การเป็นคนขี้อาย พูดไม่เก่ง หรือแม้กระทั่งการเป็นคน Introvert ไม่ใช่เรื่องแปลก แม้คนเหล่านี้จะเป็นคนที่ขาดความมั่นใจ และไม่กล้าแสดงออกไปบ้าง แต่พวกเขาก็มีประสิทธิภาพในการทำงานไม่แพ้คนอื่นๆ เลย ส่วนเรื่องความมั่นใจนั้น อาจเป็นเรื่องที่ต้องฝึกฝนอยู่บ้าง โดยเฉพาะปราการด่านแรกในการเข้าทำงานอย่าง “การสัมภาษณ์งาน” ซึ่งวันนี้เราจะมาแชร์ทริคดีๆ ให้คนพูดไม่เก่ง ได้ก้าวผ่านด่านการสัมภาษณ์งานไปได้อย่างราบรื่น
กลัวสัมภาษณ์งานไม่ผ่าน
ถ้ารู้ตัวว่าเราเป็นคนพูดไม่เก่ง อันดับแรกเลยคือการเตรียมตัวและวางแผนให้พร้อม ก่อนถึงวันที่สัมภาษณ์งาน เพราะแม้ว่าเรซูเม่ของเราจะโดดเด่นกว่าผู้อื่นมากแค่ไหน แต่ถ้าถึงวันสัมภาษณ์เราเกิดทำพลาดไปเพียงเล็กน้อย ก็อาจจะทำให้เสียคะแนนไปง่ายๆ โดยเราได้รวบรวบเช็คลิสต์สำคัญที่ควรเตรียมพร้อมก่อนวันสัมภาษณ์มาให้แล้วดังนี้
- หาข้อมูลเกี่ยวกับบริษัที่จะไปทำงานด้วย
- หาข้อมูลเกี่ยวกับตำแหน่งที่จะทำงาน
- วิเคราะห์ตัวเอง ว่าเหมาะสมกับตำแหน่งนี้อย่างไรบ้าง
- ค้นหาตัวอย่างคำถามสัมภาษณ์จากแหล่งต่างๆ
เมื่อเราได้ข้อมูลต่างๆ มาครบแล้ว ก็ถือว่ามีชัยไปกว่าครึ่ง เพราะเมื่อถึงเวลาที่ต้องตอบคำถาม เราจะได้รู้สึกประหม่าและไม่ตะกุกตะกัก เวลาต้องตอบคำถามต่างๆ อีกทั้งสิ่งเหล่านี้ยังช่วยสื่อด้วยว่า เราทำการบ้านด้วยการหาข้อมูลของผู้ว่าจ้างและตำแหน่งงานมาเป็นอย่างดี อาจได้คะแนนบวกในจุดนี้เพิ่มมากขึ้นด้วย
คนพูดไม่ค่อยเก่งส่วนใหญ่มักจะตื่นเต้นหรือลิ้นพันกันทุกครั้ง เวลาต้องตอบคำถามที่เราไม่ทันตั้งตัว เมื่อเราหาข้อมูลพร้อมกับได้ตัวอย่างคำถามสัมภาษณ์มาแล้ว ขั้นตอนต่อไปคือลองฝึกตอบคำถามหน้ากระจกดูก่อนเป็นอันดับแรก แล้วต่อมาก็ลองหาญาติพี่น้องหรือเพื่อนๆ มาให้ช่วยเป็นคู่ซ้อมให้ พร้อมเซตฉากแสดงบทบาทสมมติ ให้เหมือนเราได้ไปสัมภาษณ์งานจริงๆ หรือถ้าหาคู่ซ้อมไม่ได้จริงๆ ในยุค 4.0 แบบนี้ บอกเลยว่าลองอัดวิดีโอสัมภาษณ์ดูก็ได้ วิธีนี้จะได้ช่วยให้เรานำคลิปกลับมารีเพลย์ดูย้อนหลังได้อีกด้วย จะได้วิเคราะห์กันชัดๆ ไปเลย ว่าเรายังดูตื่นเต้นอยู่ไหม หรือมีจุดไหนที่ต้องปรับปรุงบ้าง
สุดท้ายเกิดโชคไม่เข้าข้าง ลืมใส่เสื้อสีมงคลไปสัมภาษณ์งาน แล้วดันเจอคำถามที่่ไม่คาดฝัน ไม่ได้เตรียมข้อมูลมาซะอย่างนั้น สิ่งแรกเลยคือต้องตั้งสติ พยายามทวนคำถามนั้นในใจก่อน แล้วนึกคำตอบที่ดีที่สุด ก่อนพูดออกมา ค่อยๆ เรียบเรียงคำพูด ตอบออกไปอย่างมั่นใจ ถ้าเป็นไปได้ให้พยายามจบคำถามนั้นให้เร็วที่สุด เพื่อที่จะได้ก้าวไปยังคำถามต่อไป
หากว่าเราพยายามข่มสติแล้ว ยังเผลอพูดติดขัดหรือตะกุกตะกักไปบ้าง อย่าเพิ่งสติแตกไปมากกว่าเดิม เพราะว่ายังไงผู้สัมภาษณ์ก็ต้องเข้าใจเราบ้างอยู่แล้ว แต่พยายามอย่าหลุดไปมากกว่านี้ ให้เริ่มตัังสติอย่างด่วนที่สุด แล้วอย่ากดดันตัวเอง หลังจากนั้นให้พยายามคิดว่าเรามานั่งเล่าเรื่องในชีวิตให้เพื่อนของเราฟัง ให้เปรียบเสมือนการนั่งคุยกัน มากกว่าการสัมภาษณ์งาน สิ่งเหล่านี้จะช่วยทำให้เรารู้สึกสบายใจมากขึ้น
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นการเล่าเรื่องครั้งนี้ จะต้องเป็นการเล่าเรื่องที่คิดมาอย่างถี่ถ้วนแล้วก่อนที่จะพูดออกไป เพราะอาจจะส่งผลลัพธ์ที่ไม่ดีตามมาได้ หากเราพูดแบบไม่ทันได้ไตร่ตรอง ก่อนจะตบท้ายด้วยความคิดที่ว่าไม่จำเป็นต้องทำให้การคุยครั้งนี้สมบูรณ์แบบ 100% แต่เป็นการทำอย่างเต็มที่ให้สุดความสามารถของเรา
แม้ว่าเราจะเป็นผู้สมัครที่พูดไม่ค่อยเก่ง แต่ก็ไม่ได้แปลว่าเราจะบกพร่องในเรื่องของการทำงานหรือขาดคุณสมบัติในตำแหน่งนั้นๆ ดังนั้นอันดับแรกคือไม่ควรไปโฟกัสว่าเราเป็นคนที่ไม่กล้าแสดงออก จนทำเราขาดความมั่นใจไปซะทุกเรื่อง ก่อนจะเสริมทัพให้การสัมภาษณ์งานครั้งนี้สมบูรณ์แบบยิ่งขึ้น ด้วยการนำเสนอข้อดีของตัวเอง
โดยเราสามารถพุดถึงจุดเด่นของตัวเราเอง พร้อมเสริมด้วยทักษะพิเศษต่างๆ ที่มี พรีเซนต์ให้ผู้จ้างงานได้ทราบ หากมีหลักฐานก็สามารถนำมาโชว์ได้เลย ส่วนข้อเสียของเราก็สามารถพูดออกมาได้เช่นกัน แต่ต้องเป็นการพลิกวิกฤติให้เป็นโอกาส อย่านำเสนอแบบซ้ำเติมข้อเสียของตัวเอง แต่ให้พูดว่าเราสามารถนำข้อเสียดังกล่าวมาปรับปรุงและพัฒนาตัวเองไปได้อย่างไรบ้าง จุดนี้จะทำให้ผู้จ้างงานสัมผัสได้ถึงความคิดในเชิงบวกของเราด้วย
คนที่ไม่กล้าแสดงออก ส่วนใหญ่มักจะเป็นคนที่ไม่มั่นใจในการพูดถึงความสำเร็จที่ผ่านมาของตัวเองอยู่แล้ว เพราะพื้นฐานอาจไม่ใช่คนที่ชอบโอ้อวดเป็นทุนเดิม แต่หากเรานำจุดนี้เข้ามารวมอยู่ในการสัมภาษณ์งาน อาจทำให้เราเสียเปรียบผู้สมัครคนอื่นที่พรีเซนต์ตัวเองเก่งก็เป็นได้ เพราะแม้ผู้จ้างงานจะดูผลงานจากเรซูเม่หรือ Portfolio เป็นหลัก แต่การบอกเล่าเรื่องราวด้วยคำพูด ก็ถือเป็นการช่วยยืนยันน้ำหนักผลงานของเราได้อีกหนึ่งทาง
เพราะฉะนั้นแล้วลองเล่าเรื่องความสำเร็จ ให้เหมือนเป็นการเล่าเรื่องสักหนึ่งเรื่อง หรือเล่าประสบการณ์ให้เพื่อนฟัง จะทำให้การเล่าครั้งนี้ดูเหมือนไม่โอ้อวดและดูเป็นธรรมชาติมากยิ่งขึ้น
สำหรับการสัมภาษณ์งานในยุคปัจจุบัน นอกจากการตอบคำถามพื้นฐานที่เกี่ยวกับเรื่องงานแล้ว บางบริษัทอาจมีการทดสอบความรู้ทั่วไป เพื่อเป็นการดูว่าเรามีความสนใจในเรื่องอื่นๆ มากน้อยแค่ไหน ซึ่งคำถามเรื่องอื่นๆ นี้ ถือเป็นการวัดทัศนคติของเราได้เป็นอย่างดีเลย เพราะฉะนั้นเราจึงควรศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม หรือติดตามข่าวสาร เทรนด์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงนั้นๆ อยู่ตลอด จะได้นำตรงนี้มาเป็นคะแนนบวกในสัมภาษณ์ และไม่แน่หากเรื่องที่เราสนใจตรงกับผู้สัมภาษณ์ด้วยแล้วล่ะก็ อาจทำให้เราคลายกังวลและไม่เครียด ทำให้การสัมภาษณ์ไหลลื่นมากยิ่งขึ้นก็เป็นได้
การพูดเก่งหรือไม่เก่ง ไม่สามารถแสดงได้ว่าเราเป็นคนไม่มีความสามารถ เพราะยังมีปัจจัยเสริมอีกหลายๆ อย่าง เช่นการเป็นผู้ฟังที่ดี และความตั้งใจในการทำงาน อีกทั้งการพูดไม่เก่ง พูดช้า ยังดีกว่าเป็นคนพูดไม่คิด เพราะพูดมากไป บางทีก็อาจะผิดกาละเทศะ เผลอๆ จะทำให้ชวดงานสำคัญได้เช่นกัน เพราะฉะนั้นแล้วคนที่พูดไม่เก่งก็ไม่ต้องกังวลไป เพราะยังไงถ้าเรามีความสามารถอยู่แล้ว รับรองว่าสัมภาษณ์งานที่ไหน ก็อยากมีคนรับเข้าทำงานด้วยแน่นอน เพียงแค่ต้องฝึกฝนตัวเองบ่อยๆ รับรองผ่านฉลุยชัวร์ๆ
#icanbebetter
เรื่องอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
ผู้สัมภาษณ์งานมองหาอะไรในตัวผู้สมัครงาน
สัมภาษณ์งานภาษาอังกฤษ แล้วเกิดแปลไม่ออก จะทำอย่างไรไม่ให้งานเข้า