การวางตัวในที่ทำงานถือเป็นหนึ่งปัญหาสำคัญที่สามารถพบได้ในที่ทำงานทั่วไป และผู้บริหารไม่ควรเมินเฉยหรือละเลยต่อปัญหานี้ เพราะถ้า ผู้บริหารวางตัว ไม่เหมาะสม ก็จะทำให้เป็นปัญหาระหว่างผู้บริหาร และลูกน้อง แถมอาจจะทำให้องค์กรเสียบุคลากรที่มีฝีมือด้วยก็ได้
เมื่อปัญหาเรื่องการวางตัวในที่ทำงานเกิดขึ้นจากตัวผู้บริหารเองควรทำอย่างไร
เหนือสิ่งอื่นใดเหล่าผู้บริหารต้องวิเคราะห์หรือสำรวจตัว (ผู้บริหาร) เอง ว่ากำลังเป็น ผู้บริหารที่ลำเอียง รักลูกน้องไม่เท่ากันรึเปล่า คุณได้กระจายงานให้ลูกน้องในปริมาณที่เท่า ๆ กันหรือไม่ ถ้าคุณสอนงานลูกน้องที่มาใหม่ คุณได้สอบถามปัญหาเรื่องงานกับลูกน้องเก่า ๆ ด้วยใช่มั้ย คุณคุยกับลูกน้องทุกคนทั่วถึงกันหรือไม่ หรือคุณคุยกับลูกน้องคนไหนเป็นพิเศษหรือเปล่า เพราะพฤติกรรมเหล่านี้แม้ต่างกันเพียงนิดเดียวก็อาจจะทำให้ลูกน้องบางคนเข้าใจผิดได้ พาลทำให้คิดว่าเจ้านายลำเอียง ให้ความสำคัญกับลูกน้องคนใดคนหนึ่งมากกว่า
จริงอยู่ที่ว่าฝ่ายบริหารส่วนใหญ่มักจะมีงานที่ยุ่งอยู่ตลอดเวลา แต่การใส่ใจลูกน้องนั้นถือเป็นสิ่งที่คุณจะละเลยไม่ได้ เพราะโดยพื้นฐานลูกน้องจะมีความเกร็งในระดับหนึ่งเมื่อต้องพูดคุยกับเจ้านายเป็นทุนเดิม ยิ่งคุณวางตัวเหินห่าง หรือไม่ค่อยพูดคุยกับลูกน้องจะยิ่งทำให้เกิดช่องว่างระหว่างกันมากยิ่งขึ้น ในทางกลับกันหากคุณมี กิจกรรมภายในองค์กร ที่ช่วยสานสัมพันธ์ระหว่างคนในบริษัทที่คุณก็เข้าร่วมด้วย นอกจากลูกน้องจะได้รู้จักกันดีแล้วยังถือเป็นโอกาสที่คุณจะได้รู้จักลูกน้องให้ดียิ่งขึ้น แถมยังช่วยให้ลูกน้องมีความกล้าที่จะพูดคุยกับคุณอย่างตรงไปตรงมาเมื่อเกิดปัญหาอีกด้วย
ผู้บริหารควรระมัดระวังในการวางตัว เพราะด้วยความที่คุณมีอำนาจในการตัดสินใจเรื่องต่าง ๆ ได้ ดังนั้นลูกน้องจะจับตามองคุณเป็นพิเศษ ว่าคุณสนิทสนมกับใครในองค์กรเป็นพิเศษหรือไม่ หรือคุณให้ความช่วยเหลือใครในองค์กรมากกว่าปกติหรือเปล่า ตรงนี้ถ้าคุณวางตัวเป็นกลาง ปฏิบัติกับทุก ๆ คนให้เท่าเทียมกัน ลูกน้องจะมีความเชื่อถือในตัวคุณว่าเมื่อเกิดปัญหาคุณจะใช้ความยุติธรรมเป็นหลักสำคัญ
มาถึงตรงนี้คาดว่าผู้บริหารหลาย ๆ คนน่าจะเริ่มสังเกตตัวเองกันแล้วว่าที่ผ่านมาคุณได้ให้ความสนิทสนมกับลูกน้องคนไหนเป็นพิเศษหรือไม่ แม้ว่าลูกน้องคนที่คุณสนิทสนมด้วยจะเป็นคนเก่งมีความสามารถสมควรได้รับการผลักดันก็ตาม แต่ในสายตาของลูกน้องคนอื่นในทีมอาจจะไม่คิดเช่นนั้น เพราะพวกเขาจะมองในมุมของพนักงานที่เห็นว่าคนที่มีความสามารถควรได้รับการผลักดันก็จริง แต่คนอื่น ๆ ก็ควรได้รับการเอาใจใส่ ได้รับการฝึกฝนความสามารถเช่นกัน และจากจุดเล็ก ๆ นี้อาจจะนำไปสู่ความเข้าใจผิดจนลามกลายเป็นปัญหาภายในออฟฟิศได้อย่างไม่น่าเชื่อ
และสำหรับผู้บริหารที่ไม่แน่ใจว่าตนเองลำเอียงหรือไม่ ไม่เป็นไรค่ะลองมาสำรวจตัวเองใหม่ แล้วลองปรับความสัมพันธ์กับลูกน้องให้เท่า ๆ กัน เช่นคุณอาจจะสนิทกับลูกน้องที่ต้องทำงานร่วมกันบ่อย ๆ แต่ก็อย่าลืมใส่ใจลูกน้องคนอื่น ๆ หมั่นสอบถามสารทุกข์สุขดิบ หรือคอยสอบถามปัญหาเรื่องงานเป็นระยะ ๆ เพื่อให้ลูกน้องคนอื่น ๆ ไม่รู้สึกว่าเข้าถึงคุณยาก ในทางกลับกัน หากคุณวางตัวเป็นผู้บริหารที่ลูกน้องสบายใจที่จะพูดคุยด้วย นั่นจะทำให้พวกเขาเชื่อมั่นในตัวคุณ และสบายใจที่จะร่วมงานด้วยค่ะ
แม้ว่าคุณเองจะยืนยันว่าไม่มีอะไรเป็นพิเศษ แค่ลูกน้องคุยกันถูกคอ หรือมีความสนใจคล้าย ๆ กันก็ตาม แต่สำหรับลูกน้องในทีมคนอื่นอาจจะไม่คิดเห็นนั้น บางครั้งจากจุดเล็ก ๆ เพียงนิดเดียวอาจจะก่อให้เกิดความเข้าใจผิดจนลามกลายเป็นปัญหาภายในออฟฟิศได้อย่างไม่น่าเชื่อ
เรื่องอื่น ๆ ที่น่าสนใจ