บุคลิกของคนไทยอย่างหนึ่งที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาทางความคิดและการทำงาน เป็นเรื่องของการไม่กล้าแสดงออก หรือมักจะแสดงออกในเชิงที่คล้อยตามกัน ไม่ค่อยพบมากนักที่จะลุกขึ้นโต้แย้งแสดงความคิดเห็นที่แตกต่าง ไม่ว่าจะด้วยความที่อ่อนอาวุโสกว่า หรือกลัวว่าจะพูดอะไรที่ผิดออกไป ในสังคมจึงไม่ค่อยพบอะไรที่แปลกใหม่แตกต่าง ในภาคธุรกิจหากบุคลากรในองค์กรล้วนแต่คล้อยตามกันไปหมด โอกาสที่จะพัฒนาก้าวหน้ากว่าองค์กรอื่น ๆ คงเป็นเรื่องยาก น่าจะดีกว่าถ้าคุณสามารถกระตุ้นให้บุคลากรสามารถ “คิดต่าง” ได้อย่างมีประสิทธภาพ ด้วยคำแนะนำ 10 ข้อต่อไปนี้
สร้างวัฒนธรรมหรือสภาพแวดล้อมที่ส่งเสริมการแสดงความคิดเห็นที่แตกต่าง โดยให้บุคลากรเปิดรับประสบการณ์ของบุคคลอื่นที่มีความแตกต่างจากตนมากกว่ายึดติดกับความเชื่อและเป้าหมายเดิมที่ตนมี ทั้งนี้ผู้จัดการหรือหัวหน้าทีมควรเปิดโอกาสให้ผู้ร่วมทีมแสดงความคิดเห็น หรือถามความคิดเห็นของผู้ร่วมทีมก่อนผู้จัดการหรือหัวหน้าทีมจะแสดงความคิดเห็นของตนออกไป บอกผู้ร่วมทีมว่าคุณต้องการให้เขาแสดงความคิดเห็นเมื่อเขาไม่เห็นด้วย หรือเมื่อมีความคิดเห็นที่แตกต่างจากคนอื่นในทีม
หากมีผู้ที่กล้าแสดงความคิดเห็นที่ไม่สอดคล้องกับคนอื่น ๆ ในทีม คุณจงกล่าวชื่นชมเขาอย่าเปิดเผยต่อหน้าคนอื่น ๆ ให้การยกย่อง อาจให้โบนัส หรือรางวัลอื่น ๆ เพื่อขอบคุณผู้ที่กล้าคิดต่างในขณะที่คนอื่น ๆ ในทีมต่างก็เห็นด้วย จากนั้นนำความเห็นของเขาเข้าสู่การอภิปรายภายในทีม และเมื่อได้ข้อสรุปร่วมกันภายในทีม ทุกคนจะมุ่งไปในทิศทางเดียวกัน โดยช่วยกันสนับสนุนการตัดสินใจของทีม
ถ้าคุณต้องการให้สมาชิกแสดงความคิดเห็นที่แตกต่างออกมา และไม่ปรารถนาให้เกิดการคิดตามกันในกลุ่ม แต่คุณกลับพบว่า สมาชิกไม่ใคร่จะให้ความร่วมมือสักเท่าไร ให้สำรวจตัวคุณเองก่อนเป็นอันดับแรกว่า การสื่อสารผ่านทางคำพูด หรือการกระทำใดของคุณทำให้พวกเขาไม่กล้าที่จะไม่เห็นด้วยหรือเปล่า หรือคุณอาจทำให้เขารู้สึกเหมือนกำลังนั่งเก้าอี้ไฟฟ้า เมื่อเขาแสดงความเห็นออกมา บางทีคุณไม่อาจรู้ได้ด้วยตัวเอง คุณอาจต้องขอคำแนะคำจากบุคคลที่คุณไว้ใจได้ ให้ช่วยสะท้อนว่าคุณได้สื่อสารสิ่งใดที่ผิดพลาดไปหรือเปล่า
เมื่อความเห็นที่แตกต่างถูกนำเสนอออกมา คุณต้องส่งเสริมให้บุคลากรรู้จักรวบรวมข้อมูลต่าง ๆ ที่สามารถนำมาสนับสนุนความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ในการดำเนินงานด้วยเสมอ เพื่อให้ความเห็นของพวกเขามีน้ำหนักและยอมรับได้
ความคิดที่แตกต่างช่วยเติมเต็มบางมุมมองที่อาจถูกมองข้ามไป ทำให้สมาชิกสามารถคิดวิเคราะห์ประเด็นต่าง ๆ ได้อย่างถี่ถ้วนรอบด้าน เกิดเป็นบรรทัดฐานของทีมที่ทุกคนเห็นพ้องต้องกันที่จะยึดถือและปฏิบัติตาม โดยที่สมาชิกทุกคนมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นด้วยความซื่อสัตย์ และเมื่อมีการโต้แย้งกันจนได้ข้อสรุปแล้ว จะไม่มีความเห็นของบุคคลใดบุคคลหนึ่งมาทำลายบรรทัดฐานที่ตั้งขึ้นมานี้ได้
สาเหตุที่สมาชิกไม่ลุกขึ้นแสดงความคิดเห็นและความเชื่อของตนออกมา เป็นเพราะพวกเขาไม่รู้ว่าจะพูดออกมาอย่างไรดี การฝึกอบรมจะช่วยให้พวกเขามีความมั่นใจในการสื่อสาร รู้จักคลี่คลายความขัดแย้ง แก้ปัญหาต่าง ๆ และสามารถพูดแสดงความคิดเห็นอย่างเป็นอิสระมากขึ้น เป็นต้น
ฝึกทักษะในการสังเกต ฟังคำวิจารณ์จากสมาชิก หากการโต้แย้งเริ่มบานปลาย ให้รีบเข้าควบคุมสถานการณ์ ทั้งนี้การโต้แย้งในเชิงสร้างสรรค์เป็นสิ่งดี แต่หากบรรยากาศการโต้แย้งมีแนวโน้มไปในเชิงลบอันจะนำไปสู่ปัญหาความแตกแยกในที่ทำงาน ควรนัดประชุมเพื่อแก้ไขปัญหานั้นโดยทันที เพื่อป้องกันไม่ให้ความขัดแย้งทำลายสภาพแวดล้อมที่ดีในการทำงาน
คุณต้องการจ้างบุคลากรที่ปรารถนาจะแสดงออกและไม่สนใจว่าใครจะมองอย่างไร การสัมภาษณ์ในเชิงพฤติกรรมสามารถช่วยให้คุณประเมินความมุ่งมั่นของผู้สมัครที่มีศักยภาพได้ เมื่อได้คนที่ต้องการแล้ว จงดูและฟังเมื่อพวกเขาลุกขึ้นแสดงความคิดเห็น ร่วมกันแก้ปัญหาเป็นทีม หรือผลักดันระเบียบวาระใหม่ ๆ ที่อยู่นอกสายตาให้เกิดขึ้นได้จริง เพื่อให้เกิดความสำเร็จร่วมกัน ไม่ใช่ของใครคนใดคนหนึ่ง
จ่ายค่าตอบแทนโดยกำหนดความสำเร็จโดยรวมขององค์กรเป็นพื้นฐาน เพื่อให้แน่ใจว่าบุคลากรทุกคนดำเนินงานไปในทิศทางเดียวกันเพื่อมุ่งสู่เป้าหมายเดียวกัน บุคลากรทุกคนต้องร่วมกันคิดหาแนวคิดที่ดีที่สุดที่จะไปให้ถึงจุดหมาย ไม่ใช่ด้วยวิธีใดวิธีหนึ่งที่เขาสนใจ หรือความคิดของใครคนใดคนหนึ่ง
ถึงเวลาที่จะต้องนั่งลงและพูดคุยกับสมาชิกอย่างจริงจัง การพูดคุยอย่างเปิดอกจะทำให้คุณเข้าใจถึงสาเหตุที่พวกเขาไม่แสดงความคิดเห็นหรือไม่โต้แย้งเท่าที่ควรจะเป็น อธิบายให้เขาเข้าใจว่า ความสำเร็จขององค์กรจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อบุคลากรทุกคนให้ความร่วมมือในการเสนอความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ หากมีสิ่งใดที่เป็นอุปสรรคหรือเป็นปัญหาทำให้พวกเขากลัวที่จะแสดงความคิดเห็นจงทลายกำแพงนั้นเสีย เมื่อขจัดอุปสรรคเหล่านั้นได้การแสดงความคิดเห็นก็จะไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป