กิจกรรม CSR คืออะไร รู้จักโครงการเพื่อสังคมที่หลายๆ แบรนด์นิยมทำ

กิจกรรม CSR คืออะไร รู้จักโครงการเพื่อสังคมที่หลายๆ แบรนด์นิยมทำ
Jobsdb ทีมเนื้อหาอัปเดตเมื่อ 17 January, 2025
Share

Key Takeaway

  • CSR คือ รูปแบบการทำกิจกรรมที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมทั้งภายในและภายนอกองค์กร โดยคำว่า CSR ย่อมาจาก Corporate Social Responsibility
  • CSR เป็นสิ่งที่หลายองค์กรนิยมทำ เพราะเป็นโครงการที่จัดขึ้นเพื่อช่วยเหลือสังคมและสิ่งแวดล้อมโดยไม่หวังสิ่งตอบแทน และช่วยสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับองค์กรหรือธุรกิจ อีกทั้งการทำ CSR สำคัญต่อการสร้างความตระหนักรู้ในการใช้ทรัพยากร และประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคม
  • กิจกรรม CSR แบ่งออกเป็น 4 ระดับ ได้แก่ ข้อกำหนดตามกฎหมาย ประโยชน์ทางเศรษฐกิจ จรรยาบรรณทางธุรกิจ และความสมัครใจ

รูปแบบกิจกรรม CSR แบ่งเป็น 7 ประเภท ได้แก่ การส่งเสริมและการตลาดเกี่ยวกับประเด็นสังคม การตลาดเพื่อแก้ไขปัญหาสังคม การบริจาค การอาสาช่วยเหลือ การดำเนินธุรกิจอย่างรับผิดชอบ และการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการตามกำลังซื้อของผู้บริโภค

สิ่งหนึ่งที่ทำให้องค์กรเติบโตได้มั่นคงและอย่างยั่งยืน มาจากการมีนโยบายบริษัทที่ดีให้กับพนักงาน วัฒนธรรมองค์กรที่แข็งแรง ทั้งบรรยากาศ สภาพแวดล้อมที่ดีในการทำงาน การให้ความสำคัญกับเพื่อนร่วมงาน ค่าตอบแทนและสวัสดิการที่ตรงความต้องการ ที่ทำให้พนักงานทำงานอย่างมีความสุข และอยากทำงานร่วมกับองค์กรเหล่านี้ไปนานๆ อีกทั้งยังเป็นสิ่งที่ตอบโจทย์ผู้หางาน แบบ sustainability หรืองานที่มีความยั่งยืน ที่ช่วยให้องค์กรประสบความสำเร็จใจระยะยาว อย่างการทำกิจกรรม CSR เพื่อสังคมนั่นเอง

กิจกรรม CSR คือกิจกรรมเพื่อสังคมที่องค์กรจัดขึ้นมาเพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม บทความนี้พามาดูระดับของ CSR และตัวอย่าง CSR ที่น่าสนใจกัน!

กิจกรรม CSR คืออะไร

กิจกรรม CSR คืออะไร

CSR คือ แนวคิดในการทำกิจกรรมที่คำนึงถึงสังคมและสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก ซึ่งคำว่า CSR ย่อมาจาก Corporate Social Responsibility หมายถึง กิจกรรมเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อมที่จัดขึ้นโดยองค์กรและบริษัท ภายใต้หลักจริยธรรม สามารถจัดกิจกรรมได้ทั้งภายในและภายนอกองค์กร เพื่อสร้างประโยชน์ให้กับชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อมด้านต่างๆ ในระยะยาว

ทำไมองค์กรนิยมทำ CSR แม้ไม่มีกฎหมายบังคับ

แม้ไม่มีข้อกฎหมายบังคับ แต่การทำกิจกรรม CSR ก็เป็นสิ่งที่หลายองค์กรให้ความสำคัญ เพราะอีกเหตุผลหลักที่ทำให้ธุรกิจหรือองค์กรเติบโตได้อย่างมั่นคงและสำเร็จในระยะยาว ก็มาจากการสนับสนุนของสังคม สิ่งแวดล้อม และการใช้ทรัพยากรจากธรรมชาติ 

การทำ CSR จึงเป็นกิจกรรมสำคัญที่แสดงถึงความรับผิดชอบที่มีต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม สร้างความตระหนักรู้ให้กับผู้คนในสังคมเกี่ยวกับปัญหาที่เกิดขึ้น พร้อมทั้งส่งเสริมภาพลักษณ์ขององค์กรหรือธุรกิจให้ไปในทิศทางที่ดีอีกด้วย

กิจกรรม CSR แบ่งออกเป็นกี่ระดับ

กิจกรรม CSR แบ่งออกเป็นกี่ระดับ

ระดับการทำกิจกรรม CSR ที่องค์กรสามารถจัดและทำกิจกรรมต่างๆ แบ่งออกเป็น 4 ระดับ ดังนี้

ระดับที่ 1 – ข้อกำหนดตามกฎหมาย (Mandatory Level)

ระดับกฎหมาย คือ กิจกรรม CSR พื้นฐานที่องค์กรหรือธุรกิจต้องปฏิบัติตามข้อกฎหมาย กฎระเบียบ และกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง เช่น กฎหมายแรงงาน กฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค การปฏิบัติตามกฎหมายสิ่งแวดล้อม การจ่ายภาษี และการดูแลสวัสดิภาพของพนักงาน ไม่ว่าจะเป็นความปลอดภัย เงินเดือน ประกันสังคม เป็นต้น

ระดับที่ 2 – ประโยชน์ทางเศรษฐกิจ (Elementary Level)

ระดับกิจกรรม CSR ทางเศรษฐกิจ คือ ความรับผิดชอบต่อสังคมด้วยการคำนึงถึงความอยู่รอด ผลกระทบต่อเศรษฐกิจของชุมชนและสังคม เช่น การจ้างงาน การสนับสนุนผู้ประกอบการรายย่อย รวมถึงผลประโยชน์ของผู้บริโภค พนักงาน และผู้ถือหุ้น โดยกำไรที่ได้ต้องไม่เกิดจากการเอาเปรียบหรือเบียดเบียนสังคมส่วนรวม และไม่ทำลายธรรมชาติหรือสิ่งแวดล้อม

ระดับที่ 3 – จรรยาบรรณทางธุรกิจ (Preemptive Level) 

ระดับจรรยาบรรณ คือ การทำ CSR ที่องค์กรหรือธุรกิจดำเนินธุรกิจโดยคำนึงถึงผู้บริโภค สังคม และสิ่งแวดล้อม ด้วยการไม่เอาเปรียบผู้อื่นและใส่ใจผลกระทบต่อชุมชนหรือผู้ที่ได้รับผลกระทบ เช่น การอยู่ใกล้ฐานผลิต การขนส่ง และการจำหน่าย โดยการช่วยเหลือชุมชนที่ขาดแคลน หรือพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเพื่อลดผลกระทบต่อชุมชนให้มากที่สุด

ระดับที่ 4 – ความสมัครใจ (Voluntary Level) 

ระดับกิจกรรมตามความสมัครใจ คือ องค์กรหรือธุรกิจทำโครงการ CSR ด้วยความสมัครใจ และไม่ได้ถูกบังคับจากสังคม เพื่อสร้างประโยชน์ให้กับสังคมและสิ่งแวดล้อม ซึ่งสามารถจัดกิจกรรมได้หลายรูปแบบ เช่น การสร้างโรงเรียน การรักษาสิ่งแวดล้อมชุมชน การบูรณะและทำความสะอาดวัด การให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยธรรมชาติ เป็นต้น

รูปแบบกิจกรรม CSR แบ่งเป็นกี่ประเภท

รูปแบบกิจกรรม CSR แบ่งเป็นกี่ประเภท

รูปแบบกิจกรรม CSR สามารถทำได้หลากหลายตามความต้องการ โดยแต่ละประเภทจะแบ่งตามวัตถุประสงค์ที่องค์กรหรือธุรกิจต้องการมีส่วนร่วมหรือช่วยสนับสนุน ดังนี้

1. การส่งเสริมประเด็นสังคม (Cause Promotion)

รูปแบบโครงการ CSR ส่งเสริมประเด็นสังคม คือ องค์หรือธุรกิจจัดกิจกรรม เพื่อส่งเสริมการรับรู้ของประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคม ด้วยการให้ความช่วยเหลือในด้านต่างๆ ทั้งเงินทุน สิ่งของ หรือทรัพยากรอื่นๆ เช่น การสนับสนุนการศึกษา การบริจาคสิ่งของเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัย หรือการหาอาสาสมัครเพื่อช่วยเหลือในการทำกิจกรรมต่างๆ เป็นต้น

2. การตลาดที่เกี่ยวกับประเด็นทางสังคม (Cause-Related Marketing)

การทำ CSR ที่เกี่ยวกับประเด็นทางสังคม คือ การจัดกิจกรรมหรือการทำการตลาดร่วมกับองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร หรือองค์กรอื่นๆ ด้วยการนำประเด็นทางสังคมมาเป็นส่วนหนึ่งในการขายสินค้าหรือการบริการ และแบ่งผลกำไรสมทบหรือบริจาคให้กับองค์กรเหล่านั้น เช่น โปรโมชันลดราคาสินค้าหรือของขวัญสมนาคุณให้กับลูกค้าที่เป็นสมาชิกองค์กรการกุศล การปันผลกำไรไปบริจาคให้กับหน่วยงานช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ มูลนิธิเพื่อเด็กและคนพิการ หรือมูลนิธิช่วยเหลือสุนัขและแมวจรจัด เป็นต้น

3. การตลาดเพื่อแก้ไขปัญหาสังคม (Corporate Social Marketing)

การทำโครงการ CSR เพื่อแก้ไขปัญหาสังคม คือ องค์กรใช้การทำกิจกรรมหรือกลยุทธ์การตลาด ในการสร้างความตระหนักรู้ปัญหาทางสังคม เพื่อเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้คนในสังคม ทั้งความเท่าเทียมทางเพศ ความรุนแรง ด้านสาธารณสุข ปัญหาสิ่งแวดล้อม และด้านอื่นๆ เช่น การรณรงค์เพื่อต่อต้านความรุนแรงในครอบครัว แคมเปญรณรงค์การส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศ แคมเปญโฆษณาที่รณรงค์งดใช้พลาสติก เป็นต้น

4. การบริจาคเพื่อการกุศล (Corporate Philanthropy)

สำหรับกิจกรรม CSR เพื่อการกุศล คือ การบริจาคเงินหรือสิ่งของให้กับองค์กรการกุศล โครงการช่วยเหลือสังคม หรือมูลนิธิต่างๆ โดยองค์กรสามารถเลือกช่วยเหลือได้ตามวัตถุประสงค์ที่ต้องการ หรือตามสถานการณ์ของช่วงเวลานั้นๆ โดยไม่หวังผลประโยชน์ตอบแทน เช่น บริจาคเงินและสิ่งของเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากไฟไหม้หรือไฟป่า การบริจาคเงินเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยยากไร้ การบริจาคสมทบทุนซื้อเครื่องมือแพทย์ เป็นต้น

5. การอาสาช่วยเหลือชุมชน (Community Volunteering)

การทำโครงการ CSR รูปแบบอาสาช่วยเหลือชุมชน คือ ธุรกิจหรือองค์กรสนับสนุนให้พนักงาน มีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมอาสาสมัคร ด้วยการจัดโครงการอาสาขึ้นภายในองค์กร หรือร่วมมือกับองค์กรการกุศล เพื่อแสดงให้เห็นถึงความรับผิดชอบต่อประเด็นปัญหาทางสังคม หากมีการเข้าร่วมกิจกรรม พนักงานจะได้รับการชดเชยในรูปของวันหยุดหรือวันลาเพิ่มเติม เช่น กิจกรรมเก็บขยะในทะเลหรือบนหาด สร้างฝายชะลอน้ำ ทำแนวกันไฟป้องกันไฟป่า เป็นต้น

6. การดำเนินธุรกิจอย่างรับผิดชอบ (Socially Responsible Business Practices)

รูปแบบ CSR เพื่อดำเนินดำเนินธุรกิจอย่างรับผิดชอบ คือ การที่องค์กรดำเนินธุรกิจด้วยการคำนึงถึงผลกระทบกับผู้ในคนชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะมีการกำหนดนโยบายป้องกันการเกิดปัญหาและแนวทางแก้ไข เพื่อช่วยเหลือปัญหาที่เกิดขึ้น เช่น การเคารพสิทธิมนุษยชนและปฏิบัติต่อแรงงานอย่างเป็นธรรม กระบวนการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ความรับผิดชอบต่อลูกค้า เป็นต้น

7. การพัฒนาและส่งมอบผลิตภัณฑ์และบริการตามกำลังซื้อของคนในระดับฐานราก (Developing and Delivering Affordable Products and Services)

การพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการตามกำลังซื้อกลุ่มผู้บริโภค คือ โครงการ CSR ที่ธุรกิจจะผลิตผลิตภัณฑ์หรือมีการบริการที่มีคุณภาพ อย่างสินค้ากลุ่มปัจจัย 4 เช่น อาหาร ที่อยู่อาศัย เครื่องนุ่งห่ม และยารักษาโรค ให้เหมาะกับกำลังซื้อของผู้บริโภค เพื่อตอบโจทย์ความต้องการและยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คนในสังคมให้สามารถเข้าถึงสินค้าและบริการในราคาย่อมเยาได้

รวม 3 ขั้นตอนการจัดกิจกรรม CSR ที่ต้องรู้!

รวม 3 ขั้นตอนการจัดกิจกรรม CSR ที่ต้องรู้!

การทำโครงการ CSR ทั้งในภาคธุรกิจหรือองค์กร ก่อนลงมือทำควรศึกษาขั้นตอนและคำนึงถึงสิ่งสำคัญ ดังนี้

1. แยกแยะผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้อง

ก่อนเริ่มทำโครงการ CSR ควรแยกแยะผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวกับการดำเนินธุรกิจว่ามีใครบ้าง และเมื่อทำกิจกรรมแล้ว จะส่งผลกระทบต่อใครบ้าง เช่น

  • ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในองค์กรหรือบริษัท เช่น ผู้บริหาร ผู้ถือหุ้น นักลงทุน และพนักงาน
  • ผู้เกี่ยวข้องกับองค์กรหรือบริษัทโดยตรง เช่น ซัพพลายเออร์ คู่ค้าและคู่แข่งทางธุรกิจ และลูกค้า
  • ผู้เกี่ยวข้องกับองค์กรหรือบริษัทโดยอ้อม เช่น หน่วยงานรัฐ สมาคมการค้า สังคม และชุมชนที่ตั้งองค์กร 

2. พิจารณาประเด็นที่เกี่ยวข้องกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกลุ่มต่างๆ

คำนึงและพิจารณาเกี่ยวกับผลกระทบการทำ CSR ในประเด็นต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับผู้มีส่วนได้เสียในกลุ่มองค์กร เช่น 

  • พนักงาน เช่น กฎหมายแรงงาน สวัสดิการพนักงาน ความเท่าเทียมและสิทธิมนุษยชนในการทำงาน
  • ผู้บริโภค เช่น ความปลอดภัยของสินค้าและบริการ การตั้งราคาสินค้าเป็นธรรม และเป็นสินค้าที่มีคุณภาพ
  • สังคม เช่น การคำนึงถึงผลกระทบที่มีต่อผู้คนในชุมชนโดยรอบ ทั้งการผลิต การจำหน่าย และการขนส่ง 
  • สิ่งแวดล้อม เช่น ข้อกำหนดทางกฎหมายเกี่ยวกับการปล่อยของเสีย มลพิษ ที่มีผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 

3. เลือกทำประเด็นที่จะดำเนินการตามความเหมาะสม 

พิจารณาประเด็นในการจัดกิจกรรม CSR ที่อยากสนับสนุนหรือส่งเสริม ตามความเหมาะสม เช่น

  • ความพร้อมด้านทรัพยากรของบริษัทหรือองค์กร เช่น การเงิน พนักงานในองค์กร 
  • ประเด็นที่ต้องการส่งเสริมหรือสนับสนุน เช่น สิทธิมนุษยชน ความเท่าเทียม สิ่งแวดล้อม
  • สถานการณ์ทางสังคม เช่น ภัยแล้ง ภัยน้ำท่วม แผ่นดินไหว การเกิดโรคระบาด
ตัวอย่างการจัดกิจกรรม CSR จากองค์กรชั้นนำ

ตัวอย่างการจัดกิจกรรม CSR จากองค์กรชั้นนำ

ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรม CSR หรือโครงการ CSR ต่างก็เป็นสิ่งที่องค์กรชั้นนำต่างให้ความสนับสนุน เพื่อกระตุ้นให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในสังคม มาดูตัวอย่างการจัดการจัดกิจกรรม CSR จากองค์กรชั้นนำว่าทำกันอย่างไร 

King Power

King Power บริษัทค้าปลีกสินค้าปลอดภาษี ได้จัดโครงการ CSR “โครงการ 100 สนามฟุตบอล สร้างพลังเยาวชนไทย” และโครงการ “ล้านลูก ล้านพลัง สร้างฝันเด็กไทย” เพื่อสร้างสนามฟุตบอลให้กับโรงเรียนและชุมชน 100 แห่ง ให้เยาวชนและคนไทยที่ชื่นชอบการเตะฟุตบอลได้มีสถานที่ฝึกซ้อม พร้อมทั้งการสนับสนุนเยาวชนที่อยากเป็นนักเตะอาชีพ ให้ได้เข้าอะคาเดมี ฟุตบอลระดับโลก ที่เมืองเลสเตอร์ ประเทศอังกฤษ

Lotus

ห้างสรรพสินค้า Lotus เป็นซูเปอร์มาเก็ตที่มีสินค้าครบครัน ได้จัดกิจกรรม CSR ที่ดำเนินงานร่วมกับชุมชนและผู้คนในสังคม ด้วยการสร้างจุดรับบรรจุภัณฑ์รีไซเคิล เช่น ขวดน้ำพลาสติก กระป๋องน้ำอัดลม กระป๋องผลไม้ในน้ำเชื่อม กระป๋องอะลูมิเนียมอื่นๆ กล่องกระดาษ และพลาสติกใสห่อสินค้า เพื่อนำกลับไปรีไซเคิลแทนการฝังกลบ ซึ่งเป็นวิธีที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และลดปัญหามลพิษทางอากาศได้อีกด้วย

น้ำดื่มสิงห์

บริษัทน้ำดื่มสิงห์ ได้ทำโครงการ CSR ร่วมกับมูลนิธิกระจกเงา ในโครงการ “น้ำดื่มสิงห์ คืนดวงใจให้แม่” ด้วยการเปลี่ยนพื้นที่ฉลากข้างขวด ให้กลายเป็นพื้นที่ประกาศตามหาเด็กหาย โดยนำภาพและข้อมูลส่วนตัวของเด็กที่หายไป เป็นเวลา 6-17 ปี จำนวน 5 คน มาพิมพ์บนฉลากน้ำดื่มสิงห์ เพื่อช่วยตามหาเด็กที่หายไป เพิ่มโอกาสในการตามให้เจอ และทำให้สังคมได้ตระหนักรู้เกี่ยวกับปัญหาเด็กหายในปัจจุบัน 

สรุป

CSR คือ แนวคิดการทำกิจกรรมที่คำนึงถึงความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก แม้การทำกิจกรรม CSR ไม่มีข้อบังคับใดๆ แต่หลายองค์กรต่างให้ความสำคัญ เพราะสามารถสร้างความประทับใจให้กับผู้บริโภคหรือสังคม กิจกรรม CSR แบ่งได้ทั้งภายในและภายนอกองค์กร ตามนโยบายของแต่ละองค์กร และควรคำนึงถึงองค์ประกอบสำคัญ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม

เมื่อเข้าใจแล้วว่า CSR คืออะไร อย่าลืมหางานกับองค์กรหรือบริษัทใหม่ๆ ที่มี CSR ที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม ผ่าน Jobsdb เพื่อพบองค์กรที่มีวัฒนธรรมการทำงานและเพื่อนร่วมงานที่ดี ช่วยให้คุณทำงานอย่างมีความสุข

More from this category: เรื่องเล่าธุรกิจ

เรียกดูคำค้นหาที่ได้รับความนิยม

ทราบหรือไม่ว่าผู้สมัครค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับอะไรใน Jobsdb? สำรวจคำค้นหาที่ได้รับความนิยมเพื่ออัพเดทเทรนด์ใหม่เสมอ

สมัครรับคำแนะนำด้านอาชีพ

รับคำปรึกษาด้านอาชีพจากผู้เชี่ยวชาญส่งตรงถึงอินบ็อกซ์ของคุณ
ท่านได้ยอมรับคำประกาศเกี่ยวกับการเก็บรวบรวมข้อมูลส่วนบุคคล และนโยบายความเป็นส่วนตัวเพื่อให้ข้อมูลส่วนบุคคลของท่าน หากท่านมีอายุต่ำกว่า 20 ปี ท่านได้รับความยินยอมจากผู้ปกครอง เพื่อยินยอมให้ Jobsdb และบริษัทในเครือประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคลของท่าน ท่านสามารถยกเลิกได้ทุกเวลา