ลูกหนี้การค้า และตั๋วเงินรับให้แสดงเป็นทรัพย์สินในงบดุล โดยมีหลักการดังต่อไปนี้
- ลูกหนี้การค้า และตั๋วเงินรับแสดงเป็นสินทรัพย์หมุนเวียนได้ เมื่อสามารถแปลงสภาพเป็นเงินสดได้ภายใน 1 ปี หรือรอบระยะเวลาดำเนินงานตามปกติของธุรกิจ หากมีรอบระยะเวลาการชำระหนี้เกินกว่า 1 ปี หรือรอบระยะเวลาดำเนินงานตามปกติให้แสดงไว้เป็นสินทรัพย์ไม่หมุนเวียน
- ลูกหนี้ตามสัญญาผ่อนชำระ ควรแยกแสดงต่างหากจากลูกหนี้การค้าอื่น และหักด้วยค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ โดยแสดงไว้ในสินทรัพย์หมุนเวียนทั้งจำนวน ถึงแม้ว่ามีหนี้บางส่วนที่ระยะเวลาการชำระหนี้นานเกิน 1 ปี หรือ 1 รอบระยะเวลาการดำเนินงานตามปกติก็ตาม
- ถ้าลูกหนี้หรือตั๋วเงินรับมีการนำไปเป็นหลักประกันเงินกู้ ต้องเปิดเผยพันธะผูกผันไว้ในหมายเหตุประกอบงบการเงินด้วย
- ลูกหนี้ที่โอนหรือขายโดยมีเงื่อนไขต้องรับผิดชอบในหนี้สูญ ให้เปิดเผยเงื่อนไขไว้ในหมายเหตุประกอบงบการเงิน
- ส่วนลดตั๋วเงินรับ (ถ้ามี) ให้นำไปหักออกจากตั๋วเงินรับในงบดุล และเปิดเผยเกี่ยวกับจำนวนเงินในตั๋วอัตราดอกเบี้ยตั๋ว อัตราดอกเบี้ยแท้จริง และส่วนลดของตั๋วเงินรับที่ยังเหลือของตั๋วแต่ละฉบับไว้ด้วย
- ตั๋วเงินที่มิได้เกิดจากการขายสินค้า แต่เกิดจากการลงทุนชั่วคราวให้แยกแสดงเป็นรายการต่างหากจากตั๋วเงินรับแต่ละฉบับด้วย
- ตั๋วเงินรับขายลดที่ยังไม่ถึงกำหนดให้นำไปหักออกจากตั๋วเงินรับ ณ วันสิ้นงวด หรือแสดงไว้เป็นยอดสุทธิในงบดุลก็ได้ แต่ต้องเปิดเผยรายละเอียดเกี่ยวกับหนี้สินที่อาจจะเกิดขึ้นจากตั๋วเงินรับขายลดไว้ในหมายเหตุประกอบงบการเงิน
- ลูกหนี้ที่มียอดเครดิต หากมีจำนวนน้อยอาจจะนำไปหักจากลูกหนี้ทั้งหมด และแสดงยอดสุทธิโดยไม่ต้องแยกแสดงเป็นเจ้าหนี้
ที่มา: วารสารข่าวสำหรับนักบัญชี และวารสารฉบับ เอกสารภาษีอากร สำนักพิมฑ์ธรรมนิติ