ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมานี้ นโยบาย “ไทยแลนด์ 4.0” เป็นประเด็นที่ภาคการศึกษา และตลาดแรงงานหยิบยกมาพูดถึงกันเยอะมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องของการที่ประเทศไทยกำลังจะเข้าสู่ยุคของ AI แล้วคำ 2 คำนี้มีบทบาท และผลอย่างไรกับตลาดงานในเมืองไทย คำว่าไทยแลนด์ 4.0 คือโมเดลการขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยนวัตกรรมเพื่อพัฒนาประเทศให้มั่นคง ส่วน AI (Artificial Intelligence) ที่แปลตรงตัวว่าปัญญาประดิษฐ์ หมายถึงวิทยาการคอมพิวเตอร์ที่สามารถคิดค้นหาเหตุผล และทำงานได้เหมือนสมองมนุษย์ และนี่เป็นประเด็นที่ว่า "วันหนึ่งหุ่นยนต์จะแย่งงานเราทำ คนจะตกงานมากขึ้น"
ในความเป็นจริงแล้ว วิทยาการคอมพิวเตอร์ล้วนถูกสร้างและสั่งการโดยมนุษย์ทั้งสิ้น ดังนั้นหากนักศึกษา และคนหางานหมั่นหาความรู้อย่างสม่ำเสมอ อัปเดตความเคลื่อนไหวเทคโนโลยีอยู่ตลอดเวลา และเลือกเรียนตามสายงานที่เป็นที่ต้องการของตลาดงานในอนาคต ไทยแลนด์ 4.0 จะกลายเป็นโอกาสดีมากกว่าเรื่องน่ากลัวอย่างที่ใครหลายคนกำลังวิตกกังวล และนี่คือเรื่องง่าย ๆ ที่จะทำให้นักศึกษา และคนทำงานสามารถอยู่รอดได้ในยุคไทยแลนด์ 4.0
1. หมั่นอัปเดตข่าวสาร
การอัปเดตข่าวสารด้านตลาดงานและเทคโนโลยีเป็นประจำ สม่ำเสมอ จะทำให้คุณทราบถึงทิศทางของเทคโนโลยีในอนาคตว่าจะดำเนินไปทางใด ตลาดงานมีความต้องการ หรือขาดแคลนแรงงานสายไหนเป็นพิเศษ ซึ่งจะช่วยให้คุณสามารถเลือกเรียน เลือกหาความรู้เพิ่ม และปรับตัวให้ทันกับเทคโนโลยีที่กำลังจะเปลี่ยนไปได้
โดยปัจจุบันเรามักจะได้ยินข่าวที่เกี่ยวกับระบบ Automation หรือการนำเครื่องจักรมาทำงานแทนมนุษย์, Digital Transformation (การนำเทคโนโลยีมาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานให้กับธุรกิจ), Internet Of Thing (การเชื่อมต่ออุปกรณ์ต่าง ๆ ผ่านระบบอินเตอร์เน็ตแทนการใช้สายไฟ), Smart Factory (ระบบโรงงานอัจฉริยะ) หรือ Cyber Physical Systems (เทคโนโลยีที่ถูกนำเข้ามาใช้ในการพัฒนาเครื่องจักรหรือพัฒนาระบบกระบวนการผลิต) รวมถึงเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต
2. เลือกเรียนเฉพาะทาง ไม่ตามใคร
เมื่อคุณมีความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตแล้ว และรู้ความต้องการของตลาดแรงงานในปัจจุบัน คุณควรเลือกเรียนในคณะที่จบออกมาแล้วเป็นที่ต้องการของตลาด เป็นสาขาเฉพาะทาง ไม่ว่าจะเป็นสาย วิศวกรรมหุ่นยนต์, วิศวกรรมยานยนต์, วิศวกรรมซอฟต์แวร์, วิศวกรรมคอมพิวเตอร์ หรือวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์
สอดคล้องกับข้อมูลตำแหน่งงานที่มีความขาดแคลนสูงในช่วงไตรมาส 2 ของปี 2561 จากข้อมูลด้านความต้องการแรงงานไอทีของผู้ประกอบการโดย jobsDB ประเทศไทย ได้แก่ งาน Application Specialist – Software และ งาน Programming / Software Development ในขณะที่สายงานที่มีความต้องการและจำนวนผู้สมัครน้อย ได้แก่ งาน IT Consulting งาน Database Administrator งาน Mobile/ Wireless Communications งาน Application Specialist – Network งาน IT Security งาน Testing / Quality Assurance
3. หมั่นพัฒนาทักษะฝีมือ
สำหรับคนทำงานเอง ที่อาจไม่ได้เรียนมาสายวิศวกรรมต่าง ๆ ก็ต้องทราบว่าตำแหน่งงานที่ตัวเองทำอยู่จะสามารถนำไปใช้ทำงานให้สอดรับกับนโยบาย Thailand 4.0 ได้อย่างไรบ้าง และต้องศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมด้านไหนเพิ่มเติม เพื่อพัฒนาศักยภาพฝีมือแรงงานให้ทันกับเทคโนโลยีที่จะเกิดขึ้นในอนาคต และทันต่อความต้องการของตลาดแรงงาน
ยกตัวอย่างเช่น จากเดิมคนที่ทำงานธนาคารจะต้องเรียนจบด้านการบัญชี ปัจจุบันการเข้ามาของ Digital Transformation ส่งผลให้เกิดสังคมไร้เงินสด ธนาคารบางสาขาถูกปิดตัวลง เนื่องจากคนหันมาให้แอปพลิเคชั่น และอินเตอร์เน็ตแบงค์กิ้งกันมากขึ้น ดังนั้นคนที่ทำงานธนาคารก็ต้องหมั่นพัฒนาทักษะฝีมือให้สอดคล้องกับเทคโนโลยียุคใหม่ อาทิ Software Application, เทคโนโลยี Smart chip ในการอ่านข้อมูลบัตร และเทคโนโลยีความปลอดภัยในการทำธุรกรรมด้วย
นอกเหนือไปจากการเรียนและทำงานสายวิทยาศาสตร์ หรือวิศวกรรมที่กล่าวมาแล้วนั้น ทุกอาชีพและสายงานล้วนมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบายของประเทศทั้งสิ้น เพียงแต่นักศึกษา คนทำงานต้องหมั่นปรับตัว พัฒนาทักษะฝีมือแรงงานอย่างต่อเนื่อง และถูกจุด เพื่อให้สามารถใช้ชีวิตอยู่ในยุคที่หุ่นยนต์จะเข้ามาทำงานแทนมนุษย์ได้อย่างไร้กังวล
เรื่องอื่น ๆ ที่น่าสนใจ