เรซูเม่เป็นเครื่องมือหนึ่งในการสร้างความประทับใจให้แก่ผู้ประกอบการ เวลาที่คุณสมัครงานแล้วไม่มีใครติดต่อกลับมา นั่นอาจเป็นเพราะเรซูเม่ของคุณยังไม่น่าประทับใจมากพอ ซึ่งอาจเกิดได้จากข้อผิดพลาดต่าง ๆ ดังนั้นจึงควรสำรวจตัวเองว่า การเขียนเรซูเม่ ของคุณมีข้อผิดพลาดดังต่อไปนี้หรือไม่
1. เขียนหรือสะกดคำผิด
ในการเขียนเรซูเม่นั้น ไม่ควรปล่อยให้มีข้อผิดพลาดใด ๆ เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการเขียนผิดไวยากรณ์หรือการสะกดคำผิด เพราะเมื่อผู้ประกอบการอ่านไปเจอคำผิด เขาจะสรุปว่าคุณ “เขียนไม่เป็น” หรือไม่คุณก็เป็นคนที่ “ไม่เอาใจใส่” โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการสมัครงาน คุณมีเวลาเต็มที่ในการ สร้างสรรค์เรซูเม่ ให้สมบูรณ์แบบและน่าสนใจที่สุด เพราะคุณไม่ได้กำลังนั่งทำข้อสอบที่จำกัดเวลาในการทำ เรซูเม่ของคุณจะเป็นสิ่งสำคัญในการสร้างความประทับใจให้แก่ผู้ประกอบการ ดังนั้นคุณจำเป็นต้องตรวจทานอย่างรอบคอบก่อนจะส่งเรซูเม่ออกไป
2. ขาดความเฉพาะเจาะจง
ผู้ประกอบการต้องการทราบว่า คุณจะสามารถทำอะไรให้องค์กรได้บ้าง ดังนั้นในการแนะนำตัวของคุณ ต้องระบุประสบการณ์ที่มีประโยชน์ต่อองค์กรด้วย การระบุรายละเอียดลงไปให้ชัดเจน แสดงว่าคุณเข้าใจในงานที่คุณสมัคร ซึ่งจะทำให้คุณมีความโดดเด่นแตกต่างจากคนที่เขียนแบบกลาง ๆ เช่น
นายเอ ระบุว่าเคยทำงานกับลูกจ้างในภัตตาคาร
ส่วนนายบี ระบุว่าเคยทำหน้าที่สรรหา ว่าจ้าง ฝึกอบรม และดูแลลูกจ้างกว่า 20 คน ในภัตตาคารที่ทำรายได้กว่า 20 ล้านบาทต่อปี
เห็นแล้วนะคะว่า จากตัวอย่างข้างต้น เรซูเม่ของนายเอ หรือนายบี ที่จะจับความสนใจของผู้ประกอบการได้ดีกว่ากัน
3. เขียนครั้งเดียวแต่ส่งไปทุกที่
เมื่อไรก็ตามที่คุณเขียนเรซูเม่แบบเขียนครั้งเดียวแล้วส่งไปทุกที่ เมื่อนั้นรู้ได้เลยว่าเรซูเม่ของคุณจะต้องลงไปนอนกองในถังขยะรวมกับเรซูเม่อีกจำนวนมากที่เขียนแบบเดียวกับคุณ เพราะเป็นไปไม่ได้ที่เรซูเม่ที่เขียนครั้งเดียวจะเหมาะกับทุกองค์กร ผู้ประกอบการต้องการเรซูเม่ที่ผู้เขียนตั้งใจที่จะสมัครงานกับองค์กรของเขาอย่าง แท้จริง ซึ่งคุณต้องทำให้ผู้ประกอบการเห็นว่าคุณเหมาะกับตำแหน่งดังกล่าวอย่างไร และเพราะอะไร
4. เขียนยาวหรือสั้นเกินไป
โดยทั่วไปแล้วความยาวของเรซูเม่ไม่ควรเกิน 2 หน้า แต่ถ้าคุณเพิ่งเรียนจบ ประวัติของคุณอาจจะไม่ยาวนัก และสามารถอยู่ได้ภายใน 1 หน้า ก็ไม่ต้องพยายามทำให้ได้ 2 หน้า หรือหากคุณมีประสบการณ์มากมาย ก็ไม่จำเป็นต้องตัดส่วนที่สำคัญออก เพื่อให้เรซูเม่ของคุณอยู่ได้ภายใน 1 หน้าตามมาตรฐานแต่อย่างใด
5. ตั้งเป้าหมายเพื่อตัวเอง
บ่อยครั้งที่ผู้ประกอบการอ่านวัตถุประสงค์ในการสมัครงานแล้วพบข้อความ เช่น คุณต้องการงานที่ท้าทายและมีความเจริญก้าวหน้า ซึ่งผู้ประกอบการจะรู้สึกว่าคุณไม่ได้มีเป้าหมายที่จะทำให้องค์กรของเขาก้าวหน้า แต่คุณต้องการเพียงให้ตัวคุณมีความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน จะดีกว่าถ้าคุณระบุเป้าหมายให้ตอบโจทย์ความต้องการทั้งขององค์กรและของตัวคุณเอง เช่น คุณต้องการงานที่ท้าทายสำหรับนักศึกษาจบใหม่ ที่จะทำให้คุณได้ใช้ทักษะและประสบการณ์ในการระดมทุนให้แก่องค์กรที่ไม่หวังผลกำไร
6. ไม่ใช้กริยาที่บอกการกระทำ
หลายต่อหลายคนชอบเขียนเป็นวลี เช่น responsible for แทนที่จะใช้ คำกริยาที่บอกการกระทำ เช่น ตอบคำถามให้แก่นักศึกษาจำนวน 4,000 คน ในฐานะส่วนหนึ่งของทีมผู้ช่วยเหลือทางด้านไอทีของมหาวิทยาลัย
7. ตัดข้อมูลสำคัญออกไป
บางคนอาจคิดว่า กิจกรรมเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่คุณทำขณะที่คุณกำลังเรียนอยู่นั้นไม่สลักสำคัญอะไรจึงตัดออกไป แต่จริง ๆ แล้วข้อมูลเหล่านี้มีความสำคัญต่อผู้ประกอบการมากกว่าที่คุณคิดเสียอีก เพราะทักษะบางอย่างที่คุณได้จากประสบการณ์เหล่านั้น เช่น การทำงานร่วมกับผู้อื่น การบริหารเวลา จะทำให้ผู้ประกอบการรู้ว่า คุณเคยเรียนรู้ที่จะทำงานร่วมกับผู้อื่นมาบ้างแล้ว
8. หน้าตาไม่น่าอ่าน
ถ้าเรซูเม่ของคุณมีแต่ข้อความแน่นเต็มไปหมด ดูแล้วตาลาย อ่านแล้วปวดหัว ก็จะไม่มีใครอยากอ่าน ดังนั้นก่อนจะส่งออกไป ควรเอาไปให้พ่อแม่ พี่น้อง เพื่อนฝูงลองอ่านดูก่อน เพื่อให้แน่ใจว่ามันจะไม่ถูกทิ้งไป เพราะหน้าตาไม่น่าอ่าน
9. พิมพ์หมายเลขโทรศัพท์ผิด
เรื่องง่าย ๆ ที่ไม่น่าพลาด เพราะหมายเลขโทรศัพท์เป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้องค์กรที่คุณสมัครงานไปสามารถติดต่อกลับมาหาคุณได้ ถึงแม้คุณจะมีความสามารถ และมีประสบการณ์มากมายเพียงใด หากไม่มีใครสามารถติดต่อคุณได้ คุณก็ไม่มีวันได้งานทำ ดังนั้นควรให้เวลากับการตรวจทานเพิ่มอีกนิด ...ช้าแต่ชัวร์จะดีกว่า...
เพื่อให้เรซูเม่ของคุณสมบูรณ์แบบและน่าประทับใจที่สุด พึงระวังข้อผิดพลาดที่กล่าวมานี้ จะได้ไม่เสียโอกาสในการได้งานดี ๆ ที่คุณใฝ่ฝัน
เรื่องอื่น ๆ ที่น่าสนใจ