ใครจะไปคิดว่าวันหนึ่งโลกของเราจะเกิดโรคระบาดอย่างโควิด-19 ขึ้นมา แล้วส่งผลกระทบแบบเป็นวงกว้างไปทั่วโลก สร้างปัญหาให้กับทุกวงการและทุกอุตสาหกรรมแบบที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แม้ในวันนี้สถานการณ์จะคลี่คลายลงไปบ้างแล้ว แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าเจ้าโควิด-19 ก็ยังอยู่กับพวกเราไปเรื่อยๆ ทุกๆ ภาคส่วนต่างก็ต้องปรับตัวเพื่อความอยู่รอดด้วยกันแทบทั้งนั้น จากที่หลายประเทศก็กลับมาเปิดพรมแดนให้ได้เดินทางไปมาหาสู่กันอีกครั้งหนึ่ง
รวมไปถึงโลกของการทำงานในช่วงที่ได้รับผลกระทบหนักๆ ก็ต้องปรับวิธีการทำงานกันยกใหญ่จนก่อให้เกิดเทรนด์ Work From Home ขึ้น (แม้บางออฟฟิศจะเริ่มนำเทรนด์เกี่ยวกับการทำงานแบบ Remote มาสักระยะแล้วก็ตาม) แต่เราเชื่อว่าในช่วงโควิด-19 กำลังระบาดหนักๆ นั้น ไม่มีมนุษย์เงินเดือนที่ไม่ได้ Work From Home อย่างแน่นอน และนั่นก็ยังทำให้ทุกคนได้รู้ว่าจริงๆ แล้วเราก็สามารถทำงานกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ แบบที่ไม่ต้องเข้าออฟฟิศเหมือนกันนี่นา
จนเมื่อสถานการณ์ต่างๆ เริ่มคลี่คลาย ออฟฟิศหลายๆ ที่ก็เริ่มให้พนักงานกลับเข้าออฟฟิศกันอีกครั้ง แต่ก็อย่างที่บอกไปว่าโควิด-19 ยังอยู่กับเรา ดังนั้นบางออฟฟิศก็เริ่มปรับตัวกันอีกครั้ง ด้วยการสร้างเทรนด์การทำงานแบบใหม่อย่าง Hybrid Work ขึ้นมา อย่างน้อยก็อาจช่วยลดความเสี่ยงเรื่องการระบาดโควิด-19 ในออฟฟิศลงไปบ้าง
ดังนั้นบทความนี้เรามาวิเคราะห์ถึงเทรนด์การทำงานแบบ Work From Home และ Hybrid Work ในปี 2023 กันว่าการทำงานสไตล์เวิร์คกว่ากัน รวมไปถึงข้อดีและข้อเสียของการทำงานทั้ง 2 แบบจะมีอะไรบ้าง
ก่อนที่จะไปกล่าวถึงเทรนด์การทำงาน 2 แบบใหม่ที่เราพูดถึงไปตอนต้น ในช่วงแรกนี้เราขอพูดถึงการทำงานแบบคลาสสิกอย่างการทำงานที่ออฟฟิศกันสักเล็กน้อย จะได้เห็นถึงข้อแตกต่างของสไตล์การทำงานทุกแบบกันอย่างชัดๆ ไปเลย
โดยการทำงานแบบให้เข้าออฟฟิศ พูดง่ายๆ ก็คือสไตล์การทำงานแบบดั้งเดิมทั่วไป ที่กำหนดให้พนักงานทุกคนเข้าไปทำงานในบริษัทตามเวลาที่กำหนดไว้ เช่น ทำงาน 5 วันต่อสัปดาห์ในวันจันทร์-ศุกร์ ตั้งแต่ 09.00-18.00 น. เป็นต้น บางที่ก็อาจมีความยืดหยุ่นให้แก่พนักงาน โดยไม่ Fix เวลาที่เข้า-ออกแบบตายตัว แต่บางที่ก็กำหนดไว้ชัดเจน ว่าห้ามมาทำงานสาย หรือห้ามออกก่อนเวลา
เมื่อพนักงานทุกคนและทุกแผนกได้มาพบปะกันในบริษัทและทำงานร่วมกันแล้ว แน่นอนว่าทุกคนก็จะมีสมาธิในการทำงานอย่างเต็มที่ เพราะบรรยากาศโดยรวมก็คืออยู่ในบริษัท ไม่มีปัจจัยภายนอกต่างๆ มารบกวน มีคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์การทำงานอื่นๆ และสิ่งอำนวยความสะดวกที่บริษัทจัดหาให้กับพนักงานอย่างครบครัน
หากอยากติดต่อกับคนที่เกี่ยวข้องในการทำงานของเรา ก็สามารถเดินไปพูดคุยกันได้อย่างรวดเร็วและทันท่วงที หากมีงานด่วนที่ต้องรีบเคลียร์ ก็สามารถปรึกษาหารือกันได้แบบไม่ต้องเสียเวลา และหากมีจุดไหนที่ต้องแก้ไข ก็สามารถนัดประชุมด่วนแบบเห็นหน้าเห็นตากันได้เลยเช่นกัน
รวมไปถึงการนั่งทำงานใกล้ๆ กันแบบเป็นทีม ยังช่วยสร้างความสัมพันธ์ให้แน่นแฟ้นได้ง่ายขึ้น เพราะการที่ทุกคนมาเจอหน้ากันแทบทุกวัน ก็จะช่วยสร้างความคุ้นเคยและเพิ่มความสัมพันธ์ที่ดีภายในทีมได้ง่ายขึ้น ทำให้ประสิทธิภาพในการทำงานเพิ่มสูงขึ้น
อันดับแรกเลยคือพนักงานจะต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นแน่นอน ทั้งในเรื่องของการค่าเดินทางไป-กลับในแต่ละวัน รวมไปถึงค่าอาหารกลางวัน โดยเฉพาะในโซนออฟิศหรือตึกสำนักงานต่างๆ ที่มักจะมีราคาสูงกว่าปกติ ไหนจะมีค่าเครื่องดื่ม ค่าขนมหรือของกินเล่นระหว่างวัน บางครั้งมีการนัดเพื่อนไปสังสรรค์กระชับความสัมพันธ์หลังเลิกงาน ก็ต้องเพิ่มเติมค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ไปอีก
รวมไปถึงบรรยากาศในการทำงานที่ออฟฟิศ ซึ่งหลายคนก็รู้สึกกับรูปแบบการทำงานเดิมๆ ในบริษัท ต้องตื่นมาเจอบรรยากาศซ้ำเดิมทุกๆ วัน ก็อาจก่อให้เกิดอาการ Burn Out หรือเกิดความเครียดขึ้นได้ ส่วนคนที่มีบ้านอยู่ไกลจากออฟิศ ก็อาจมีอาการเหนื่อยล้าจากการเดินทางไปทำงานเสริมทัพให้เบื่อแบบคูณสองเข้าไปอีก ในส่วนของตัวบริษัทเอง ก็จะต้องรองรับค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่จะเป็นการอำนวยความสะดวกให้พนักงาน เช่น ค่าไฟ ค่าอินเทอร์เน็ต ค่าอุปกรณ์สำนักงานต่างๆ เป็นต้น
คราวนี้มาที่การทำงานแบบ Work From Home กันบ้าง ซึ่งตอนนี้อาจรวมถึงการทำงานแบบ Remote Work ด้วยก็ได้ ที่เป็นการสามารถนั่งทำงานจากที่ไหนก็ได้นั่นเอง โดยการทำงานสไตล์นี้ถือเป็นการให้อิสระแก่พนักงานพอสมควร ว่าจะเลือกนั่งทำงานที่ไหนก็ได้ ตามที่พนักงานสะดวก ไม่ว่าจะเป็นภายในบ้านของตัวเอง หรือออกไปนั่งทำงานตามร้านกาแฟ คาเฟ่ หรือ Co-Working Space ขอเพียงแค่มีคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตเท่านั้น
โดยบางออฟฟิศนั้นให้อิสระกับพนักงานอย่างเต็มที่ในแบบที่ไม่ต้องบันทึกเวลาเข้าออกงานกันเลยทีเดียว ขอเพียงแค่ทำงานที่ได้รับมอบหมายให้เสร็จตามเวลา สามารถติดต่อได้ในยามฉุกเฉิน และไม่ขาดประชุมสำคัญเท่านั้นเอง แต่บางที่ก็อาจกำหนดกฎเกณฑ์ไว้อย่างแน่ชัดเหมือนกัน เพื่อป้องกันไม่ให้พนักงานออกนอกลู่นอกทาง
อันดับแรกเลยคือพนักงานจะได้รับความอิสระในการทำงานกันไปเต็มๆ เลยทีเดียว เพราะว่าสามารถนั่งทำงานจากที่ไหนก็ได้ สามารถเลือกที่ทำงานได้ตามใจชอบ ใครอยากประหยัดค่าเดินทาง ก็สามารถนั่งทำงานอยู่ที่บ้านได้ ส่วนคนที่มีภูมิลำเนาอยู่ในต่างจังหวัด ก็สามารถกลับไปทำงานที่บ้านเกิดของตัวเองได้ โดยไม่ต้องเสียค่าเช่าที่พักในเมืองหลวงให้วุ่นวาย แล้วยิ่งใครพักอยู่กับครอบครัว ก็อาจประหยัดค่าอาหารไปได้อีก เพราะมีคุณพ่อคุณแม่ทำกับข้าวให้ทาน
แถมการทำงานแบบ Work From Home ยังช่วยลดความเครียดให้กับพนักงานได้มากเลยทีเดียว เพราะไม่ต้องตื่นไปเจอกับบรรยากาศอันแสนน่าเบื่อที่ออฟฟิศในทุกๆ วัน ไม่ต้องไปเจอมนุษย์ Toxic หรือการจับกลุ่มนินทากันในที่ทำงาน เพราะเมื่อคนเราได้ทำงานในบรรยากาศที่ผ่อนคลาย ก็จะช่วยให้รังสรรค์ผลงานออกมาได้อย่างมีประสิทธิภาพเช่นเดียวกัน
ส่วนของตัวบริษัทเองก็อาจได้ประโยชน์ในเรื่องของต้นทุนค่าใช้จ่ายที่ลดลง ทั้งค่าสาธารณูปโภค ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าอินเทอร์เน็ต ค่าอุปกรณ์สำนักงานต่างๆ เพราะเมื่อพนักงานทุกคนทำงานที่บ้าน บริษัทก็ไม่ต้องจ่ายค่าใช้จ่ายในส่วนนี้มากนัก และอาจทำให้บริษัทได้จัดสรรงบดังกล่าวมาใช้จ้างพนักงานใหม่ๆ เพื่อขับเคลื่อนให้บริษัทมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
แม้ทุกคนได้รับอิสระในการทำงาน แต่ก็ใช่ว่าทุกคนจะสะดวกกับสถานที่ทำงานของตัวเองเสมอไป บางคนอยู่บ้านที่เป็นครอบครัวใหญ่ ไม่มีพื้นที่ส่วนตัวมากนัก ในช่วงเวลาทำงานก็อาจได้รับการรบกวนจากสมาชิกในบ้านคนอื่นๆ ไปบ้าง จนอาจทำให้เสียสมาธิในการทำงานได้ หรือแม้กระทั่งอาการ Burn Out ก็อาจเกิดขึ้นได้กับสไตล์การทำงานแบบ Work From Home เช่นกัน เพราะการที่คนเราต้องอยู่แต่ในบ้านเป็นเวลานานๆ แบบที่ไม่ได้ออกไปเจอโลกภายนอกเลย ก็อาจสร้างความเบื่อหน่ายได้เช่นกัน แถมยังรวมไปถึงเรื่องอุปกรณ์และค่าใช้จ่ายในการทำงานที่พนักงานต้องรองรับเพิ่มเติมด้วยตนเอง เช่น ค่าอินเทอร์เน็ต หรือค่าไฟ ที่อาจจะเพิ่มมากขึ้น เป็นต้น
นอกจากนี้ยังรวมไปถึงเรื่องของสัญญาณอินเทอร์เน็ต ที่อาจไม่เสถียรมากนัก อาจส่งผลให้การประชุมออนไลน์ หรือการส่งงานล่าช้าและติดขัดได้ ซึ่งปัจจัยต่างๆ ที่กล่าวไปทั้งหมด ก็อาจส่งผลให้การทำงานออกมาไม่มีประสิทธิภาพได้เช่นกัน
ในส่วนของตัวบริษัทเอง ก็อาจตามตัวหรือติดต่อได้ยากขึ้น เพราะพนักงานบางคนเมื่อเห็นว่ามีการ Work From Home ก็อาจแอบเอาเวลางานไปทำทำธุระส่วนตัวได้ หากมีงานด่วนที่ต้องรีบ แล้วพนักงานหายตัวไป ก็อาจมีปัญหาตามมาในภายหลังได้ หรือบางครั้งหากเราเป็นคนที่ประพฤติตัวดี แล้วต้องติดต่องานด่วนกับเพื่อนร่วมงานที่แอบอู้งาน ส่งข้อความไปไม่ยอมตอบ โทรไปไม่ยอมรับ ก็ต้องเสียเวลามานั่งรอกันอีก ไม่เหมือนการทำงานในออฟฟิศ ที่สามารถเดินไปหากันที่โต๊ะได้เลย ดังนั้นบริษัทจึงอาจต้องกำหนดกฎเกณฑ์ในเรื่องการทำงานแบบ Work From Home ให้ชัดเจนแก่พนักงานด้วย
สำหรับการทำงานสไตล์นี้คือการทำงานที่ผสมผสานกันการระหว่างการทำงานแบบเข้าออฟฟิศ และการทำงานแบบ Work From Home ซึ่งพนักงานไม่จำเป็นต้องเข้าออฟฟิศ แต่บริษัทจะเป็นคนกำหนดว่าวันไหนบ้างที่ต้องเข้าออฟฟิศ และวันไหนที่จะเป็นวัน Work From Home เช่น วันจันทร์-พุธ เข้าออฟฟิศ และวันพฤหัสบดี-ศุกร์ ทำงานที่บ้าน เป็นต้น หรือบางบริษัทก็ใช้วิธีสลับทีมกันเข้าออฟฟิศ ทั้งนี้ก็เพื่อเป็นการช่วยลดความเสี่ยงในการแพร่ระบาดของโควิด-19 ด้วย ซึ่งก็แล้วแต่บริษัทต่างๆ จะเป็นวางแผนและกำหนดมาตรการ
ดังที่กล่าวไปว่าการทำงานแบบ Hybrid Work เป็นการผสมผสานการทำงานทั้ง 2 แบบเข้าไว้ด้วยกัน ดังนั้นจึงได้ข้อดีของการทำงานทั้งที่ออฟฟิศ และข้อดีของการ Work From Home มาแบบตีคู่กันไปเลย โดยวันที่เข้าไปทำงานออฟฟิศ ก็ยังได้สื่อสารและเคลียร์เรื่องราวต่างๆ ที่เร่งด่วนได้แบบทันท่วงที สามารถนัดประชุมกันได้แบบไม่ติดขัด ได้สานสัมพันธ์กันเพื่อนร่วมทีมอย่างเต็มที่
ส่วนวันที่ต้อง Work From Home ก็อาจเป็นวันที่พนักงานเอาไว้เคลียร์งานส่วนตัวของแต่ละคน ในแบบที่ไม่ต้องติดต่อใครมากนัก แถมยังได้ผ่อนคลายจากบรรยากาศอันตึงเครียดภายในออฟฟิสอีกด้วย รวมไปถึงเรื่องค่าใช้จ่ายก็ถือว่าวินๆ ทั้ง 2 ฝ่าย ทั้งตัวพนักงานและตัวบริษัท ซึ่งพนักงานก็จะลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางลงไปครึ่งหนึ่ง ส่วนบริษัทก็สามารถลดต้นทุนในเรื่องค่าใช้จ่ายในการรองรับพนักงานลงไปด้วยเช่นกัน
หากดูเผินๆ แล้วเมื่อนำการทำงานทั้ง 2 สไตล์มาควบรวมกัน กลายเป็นการทำงานแบบ Hybrid Work จะดูดีและมีประโยชน์กว่า แต่ก็ยังมีข้อเสียด้วยเหมือนกัน เช่น พนักงานบางคนที่มีภูมิลำเนาอยู่ต่างจังหวัด ก็อาจจะต้องเดินทางไปกลับบ้านบ่อยกว่าปกติ หรืออาจไม่สะดวกเดินทางไกลๆ ในทุกสัปดาห์ รวมไปถึงพนักงานบางตำแหน่งที่จำเป็นต้องใช้คอมพิวเตอร์ขนาดใหญ่ ไม่สามารถใช้แล็บท็อปได้ เช่น กราฟฟิกดีไซเนอร์ หรือพนักงานตัดต่อวิดีโอ เป็นต้น ครั้นจะยกคอมพิวเตอร์เครื่องใหญ่ไปกลับทุกสัปดาห์ ก็ดูจะเหนื่อยเกินไปหน่อย
รวมไปถึงเรื่องการปรับตัวของพนักงานด้วยในการสลับรูปแบบการทำงานไปๆ มาๆ ในทุกสัปดาห์ หรือการทำงานแบบสลับทีม ก็สามารถสร้างปัญหาได้ เช่น หากวันที่ทีม A ต้องประชุมงานกับทีม B ซึ่งมีทีมหนึ่งเข้าออฟฟิศ และทีมหนึ่ง Work From Home สุดท้ายก็ต้องประชุมผ่านวิดีโอคอลกันอยู่ดี ไม่ต่างอะไรจากการ Work From Home เลยทีเดียว อาจทำให้เสียเวลาและประสิทธิภาพในผลิตชิ้นงานลดลงได้ ดังนั้นบริษัทต่างๆ จึงต้องบริหารเรื่องราวตรงนี้ให้ดี
เหรียญมี 2 ด้าน เช่นเดียวกับเรื่องสไตล์การทำงานในทุกรูปแบบ ก็มีข้อดีและข้อเสียที่แตกต่างกันออกไป ดังนั้นถ้าต้องฟันธงลงไปเลยว่าการทำงานสไตล์ไหนดีที่สุด คงจะเป็นปัญหาโลกแตกไม่น้อย แต่วิธีแก้ไขก็คือทุกบริษัทควรหาทางออกร่วมกันให้ได้ ว่าทิศทางการทำงานจะออกมาเป็นแบบไหนเพื่อการทำงานอันลื่นไหลและไม่ลดทอนประสิทธิภาพในการทำงานลงไป หรืออาจลองค่อยๆ ปรับตัวกันไป เพื่อหารูปแบบการทำงานที่เหมาะสมและตอบโจทย์ทุกฝ่ายได้อย่างเหมาะสมที่สุด