ในปัจจุบัน ข่าวสารต่าง ๆ ที่เราได้รับมีอยู่มากมาย โดยเฉพาะจากอินเทอร์เน็ต และ ข่าวสารเหล่านั้น เราก็ได้รับโดยไม่เห็นตัว หรือรู้จักตัวผู้เขียน การรับรู้ข่าวสารจากแหล่งดังกล่าว จึงต้องเพิ่มความระมัดระวังอย่างมาก โดยเฉพาะข่าวสารทางด้านการแพทย์ มีการให้ข้อมูลด้วยวัตถุประสงค์ต่าง ๆ กัน ในคนที่เจ็บป่วยและมีความเดือดร้อน ย่อมจะร้อนใจที่จะรับข่าวสาร เมื่อได้รับรู้เรื่องใดมา ก็มักจะเชื่อ ยิ่งถ้าได้ข้อมูลดังกล่าวหลาย ๆ ครั้ง หรือจากหลาย ๆ ทางก็ยิ่งรู้สึกเชื่อเข้าไปอีกอย่างเช่น เรื่องที่เป็นหัวเรื่องบทความนี้? การผ่าตัดมะเร็งทำให้โรคแพร่กระจายจริงหรือ??
คนที่ป่วย และรู้ตัวว่าเป็นมะเร็งก็มีความกลัวเป็นต้นทุนอยู่แล้ว เมื่อทราบว่า หนึ่งในขั้นตอนการรักษา คือ การผ่าตัด ด้วยความไม่รู้ จึงเกิดความกลัวเพิ่มขึ้น เมื่อมีคนมาบอกว่า เป็นมะเร็งอย่าผ่าตัด เพราะโรคจะกระจาย จึงทำให้มีใจคิดที่จะเชื่อคำดังกล่าวมากขึ้น ลองมาดูซิว่า การผ่าตัดมะเร็งทำให้โรคแพร่กระจายจริงหรือ?
การผ่าตัด มีผลกับการเติบโตของเซลล์มะเร็งหรือไม่
การผ่าตัด จัดเป็นอันตรายอย่างหนึ่งที่เกิดกับร่างกายของเรา ทำให้เกิดบาดแผล แต่โดยทั่วไป การผ่าตัดเป็นไปเพื่อการรักษาโรค และเมื่อหมอทำการผ่าตัดแล้ว ก็จะซ่อมแซมบาดแผลดังกล่าวให้กลับใช้งานได้ดังเดิม หรือใกล้เคียงเดิม ด้วยความที่การผ่าตัดเป็นอันตรายต่อร่างกาย โดยธรรมชาติร่างกายจะรับรู้ และมีการตอบสนองต่ออันตรายนั้น ในเบื้องต้นก็มีเรื่องของการรับรู้ความเจ็บปวดที่เกิดขึ้น จากนั้นก็มีกลไกการห้ามเลือดตามมาเพื่อให้บริเวณผ่าตัดนั้นหยุดการสูญเสียเลือด ซึ่งกระบวนการดังกล่าวเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ ภายหลังจากการ
ผ่าตัดยังมีขบวนการอื่น ๆ ตามมาอีกมากมาย เช่น การซ่อมสร้าง หรือ การหายของแผลผ่าตัด ซึ่งจะมีเซลล์เยื่อบุผิวมาทำหน้าที่สมานผิวหนังหรือผิวเยื่อบุภายในร่างกายให้กลับเข้าที่ เซลล์เม็ดเลือดขาวมากำจัดเชื้อโรค เซลล์เนื้อเยื่อเกี่ยวพัน มาสร้างเนื้อ หรือ พังผืด ฯลฯ กระบวนการเหล่านี้มีอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่นาทีแรกของการได้รับบาดแผล และจะมีมากสุดในช่วง 7 วันแรก แต่จะยังมีต่อเนื่องไปเป็นเวลาแรมเดือน
กระบวนการดังกล่าวนั้น มีวัตถุประสงค์ในการทำให้เนื้อเยื่อของร่างกายกลับสู่สภาพเดิมโดยเร็ว ซึ่งในกระบวนการเหล่านี้ จะมีตัวเร่งปฏิกริยาซึ่งหลั่งออกมาจากสมอง และส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย เพื่อให้ขั้นตอนต่าง ๆ ดำเนินการได้อย่างรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ เช่น การใช้สารอาหารมากขึ้น การมีเลือดหล่อเลี้ยงมากขึ้น การแบ่งตัวของเซลล์มากขึ้น ฯลฯ จุดนี้เอง จึงเป็นที่มาของประโยค หรือข้อความที่ว่า?
การผ่าตัดมะเร็งทำให้โรคแพร่กระจายจริงหรือ?? เพราะกระบวนการที่เร่งให้เซลล์ต่าง ๆ โตขึ้น ก็ย่อมสามารถเร่งให้เซลล์มะเร็งโตขึ้นด้วย
เช่นกัน
คนส่วนใหญ่กลัวการผ่าตัด และเชื่อว่าการผ่าตัดแบบไหนจะมีผลต่อการกระจายของเซลล์มะเร็ง
คนส่วนใหญ่เข้าใจว่าการผ่าตัด ไม่ว่าจะเป็นเจาะ เป็นผ่า เป็นตัด ล้วนจะได้รับผล ทำให้เซลล์มะเร็งแพร่กระจายทั้งนั้น แต่ในความเป็นจริง การกระตุ้นให้เซลล์โตขึ้นจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับความรุนแรงของบาดแผลที่เกิดขึ้น กรณีที่มีบาดแผลขนาดใหญ่ การกระตุ้นจะมีมาก แต่หากเป็นการบาดเจ็บเพียงเล็กน้อย เช่น เข็มแทง การกระตุ้นก็จะไม่มากนัก และอย่าลืมว่า การกระตุ้นดังกล่าวต้องใช้เวลา ไม่ใช่บาดเจ็บปุ๊บจะทำให้เซลล์โตปั๊บ
และถ้าหากไม่มีเซลล์มะเร็งเหลืออยู่ในร่างกาย หรือเหลืออยู่น้อยมาก การกระตุ้นให้เกิดการกระจาย หรือ การโตขึ้นของเซลล์มะเร็งก็เป็นไปได้น้อย หรือเป็นไปได้ยากเช่นเดียวกัน
คนเป็นมะเร็งทำไมต้องรับการผ่าตัด
การผ่าตัดในกรณีที่ผู้ป่วยเป็นมะเร็งนั้น มีการผ่าตัดอยู่ 2 ช่วง ช่วงแรก คือ การผ่าตัดเพื่อให้ได้ชิ้นเนื้อเพื่อมาพิสูจน์ว่าเป็นมะเร็งจริงหรือไม่ มักจะเรียกขั้นตอนนี้ว่า การเจาะเนื้อตรวจ การดูดเนื้อตรวจ การตัดเนื้อตรวจ หรือสะกิดเนื้อเพื่อไปตรวจ ฯลฯ แล้วแต่จะเรียก และแล้วแต่ปริมาณชิ้นเนื้อที่นำออกไปมากหรือน้อยเพียงใด ในช่วงที่ 2 คือ การผ่าตัดเพื่อให้เนื้อส่วนที่เป็นมะเร็งออกไปจากร่างกายทั้งหมด เป็นส่วนของการรักษา
ในขั้นตอนของการนำชิ้นเนื้อไปตรวจนั้น มีความจำเป็นอย่างมาก เพราะการรักษาผู้ที่ป่วยเป็นมะเร็ง กับผู้ที่ไม่เป็นมะเร็งจะแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง การรักษามะเร็งเพื่อหวังให้ผู้ป่วยหาย จะต้องควบคุมไม่ให้มีมะเร็งเหลืออยู่ จะด้วยการผ่าตัด ให้ยา หรือฉายแสงก็ตาม ล้วนแต่เป็นการรักษาที่เฉพาะเจาะจงอย่างเอาจริงเอาจัง และทำให้ผู้ป่วยอาจมีผลข้างเคียงเกิดขึ้นได้ ซึ่งผิดกับกรณีที่ไม่ใช่มะเร็ง การรักษาก็ไม่ต้องมากเท่ากับการรักษาผู้ป่วยที่เป็นมะเร็ง ดังนั้นบางคนบอกว่า หากสงสัยมะเร็ง ลองหาวิธีการอื่น ๆ รักษาดูก่อนไม่ดีกว่าหรือ อย่าเพิ่งไปผ่าตัด หรือเจาะชิ้นเนื้อเลย ก็ถือว่าเป็นความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง เพราะหากรักษาด้วยวิธีที่ไม่ถูกต้อง ก็เท่ากับว่าเปิดเวลาให้มะเร็งค่อย ๆ โตขึ้น ขณะเดียวกัน หากโรคนั้นไม่ใช่มะเร็ง ก็ไม่จำเป็นต้องรับการรักษาใด ๆ ดังนั้น การลองรักษาด้วยวิธีอื่น ๆ จึงเป็นการรักษาที่สูญเปล่าครับ
การเจาะชิ้นเนื้อ อาจทำให้เกิดการกระตุ้นกระบวนการต่าง ๆ ของร่างกายตามที่กล่าวมาในข้างต้น อาจกระตุ้นให้มะเร็งโตขึ้นได้ แต่การตรวจชิ้นเนื้อเพื่อพิสูจน์ทางพยาธิ หากพบว่าเป็นมะเร็งแล้ว แพทย์ก็มักจะให้การรักษาที่เฉพาะเจาะจงเลยทันที โดยการผ่าตัดเพื่อนำก้อนมะเร็งออกทั้งหมด และติดตามด้วยการรักษาอื่น ๆ เพื่อให้มีโอกาสที่มะเร็งจะกลับมาเป็นซ้ำน้อยที่สุด การเจาะชิ้นเนื้อเพื่อตรวจจึงเป็น
สิ่งจำเป็น และผลดีมากกว่าผลเสีย ระยะเวลาสั้น ๆ หลังการเจาะชิ้นเนื้อ ไม่ได้ทำให้มะเร็ง โตขึ้น หรือ แพร่กระจายไปอย่างรวดเร็ว ดังคำกล่าวอ้างที่ได้ยินกันมา
ยิ่งการผ่าตัดเพื่อรักษามะเร็งด้วยแล้ว มักจะเป็นการผ่าตัดเพื่อนำเนื้อเยื่อของร่างกายส่วนที่เป็นมะเร็งออกทั้งหมด หรือเกือบทั้งหมดด้วยความระมัดระวังตามมาตรฐานของศัลยแพทย์ กรณีนี้ โอกาสที่มะเร็งที่เหลืออยู่จะกลับมาโตขึ้นใหม่ ก็ยิ่งน้อยไปอีก เพราะไม่มีเซลล์มะเร็งที่เหลือไว้เป็น พ่อพันธุ์แม่พันธุ์ ที่จะขยายตัวต่อไป อีกทั้งในปัจจุบันการรักษามะเร็งมักจะมีการรักษาเสริมภายหลังการผ่าตัด เพื่อให้เซลล์มะเร็งที่อาจเหลืออยู่เพียงน้อยนิดในร่างกายถูกทำลายไป ดังนั้นการผ่าตัดเพื่อนำมะเร็งออกทั้งหมด จึงไม่ทำให้มะเร็งแพร่กระจายออกไป หากมีการแพร่กระจายมักจะเป็นการแพร่กระจายที่เกิดขึ้นตั้งแต่ก่อนทำการผ่าตัดและโตขึ้นมาในภายหลัง
บทสรุป
การผ่าตัด อาจกระตุ้นปฏิกริยาในร่างกายที่กระตุ้นการเติบโตของเซลล์ปกติ และ เซลล์มะเร็งได้ แต่การผ่าตัดเป็นสิ่งจำเป็นในการวินิจฉัยและการรักษา ซึ่งการผ่าตัดที่ถูกต้องและทันเวลาจะไม่ทำให้ผลการรักษาเปลี่ยนไป การรั้งรอไม่ทำการผ่าตัดรักษาหรือวินิจฉัยในเวลาที่เหมาะสมเสียอีก ที่เป็นเหตุให้มะเร็งมีโอกาสเติบโตขึ้น และเป็นอันตราย ทำให้โอกาสรักษาหายมีน้อยลงครับ
ผู้เรียบเรียง รศ.น.พ.อดุลย์ รัตนวิจิตราศิลป์
ศัลยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้าน ศีรษะ คอ เต้านม คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาลมหาวิทยาลัยมหิดล
พบเรื่องราวดีดีเกี่ยวกับสุขภาพ ยา และโรคอีกมากมายได้ที่ www.yaandyou.net