ช่วงปีที่แล้ว หลาย ๆ คนคงพอได้ยินข่าวสารเกี่ยวกับ ร่าง พ.ร.บ. กองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ (กบช.) โดยมีหัวข้อใหญ่ใจความหลักเกี่ยวกับการออมระยะยาว และประเด็นสำคัญที่ใกล้ตัวคนทำงานทุกคนก็คือ การออกกฎหมายเพื่อบังคับให้ผู้ประกอบการทุกรายตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพให้กับลูกจ้าง เริ่มจากผู้ประกอบการที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 100 รายขึ้นไปก่อน ซึ่งกฎหมายนี้จะเริ่มบังคับใช้ใน พ.ศ. 2561 จากนั้นจะทยอยกำหนดใช้กับทุกบริษัทต่อไป
ด้วยเหตุที่สภาพสังคมในปัจจุบันของบ้านเรากำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ภาครัฐจึงต้องออกนโยบายและกฎหมายมารองรับกับสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้ คือการส่งเสริมการออมเงินระยะยาวสำหรับไว้ใช้ในวัยเกษียณ เพื่อเป็นหลักประกันว่าคนทำงานจะมีเงินไว้ใช้เพียงพอต่อการยังชีพในวัยชรา และกองทุนสำรองเลี้ยงชีพนี่เองที่จะเป็นตัวช่วยในเรื่องการออมของคนวัยทำงานทุกคน
jobsDB จะพาทุกคนไปทำความรู้จักกับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพดังกล่าว และแนวโน้มความพร้อมของผู้ประกอบการไทยกับแผนกองทุนสำรองเลี้ยงชีพภาคบังคับว่าจะมีทิศทางต่อไปอย่างไร
อัตราการจ่ายเงินสมทบกองทุนฯ
ตามกฎหมายที่จะเริ่มบังคับใช้ใน พ.ศ. 2561 กำหนดให้นายจ้างและลูกจ้างจ่ายเงินสมทบฝ่ายละ 3% ใน 3 ปีแรก จากนั้นจะเพิ่มเป็นฝ่ายละ 5% และ 7% ในช่วงเวลาต่อไป ยกเว้นลูกจ้างที่มีรายได้ไม่ถึง 10,000 บาท ต่อเดือน ไม่ต้องจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพภาคบังคับ เพราะถือว่าเป็นผู้มีรายได้น้อย โดยให้นายจ้างเป็นผู้จ่ายสมทบเพียงฝ่ายเดียว
อัตราการจ่ายเงินสมทบนี้จะไม่เป็นภาระทั้งกับผู้ประกอบการและฝ่ายลูกจ้างมากนัก โดยเฉพาะผู้ประกอบการรายใหญ่ที่มีกำลังในการจ่ายเงินสมทบโดยไม่กระทบกับฐานะการดำเนินงาน สำหรับธุรกิจรายเล็กรายย่อยก็ยังมีเวลาเตรียมตัวอีกระยะ เนื่องจากในระยะแรกกฎหมายบังคับใช้กับผู้ประกอบการที่มีลูกจ้างเกิน 100 รายขึ้นไปก่อน นอกจากนี้ใน พ.ศ. 2561 ก็จะมีการลดภาษีเงินได้ของบุคคลธรรมดา ส่งผลให้ลูกจ้างมีภาระเสียภาษีน้อยลงกว่าเดิม โดยส่วนต่างของเงินภาษีที่ลดลงก็จะไปสะสมอยู่ในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ซึ่งเป็นเงินออมระยะยาวไว้ใช้ยามเกษียณ ลดภาระให้กับภาครัฐในการดูแลประชากรสูงวัยได้อีกทางหนึ่ง เรียกว่า win-win กันทุกฝ่าย
พิจารณากองทุนฯ ในปัจจุบัน และวิเคราะห์โอกาสในอนาคต
บริษัทใดที่มีแผนกองทุนสำรองเลี้ยงชีพอยู่แล้ว ต้องหันมาทบทวนตรวจสอบโครงสร้างการจ่ายเงินสมทบในปัจจุบันขององค์กร โดยเฉพาะหากภาครัฐเพิ่มอัตราการจ่ายเงินสมทบจาก 2% เป็น 3% ผู้ประกอบการต้องวิเคราะห์ค่าใช้จ่าย เพื่อทำความเข้าใจผลกระทบที่จะเกิดขึ้น รวมถึงพิจารณากองทุนอย่างครอบคลุม ทั้งในแง่ของโครงสร้างและกลยุทธ์ในการลงทุนต่อไป เพราะกองทุนนี้อาจนำไปสู่การสร้างมูลค่าเพิ่มได้หากลงทุนได้ถูกจังหวะเวลาที่เหมาะสม
แผนผลประโยชน์ที่กำหนดไว้VS แผนสมทบเงินที่กำหนดไว้
ภาพรวมของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของหลาย ๆ บริษัทในปัจจุบัน มักจะเป็นแบบ “แผนผลประโยชน์ที่กำหนดไว้” (Defined Benefit Plans) ทำให้บริษัทไม่สามารถทราบค่าใช้จ่ายที่มีต่อบริษัทได้ จนกว่าจะมีการจ่ายผลประโยชน์เมื่อลูกจ้างเกษียณอายุ สำหรับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพภาคบังคับมีลักษณะเป็น “แผนสมทบเงินที่กำหนดไว้” (Defined Contribution Plans) ผู้ประกอบการต้องพิจารณาโครงสร้างของแผนที่มีอยู่ว่าควรมีการปรับแก้หรือไม่ เพื่อลดความเสี่ยงจากค่าใช้จ่ายที่จะเพิ่มสูงขึ้น ทั้งนี้ การที่บริษัทต้องควักกระเป๋าจ่ายเพิ่มขึ้นอาจไม่ได้มีแต่ด้านลบเสมอไป เพราะแผนสมทบเงินอาจช่วยให้บริษัทลดภาระหนี้สินระยะยาวตามระบบบัญชีได้ รวมทั้งทำให้บริษัทสามารถบริหารงบกำไรขาดทุนได้อย่างถูกต้องแม่นยำมากขึ้น และลดความเสี่ยงระยะยาวในเรื่องการขึ้นอัตราเงินเดือนและผลตอบแทนจากการลงทุนด้วย ข้อนี้นับเป็นการบ้านชิ้นใหญ่ที่ผู้ประกอบการไทยต้องเตรียมตัววิเคราะห์ให้รอบด้าน จะได้ปรับตัวพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงได้ทุกเมื่อ
เตรียมทำการบ้าน ศึกษาข้อมูลอยู่เสมอ
ถึงตรงนี้ ผู้ประกอบการรายใดยังไม่มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือรายใดที่มีกองทุนฯ อยู่แล้วแต่อาจยังไม่เป็นไปในทิศทางเดียวกับกฎหมายกองทุนสำรองเลี้ยงชีพภาคบังคับ ควรต้องศึกษาข้อมูล และเตรียมความพร้อมไว้แต่เนิ่น ๆ รายละเอียดเกี่ยวกับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพภาคบังคับจะยังไม่ชัดเจนมากนัก บริษัทต่างๆ ก็จำเป็นต้องพิจารณาทบทวนแผนสวัสดิการสำหรับผู้เกษียณอายุที่มีอยู่ในปัจจุบัน ระเบียบ ข้อบังคับ และการดูแลสวัสดิการด้วย รวมทั้งผลกระทบที่อาจเกิดกับแผนงานด้านสวัสดิการและค่าใช้จ่ายของบริษัท เรียกว่าต้องคอยติดตามข่าวสาร ศึกษาข้อมูลกฎหมายต่าง ๆ จากภาครัฐ และนำมาประยุกต์ใช้ให้ถูกต้องและเหมาะสมกับองค์กร
สุดท้ายนี้ การเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้นจะไม่ใช่ปัญหาใหญ่ของผู้ประกอบการเลย หากเราเข้าใจถึงแก่นแท้ที่ว่า ถ้าองค์กรมีสวัสดิการที่ดีและเหมาะสมต่อพนักงานแล้ว คนทำงานทุกคนย่อมมีแรงจูงใจในการทำงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นอย่างแน่นอน เป็นการซื้อใจและสร้างความผูกพันของพนักงานที่มีต่อองค์กรอีกทางหนึ่ง ที่สุดแล้วผลดีก็จะย้อนกลับสู่องค์กร นับเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าของทั้งนายจ้างและลูกจ้างในระยะยาว
แหล่งข้อมูล : https://brandinside.asia
เรื่องอื่น ๆ ที่น่าสนใจ