Key Takeaway
เริ่มต้นดี มีชัยไปกว่าครึ่ง แล้วยิ่งเริ่มต้นเร็วด้วย เกษียณไปก็ไม่ต้องกังวลแล้วว่าใครจะมาเลี้ยงดูเรา เพราะเรามีเงินออม ที่นับวันยิ่งงอกเงยมาตั้งแต่เราทำงานแล้ว วันนี้มารู้จักกองทุนสํารองเลี้ยงชีพ เงินออมเกษียณสำหรับมนุษย์เงินเดือน ที่ควรทำไว้ตั้งแต่อายุน้อยๆ แล้วกองทุนสํารองเลี้ยงชีพคืออะไร จะได้เงินตอนลาออกเลยไหม บทความนี้มีคำตอบ!
กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือ Provident Fund (PVD) คือสวัสดิการกองทุนอย่างหนึ่ง ที่นายจ้างอย่างบริษัท หรือองค์กรต่างๆ มอบให้ลูกจ้าง ซึ่งเป็นสวัสดิการที่ถูกจัดตั้งขึ้นด้วยความสมัครใจทั้งสองฝ่าย เพื่อส่งเสริมการออมในระยะยาวได้อย่างมีวินัย และช่วยสร้างแรงจูงใจในการทำงาน ทำให้ลูกจ้างทำงานกับนายจ้างนานขึ้น
นอกจากนี้ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพก็เป็นการออมที่สำคัญ เพราะในกรณีที่ลูกจ้างลาออก เกษียณอายุงาน ทุพพลภาพ หรือลูกจ้างเสียชีวิต ก็ทำให้ลูกจ้าง และครอบครัว สามารถนำเงินที่ได้จากการออมเหล่านี้ไปใช้ประโยชน์ต่อไปได้
โดยเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ แบ่งได้ 2 ส่วน ดังนี้
เงินสะสม คือเงินสะสมของลูกจ้างที่สะสมไว้ เพื่อเก็บไว้ใช้ตอนเกษียณอายุ หรือออกจากงาน โดยเมื่อลูกจ้างได้รับเงินเดือนในแต่ละเดือน นายจ้างจะหักหักเงินจากค่าจ้างเพื่อสะสมเข้ากองทุนทุกเดือน ในอัตราเงินสะสมตั้งแต่ 2-15% ของเงินเดือน ตามกฎหมายกำหนด
เงินสมทบ คือเงินที่นายจ้างจ่ายเป็นเงินสมทบในกองทุนของลูกจ้าง ในอัตราเงินสมทบตั้งแต่ 2-15% ของเงินเดือน ตามกฎหมายกำหนด โดยต้องไม่จ่ายเงินสมทบต่ำกว่าเงินสะสมของลูกจ้าง
ในส่วนของเงินสะสมที่ลูกจ้างถูกหักเข้ากองทุน และเงินสมทบที่ถูกหักจากบริษัท หรือองค์กร เพื่อสะสมในกองทุนเลี้ยงสำรองชีพ จะมีการจัดการโดยบริษัทจัดการ หรือบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) โดยนำเงินไปลงทุนกับหลักทรัพย์ประเภทต่างๆ เช่น การลงทุนในเงินฝาก ตราสารหนี้ หุ้น และการลงทุนทางการเงินอื่นๆ ที่สามารถสร้างผลตอบแทนให้กับกองทุน
จากนั้น ผลตอบแทน หรือดอกเบี้ยที่ได้จากการลงทุน ก็จะถูกนำมาเฉลี่ยให้กับสมาชิกทุกคนภายในกองทุนตามสัดส่วน ในรูปแบบของเงินก้อนสะสม เพื่อรอจ่ายให้กับสมาชิกในกรณีที่ลาออกจากงาน เกษียณอายุ หรือเสียชีวิต โดยผลตอบแทนจากการนำเงินไปลงทุน เรียกว่า ผลประโยชน์ของเงินสะสม และผลประโยชน์เงินสมทบนั่นเอง
สำหรับมนุษย์เงิน หรือคนทำงานทุกวัย การออมเงินผ่านกองทุนสํารองเลี้ยงชีพ ถือเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าที่สุดในระยะยาว ที่นอกจากช่วยให้มีเงินออมยามเกษียณแล้ว ก็ยังได้รับสิทธิประโยชน์ด้านอื่นๆ อีกมากมาย ดังนี้
เนื่องจากเงินสะสมที่ถูกหักเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพในแต่ละเดือนนั้น เป็นเงินเดือนที่ถูกหักโดยอัตโนมัติ และเป็นจำนวนเงินเท่ากันทุกเดือน ซึ่งเรียกได้ว่า เป็นรูปแบบการออมที่สม่ำเสมอ และได้เปรียบมากกว่าการออมรูปแบบอื่นๆ ที่ช่วยสร้างวินัยการออมให้กับพนักงาน เพื่อให้พนักงานมีเงินออมก้อนใหญ่ไว้ใช้ตอนลาออกจากงาน หรือยามเกษียณ
การออมเงินผ่านกองทุนสำรองเลี้ยงชีพยังสามารถสร้างผลตอบแทนได้อีกด้วย โดยเมื่อบริษัทจัดการกองทุน นำเงินไปลงทุนในหลักทรัพย์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ตราสารหนี้ หุ้นไทย หุ้นต่างประเทศ หรือหุ้นอื่นๆ แล้วได้รับผลตอบแทนจากการลงทุน ก็จะนำกำไรที่ได้รับ มาเฉลี่ยให้กับสมาชิกภายในกองทุน ซึ่งถือเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า และสามารถเติบโตในระยะยาวได้อย่างมั่นคง
เงินสะสมที่หักเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และเงินสมทบของบริษัท จะถูกนำไปลงทุนในหลักทรัพย์ต่างๆ ตามความต้องการ ตามสัดส่วนการลงทุน และความเสี่ยงที่พนักงานยอมรับได้ โดยมีผู้เชี่ยวชาญที่เป็นบริษัทจัดการ หรือบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ที่มีผู้จัดการกองทุนมืออาชีพคอยบริหารจัดการ เพื่อสร้างผลตอบแทนจากการลงทุน และได้ผลตอบแทนตามที่คาดหวังไว้
ประโยชน์สำคัญที่สุดในการออมเงินผ่านกองทุนสํารองเลี้ยงชีพ คือสิทธิประโยชน์การลดหย่อนภาษี โดยเงินสะสมที่ส่งเข้ากองทุน สามารถนำไปลดภาษีสูงสุดไม่เกิน 15% ของรายได้ หากรวมกับกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) กองทุนรวมเพื่อการออม (SSF) ก็สามารถลดหย่อนได้สูงสุดถึง 500,000 บาทของรายได้เลย
คนที่เป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ จะสามารถรับเงินคืนจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพคืนได้เมื่อสิ้นสุดการเป็นสมาชิก ไม่ว่าจะเป็นลาออกจากงาน ลาออกจากกองทุน เกษียณอายุ ทุพพลภาพ รวมถึงการเสียชีวิต โดยจะได้รับทั้งเงินสะสม ผลประโยชน์ของเงินสะสม เงินสมทบ และผลประโยชน์ของเงินสมทบ
ทั้งนี้ บางบริษัทอาจมีข้อกำหนดในการจ่ายเงินสมทบจากกองทุนสํารองเลี้ยงชีพตามระยะเวลาการทำงาน เช่น มีอายุงานน้อยกว่า 5 ปี จะได้รับเงินสมทบ และผลประโยชน์จากเงินสมทบ 50% รวมถึงได้รับเงินสะสม และผลประโยชน์ของเงินสะสม 100% หรือมีอายุงานมากกว่า 5 ปีขึ้นไป จะได้รับเงินรับเงินสมทบ และผลประโยชน์จากเงินสมทบ รวมถึงเงินสะสม และผลประโยชน์ของเงินสะสม 100% เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม เมื่อลาออกจากงาน หรือเกษียณอายุงานแล้ว ก็สามารถคงเงินไว้กับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพนั้นๆ ได้ โดยมีข้อแม้ว่า ต้องแจ้งระยะเวลาการคงเงินไว้กับบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ว่าต้องการคงเงินระยะเวลาเท่าไร ซึ่งเป็นข้อดี เพราะจะได้รับผลประโยชน์เหมือนเดิม แต่แค่จะไม่มีเงินสมทบจากบริษัทเพิ่มเท่านั้น
อีกทั้ง หากต้องการนำเงินทั้งหมดออกมาใช้ ก็สามารถเลือกถอนเงินที่อยู่ในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพทั้งหมด เพื่อนำไปใช้จ่ายในชีวิตประจำวันยามเกษียณ หรือนำเงินที่ได้ส่วนหนึ่งไปลงทุนต่อด้วยตัวเองก็ได้เช่นกัน
ในกรณีที่สมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเปลี่ยนงาน หรือลาออกจากงาน ยังสามารถจัดการกองทุน และรักษาสิทธิประโยชน์กองทุนได้ ดังนี้
สำหรับผู้ที่ลาออกจากงาน เปลี่ยนงาน แล้วบริษัทใหม่ไม่มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือกองทุนยังไม่มีเงื่อนไขที่ถูกใจ ก็สามารถเลือกโอนย้ายกองทุนเดิมที่มี ย้ายไปที่กองทุนเพื่อการเลี้ยงชีพ หรือ RMF for PVD ได้ ด้วยการแจ้งกับนายจ้าง และฝ่ายบุคคล (HR) ภายใน 30 วัน นับจากวันสิ้นสภาพการเป็นลูกจ้าง
ระบุกองทุน RMF ที่ต้องการให้โอนเงินไป และติดต่อบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน เพื่อเปิดบัญชีกองทุน RMF ที่สำคัญ ซึ่งต้องเป็นกองทุนที่รองรับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเท่านั้น ถึงจะสามารถโอนย้ายได้ ซึ่งข้อดีของการย้ายไป RMF for PVD คือไม่เสียค่าธรรมเนียมการโอนย้าย ไม่ถูกหักภาษี และไม่เสียค่ารักษาสมาชิกรายปี
หลังจากที่ได้งานประจำ และที่บริษัทใหม่มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่มีเงื่อนไขถูกใจ ก็สามารถย้ายเงินจากกองทุนของบริษัทเดิมไปยังบริษัทใหม่ได้เช่นกัน โดยให้กองทุนเดิมออกเช็ค เพื่อนำไปยื่นกับฝ่ายบุคคลที่บริษัทใหม่ สำหรับทำเอกสารเพื่อแจ้งบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนของที่ทำงานใหม่ว่ามีการรับโอนสมาชิกใหม่ และที่สำคัญ ในเอกสารต้องมีการลงนามของคณะกรรมการ เช็ค และหนังสือรับรองการโอนย้ายแนบไปด้วย
อีกหนึ่งทางเลือกสำหรับสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ที่ทำเรื่องลาออกจากงาน แต่ไม่รู้ว่าจะจัดการกองทุนเหล่านี้อย่างไร ในระหว่างรอโอนไปกองทุนของที่ทำงานใหม่ ก็สามารถฝากเงินไว้ในกองทุนของที่ทำงานเดิมได้ ด้วยการแจ้งระยะเวลาในการคงเงินกับบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนว่าจะคงเงินเป็นระยะเวลาเท่าไร ซึ่งสมาชิกจะได้รับผลประโยชน์ของเงินสะสมเหมือนเดิม แต่จะมีค่าธรรมเนียม 500 บาทต่อปี และไม่ได้รับเงินสมทบเพิ่มจากบริษัท หรือองค์กร
สามารถสิ้นสุดการเป็นสมาชิกได้ด้วยการปิดบัญชีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือลาออกจากสมาชิกของกองทุน ซึ่งเป็นวิธีที่เหมาะกับสมาชิกที่ต้องการเงินสด หรือนำเงินออกมาลงทุนเอง ด้วยการถอนเงินทั้งหมด (ไม่สามารถแบ่งถอนได้) กับบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนหลังจากสิ้นสุดการเป็นสมาชิก
ทั้งนี้ สมาชิกต้องยืนยันความถูกต้องของข้อมูล ได้แก่ เงินสะสม ผลประโยชน์เงินสะสม เงินสมทบ ผลประโยชน์เงินสมทบ ว่าตรงตามเงื่อนไขหรือไม่ ซึ่งหากถูกต้องเรียบร้อยแล้ว ก็สามารถขอแจ้งถอนได้ทันที
อย่างไรก็ตาม กรณีที่สมาชิก มีอายุงานน้อยกว่า 5 ปี และลาออกก่อนอายุ 55 ปี จะต้องเสียภาษีในส่วนของผลประโยชน์เงินสะสม เงินสมทบ และผลประโยชน์เงินสมทบ แต่ถ้าหากสมาชิกมีอายุ 55 ปีขึ้นไป และมีอายุงานมากกว่า 5 ปี ก็จะได้รับยกเว้นภาษีทั้งหมด
การออมเงินในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เป็นหนึ่งในการลงทุนที่ดี และมั่นคงในระยะยาว ช่วยสร้างวินัยในการออมของเหล่ามนุษย์เงินเดือน หรือคนวัยทำงานให้มีความพร้อม ในเรื่องของวางแผนการใช้เงิน การออมเงิน การเลือกกองทุนที่เหมาะสม ที่สามารถสร้างผลตอบแทนได้ตามต้องการ
รวมถึงหากเมื่อลาออกจากงาน หรือย้ายงานใหม่ ก็สามารถจัดการกองทุนเดิมที่มีอยู่ได้อย่างถูกต้อง เพื่อสร้างอนาคตที่มั่นคง และมีเงินออมไว้ใช้ในยามเกษียณได้อย่างไม่กังวลอีกต่อไป
มาหางานที่มั่นคง งานที่ถูกใจ และงานที่มีสวัสดิการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เพื่อสร้างอนาคตที่ดี ได้ที่ Jobsdb หนึ่งในตัวช่วยที่อำนวยความสะดวกในการหางานของคุณ มีเครื่องมือหางานที่ตอบโจทย์ทุกอาชีพที่คุณต้องการ พร้อมเปรียบเทียบเงินเดือน เพื่อให้คุณได้เจอสวัสดิการที่ใช่ได้ง่ายๆ เพียงไม่กี่คลิก!