หน้าที่หนึ่งของนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ จำเป็นที่จะต้องวิเคราะห์ข้อมูล ตรวจสอบ และตัดสินใจให้สอดคล้องกับเป้าหมายการลงทุนที่ผู้ลงทุนตั้งไว้อย่างชัดเจนและสมเหตุสมผล การวิเคราะห์หลักทรัพย์ถือเป็นการวิเคราะห์อัตราผลตอบแทนที่คาดหวัง เพื่อให้ได้มาซึ่งหลักทรัพย์และกลุ่มหลักทรัพย์ลงทุนที่ดีที่สุด ที่ให้ผลตอบแทนดีที่สุด ณ ความเสี่ยงระดับหนึ่ง
หากพูดถึงในทางทฤษฎี การวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานนั้นมีรากฐานแนวความคิดที่ว่ามูลค่าที่แท้จริง (Intrinsic Value) และราคาตลาดของหลักทรัพย์ควรจะอยู่ใกล้เคียงกัน
ส่วนในทางปฏิบัตินักวิเคราะห์ทางปัจจัยพื้นฐานจะต้องวิเคราะห์หลักทรัพย์เพื่อหามูลค่าที่แท้จริงของหลักทรัพย์โดยคิดใน รูปแบบของมูลค่าปัจจุบัน (Present Value) ซึ่งเป็นการประเมินมูลค่าของหลักทรัพย์ที่จะลงทุน ซึ่งคาดว่าจะได้รับผลตอบแทนในอนาคต ทั้งในรูปกำไรจากการขายหลักทรัพย์ และผลตอบแทนการลงทุนในรูปของดอกเบี้ย หรือเงินปันผล
การวิเคราะห์หลักทรัพย์โดยใช้ปัจจัยพื้นฐาน มีขั้นตอนที่สำคัญ ด้วยการวิเคราะห์พื้นฐานทั้ง 3 ส่วนประกอบกัน ส่วนแรกคือ การวิเคราะห์ในแบบมหภาคหรือภาพรวมเศรษฐกิจโดยทั่วไป ซึ่งจะเน้นวิเคราะห์กันตั้งแต่ภาวะเศรษฐกิจที่ผ่านมาไปจนแนวโน้มในอนาคต ซึ่งอาจจะเกี่ยวกับเศรษฐกิจ ของโลกและแนวนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาล หรือนโยบายการเงินและนโยบายการคลัง ไปจนถึงการวิเคราะห์วัฏจักรของธุรกิจ ว่ามีผลกระทบต่อธุรกิจที่ออก หลักทรัพย์หรือไม่ เพียงใด การวิเคราะห์ส่วนต่อมาคือการวิเคราะห์วงจรอุตสาหกรรม สภาพการตลาดและการแข่งขัน ตลอดจนอนาคตของอุตสาหกรรมว่าจะมีแนวโน้ม อัตราการเจริญเติบโตอย่างไร ซึ่งจะขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่างด้วยกันค่ะ เช่น เรื่องนโยบายของรัฐบาลในการให้การสนับสนุนหรือเป็นอุปสรรค หรือโครงสร้างการเปลี่ยนแปลง ของระบบภาษีของรัฐ โครงสร้างอุตสาหกรรม เป็นต้น
ในลำดับขั้นสุดท้ายของการวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐาน คือการวิเคราะห์ที่ตัวบริษัท-องค์กร หรือประเภทของหลักทรัพย์ที่คุณ คิดจะลงทุน ซึ่งควรมีการวิเคราะห์ทั้งเชิงคุณภาพและเชิงปริมาณคู่กัน ซึ่งในเชิงคุณภาพก็ได้แก่ ประสิทธิภาพการบริหารของผู้บริหาร ส่วนแบ่งตลาด โครงการขยับขยาย ต่างๆ การเปลี่ยนแปลงของบริษัท ส่วนการวิเคราะห์เชิงปริมาณ ได้แก่การวิเคราะห์จากงบแสดงฐานะการเงินของธุรกิจในอดีตและปัจจุบัน เพื่อนำมาประมาณการกำไร ต่อหุ้นและราคาหุ้นในอนาคตได้ เป็นต้น
หลังจากมีการวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานต่างๆ จนได้มูลค่าปัจจุบันแล้ว เราจะมาหามูลค่าที่แท้จริงกันต่อค่ะ โดยนำมา เปรียบเทียบกับราคาของหลักทรัพย์ขณะนั้นในตลาด หากมูลค่าที่แท้จริงสูงกว่าราคาในตลาดก็จะตัดสินใจซื้อ แต่หากมูลค่าที่แท้จริงต่ำกว่าราคาในตลาดก็ตัดสินใจ ขาย