Key Takeaway
การศึกษาด้านการตลาดผ่านอินฟลูเอนเซอร์ในรายงาน Influencer Marketing Outlook ปี 2020 โดย Influencer Marketing Hub เปิดเผยว่าอินฟลูเอนเซอร์สามารถสร้างรายได้ต่อโพสต์ได้ในช่วงที่กว้างมาก ตั้งแต่ 100 - 700,000 บาท จากการวิเคราะห์พฤติกรรมการใช้โซเชียลมีเดียของนักการตลาด
และปฏิเสธกันไม่ได้เลยว่า อาชีพ ‘อินฟลู’ หรืออินฟลูเอนเซอร์ มีบทบาทสำคัญในเพิ่มการตัดสินใจซื้อ ด้วยคอนเทนต์ที่เน่าสนใจและเป็นเอกลักษณ์ ทำให้สามารถเพิ่มมูลค่าสินค้าและบริการของแบรนด์ได้มากขึ้น
ไม่ว่าจะสายรักสุขภาพ สายไลฟ์สไตล์ สายชอบทำอาหาร หรือสายท่องเที่ยว ก็สามารถเป็น Influencer ได้ มาทำความรู้จักกันว่าอาชีพ Influencer คืออะไร สำคัญต่อการทำการตลาดในยุคปัจจุบันอย่างไร ทำไมหลายคนถึงอยากจะทำอาชีพนี้กัน บทความนี้มีคำตอบ!
อินฟลูเอนเซอร์ (Influencer) คือบุคคลที่มีอิทธิพลต่อความคิดและการตัดสินใจของผู้ติดตามในโซเชียลมีเดีย เหล่าอินฟลูสามารถโน้มน้าวให้กลุ่มเป้าหมายตัดสินใจซื้อสินค้า หรือบริการ เลือกติดตามแบรนด์ พร้อมทั้งมีส่วนร่วมในกิจกรรมต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยคุณสมบัติเหล่านี้อินฟลูเอนเซอร์จึงกลายมาเป็นเครื่องมือการตลาดดิจิทัล ที่หลายแบรนด์เลือกใช้กัน
การจะเป็นอินฟลูเอนเซอร์ที่ประสบความสำเร็จนั้น จำเป็นต้องมีฐานผู้ติดตามที่ตรงกับกลุ่มเป้าหมายของแบรนด์ ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสินค้าและบริการ ความสามารถในการสื่อสารและสร้างคอนเทนต์ที่น่าสนใจ รวมถึงความน่าเชื่อถือและความจริงใจในการนำเสนอด้วย
อินฟลูเอนเซอร์มีกี่ประเภท? โดยอินฟลูเอนเซอร์สามารถแบ่งออกได้หลายประเภท โดยจะแบ่งได้ตามจำนวนผู้ติดตาม และไลฟ์สไตล์คอนเทนต์ที่ทำ ดังนี้
หากแบ่งอินฟลูเอนเซอร์ตามจำนวนผู้ติดตาม สามารถแบ่งได้ดังนี้
อินฟลูเอนเซอร์ประเภท Celebrity หรือ Mega-Influencers คือผู้มีอิทธิพลในโซเชียลมีเดียที่มีผู้ติดตามมากกว่า 1 ล้านคนขึ้นไป ส่วนใหญ่เป็นบุคคลที่มีชื่อเสียง เช่น ดารา นักร้อง หรือนักกีฬา แต่ในปัจจุบันก็มีคนธรรมดาที่สามารถขยายตัวเองจนมียอดติดตามสูงขึ้นได้เช่นกัน
เหล่าอินฟลูเอนเซอร์ Celebrity สร้างคอนเทนต์อย่างมืออาชีพและมีไลฟ์สไตล์ที่โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ เป็นผู้นำเทรนด์ในวงกว้าง ทั้งการทำชาเลนจ์ออนไลน์ เทรนด์การเต้น หรือแฟชั่นการแต่งตัว ซึ่งทำให้เหมาะสำหรับแบรนด์ขนาดใหญ่ที่มีงบประมาณสูงหรือมีการทำแคมเปญระดับประเทศ
อินฟลูเอนเซอร์ประเภท Key Opinion Leaders หรือ Macro-Influencers คือกลุ่มผู้มีอิทธิพลที่มีผู้ติดตามระหว่าง 100,000 ถึง 1,000,000 คน มักเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงในระดับรองลงมาจาก Celebrity ไม่ว่าจะเป็นดารา เน็ตไอดอล ยูทูปเบอร์ หรือผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านที่ประสบความสำเร็จ โดยมักจะโดดเด่นบนแพลตฟอร์มใดแพลตฟอร์มหนึ่งเป็นหลัก เช่น YouTube, Twitter, Facebook หรือ Instagram
อินฟลูเอนเซอร์ประเภท KOL มีความสามารถในการสร้างการรับรู้แบรนด์ (Brand Awareness) ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเข้าถึงได้ง่ายกว่า Celebrity ทำให้เหมาะสำหรับแบรนด์ที่มีงบประมาณสูงในการทำ Marketing หรือแบรนด์ขนาดกลางที่ต้องการเจาะกลุ่มเป้าหมายให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น
ไมโครอินฟลูเอนเซอร์ (Micro-Influencers) คือผู้มีอิทธิพลที่มีผู้ติดตามระหว่าง 10,000 ถึง 100,000 คน มักมีความเชี่ยวชาญหรือความสนใจเฉพาะด้าน ทำให้สามารถดึงดูดผู้ติดตามที่มีไลฟ์สไตล์คล้ายกัน จุดเด่นของไมโครอินฟลูเอนเซอร์คือความเป็นกันเองและความสามารถในการเข้าถึงผู้ติดตามได้อย่างใกล้ชิด
อินฟลูเอนเซอร์ประเภทนี้สามารถสร้างสรรค์เนื้อหาที่ตรงใจและมีคุณภาพสูง ตอบโจทย์กลุ่มผู้ติดตามที่มีความสนใจเฉพาะด้านได้เป็นอย่างดี จึงเหมาะสมกับแบรนด์ขนาดกลางที่มีฐานลูกค้าอยู่แล้วและต้องการสร้างการมีส่วนร่วม (Engagement) โดยใช้งบประมาณระดับปานกลาง
นาโนอินฟลูเอนเซอร์ (Nano-Influencers) คือบุคคลที่มีผู้ติดตามระหว่าง 1,000 ถึง 10,000 คน มักเป็นคนทั่วไปที่มีชื่อเสียงในวงแคบหรือกลุ่มคนรู้จัก เช่น ดาวโรงเรียน เดือนมหาลัย หรือประธานนักเรียน จุดเด่นของนาโนอินฟลูเอนเซอร์คือความสามารถในการเข้าถึงผู้ติดตามได้อย่างใกล้ชิดและเป็นธรรมชาติ การนำเสนอจะให้ความรู้สึกเหมือนการบอกต่อระหว่างเพื่อนมากกว่าการโฆษณา
เพราะมีความเป็นตัวเองสูงกว่ากลุ่มอินฟลูเอนเซอร์ประเภทอื่น ทำให้ได้รับความน่าเชื่อถือและสามารถสร้าง Engagement ได้ดี จึงเหมาะสำหรับแบรนด์ที่มีงบประมาณจำกัดแต่ต้องการเจาะกลุ่มเป้าหมายอย่างเฉพาะเจาะจง และทำการตลาดในรูปแบบการบอกต่อมากกว่าการโฆษณาแบบตรงไปตรงมา
หากแบ่งอินฟลูเอนเซอร์ตามไลฟ์สไตล์ของคอนเทนต์หรือประเภทคอนเทนต์ สามารถแบ่งได้ดังนี้
ยูทูบเบอร์ (Youtuber) คือผู้สร้างสรรค์คอนเทนต์ในรูปแบบวิดีโอที่นำเสนอผ่านแพลตฟอร์ม YouTube โดยแต่ละช่องจะมีการนำเสนอคอนเทนต์ที่แตกต่างกันตามความเชี่ยวชาญและกลุ่มเป้าหมาย เช่น ช่อง Little Monster ที่นำเสนอคอนเทนต์เกี่ยวกับครอบครัว ช่อง Ice Padie ที่เน้นเรื่องความงาม และช่อง Mojiko ที่เชี่ยวชาญด้านอาหาร
ยูทูปเบอร์มักสอดแทรกการทำ Marketing ให้กับแบรนด์ในรูปแบบ Tie-in โดยมีการนำเสนอสินค้าและบริการต่างๆ อย่างเป็นธรรมชาติ เพื่อรักษาประสบการณ์การรับชมที่ราบรื่นและไม่ขัดอารมณ์ของผู้ชมนั่นเอง
อินสตาแกรมเมอร์ (Instagrammer) คือผู้สร้างคอนเทนต์ที่เน้นการนำเสนอผ่านรูปภาพและโซเชียลโพสต์ บนแพลตฟอร์ม Instagram ซึ่งเป็นอีกหนึ่งรูปแบบคอนเทนต์ที่ได้รับความนิยมสูง นอกเหนือจากบทความ วิดีโอ และคลิปเสียง
เหล่าอินสตาแกรมเมอร์ มักร่วมงานกับแบรนด์ต่างๆ ด้วยการนำเสนอสินค้าผ่านการถ่ายภาพในชีวิตประจำวัน เช่น การสวมใส่เสื้อผ้าหรือใช้ผลิตภัณฑ์ของแบรนด์นั้นๆ แล้วนำเสนอออกมาให้น่าสนใจ เพื่อดึงดูดความสนใจของผู้ติดตาม
บล็อกเกอร์ (Blogger) คือนักสร้างสรรค์คอนเทนต์ที่เน้นการเขียนบทความเป็นหลัก โดยใช้ทักษะด้านการเขียน เพื่อนำเสนอเรื่องราวหลากหลายแง่มุม เช่น การรีวิวสินค้าและบริการ แนะนำสถานที่ท่องเที่ยว ให้ความรู้ด้านการพัฒนาตัวเอง การเงิน สุขภาพ ดนตรี หรือการรายงานกิจกรรมต่างๆ ของแบรนด์
ผู้ติดตามของบล็อกเกอร์มักเป็นกลุ่มผู้อ่านที่มีความสนใจเฉพาะด้าน ซึ่งตรงกับเนื้อหาที่นำเสนอ โดยในปัจจุบัน บล็อกเกอร์ที่พบเห็นบ่อยมักเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการรีวิวเครื่องสำอาง และสินค้าในชีวิตประจำวัน ซึ่งมีอิทธิพลอย่างมากต่อการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภค
พอดแคสเตอร์ (Podcaster) คือผู้สร้างคอนเทนต์ในรูปแบบของคลิปเสียง ซึ่งเป็นรูปแบบการนำเสนอคอนเทนต์ออนไลน์ที่กำลังได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในปัจจุบัน ตัวอย่างรายการพอดแคสต์ที่โดดเด่น เช่น Mission to the Moon, The Standard และ Salmon Podcast
ซึ่งพอดแคสต์แต่ละช่องมักนิยมนำเสนอคอนเทนต์ด้านการพัฒนาตัวเองและการสร้างแรงบันดาลใจ เพื่อให้ผู้ฟังกล้าที่จะลองทำสิ่งใหม่ๆ ในชีวิต ที่สำคัญ รูปแบบการนำเสนอที่เป็นเสียงนี้ช่วยให้ผู้ฟังสามารถเข้าถึงคอนเทนต์ได้ในทุกช่วงเวลาของการใช้ชีวิตประจำวันด้วย
แล้วทำไมต้องใช้อินฟลูเอเซอร์เพื่อโปรโมตธุรกิจ? เรามาดูข้อดีการทำการตลาดโดยการใช้อินฟลูกันได้เลย!
ใครกำลังหาวิธีสร้างแบรนด์ของตัวเอง การทำ Marketing ผ่าน Influencer เป็นกลยุทธ์ที่มีประสิทธิภาพในการเพิ่มการรับรู้แบรนด์ เนื่องจากอินฟลูเอนเซอร์มีฐานผู้ติดตามจำนวนมากบนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย การโปรโมตสินค้าและบริการผ่านวิธีนี้จึงสามารถสร้างการรับรู้ให้กับกลุ่มเป้าหมายได้อย่างรวดเร็วและตรงจุด
นอกจากนี้ การตลาดผ่านอินฟลูเอนเซอร์ ยังไม่จำกัดอยู่เพียงการเข้าถึงผู้ติดตามโดยตรงเท่านั้น แต่ยังช่วยขยายโอกาสให้กลุ่มเป้าหมายใหม่ๆ ได้ค้นพบแบรนด์ผ่านการปรากฏตัวบนพื้นที่โซเชียลมีเดียที่หลากหลาย ซึ่งกว้างขวางกว่าการสื่อสารผ่านช่องทางหลักของแบรนด์เพียงอย่างเดียวแน่นอน
ในปัจจุบัน ผู้บริโภคมีแนวโน้มที่จะหาข้อมูลและคำรีวิวจากอินฟลูเอนเซอร์มากขึ้น เพื่อประกอบการตัดสินใจก่อนเลือกซื้อผลิตภัณฑ์หรือบริการที่สนใจ อย่างไรก็ตามการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภค ไม่ได้ขึ้นอยู่กับการมีอิทธิพลของอินฟลูเอนเซอร์เพียงอย่างเดียว แต่ยังพิจารณาจากความน่าเชื่อถือและความจริงใจในการนำเสนอรีวิวของอินฟลูด้วย เพราะผู้บริโภคมักให้น้ำหนักกับคำแนะนำจากผู้ที่เคยใช้ผลิตภัณฑ์จริงมากกว่า
อินฟลูเอนเซอร์มีบทบาทสำคัญในการสร้างความน่าเชื่อถือให้กับแบรนด์ จากสถิติพบว่า มากกว่า 61% ของผู้บริโภค ไว้วางใจในคำแนะนำของอินฟลูเอนเซอร์ ด้วยความสามารถในการโน้มน้าวใจและสร้างความน่าเชื่อถือผ่านการนำเสนอความคิดเห็นและประสบการณ์ ทำให้แบรนด์สร้างความน่าเชื่อถือได้อย่างมีประสิทธิภาพผ่านการรับรองจากบุคคลที่ผู้คนให้ความเชื่อมั่นและติดตามบนโซเชียลมีเดีย
ในทางตรงกันข้าม แบรนด์ที่ไม่มีการรีวิวหรือการรับรองจากอินฟลูเอนเซอร์ มักเผชิญกับคำถามเกี่ยวกับความน่าเชื่อถือและคุณภาพของสินค้า หรือบริการจากผู้บริโภคอยู่เสมอ
การร่วมงานกับอินฟลูเอนเซอร์ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการสร้างคอนเทนต์ของแบรนด์ได้มาก เมื่อเทียบกับการที่แบรนด์ต้องผลิตเนื้อหาเองทั้งหมด การมีอินฟลูเอนเซอร์เข้ามาช่วย ไม่เพียงแต่จะช่วยลดภาระในการผลิตเนื้อหาของแบรนด์ แต่ยังช่วยเพิ่มความหลากหลายของเนื้อหาอีกด้วย
เนื่องจากอินฟลูเอนเซอร์แต่ละคนมีมุมมอง ไอเดีย และวิธีการนำเสนอที่เป็นเอกลักษณ์ ทำให้แบรนด์ได้คอนเทนต์ที่สร้างสรรค์และน่าสนใจ ซึ่งสามารถดึงดูดความสนใจของกลุ่มเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
อินฟลูเอนเซอร์มีความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นกับผู้ติดตามผ่านการพูดคุย แบ่งปันเรื่องราว และแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ซึ่งเป็นการสร้างการมีส่วนร่วมและความผูกพันระหว่างกัน แบรนด์สามารถใช้ประโยชน์จากความสัมพันธ์อันดีนี้เพื่อสร้างความรู้สึกที่ดีและความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นกับลูกค้า ผ่านการทำงานร่วมกับอินฟลูเอนเซอร์
เช่น การจัดกิจกรรมไลฟ์สตรีมมิง เพื่อพูดคุยกับกลุ่มเป้าหมาย หรือการจัดกิจกรรมร่วมสนุก ที่มีของรางวัลเป็นสิ่งของล่อใจ ซึ่งช่วยเสริมสร้างความผูกพันระหว่างแบรนด์กับลูกค้าให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น
ต่อไปมาดูทักษะที่เหล่าอินฟลูเอนเซอร์ควรมี เพื่อพัฒนาตัวเองให้ได้เป็นอินฟลูเอนเซอร์มืออาชีพ
ในยุคที่ความรู้มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและไม่เคยหยุดนิ่ง การพัฒนาตัวเองอย่างต่อเนื่องจึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้เรามีทักษะที่ยั่งยืน สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการสร้างคอนเทนต์ที่ทันสมัย ตอบโจทย์ความต้องการของกลุ่มเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ
การเรียนรู้สามารถทำได้หลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการศึกษาในมหาวิทยาลัย การฝึกงานเพื่อสั่งสมประสบการณ์จริง หรือการเข้าร่วมเวิร์กช็อปต่างๆ ซึ่งทุกรูปแบบ ล้วนเป็นประสบการณ์ที่มีค่า สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาตัวเองสู่การเป็นอินฟลูเอนเซอร์มืออาชีพได้
ความสม่ำเสมอในการสร้างคอนเทนต์เป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญ ที่เหล่าอินฟลูเอนเซอร์มืออาชีพให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก เพราะการนำเสนอคอนเทนต์อย่างต่อเนื่อง ช่วยสร้างการจดจำให้กับกลุ่มเป้าหมายผ่านการพบเห็นที่บ่อยครั้ง
นอกจากนี้ การมีปฏิสัมพันธ์กับผู้ติดตามอย่างสม่ำเสมอช่วยเพิ่มความผูกพันและดึงดูดผู้ติดตามใหม่ๆ ได้มากขึ้น ในทางตรงกันข้าม การนำเสนอคอนเทนต์แบบไม่สม่ำเสมอหรือนานๆ ครั้ง อาจทำให้จำนวนผู้ติดตามและการมีส่วนร่วมลดลงได้นั่นเอง
การเปิดใจรับฟังฟีดแบ็กที่สร้างสรรค์จากผู้ติดตามถือเป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนาและยกระดับคุณภาพผลงาน การรับฟังความคิดเห็นตรงไปตรงมาช่วยให้เราเข้าใจความชอบและไม่ชอบของผู้ติดตาม ส่วนไหนควรปรับปรุงหรือควรเพิ่มเติมอะไร เพื่อให้ผลงานตอบโจทย์ความต้องการของพวกเขามากขึ้น ซึ่งการปรับปรุงตามฟีดแบ็กอย่างต่อเนื่องจะช่วยรักษาฐานผู้ติดตามให้ยังคงอยู่กับเราได้ในระยะยาวนั่นเอง
การสร้างคอนเทนต์ที่มีคุณภาพเป็นปัจจัยสำคัญของความสำเร็จสำหรับอินฟลูเอนเซอร์ โดยคอนเทนต์ที่ดีต้องมีองค์ประกอบหลายด้าน ได้แก่ ความสร้างสรรค์ และเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว การนำเสนอที่มีคุณค่า และเป็นประโยชน์ต่อผู้ติดตาม การใช้เทคนิคการผลิตที่มีคุณภาพ ทั้งด้านภาพ และเสียง รวมถึงการเลือกช่วงเวลาในการโพสต์ที่เหมาะสม
นอกจากนี้ คอนเทนต์ที่มีคุณภาพยังต้องสะท้อนความจริงใจ และความน่าเชื่อถือของผู้สร้าง เพื่อสร้างความไว้วางใจและความผูกพันระยะยาวกับกลุ่มผู้ติดตาม การให้ความสำคัญกับการผลิตคอนเทนต์ที่มีคุณภาพ จึงเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าในระยะยาวสำหรับการเป็นอินฟลูเอนเซอร์มืออาชีพ
อินฟลูเอนเซอร์ คือคนที่มีอิทธิพลทางความคิด และการตัดสินใจ ของผู้ติดตามในโซเชียลมีเดีย สามารถโน้มน้าวให้ผู้ติดตามตัดสินใจซื้อสินค้าหรือบริการ เลือกติดตามแบรนด์และมีส่วนร่วมในกิจกรรมต่างๆ ของแบรนด์มากขึ้น ทำให้อินฟลูเอนเซอร์กลายมาเป็นช่องทางโปรโมตแบรนด์ ที่หลายๆ แบรนด์เลือกใช้กัน
การใช้อินฟลูเอนเซอร์โปรโมตธุรกิจส่งผลให้ยอดขายเพิ่มขึ้นจากการเพิ่มขึ้นของการรับรู้แบรนด์ อินฟลูสามารถสร้างความน่าเชื่อถือให้กับแบรนด์ได้ดี เพราะมีการสร้างคอนเทนต์ที่น่าสนใจและมีความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้ติดตามหรือกลุ่มเป้าหมายนั่นเอง
ตามหางานในองค์กรคุณภาพได้ที่ Jobsdb เว็บไซต์ช่วยหางานพร้อมฟีเจอร์ที่ช่วยให้หางานได้ตามความต้องการ สามารถเลือกประเภทงาน ตำแหน่ง หรือเงินเดือนที่ต้องการได้ เพื่อให้ได้งานที่ตรงตามใจเรามากที่สุด