สำหรับหัวหน้างานการตั้ง KPI ให้ลงตัวกับคนในทีมเป็นเรื่องสำคัญ การรู้เทคนิคกำหนด KPI หรือ Key Performance Indicator แบบทีมเวิร์ค ให้งานดี งานเดิน ไม่เกินตัว จะช่วยให้งานมีประสิทธิภาพ ไม่หนักหนาเกินรับไหวและไม่น้อยเกินไปจนขาดความท้าทาย
ทุก ๆ ปลายปี หรืออาจจะเป็นช่วงต้นปี ของแต่ละบริษัทจะเป็นช่วงเวลาของ การประเมินผลการทำงานของพนักงาน หรือการวัด Key Performance Indicator ซึ่งแต่ละบริษัทและธุรกิจ ก็จะมีเกณฑ์ในการวัดแตกต่างกันไป แต่หากคุณเป็นหัวหน้างานที่ต้อง ประมินผลงานลูกน้อง มาดู 8 เทคนิคกำหนด Key Performance Indicator แบบทีมเวิร์ค งานดี งานเดิน ไม่เกินตัว ประกอบไปด้วยอะไรบ้างกัน
เข้าใจคำว่า Key Performance Indicator
KPI หรือ Key Performance Indicator เป็นดัชนีชี้วัดผลงานหรือความสำเร็จของงาน โดยเปรียบเทียบผลการปฏิบัติงานกับมาตรฐานหรือเป้าหมายที่ได้ตกลงกันไว้ โดยงานที่กำหนดแต่ละฝ่าย แต่ละแผนก และแต่ละตำแหน่งจะต้องกำหนดตัวชี้วัดที่ต้องวัดผลได้ และกำหนดการบรรลุผลว่าควรมีลักษณะอย่างไร โดยมีรายละเอียดหัวข้อการประเมินผล และกำหนดคะแนนแต่ละหัวข้อไว้อย่างชัดเจน
ตั้งคำถามเพื่อกำหนด Key Performance Indicator
การกำหนด Key Performance Indicator จะต้องเป็นไปตามวัตถุประสงค์จึงอาจเริ่มจากการตั้งคำถาม ได้แก่ ผลลัพธ์ที่ต้องการคืออะไร ทำไมผลลัพธ์นี้จึงมีความสำคัญ, หัวหน้าสามารถวัดความก้าวหน้าได้อย่างไร หัวหน้าและทีมมีอิทธิพลต่อผลลัพธ์ได้อย่างไร ใครคือผู้รับผิดชอบกับผลลัพธ์นี้ รู้ได้อย่างไรว่าบรรลุเป้าหมายและสำเร็จแล้ว หัวหน้าควรตรวจสอบความคืบหน้าของผลลัพธ์บ่อยแค่ไหน เป็นต้น
วัดผลทางตรงทางอ้อม
ประเภทของดัชนีชี้วัดความสำเร็จ (Key Performance Indicator) สามารถแบ่งออกเป็นการวัดผลทางตรง คือใช้ตัวเลขบอกตามจริง มีหลักฐานตรวจสอบได้ มาตรวัดอยู่ในระดับ Ratio Scale เช่น จำนวนผลงาน จำนวนสินค้า เป็นต้น และการวัดผลทางอ้อม คือวัดโดยผ่านกระบวนการทางสมองเพิ่มเติม เช่น ทัศนคติ ความรู้ บุคลิกภาพ เป็นต้น มาตรวัดจะอยู่ในระดับ Interval Scale วัดแบบช่วง ให้คะแนนตามเกณฑ์ส่วนตัวที่แตกต่างกัน
มุมมองการวัด Key Performance Indicator
การวัด Key Performance Indicator สามารถวัดได้หลายมุมมองทั้งเชิงบวกเชิงลบ ได้แก่ Positive KPI ดัชนีวัดความสำเร็จในเชิงบวก กำหนดเกณฑ์ประเมินผลในแง่ดีเกี่ยวกับธุรกิจ เช่น ยอดขาย กำไร กำลังการผลิต เป็นต้น และ Negative KPI ดัชนีวัดความสำเร็จในเชิงลบ กำหนดเกณฑ์ประเมินผลโดยใช้ข้อบกพร่อง ปัญหา จุดด้อยความเสียหาย เช่น เปอร์เซ็นต์ผลผลิตที่ผิดพลาด เกณฑ์ลดอัตราการขาดทุนให้น้อยที่สุด เป็นต้น
SMART ตรวจสอบตัวชี้วัด
ข้อควรคำนึงถึงในการกำหนดตัวชี้วัดและค่าเป้าหมายผลสัมฤทธิ์ของงานมีเทคนิคง่าย ๆ คือ SMART ได้แก่ Specific (S) เจาะจงว่าต้องการทำอะไร ผลลัพธ์ที่ต้องการคืออะไร Measurable (M) วัดผลที่เกิดขึ้นได้ ตัวชี้วัดไม่มากเกินไป Achievable (A) บรรลุผลได้ Realistic (R) สมเหตุสมผล สอดคล้องกับความเป็นจริง สามารถทำให้สำเร็จได้ Timely (T) กำหนดช่วงเวลาชัดเจน ระยะเวลาการทำงานเหมาะสม
ขั้นตอนนำ Key Performance Indicator ไปใช้
ขั้นตอนในการนำ Key Performance Indicator ไปใช้ ประกอบไปด้วย
กำหนด Key Performance Indicator ร่วมกัน
การกำหนด Key Performance Indicator ร่วมกันตั้งแต่ระดับผู้บริหารไปจนถึงระดับพนักงาน จะช่วยให้มองภาพได้ตรงกัน ประเมินเป้าหมายที่เป็นไปได้ร่วมกัน และสร้างแรงผลักดัน ในการบรรลุเป้าหมายร่วมกัน ที่สำคัญทำให้เกิดความยุติธรรมในการกำหนดตัวชี้วัด และวิธีการประเมินผลที่ดีได้
ข้อควรระวังในการสร้าง Key Performance Indicator
สิ่งที่ต้องระวังในการสร้าง Key Performance Indicator ได้แก่ ผู้บริหารต้องใส่ใจในการตั้ง Key Performance Indicator เข้าใจทักษะและความต้องการของพนักงาน ไม่ลำเอียงในการตั้ง Key Performance Indicator ในแต่ละแผนก ไม่ตั้งยากเกินไปจนทำไม่ได้ ไม่เปลี่ยน Key Performance Indicator บ่อยเกินไป ควรเป็น Key Performance Indicator ระยะยาว เพื่อใช้เปรียบเทียบได้ ไม่ตั้ง Key Performance Indicator ที่มากเกินไป ควรนำ Key Performance Indicator มาวิเคราะห์ และพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เน้นผลลัพธ์มากกว่ากระบวนการ สร้างกฎระเบียบ และวัฒนธรรมองค์กรให้ชัดเจน
Key Performance Indicator ยังคงเป็นมาตรฐานการชี้วัดผลการดำเนินงานที่ใช้ในองค์กร ดังนั้นจึงจำเป็น ที่จะต้องวัดผลได้อย่างเหมาะสมและมีความเข้าใจร่วมกันอย่างถูกต้องเพื่อพัฒนาองค์กรให้เจริญก้าวหน้า
ดาวน์โหลดได้แล้ววันนี้ทั้ง iOS และ Android
https://th.jobsdb.com/th-th/articles/ประเมินผลการทำงานพนง/