทักษะต่างๆ ในการเรียนรู้อีกด้วย
กระบวนการสอนแบบ Active Learning มีกระบวนการ 5 ขั้นตอน หรือ GPAS 5 Steps คือ กระบวนการคิดขั้นสูงเชิงระบบ ที่เป็นเครื่องมือพัฒนา รูปแบบการเรียนรู้แอคทีฟเลินนิ่งได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนี้
ผู้สอนจะตั้งคำถาม หรือสร้างสถานการณ์ ที่กระตุ้นให้ผู้เรียนเกิดความสนใจ เกิดการสังเกต และตั้งข้อสงสัยในปัญหาเหล่านั้น จนทำให้ผู้เรียนหาคำตอบด้วยตัวเอง จากการสืบค้นข้อมูลจากแหล่งรอบตัวที่สอดคล้องกัน เพื่อนำมาเป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหา
ขั้นตอนที่ผู้สอนออกแบบการเรียนรู้อย่างหลากหลาย เพื่อให้ผู้เรียนนำข้อมูลจากแหล่งข้อมูลที่ได้ มาจัดระเบียบข้อมูลให้เป็นระบบ เช่น จัดกลุ่มข้อมูล การจำแนก การเปรียบเทียบข้อมูล รวมถึงการเชื่อมโยงความสัมพันธ์ของชุดข้อมูล และนำข้อมูลที่สรุปได้ ไปวางแผน และลงมือทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ผู้เรียนทุกคนมีส่วนร่วมในการวางแผน และนำความรู้ที่ได้ไปลงมือทำจริง โดยระหว่างลงมือทำนั้น ก็จะเกิดปัญหาต่างๆ ทั้งการสื่อสาร การทำงานเป็นทีม การแสดงความคิดเห็น สิ่งต่างๆ เหล่านี้ ก็ช่วยพัฒนาการเรียนรู้ให้เกิดผลสำเร็จได้
คือขั้นตอนการเรียนรู้แบบแอคทีฟเลินนิ่ง ที่ผู้สอนช่วยให้ผู้เรียนนำความรู้ ความเข้าใจที่เกิดขึ้นจากการเรียน การวิเคราะห์ สังเคราะห์ การลงมือทำ และการแก้ไขปัญหา มาสรุปผลได้อย่างเป็นหลักการ และนำเสนอในรูปแบบรายงาน การบรรยาย แผนภาพความคิด หรือสื่อต่างๆ ได้อย่างเหมาะสม
เป็นขั้นตอนสุดท้ายของการสอนแบบแอคทีฟเลินนิ่ง คือการที่ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ได้ด้วยตัวเอง ผู้สอนจะให้ผู้เรียนประเมินกระบวนการทำงานของตัวเอง และเพื่อนร่วมทีม เพื่อให้เห็นจุดอ่อน จุดแข็ง พร้อมทั้งเสนอแนวทางแก้ไขปรับปรุง เพื่อให้การทำงานครั้งต่อไปมีประสิทธิภาพ และเกิดการเรียนรู้ได้ดียิ่งขึ้น
การเรียนรู้แบบแอคทีฟเลินนิ่งสามารถนำไปปรับใช้กับกิจกรรมต่างๆ ภายในห้องเรียน และนอกห้องเรียน รวมถึงการปรับใช้กับการเรียนรู้ได้ทุกระดับชั้นได้ ดังนี้
กิจกรรมการเรียนรู้ Active Learning ที่แบ่งนักเรียนออกเป็นกลุ่มย่อยๆ กลุ่มละ 2-6 คน เพื่อให้ผู้เรียนได้เรียนรู้จากการทำงานร่วมกับผู้อื่น โดยผู้สอนจะกำหนดให้สมาชิกในกลุ่มมีความสามารถที่แตกต่างกัน กำหนดบทบาทหน้าที่ต่างกัน และมีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ความคิดเห็นซึ่งกันและกัน ซึ่งเป็นการเรียนรู้ที่ช่วยเสริมสร้างทักษะ และศักยภาพการเรียนรู้ของแต่ละคนได้เป็นอย่างดี
เป็นการเรียนรู้แบบแอคทีฟเลินนิ่ง ที่ผู้สอนจะกำหนดประเด็น หรือคำถามที่น่าสนใจ และให้ผู้เรียนคิดหาคำตอบด้วยตัวเอง จากนั้นแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับเพื่อนในชั้นเรียน แล้วจึงค่อยนำเสนอความคิดในหน้าชั้นเรียน ซึ่งช่วยให้ผู้เรียนได้ฝึกการคิดวิเคราะห์อย่างเป็นระบบ ทำให้ผู้เรียนเข้าใจเนื้อหามากยิ่งขึ้น และเป็นผลดีต่อทักษะการสื่อสาร ที่ช่วยให้ผู้เรียนกล้าแสดงความคิดเห็นมากขึ้น
เป็นกิจกรรมการเรียนรู้ที่ใช้เน้นการระดมความคิด การแชร์ไอเดีย ร่วมกับสมาชิกภายในกลุ่ม เพื่อหาคำตอบ หรือแนวทางการแก้ไขปัญหา โดยการเรียนรู้แบบแอคทีฟเลินนิ่งนี้ มีใจความสำคัญ คือ ความคิดเห็นเหล่านี้ จะไม่ถูกตัดสินว่า ถูกหรือผิด ใช่หรือไม่ใช่
จึงทำให้ทุกคนสามารถแชร์ความคิดได้อย่างอิสระ ทำให้ได้มุมมองความคิดที่หลากหลายขึ้น จึงช่วยให้ทุกคนเกิดการเรียนรู้ไปพร้อมกัน เกิดแนวคิดใหม่ๆ แรงบันดาลใจใหม่ๆ และพัฒนาการเรียน การทำงาน จนประสบผลสำเร็จร่วมกัน
การเรียนรู้ด้วยเกม ก็เป็นอีกหนึ่งการเรียนรู้ของ Active Learning ที่ผู้สอนนำเกมมาประยุกต์ใช้กับการเรียนการสอน การทำงาน การประเมินผล หรือสอนก่อน แล้วเอาเกมมาเป็นตัวช่วยทดสอบความรู้ และความเข้าใจของผู้เรียน เช่น เกมคณิตศาสตร์ เกมภาษาอังกฤษ เกมจับคู่ เกมทายปัญหา บอร์ดเกม เป็นต้น
เพื่อกระตุ้นความสนใจ เปลี่ยนบรรยากาศการเรียนที่น่าเบื่อ ให้เต็มไปด้วยความสนุก และน่าตื่นเต้น พร้อมทั้งช่วยเสริมสร้างความจำ ความเข้าใจในเนื้อหาบทเรียนมากยิ่งขึ้น
การแสดงบทบาทสมมติ เป็นการสอนแบบแอคทีฟเลินนิ่ง ที่ให้ผู้เรียนแสดงบทบาทสมมติตามเรื่องราว หรือสถานการณ์ที่กำหนด ซึ่งประโยชน์ของการทำกิจกรรมนี้ คือ ช่วยให้ผู้เรียนเกิดความคิดสร้างสรรค์ กล้าที่จะคิดนอกกรอบ พัฒนาทักษะการสื่อสาร และการกล้าแสดงออก ผู้เรียนมีปฏิสัมพันธ์ที่ดีกับผู้อื่น
อีกทั้งเมื่อผู้เรียนอยู่ในบทบาท หรือสถานการณ์สมมติ ก็จะทำให้ผู้เรียนสามารถเข้าใจผู้อื่นผ่านมุมมอง ความคิด และความรู้สึกของตัวละครได้
การทำโครงงาน เป็นรูปแบบการสอนที่คล้ายกับ Active Learning คือ เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง และมีผู้สอนเป็นคนกระตุ้น เพื่อให้ผู้เรียนเกิดความสนใจที่อยากจะค้นคว้าหาความรู้ จนนำไปสู่ขั้นตอนลงมือปฏิบัติ โดยผู้เรียนจะได้สัมผัสประสบการณ์เช่นเดียวกับการทำงานจริง ตั้งแต่การวางแผนงานที่เป็นขั้นตอน การทำงานร่วมกับผู้อื่น ทั้งการเป็นผู้นำ และผู้ตาม การแก้ไขปัญหา จนสามารถพัฒนากระบวนการคิดได้เป็นระบบ
รูปแบบการโต้วาที คือ การแสดงความคิดเห็น การนำความรู้จากประสบการณ์ หรือข้อมูลจากแหล่งข้อมูลต่างๆ มาใช้ในการโต้ตอบ โต้แย้งด้วยเหตุผล เพื่อเอาชนะความคิดเห็นของอีกฝ่าย ในการโต้วาที จะแบ่งผู้พูดออกเป็น 2 ฝ่าย คือ ฝ่ายเสนอ และฝ่ายค้าน และมีกรรมการ 1 คน ที่คอยตัดสินว่าฝ่ายใดแพ้ หรือชนะ
โดยการโต้วาที เรียกได้ว่า เป็นกิจกรรมที่ผสมความเป็น Active Learning ด้วย เพราะผู้เรียนเกิดการค้นคว้า และผู้เรียนได้ฝึกไหวพริบ ทั้งการคิด การตั้งคำถาม การฟัง เพื่อสรุปประเด็นได้ชัดเจน อีกทั้งยังฝึกให้เป็นผู้ฟังที่ดี ที่รับฟังความคิดเห็นของผู้อื่นอีกด้วย
กิจกรรมที่ให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ และวิเคราะห์เนื้อหาจากสื่อการสอนในรูปแบบใหม่ๆ อย่างคลิปวิดีโอหนัง การ์ตูน หรือสารคดี ที่เมื่อดูจบแล้ว ก็ให้ผู้เรียนวิเคราะห์เกี่ยวกับสิ่งที่ได้ดู พร้อมทั้งแสดงความคิดเห็น ด้วยการพูดหน้าชั้นเรียน การเขียนสรุป หรือการทำรายงานกลุ่ม
ซึ่งการเรียนนี้ที่นำแอคทีฟเลินนิ่งมาปรับใช้ ก็ช่วยดึงดูดความสนใจของผู้เรียนได้เป็นอย่างดี ช่วยกระตุ้นการเรียนรู้ได้อย่างรวดเร็ว และฝึกให้ผู้เรียนสามารถคิดวิเคราะห์จากสื่อการสอนได้หลายรูปแบบ
เป็นการเรียนรู้ด้วย Active Learning โดยใช้ปัญหาเป็นฐาน อาจเป็นได้ทั้งปัญหาใกล้ตัว หรือปัญหาที่ผู้เรียนอยากแก้ไข ซึ่งผู้เรียนจะสามารถเรียนรู้การแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น ได้ด้วยการตั้งสมมุติฐาน หาสาเหตุของปัญหา และสามารถแก้ไขปัญหานั้นๆ ได้ตรงจุด
เป็นข้อดีที่ทำให้ผู้เรียนได้คิดวิเคราะห์ต้นตอปัญหา และแก้ไขสถานการณ์ปัญหาต่างๆ ได้อย่างอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงหากผู้เรียนต้องทำงานร่วมกับผู้อื่น และมีการขัดแย้งทางความคิด ก็จะทำให้ผู้เรียนปรับตัว และก้าวข้ามอุปสรรคเหล่านี้ได้อย่างราบรื่น
Active Learning (แอคทีฟเลินนิ่ง) คือ การเรียนการสอนเชิงสร้างสรรค์ ที่เน้นให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมกับการเรียน ทั้งการคิด การวิเคราะห์ การลงมือทำด้วยตัวเอง เพื่อพัฒนาทักษะการเรียนรู้ให้เพิ่มพูนมากยิ่งขึ้น โดยประโยชน์ของการสอน และการเรียนรู้เชิง Active Learning ช่วยส่งเสริมแนวคิดใหม่ๆ ให้กับผู้เรียน ให้กล้าออกความคิดเห็น กล้าแสดงออก ผู้เรียนเกิดความกระตือรือร้นในการเรียน เพราะเป็นการเรียนที่หลากหลายมากกว่าบทเรียนแบบเดิม
ช่วยให้ผู้เรียนมีปฏิสัมพันธ์ที่ดีกับเพื่อนในชั้นเรียน ทั้งการทำงานกลุ่ม การระดมความคิด ที่สำคัญ ยังช่วยพัฒนาผู้สอนให้เกิดแนวคิดใหม่ๆ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการผู้เรียนควบคู่กันไปด้วย ในการนำแอคทีฟเลินนิ่งไปประยุกต์ใช้นั้น ก็ควรทำตามขั้นตอน เพื่อให้ได้ประสิทธิภาพ และนำตัวอย่างกิจกรรมไปใช้เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ได
สำหรับครูผู้สอน หรือบุคลากรทางด้านการศึกษา ที่อยากนำแผนการสอน Active Learning ไปปรับใช้กับการสอนภายในห้องเรียน ก็สามารถเข้ามาฝากโปรไฟล์ หรือค้นหางานที่ชอบที่ JobsDB ที่มีเครื่องมือการค้นหางานที่ตรงใจ และทำให้คุณได้งานที่ชอบได้อย่างรวดเร็ว