แม้ว่าในโลกนี้จะไม่มีใครสมบูรณ์แบบอย่างแท้จริง แต่ใน การคัดเลือกพนักงาน นั้นนายจ้างต้องมองหาคนที่เหมาะสมกับตำแหน่งงานและองค์กรมากที่สุด หากผู้สมัครงานขาดคุณสมบัติบางประการ ยังสามารถ จัดฝึกอบรมพนักงาน หรือจัดหลักสูตร พัฒนาบุคลากรรายบุคคล ในภายหลังได้ แต่หากเจอผู้สมัครที่มีลักษณะต่อไปนี้ องค์กรไม่ควรเสี่ยงที่จะรับเข้ามาทำงาน เพราะอาจได้ไม่คุ้มเสียในระยะยาว
1. ไม่มีความรู้
คนประเภทนี้ไม่มีธุรกิจไหนอยากรับเข้าทำงาน เนื่องจากไม่มีความเหมาะสมกับตำแหน่งงาน ถ้ารับเข้ามาต้องเสียเวลาในการเทรนนิ่งอย่างมาก
พิจารณา เรซูเม่ ด้วยความระมัดระวัง โฟกัสที่การศึกษาและประสบการณ์ที่คุณต้องการ สำหรับ นักศึกษาจบใหม่ อาจมองหาคนที่จบในสาขาที่เกี่ยวข้อง หรือความสนใจส่วนบุคคลก็ได้ เลือกนัดสัมภาษณ์เฉพาะผู้สมัครที่เคยผ่านการฝึกอบรมเพิ่มเติม หรือมีประกาศนียบัตรรับรอง
สังเกตว่าผู้สมัครงานมีความรู้อะไรบ้างเกี่ยวกับบริษัทและผลิตภัณฑ์ ผู้สมัครประเภทนี้จะไม่ค้นคว้าข้อมูลก่อนมาสัมภาษณ์งาน หรือหากมีการหาข้อมูลมา ก็จะได้เข้าใจดีพอที่จะอธิบายได้
2. ขาดความกระตือรือร้น
คนที่ขาดความกระตือรือร้นนั้นแย่พอ ๆ กับคนที่ขาดความรู้เลยทีเดียว แต่ถ้าเทียบกันแล้ว คนที่อยากจะทำงานให้ดีแต่ขาดการเทรนนิ่งยังจะดีเสียกว่าคนที่มีคุณสมบัติพร้อมแต่ไม่ใส่ใจใน งาน ของตน
การ สร้างแรงจูงใจในการทำงาน ให้คนประเภทนี้เป็นเรื่องที่ยากสุด ๆ ยิ่งไปกว่านั้น บุคลิกแบบนี้สามารถแพร่ถึงกันได้ง่าย เมื่อพนักงานคนหนึ่งขาดความกระตือรือร้นก็จะส่งผลให้พนักงานคนอื่น ๆ รู้สึกเฉื่อยชาตามไปด้วย ไป ๆ มา ๆ ทั้งองค์กรก็จะมีแต่คนเฉื่อย ๆ ทำงานไม่เต็มประสิทธิภาพกันหมด
พิจารณาจากประวัติการทำงานที่ผ่านมาว่าผู้สมัครคนนั้นดูเหมือนจะ เปลี่ยนงานบ่อย ๆ โดยไม่มี career path ที่ชัดเจน หรือไม่เคยได้รับการเลื่อนตำแหน่งหรือเปล่า
ถามผู้สมัครว่าทำไมจึงสมัครงานในตำแหน่งนี้ที่บริษัทของคุณ สังเกตคำตอบว่าเขามี passion ในการทำงาน หรือมี passion ต่อบริษัท หรืออุตสาหกรรมหรือไม่ นอกจากนั้นให้สังเกตว่า มีอะไรที่แสดงให้เห็นว่าเขาเคยทำงานที่เหนือกว่าหน้าที่ปกติหรือเปล่า
3. โกหก
คนที่ไม่ซื่อสัตย์คือคนที่จะรู้สึกผิดก็ต่อเมื่อถูก จับโกหก ได้เท่านั้น คนประเภทนี้จะโอ้อวดว่าตัวเองทำงานเก่ง ทั้ง ๆ ที่ความจริงนั้นแสนจะขี้เกียจและทำงานไม่ได้เรื่องเอาเสียเลย
40% ของ ผู้สมัครงาน มีการบิดเบือนข้อมูลในเรซูเม่และใบสมัครงาน การตรวจสอบข้อมูลผู้สมัครจากที่ทำงานเก่าจะช่วยคัดกรองผู้สมัครประเภทนี้ออกไปได้จำนวนหนึ่ง
ถามผู้สมัครงานเกี่ยวกับคุณสมบัติที่เขาบรรยายในเรซูเม่ และสังเกตว่าเขาเล่าให้คุณฟังได้อย่างน่าเชื่อถือหรือไม่ คุณอาจจะจับโกหกได้มากมายหากตั้งใจสังเกตให้ดี
4. เห็นแก่ตัว
คนประเภทเห็นแก่ตัว จะขยันก็ต่อเมื่อเขาได้ประโยชน์ในสิ่งนั้น นอกเหนือจากนั้นอย่าหวังให้เขาทำอะไรในสิ่งที่เขาไม่ได้ประโยชน์ หากในแผนกมีคนประเภทนี้อยู่ในทีมแล้วล่ะก็ คงต้องเหนื่อยกับคนที่พยายามทำงานน้อยที่สุด แต่ต้องการได้รับเครดิตมากที่สุด แม้คุณสมบัติข้อนี้อาจเป็นแรงผลักดันที่ดีในการ สร้างยอดขาย แต่ก็ต้องระวังเรื่องความเห็นแก่ตัว ซึ่งจะมีผลกระทบต่อพนักงานคนอื่น ๆ ด้วย
คนเห็นแก่ตัวมีแนวโน้มที่จะถูกจูงใจด้วย incentive โดยไม่ได้มองหา ความก้าวหน้าในอาชีพ ของตน คุณสามารถสังเกตผู้สมัครงานประเภทนี้ได้โดยพิจารณาว่า เป็นคนที่ให้ความสำคัญกับเงินมาก่อนเรื่องอื่น
ถามผู้สมัครว่า ทำไมถึงออกจากงาน เดิม ผู้สมัครที่เห็นแก่ตัวจะไม่ค่อยพูดถึงงาน หรือบริษัท แต่จะพูดถึงเรื่องเงินมากกว่า
5. ขี้เกียจ
เมื่อคุณมอบหมายงานให้พนักงานที่ขี้เกียจทำ เขาจะหาวิธีการที่ง่ายที่สุดสำหรับเขา แต่นั่นไม่ใช่วิธีที่ดีที่สุดที่ควรทำ และเขาจะพยายามที่จะไม่ทำอะไรเลยถ้าเป็นไปได้ คนประเภทนี้มักจะใช้วันลาพักร้อนหมดก่อนเพื่อน แถมยังใช้ลากิจ ลาป่วย รวมถึงลาโดยไม่รับค่าจ้างเพื่อที่จะได้หยุดงาน ยิ่งไปกว่านั้นคุณจะไม่เคยเห็นว่าคนขี้เกียจเหล่านี้มาเป็นคนแรกและกลับเป็นคนสุดท้ายของออฟฟิศเลย
ถามคำถามที่ให้ตอบว่าใช่หรือไม่ใช่ แต่ลองทิ้งจังหวะไว้ให้ตอบยาว ๆ พนักงานที่ขี้เกียจจะตอบเพียงใช่หรือไม่ใช่ โดยไม่อธิบายเพิ่มเติม ถ้าเจอคนแบบนี้ก็ตัดออกจากลิสต์ได้เลย
ถามผู้สมัครงานว่าเขารู้อะไรเกี่ยวกับบริษัทบ้าง คนขี้เกียจจะไม่ทำการบ้านมาก่อนสัมภาษณ์งาน เช่นเดียวกับคนที่ขาดความรู้ที่กล่าวไว้ในประเภทแรก
เรื่องอื่น ๆ ที่น่าสนใจ