นอกจากผลตอบแทนจากการทำงาน ตัวเนื้องานที่มีความน่าสนใจ และ career path ที่ดูดีมีอนาคตแล้ว ความสุขในการทำงานเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่พนักงานบริษัทใช้ประกอบการตัดสินใจในการเลือกทำงานที่บริษัทใดบริษัทหนึ่ง ทำให้เกิดเป็นเทรนด์ Wellbeing ที่ HR หลายองค์กรหันมาให้ความสำคัญ ทั้งเพื่อใช้พัฒนาวัฒนธรรมองค์กรและดึงดูดพนักงานเก่ง ๆ ที่มีคุณภาพให้มาร่วมงานกับบริษัท หลายบริษัทเลยกำหนดทิศทางในการพัฒนางานด้านทรัพยากรบุคคลด้วยกลยุทธ์ Workplace wellbeing strategy
Workplace wellbeing strategy คืออะไร
คือ การให้ความสำคัญกับคุณภาพการใช้ชีวิตของคนหรือพนักงานในบริษัทควบคู่ไปกับประสิทธิภาพของผลงาน เป็นแนวคิดที่ตระหนักดีว่า ผลงานจะดีได้ก็ต้องมาจากพนักงานที่มีสุขภาพที่แข็งแรงทั้งกายและใจ และทำงานได้อย่างมีความสุข มีหลายงานวิจัยที่ชี้ชัดว่าการลงทุนด้านสุขภาพกับคนทำงานคือกำไรระยะยาวที่ทำให้ Win-Win ทั้งองค์กรและพนักงาน โดยที่คอนเซ็ปต์ของการวางกลยุทธ์นี้ คือการตั้งเป้าหมายที่คำนึงถึงความเป็นอยู่ที่ดีของพนักงานในทุก ๆ ด้าน ทั้งทางกายภาพ ด้านจิตวิทยา และสังคม รวมไปถึงความมั่นคงทางการเงิน ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนมีผลโดยตรงกับความสามารถในการทำงานและผลงานที่พนักงานสามารถทำได้
องค์ประกอบในการสร้างคุณภาพการใช้ชีวิตของพนักงานควบคู่ไปกับประสิทธิภาพของผลงาน
คีย์หลักงานของการสร้างคุณภาพการใช้ชีวิตของพนักงานควบคู่ไปกับประสิทธิภาพของผลงาน คือการทำให้ที่ทำงานให้ความรู้สึกเหมือนบ้านหลังที่สอง เพราะพนักงานออฟฟิศส่วนใหญ่มักใช้เวลาทั้งวันหมดไปกับการทำงาน ทำให้ HR ผู้บริหาร หรือเจ้าของกิจการต้องสร้างกลยุทธ์นี้ขึ้น โดยคำนึงถึงองค์ประกอบ ดังนี้
สภาพแวดล้อมส่งผลโดยตรงต่อประสิทธิภาพการทำงานอย่างไม่น่าเชื่อ และมีส่วนสำคัญมากในสร้างแรงบันดาลใจและทำให้พนักงานรู้สึก productive เพราะถ้าได้นั่งทำงานในออฟฟิศสวย ๆ ใคร ๆ ก็อยากตั้งใจทำงานจริงไหม นอกจากที่ออฟฟิศจะต้องมีอุปกรณ์ที่จำเป็นต่อการทำงานอย่างครบถ้วนแล้ว การออกแบบตกแต่งออฟฟิศให้น่าอยู่ ก็จัดเป็นหัวใจสำคัญที่ช่วยสร้างบรรยากาศการทำงานที่ดีได้ โดยควรคำนึงถึงพื้นที่ใช้สอยที่พอเหมาะ สะอาด ปลอดโปร่ง มีคุณภาพอากาศที่ดี และมีการจัดแสงสว่างให้เพียงพอ รวมไปถึงการมีมุมพักผ่อนให้พนักงานได้มาผ่อนคลายความเครียด อาจจะเป็นพื้นที่สีเขียวให้พนักงานได้พักสายตาใช้ธรรมชาติบำบัด หรือมุมเล่นเกมเล็ก ๆ ก็ได้
นอกจากนี้ยังไม่ควรละเลยเรื่องความปลอดภัยในสถานที่ทำงาน และที่สำคัญที่สุดคือ ดีไซน์ออฟฟิศในทุกคนสามารถเข้าถึงสิ่งอำนวยความสะดวกและพื้นที่ทำงานได้อย่างเท่าเทียมกัน
ภาวะหมดไฟ (Burn out) ยังคงเป็นปัญหาหลักของพนักงานคนรุ่นใหม่ที่เจอกันมาก ซึ่งมีสาเหตุมาจากความเครียดและการทำงานหนักเกินไปจนลืมที่จะดูแลสุขภาพทั้งทางกายและทางใจของตัวเอง เราจะได้เห็นหลายออฟฟิศ โดยเฉพาะบริษัท Startup หรือบริษัทยักษ์ใหญ่หลายแห่งหันมาดูแลด้านนี้มากยิ่งขึ้น ทั้งการจัดให้มีพื้นที่ฟิตเนสในตึกออฟฟิศ หรือมีเงินพิเศษให้พนักงานแต่ละคนไว้ไปลงคอร์สออกกำลังกาย เข้าสปา หรือเรียนรู้ทักษะใหม่อะไรก็ได้เพิ่มเติม รวมไปถึงสวัสดิการด้านการตรวจสุขภาพประจำปี จำนวนวันลาที่เหมาะสมไม่น้อยเกินไป ก็ล้วนแต่เป็นวิธีที่ช่วยดูแลสุขภาพกายและใจของพนักงานได้
นอกจากนี้การปลูกฝังแนวคิดด้านการดูแลสุขภาพกายใจระหว่างกันให้กับพนักงานในทุกระดับชั้นก็เป็นอีกหนึ่งกุญแจสำคัญที่จะช่วยสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่ดี และช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของพนักงานให้เกิดขึ้นได้จริง
ปฏิเสธไม่ได้ว่าการทำงานในบริษัทคือการทำงานเป็นทีม ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจ และความรู้สึกเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน หากพนักงานทุกคนมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน รู้จักที่จะเป็นห่วงเป็นใยกัน และให้การยอมรับ ให้เกียรติกันก็จะทำให้เกิดทีมเวิร์คในองค์กรขึ้นได้ไม่ยาก ซึ่งการจะทำให้เกิดความสัมพันธ์ในรูปแบบนั้นได้บริษัทควรจัดให้พนักงานได้มีโอกาสใช้เวลาร่วมกันผ่านการทำกิจกรรมต่าง ๆ ที่ไม่ใช่งาน เช่น งานเลี้ยงประจำปี กิจกรรมสันทนาการ ทริป outing ของบริษัท หรือกิจกรรมเทรนนิ่งในรูปแบบที่ผ่อนคลายและเสริมสร้างให้พนักงานได้พัฒนาความสัมพันธ์กันอย่างมีคุณภาพผ่านแง่มุมในการใช้ชีวิตอย่างอื่นที่นอกจากการติดต่อกันเรื่องงาน
หลายครั้งพนักงานอยากลาออกไปอยู่ที่อื่นเพราะรู้สึกว่าได้เงินเดือนน้อยไป หรืออยากย้ายงานเพื่ออัปเงินเดือน บางคนก็รู้สึกว่าเงินเดือนไม่พอใช้ หรือสภาวะทางการเงินของบริษัทดูไม่มั่นคง สิ่งเหล่านี้ล้วนแต่เพิ่มความเครียดให้กับพนักงานทั้งนั้น เป็นผลทำให้ประสิทธิภาพของทำงานลดลงไปด้วย
นอกจากเงินเดือนที่เหมาะสม คุ้มค่ากับการทำงาน และเพียงพอต่อการใช้ชีวิต การจัดให้มีสวัสดิการด้านอื่น เช่น การเบิกค่ารักษาพยาบาล ประกันสุขภาพ ก็จะช่วยคลายกังวลให้พนักงานได้ ว่าถ้าเกิดเจ็บป่วยขึ้นมาบริษัทก็ยังดูแล ไม่ต้องไปเสียเงินจ่ายเอง ที่สำคัญไปกว่านั้น บริษัทควรสนับสนุนให้พนักงานดูแลสุขภาพทางการเงินของตัวเองด้วยการปลูกฝังด้านการออมเงิน จัดให้มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือเปิดโอกาสให้พนักงานได้ซื้อหุ้นของบริษัทในราคาที่ต่ำกว่าตลาด ก็ได้ผลพลอยได้ด้านความรู้สึกเป็นเจ้าของบริษัทตามไปด้วย และไม่ลืมที่จะให้ความรู้ด้านการลงทุนและการออมเพื่อสุขภาพทางการเงินที่มั่นคงของพนักงานในระยะยาว
หากบริษัทสามารถวาง Workplace wellbeing strategy ได้ถูกต้อง ครอบคลุมทุกองค์ประกอบที่จะทำให้คุณภาพชีวิตของพนักงานดีขึ้นได้แล้ว เชื่อได้ว่าบริษัทนั้นจะสามารถมีวัฒนธรรมองค์กรที่ดี พนักงานทำงานได้อย่างมีความสุข และมีประสิทธิภาพการทำงานที่น่าประทับใจ มีความรู้สึกรักและเป็นส่วนหนึ่งของบริษัท จนถ้าคิดจะเปลี่ยนงานก็คงต้องคิดหนักหน่อย และบริษัทยังจะสามารถดึงดูดคนเก่ง ดี มีคุณภาพเข้ามาร่วมงานได้ไม่ยาก กลายเป็นองค์กรในฝันที่ใคร ๆ ก็อยากทำงานด้วย
ดาวน์โหลดได้แล้ววันนี้ทั้ง iOS และ Android
https://th.jobsdb.com/th-th/articles/%e0%b8%9a%e0%b8%a3%e0%b8%b4%e0%b8%ab%e0%b8%b2%e0%b8%a3%e0%b9%80%e0%b8%a7%e0%b8%a5%e0%b8%b2-eisenhower-matrix/
https://th.jobsdb.com/th-th/articles/pomodoro-%e0%b9%80%e0%b8%97%e0%b8%84%e0%b8%99%e0%b8%b4%e0%b8%84%e0%b8%9a%e0%b8%a3%e0%b8%b4%e0%b8%ab%e0%b8%b2%e0%b8%a3%e0%b9%80%e0%b8%a7%e0%b8%a5%e0%b8%b2/
https://th.jobsdb.com/th-th/articles/%e0%b8%9a%e0%b8%a3%e0%b8%b4%e0%b8%ab%e0%b8%b2%e0%b8%a3%e0%b9%80%e0%b8%a7%e0%b8%a5%e0%b8%b2-time-boxing/
https://th.jobsdb.com/th-th/articles/system-thinking-%e0%b8%9e%e0%b8%b1%e0%b8%92%e0%b8%99%e0%b8%b2%e0%b8%95%e0%b8%99/