ช่วงนี้มีนิสิต นักศึกษาจบใหม่ ออกมามากมาย ซึ่งเป็นช่วงที่คนกลุ่มนี้กำลัง หางาน ทำ บ้างก็ได้งานแล้ว บ้างก็ยังไม่ได้งาน องค์กรเองก็เช่นกัน ช่วงเวลานี้เป็นช่วงที่หลายองค์กรเริ่มหาพนักงานใหม่เข้ามาทำงานมากขึ้น โดยเฉพาะพนักงานที่เพิ่งจบการศึกษามาหมาด ๆ องค์กรที่มีนโยบายในการรับเด็กจบใหม่เข้ามาฝึก และพัฒนาเอง ก็จะเริ่มต้นสรรหา คัดเลือกพนักงาน ในระยะนี้
ในการสรรหาคัดเลือกพนักงานไม่ว่าจะเป็นผู้สมัครที่เพิ่งจบการศึกษาใหม่ หรือผู้สมัครที่มีประสบการณ์ในการทำงานมาแล้ว เราก็มีวิธีการสรรหาและคัดเลือกที่คล้าย ๆ กัน ก็คือ ต้องการคนที่มีความรู้ความสามารถ และมีศักยภาพ รวมทั้งมีความเหมาะสมกับองค์กร
ในการหาพนักงานให้ได้ตามคุณสมบัติที่เราต้องการนั้น มีสิ่งที่เราควรพึงระวังอยู่เหมือนกัน เพราะมิฉะนั้นเราอาจจะไม่ได้คนที่มีคุณสมบัติอย่างที่เราอยากจะได้ก็เป็นได้ ลองมาดูกันว่ามีอะไรบ้างที่เราควรจะระวัง
- ใช้เกรดเฉลี่ยที่จบการศึกษาของผู้สมัครเป็นเกณฑ์บางองค์กรมีการกำหนดเกรดเฉลี่ยของผู้สมัครจะต้องไม่ต่ำกว่ากำหนด หรือ ผู้สัมภาษณ์งาน บางคน ก็พิจารณาจากเกรดเฉลี่ยของผู้สมัครเป็นเกณฑ์หลักเลยก็มี แม้ว่าผู้สมัครคนนั้นเคยผ่านงานมาแล้ว และมีประสบการณ์ในการทำงานมากกว่าสิบปี แต่ก็ไม่วายถูกวัดด้วยเกรดเฉลี่ยจนได้ ซึ่งเอาเข้าจริง ๆ เกรดเฉลี่ยมันก็อาจจะไม่ได้บอกอะไรเราก็ได้ เป็นเพียงแค่เครื่องมือในการพิสูจน์ว่า ผู้สมัครคนนี้เรียนเก่ง ได้เกรดดี เท่านั้น แต่ผลงานจะดีหรือไม่นั้น ไม่ได้อยู่ที่เกรด หรือแม้แต่พฤติกรรมจะเข้ากับวัฒนธรรมขององค์กรเราได้หรือไม่นั้น ก็ไม่ได้อยู่ที่เกรดเฉลี่ยอีกเช่นกัน
- ใช้สถาบันเป็นเกณฑ์ในการคัดเลือกHR ที่ทำหน้าที่คัดเลือกผู้สมัครในบางองค์กร ก็มีความเชื่อเรื่องของสถาบันการศึกษามาก เชื่อว่าใครที่จบจากสถาบันนั้น สถาบันนี้ จะดีกว่าเก่งกว่า และมีศักยภาพมากกว่า ซึ่งจริง ๆ แล้วเรื่องนี้ก็ไม่ได้เป็นข้อพิสูจน์อีกเช่นกัน
- พิจารณาที่ความรู้และทักษะมากเกินไปโดย ปกติการคัดเลือกพนักงานใหม่ ผู้สัมภาษณ์งาน ก็มักจะพิจารณาจากความรู้ ทักษะ และความสามารถของผู้สมัครเป็นเกณฑ์ หรือพูดอีกนัยหนึ่งก็คือ ดูจากความเก่งของผู้สมัคร แต่ลืมดูเรื่องความเหมาะสมกับองค์กรไป บางคนเก่งมาก แต่กลับไม่เหมาะสมกับ วัฒนธรรมองค์กร เลยก็มี แบบนี้เลือกเข้ามา ก็ทำงานร่วมกันไม่ได้นาน เพราะแนวทางในการทำงานของผู้สมัครกับวัฒนธรรมขององค์กรไปด้วยกันไม่ได้ ดังนั้นการเลือก ก็ควรจะพิจารณาว่า คน ๆ นี้เหมาะที่จะทำงานในองค์กรนี้หรือไม่ อย่างไรด้วย
- พิจารณาจากประวัติการทำงานที่ดูดีโดยปกติแล้วผู้สมัครงานก็ย่อมที่จะเขียนจดหมายสมัครงาน และประวัติการทำงานที่ดี เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือให้กับองค์กรที่เขาไปสมัครงานด้วย และส่วนใหญ่ HR ที่ คัดเลือกผู้สมัครงาน ก็มักจะให้ความสำคัญกับ Resume ที่ดูดี เตะตา ยิ่งไปกว่านั้น ก็เชื่อข้อความที่เขียนในนั้นโดยปริยาย โดยไม่มีการโทรไปสอบถาม หรือหาข้อมูลจากแหล่งอื่น ๆ เพิ่มเติม เพื่อเป็นการพิสูจน์ว่าผู้สมัครเป็นอย่างที่เขียนไว้จริง ๆ ดังนั้นสิ่งที่ควรจะทำก็คือ ยิ่งประวัติดูดีเท่าไหร่ ก็ยิ่งต้องสอบถาม หรือโทรไปเช็คข้อมูลจากที่ทำงานเก่า ว่าเป็นอย่างที่เขาเขียนมาจริง ๆ หรือไม่ เพราะหลายบริษัทที่หาคนได้ไม่เหมาะสม สิ่งที่พลาดก็คือจุดนี้ด้วย
- พิจารณาคุณสมบัติของผู้สมัครให้เหมาะกับงานที่เปิดรับจริงๆในบางกรณีมีผู้สมัครงานที่มีคุณสมบัติดีมาก และเป็นคุณสมบัติที่เหนือกว่า ดีกว่า ที่เราต้องการจริง ๆ จากตำแหน่งงานที่ประกาศไว้ ซึ่งทำให้ผู้คัดเลือกชอบใจ และอยากได้ผู้สมัครคนนี้เข้าทำงาน โดยที่ต่างก็คิดกันไปว่า ด้วยคุณสมบัติที่เหนือกว่าที่ต้องการนั้นจะทำให้เขาทำงานได้ดี และสามารถใส่ความรับผิดชอบให้มากขึ้นไปได้อีก โดยเฉพาะถ้าอนาคตมีงานที่ผู้สมัครคนนั้นทำเป็น ก็ยิ่งดีใหญ่ จะได้ไม่ต้องไปหาคนเพิ่มอีก (คิดไปซะไกล) แต่จริง ๆ แล้วงานในอนาคตนั้นยังไม่เกิดเลย แถมไม่รู้ว่าเมื่อไหร่จะเกิดขึ้นด้วยซ้ำไป การเลือกผู้สมัครแบบนี้ จะทำให้เราได้พนักงานที่มี คุณสมบัติสูงเกินไป กว่าที่เราต้องการ ซึ่งอาจจะทำให้เกิดปัญหาอื่น ๆ ตามมาได้อีก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของงานที่เล็กกว่าคุณสมบัติของเขา ความคาดหวังเรื่องเงินเดือนที่สูงกว่าที่เรากำหนดในตำแหน่งงานที่เราต้องการ เพราะเขามาสูงกว่าที่เราต้องการนั่นเอง
ด้วยสาเหตุดังกล่าวข้างต้น ล้วนแต่ทำให้การ คัดเลือกพนักงานใหม่ เข้าทำงานมีปัญหาตามมามากมาย ทั้งปัญหาทางด้านผลงาน ปัญหาทางด้านทัศนคติ ความเข้ากันได้ของผู้สมัครกับงาน และกับองค์กร เมื่อได้คนไม่เหมาะ องค์กรก็มีต้นทุนที่สูงขึ้นตามมาทันที ไม่ว่าจะเป็นต้นทุนทางด้านการ พัฒนาพนักงาน การสรรหาคนใหม่ เพราะอยู่ได้ไม่นาน และปัญหาทางด้านความขัดแย้งต่าง ๆ
ดังนั้น ควรให้ความสำคัญกับการคัดเลือกผู้สมัครให้มาก เพราะนี่คือต้นทางของความสำเร็จในการบริหารคน และการบริหารงานขององค์กรต่อไปในระยะยาว
ที่มา : http://prakal.wordpress.com/
เรื่องอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
เจ้าหน้าที่สรรหาที่ดีมีคุณสมบัติอย่างไร
10 ขั้นตอนสรรหาผู้สมัครงานอย่างเป็นระบบ